Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วิธีที่ศาลรัฐธรรมนูญตั้งประเด็นล้มการปกครองให้ทุกคนต้องตอบทำให้เรื่องนี้ถูกยกระดับเป็นผีหลอกหลอนการรื้อระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไปอีกนาน 

เป้าหมายจริงๆ ของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่พรรคเพื่อไทย เพราะพวกหัวเก่าในพรรคกลัวหลุดเก้าอี้จนไม่กล้าทำอะไรไปหมดแล้ว เป้าหมายจริงๆ ของเรื่องนี้คือคนเสื้อแดง คือการสร้างฉากแบบเดียวกับที่เคยสร้างตอนสลายการชุมนุมปี 53 สร้างฉากว่ามีขบวนการล้มระบอบซึ่งใหญ่โตและมีศักยภาพจะล้มระบอบได้จริงๆ 

การพิจารณาคดีของศาลยกระดับให้เรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริงแบบนึงในสังคม

ประเด็นที่ซักฟอกในศาลคืออะไร? คือมีขบวนการล้มระบอบ คำถามที่ซํกฟอกสภาคืออะไร? คือทำอย่างไรให้การล้มรัฐธรรมนูญไม่นำไปสู่การล้มระบอบ คำตอบที่สภาตอบคืออะไร? คือพวกเราไม่มีทางล้มระบอบแน่ๆ ข้อเสนอของศาลคืออะไร? ประธานสภาไปหาทางให้ศาลมั่นใจว่าจะไม่มีการล้มระบอบ

คำถามและคำตอบในศาลทั้งหมดไม่เกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย เป็นเรื่องการเมือง คำถามทั้งหมดในศาลยกการล้มระบอบให้เป็นหัวใจของการต่อสู้คดีครั้งนี้ คำตอบของฝ่ายสภาไม่เถียงเรื่องนี้ แต่ไปปกป้องตัวเองด้วยวิธีตอบว่าหนูไม่รู้หนูไม่เกี่ยว คำตอบแบบนี้ยอมรับสมมติฐานนี้จนตอกย้ำวาทกรรมนี้ให้มีน้ำหนักมากขึ้น 

โอกาสที่เสียไปของฝ่ายสภาในการสังคมฉุกคิดถึงความสมเหตุสมผลของศาลคือเรื่องที่ผิดพลาดที่สุดในการสู้คดีครั้งนี้ การบีบให้สังคมและฝ่ายถูกกล่าวต้องตอบในโจทย์ที่พวกเขากำหนดคือความสำเร็จที่สุดของฝ่ายจารีตนิยมในครั้งนี้จริงๆ

ที่วิตถารกว่านั้นคือหลักฐานที่ใช้ในการสร้างฉากรอบนี้ไม่มีอะไรเลยนอกจากบอกว่ามีคนอยากแตะองค์กรอิสระองค์กรนั้นองค์กรนี้ แล้วองค์กรอิสระเป็นระบอบของประเทศนี้ตั้งแต่เมื่อไร 

สิ่งที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่อะไรเลยนอกจากการกระเสือกกระสนให้สังคมเห็นว่าฝ่ายจารีตนิยมทั้งเก่าและใหม่ยังมีอิทธิฤทธิ์ในองค์กรของรัฐระดับบนสุดที่อำนาจจากการเลือกตั้งเข้าไปแตะต้องไม่ได้ คนพวกนี้หลอกคนทั้งสังคมมาเป็นสิบๆ ปีว่าคนส่วนใหญ่โง่ ไร้การศึกษา คิดเองไม่ได้ จนตอนนี้ตัวเองก็เชื่อไปด้วยว่าคนส่วนใหญ่เป็นแบบนั้นจริงๆ 

ยิ่งพวกท่านบอกว่าให้ฝ่ายที่มาจากประชาชนแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ยิ่งพวกท่านบอกว่าไม่ไว้ใจกับการที่มีฝ่ายแก้รัฐธรรมนูญทียึดโยงกับประชาชนโดยตรง พวกท่านก็ยิ่งแสดงให้คนจำนวนหนึ่งเห็นว่าท่านไม่ไว้ใจประชาชน กลัวว่าโลกของท่านและสังคมของท่านจะล่มสลายไปกับระบบที่ประชาชนเลือกด้วยตัวเอง

วิธีการแบบนี้ลากเส้นแบ่งระหว่างพวกท่านกับประชาชนขึ้นมาเองก่อน รอยแยกเกิดจากพวกท่านตั้งแต่แรก ไม่ได้เกิดจากประชาชน

การดูถูกดูแคลนคนส่วนใหญ่ทีพวกท่านล้างสมองให้สังคมจนหลอนตัวเองมาเป็นปีๆ กลายเป็นเหตุของความกลัว ความหวาดระแวง ความขัดแย้ง และการเลือกใช้ความรุนแรงกับคนส่วนใหญ่ที่ยิ่งนานก็ยิ่งหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ 

