Skip to main content
sharethis
 เชียงใหม่/Book Re:public คิกออฟวงเสวนา "ฟุตบอลไทย การเมืองของเกมใต้ตีน :พลังใหม่ ศาสนาใหม่ พื้นที่ใหม่?" เผยกลุ่มทุน นักการเมืองเข้าช่วงชิงในพื้นที่ของฟุตบอลไทย ขณะที่สื่อสาธารณะยังให้ความสำคัญน้อย
 
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา เวลา 15.00 น. ณ ร้านหนังสือBook Re:public อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จัดเวทีเสวนาหัวข้อ "ฟุตบอลไทย การเมืองของเกมใต้ตีน: พลังใหม่ ศาสนาใหม่ พื้นที่ใหม่?" โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา นำโดย ณัฐกร วิทิตานนท์ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ และอาจินต์ ทองอยู่คง
 
ณัฐกร วิทิตานนท์ สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
 
ผมคงเริ่มต้นจากฟุตบอลลีกในแต่ละประเทศเกิดจุดเปลี่ยน จนทำให้เกิดความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยสองลีกหลักที่จะยกตัวอย่าง คืออีพีเอล อิงลิชพรีเมียร์ลีก และเจลีก ผมมองว่าอิงลีชพรีเมียร์ลีกที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ มันเกิดจากการผลักดันจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก และส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดคือตัวธุรกิจโทรคมนาคมที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น และกติกาขององค์กรระดับโลก ที่มีลักษณะโลกาภิวัฒน์ และเทคโนโลยีที่ตอบสนอง ทำให้สื่อมีพลังมากขึ้นเป็นผลทำให้พรีเมียร์ลีกเติบโตและเป็นที่นิยมทั่วโลก
 
"จุดเปลี่ยนสำคัญอีกอย่างหนึ่ง มีลักษณะแบบรัฐศาสตร์ ใช้คำว่าอำนาจอธิปไตยซ้อนรัฐ บทบาทขององค์กรระหว่างประเทศเข้ามามีบทบาทภายในรัฐ คล้ายกับกรณีอังกฤษพรีเมียร์ลีก หลังบอสแมน เป็นคนเบลเยี่ยม มีปัญหาเรื่องการจ้างงาน การถูกดอง และไม่ได้ย้ายทีม สุดท้ายเรื่องก็ไปสู่ศาลอียู อียูตัดสินให้บอสแมนชนะ ที่เรียกว่าบอสแมนลูอิง เป็นผลทำให้มีการเปิดให้ไม่มีการจำกัดโควต้า และนักเตะไม่ใช่ทรัพย์สินของสโมสรอีกต่อไป หลังจากนั้นก็เห็นได้ชัดว่าเกิดการหลั่งใหลเข้าไปในอังกฤษ ทั้งนี้ปัจจัยภายนอกคือกลุ่มทุนข้ามชาติ และปัจจัยภายในคืออำนาจของรัฐที่เข้าไปแทรกแซง"
 
 
อาจินต์ ทองอยู่คง นักศึกษาปริญญาโท สาขา มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างขนาดใหญ่ ทำให้ไทยลีกได้รับความนิยมทุกวันนี้ คือเกิดการรวมลีกขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ไทย มีสองลีกที่แข่งกันเป็นคู่ขนาน ไทยพรีเมียร์ลีก และโปรวินเชียลลีก ซึ่งโปรวินเชียลลีกมีคนดูเยอะ และเป็นทีมจากต่างจังหวัดทั้งหมด แต่มักจะไม่มีนักบอลที่เก่งและที่มีชื่อเสียงมากพอ ขณะเดียวกันไทยพรีเมียร์ลีกที่สมาคมรับรอง คนดูมีจำนวนน้อย จนเกิดความพยายามผลักดันให้มีการรวมลีกขึ้น
 
"ความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกที่ส่งผลคือ เป็นข้อบังคับจากเอเอฟซีหรือสมาคมฟุตบอลเอเชีย ซึ่งพยายามจะสร้างฟุตบอลอาชีพในเอเชีย ปี2551 เกิดการเปลี่ยนแปลง หลังเอเอฟซีเข้ามาและขู่ว่าจะตัดสิทธิ์เข้าร่วมเล่นชิงแชมป์เอเชียเจซีเอล หากไม่ดำเนินตามข้อบังคับ10ข้อ ซึ่งทำให้สโมสรในไทยจากเดิมที่เคยเป็นกิจกรรมเสริมในองค์กรเช่น ธนาคาร สมาคมต่างๆ การท่าเรือ และโทรคมนาคมเป็นต้น ต้องตั้งเป็นบริษัทนิติบุคคลที่แสวงหากำไร ฤดูกาลแรก ก่อนหน้านี้มีคนดูน้อย ช่วงปี2552 คนดูพุ่งขึ้นเป็นเท่าตัว หลังจากมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์มากขึ้น เป็นลักษณะคล้ายกับอังกฤษพรีเมียร์ลีก ที่มีปัจจัยด้านสื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง จนได้รับความนิยมไปทั่วโลก"
 
 
 
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
 
กล่าวถึงภูมิศาสตร์การเมือง และเกมแห่งอำนาจใหม่ในพื้นที่ประเทศไทยว่า ตลาดของ "ฟุตบอลไทย" ที่ไม่ใช่ยี่ห้อผลิตภัณฑ์กีฬา ขยายตัวอย่างมากทั้งในนามของทุนนิยม และในฐานะเครื่องมือทางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อมันอยู่ในเทอมของกีฬาอาชีพแรกๆที่ประสบความสำเร็จหลังจากที่ล้มลุกคลุกคลานมาเป็นเวลาอันยาวนาน ระบบฟุตบอลอาชีพเริ่มขยับขยายจากศูนย์กลางประเทศไปสู่ ฟุตบอลอาชีพในระดับต่างจังหวัด และนับวันจะยึดหัวหาดพื้นที่ในไทยพรีเมียร์ลีกไปทีละน้อย
 
นั่นหมายถึงว่า พื้นที่การขับเคี่ยวกันของ อำนาจทุน อำนาจการเมืองท้องถิ่น รวมไปถึงพลังอุปถัมภ์ในนามหน่วยราชการทหารและพลเรือนได้แย่งชิงทรัพยากรและความสำเร็จผ่านสนามรบทางการเมืองสำคัญชุดหนึ่งในนามของฟุตบอลลีกไปแล้วแทบจะทั่วประเทศ ตนพยายามสร้างคำอธิบายผ่านการวิเคราะห์ผ่านการเมืองของพื้นที่ และความเป็นพื้นที่สาธารณะของมวลชนที่ถูกสร้างขึ้นโดยฟุตบอลอาชีพ อันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทยในบริบทที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองในระดับฐานราก
 
ในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว นับจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ ปัจจุบันสมัย วงการฟุตบอลรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่กรุงเทพฯ ผ่านทัวร์นาเมนท์ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน (2449), ฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ (2477), ฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี (2507) ทุกวันนี้ยังพบว่ามีบางกลุ่มเรียกร้องตราพระมหาพิชัยมงกุฎ มาแทนสัญลักษณ์ "ช้างยิ้ม" บนชุดแข่งทีมชาติ
 
แม้ฟุตบอลสมัครเล่นในนามทีมชาติจะดึงดูดคนดูได้เสมอ แต่นั่นก็พบว่ามันเป็นการรวมศูนย์ความนิยมของเกมกีฬาที่ไปผูกอยู่กับชาติเป็นหลัก เราพบว่า ฟุตบอลลีกต่างหาก ที่กำลังสร้างความผูกพันอยู่กับระบบแฟนและอุดมการณ์ท้องถิ่นนิยมที่นักการเมืองทั้งระดับชาติและนักการเมืองท้องถิ่นพยายามเข้ามาสร้างฐาน เร็วๆนี้มีผู้เขียนบทความถามถึงการละเลยถึงฟุตบอลถ้วยอันศักดิ์สิทธิ์อย่างฟุตบอลถ้วยพระราชทาน และควีนส์คัพโดยหาว่าฟุตบอลอาชีพได้แต่เอาเงินมาล่อคน 
 
ในด้านหนึ่งฟุตบอลอาชีพโดยเฉพาะสโมสรที่ผูกกับจังหวัด ต้องการพลังการเมืองในการหนุนให้เกิดกระแสท้องถิ่นนิยม รวมไปถึงการใช้อำนาจในการต่อรองเพื่อการใช้พื้นที่สนาม รวมไปถึงการต่อรองผลประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ นั่นคือ การหาทุนสนับสนุน นักการเมืองผู้มีคอนเนกชั่นกว้างขวาง และผู้มีประสบการณ์ต่อรองที่ชาญฉลาดจึงเป็น"เครื่องมือ" สำคัญหนึ่งในสโมสรฟุตบอลระดับจังหวัด
 
ขณะที่อีกด้านก็พบว่า การสนับสนุนจากภาครัฐก็ไม่เป็นระบบและยังมีช่องโหว่ เช่น การอุดหนุนงบประมาณจากภาครัฐสู่สโมสรที่อิงอยู่กับความเป็นท้องถิ่น ปัจจุบันรัฐสนับสนุนผ่านช่องทางของ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และไม่อนุญาตให้สนับสนุนผ่านหน่วยงานท้องถิ่น ด้วย phobia กลัวนักการเมืองและการคอรัปชั่นที่พ่วงมาด้วยกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ กรณีที่สตง.เรียกเก็บเงินคืนจาก อบจ.ชัยนาท 50 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าอาศัยช่องทางนำเงินหลวงไปใช้กับสโมสรฟุตบอลซึ่งเป็นบริษัทเอกชน คือ ชัยนาท เอฟซี อย่างไรก็ตามก็มีการตั้งข้อสังเกตถึงผลประโยชน์ทับซ้อนของ อนุชา นาคาศัย ที่เป็นทั้ง นายกอบจ.ชัยนาท, นายกสมาคมกีฬาจังหวัดชัยนาท บทวิเคราะห์ต่างๆ พุ่งเป้าไปที่ "ผลประโยชน์ของนักการเมือง" โดยไม่ได้มองถึงผลประโยชน์ส่วนหนึ่งมันตกอยู่กับท้องถิ่นด้วย  ขณะที่ท่าทีและน้ำเสียงที่มีต่อทีมเอกชนที่มีภาพลักษณ์ไม่ได้โยงกับนักการเมืองอย่างเช่น เมืองทองฯยูไนเต็ด (ที่เป็นข่าวว่ามีความไม่ชอบมาพากลระหว่าง เมืองทองฯ กับ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย), บางกอกกล๊าส (เจ้าของคือ นามสกุลภิรมย์ภักดี) กลับแตกต่างกันไป และทำราวกับว่าทำทีมฟุตบอลไม่ได้หวังผลอะไร โดยเฉพาะผลทางการเมือง
 
อาการกลัวนักการเมืองแสดงออกได้ชัดจากชื่อกระทู้ "ระวิ โหลทอง เจอ เนวิน ชิดชอบ คุณคิดว่าใครจะต้องยกมือไหว้ใครก่อน" หรือบทความจากสื่อมวลชนต้านนักการเมืองอย่างผู้จัดการ "แฉนักการเมืองใช้ฟุตบอลบังหน้า ฟอกเงินผ่านสปอนเซอร์!" อย่างไรก็ตามแนวโน้มการพึ่งพิงนักการเมืองก็ดูจะมีมากขึ้น ทำให้ความสำเร็จที่รวดเร็วเกิดขึ้นจากการอุปถัมภ์ของนักการเมือง แทนที่จะสร้างระบบทีมอาชีพที่แข็งแกร่งโดยตัวของมันเองในกระแสธุรกิจและชีวิตสาธารณะแบบใหม่
 
ทั้งนี้ภูมิศาสตร์การเมืองของเกมฟุตบอล ที่ได้รับความสนใจจากมวลชนอย่างแพร่หลาย กลับสวนทางกับนโยบายขององค์กรที่มีชื่อและอ้างความเกี่ยวข้องสาธารณะมากที่สุดอย่างน้อย 2 องค์กร นั่นคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มีจุดยืนชัดเจนว่าไม่เอาเหล้า เบียร์ บุหรี่ จึงเป็นที่เข้าใจได้ถึงการจัดวางระยะห่างของตนที่เล่นบทบาทองค์กรศีลธรรมสาธารณะ เมื่อพื้นที่ในสนามฟุตบอลทั่วโลก เบียร์ บุหรี่แทบจะเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้สำหรับคนดูบอล ไม่นับว่าสปอนเซอร์ติดหน้าอกเสื้อนักฟุตบอล บูธขายเบียร์ริมสนามที่วางขายกันอย่างคึกคัก สิ่งเหล่านี้ท้าทายอำนาจสสส.อย่างยิ่ง และยิ่งอิลักอิเหลื่อเข้าไปอีกเมื่อมีกฎหมายห้ามดื่มสุราในที่สาธารณะอย่างสนามกีฬา ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ความปัญญาอ่อนของกฎหมายนี้ มีรากฐานอยู่บนความเข้าใจว่า พื้นที่สาธารณะควรเป็นพื้นที่อันบริสุทธิ์ผุดผ่องไร้ราคีคาว และเห็นมวลชนเป็นผู้มีอวิชชาโง่เขลา งมงาย จมจ่อมอยู่กับอบายมุขชั่วกัปชั่วกัลป์จนต้องมีองค์กรเผด็จการทางศีลธรรมมาโปรดสัตว์
 
ขณะที่สถานีโทรทัศน์ที่อ้างตัวว่าเป็นทีวีสาธารณะอย่าง ไทยพีบีเอส แม้จะไม่ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด แต่พบว่า ความตื่นตัวในการสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ กลับถูกเฉยเมยอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับการเอาจริงเอาจังกับการถ่ายทอดสด การแข่งขันเรือยาว การแข่งขันเครื่องบินเล็ก แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะสโลแกนของทีวีสาธารณะแบบนี้ที่ตั้งว่า "ทีวีที่คุณวางใจ"คงขาวสะอาดเกินไปกว่าที่จะเปรอะเปื้อนด้วย สื่อสัญลักษณ์ของเหล้า เบียร์อันน่าขยะแขยงในสายตาพวกเขา ยังไม่นับว่า ไทยพีบีเอสได้รับงบประมาณจากภาษีเก็บจากสุราและยาสูบในอัตราร้อยละ 1.5 และที่มาขององค์กรดังกล่าวคือการรวมตัวของคนหน้าเดิมๆ ที่อยู่ในค่ายสสส. ยังไม่นับว่า องค์กรนี้ใช้รถถังและท็อปบูธในการทำคลอดหลังรัฐประหาร 2549
 
"ผมต้องการให้ความหวังกับการตื่นตัวในวงการกีฬาอาชีพ ที่จะเป็นฐานและเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับวงการกีฬาไม่ว่าจะเป็นสมัครเล่นหรืออาชีพ ในขณะเดียวกันเกมกีฬาที่เกิดการมีส่วนร่วมของคนในสังคม ก็ยังมีอานิสงส์ต่อการสร้างความตื่นตัวของคนในท้องถิ่นต่างๆ อันจะมีต่อการสร้างพื้นที่สาธารณะไม่ว่าโดยตัวสโมสรเอง หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง กระทั่งเหล่ากองเชียร์หรือแฟนบอล พื้นที่เหล่านี้น่าจะเป็นหนึ่งในพื้นที่สาธารณะใหม่แบบหนึ่งที่จะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากพื้นที่นอกบ้านแบบ passive มาสู่พื้นที่แบบ active มากขึ้น พื้นที่แบบใหม่เป็นพื้นที่แห่งอำนาจของประชาชน อันจะมาแทนที่พื้นที่แบบเดิมที่ทุกตารางนิ้วเป็นของชาติอันแสนจะนามธรรม หรือไม่ก็ตกอยู่ในกรงขังอำนาจแบบสถานที่ราชการ ที่มองประชาชนเป็นผู้มาขอรับการสงเคราะห์ และไม่ได้มีธรรมชาติที่เปิดกว้างตอบรับมวลชนเท่าที่ควร"
 
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าแม้โดยหลักการของฟุตบอลอาชีพแล้ว ในทางอุดมคตินั้นควรอาศัยทุนนิยมเป็นตัวขับเคลื่อน โดยมิต้องพึ่งพิง "นักการเมือง" แต่ ขณะที่สังคมไทยในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ยังไม่มีความพร้อมในด้านสาธารณูปโภคสำหรับการกีฬาและพื้นที่สาธารณะมากพอ และยังขาดศักยภาพทางเศรษฐกิจมากพอที่จะจูงใจให้เกิดการลงทุน ขณะที่อำนาจการจัดการทรัพยากรสาธารณะทั้งหลายยังกระจุกตัวกับหน่วยงานราชการส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น องค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับสาธารณะที่สุดก็ยังมีท่าทีที่เฉยชาต่อวงการกีฬาอาชีพ จึงไม่แปลกที่นักการเมืองจึงเป็นตัวเล่นสำคัญยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้
 
การเข้าใจการเปลี่ยนผ่านของพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ในสังคมไทยที่เกิดการต่อรองอำนาจด้วยกลุ่มบุคคล องค์กรและพลังทางการเมืองอันหลากหลาย จะทำให้เรามองเห็นพลังแฝงของพื้นที่สาธารณะมากขึ้น และไม่แน่ว่าพลังนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของประชาธิปไตยไทยในอีกระนาบหนึ่งก็เป็นได้
 
ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถติดตามรับชมคลิปการเสวนาทั้งหมดได้ทาง https://www.youtube.com/user/BookRepubliconTV?feature=watch และติดตามอ่านบทความของผู้ร่วมเสวนาทางเวบไซต์ประชาไท http://www.prachatai.com/ ในเร็วๆนี้.
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net