ถ้าไม่มีการหักดิบและเลิกพฤติกรรมแบบนี้อย่างเด็ดขาด สิ่งที่เราเห็นในปี 52 - 53 จะเป็นเพียงบทโหมโรงของการตอบโต้การกดทับที่พวกท่านผลักให้คนส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือกมาเป็นปีๆ

ต้นทุนของเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องรัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทย แต่คือการตีความรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยน้อยอยู่แล้วให้มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยลงไปอีก  หลักที่เสียไปจากการต่อสู้ครั้งนี้มีอยู่สามเรื่อง

หลักแรกคือหลักเรื่องอำนาจสูงสุดและอำนาจในการจัดให้มีรัฐธรรมนูญอยู่ที่ใคร หลักนี้แตกประเด็นย่อยได้เป็นสองเรื่องนี้ต้องไปด้วยกันหรือไม่ แยกกันได้หรือไม่ ถ้าจะเปลี่ยน เปลี่ยนอย่างไร 

ฝ่ายหนึ่งบอกว่าอำนาจสูงสุดอยู่ที่ปวงชน อำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญต้องยึดโยงกับอำนาจนี้ อีกฝ่ายบอกว่าไม่ได้อยู่ที่ปวงชนทั้งหมด อำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญจึงต้องถูกออกแบบให้ล้อกับอำนาจที่ไม่ได้อยู่ที่ปวงชนด้วย

หลักที่สอง การถ่วงดุลและแบ่งแยกระหว่างสถาบันการเมืองเสียไป หลักนี้แตกประเด็นได้ว่าการถ่วงดุลเท่ากับการก้าวก่ายในกิจการของอีกฝ่ายหรือไม่ และในกรณีที่แต่ละสถาบันไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของอีกสถาบันแล้วจะทำอย่างไร 

ส่วนหลักที่สามคือใครเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ความเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญขึ้นอยู่กับกฎหมายหรือขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไร ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญในเงื่อนไขไหน? บทบาทในการเป็นผู้พิทักษ์นี้เป็นไปอย่างสมบูรณ์หรืออยู่ภายใต้ข้อตกลงบางอย่างในสังคมการเมือง?

เรื่องที่ไม่น่าชอบใจที่สุดในการเถียงกันในระดับสาธารณะเรื่องนี้คือฝ่ายศาลและผู้ฟ้องทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องกฎหมายล้วนๆ ราวกับศาลรัฐธรรมนูญและการตีความรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องบริสุทธิ์ ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญและการตีความรัฐธรรมนูญในกรณีไหนในสังคมใดบริสุทธิ์ล้วนๆ

ศาลรัฐธรรมนูญเป็นประดิษฐกรรมทางการเมือง เกิดมาในโลกไม่กี่สิบปีนี้ ของไทยก็เกิดขึ้นไม่กี่ปีนี้เอง บุคลากรตั้งเยอะมาจากศาลเด็กศาลอะไรที่ไม่ได้ชำนาญเรื่องรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการตีความซึ่งในที่สุดถูกกำกับด้วยรสนิยม ความไม่รู้ อุดมการณ์ ความเชื่อ อำนาจ ผลประโยชน์ อคติ ฯลฯ ของผู้ตีความรัฐธรรมนูญตลอดเวลา

ถ้าผลักเรื่องนี้ไปจนถึงจุดที่อย่างไรก็แก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้  รื้อโครงสร้างที่เป็นประชาธิปไตยไม่ได้ แตะสถาบันที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนไม่ได้ ในที่สุดก็ไม่มีทางเลือกอื่นให้ฝ่ายต้องการแก้รัฐธรรมนูญนอกจากต้องใช้อำนาจใหม่เข้าไปเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อย่างสิ้นเชิง

อะไรที่น่าตื่นเต้นที่สุดในการสู้คดีศาลรัฐธรรมนูญรอบนี้? คำตอบคือเราเห็นความพยายามของประชาชนและสถาบันอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบศาล แต่พยายามตรวจสอบการทำงานและวิพากษ์วิจารณ์ศาล ความหวังของประชาธิปไตยอยู่ตรงการผลักดันให้การวิจารณ์แบบนี้เป็นการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไร ทำอย่างไรที่สังคมจะออกแบบให้สถาบันการเมืองอื่นมีบทบาทในการตีความรัฐธรรมนูญได้มากกว่าในปัจจุบัน

ในกรณีของศาลเอง ประสบการณ์ครั้งนี้น่าจะทำให้ได้บทเรียนว่ายุคสมัยที่ตุลาการจะเป็นผู้ผูกขาดตีความรัฐธรรมนูญตามอำเภอใจคงไม่มีอีกแล้ว ศาลกับการเมืองเป็นเรื่องแยกกันไม่ออก จะอยู่กับมันแบบยอมรับให้ได้ หรือจะปิดหูปิดตาตัวเองก็สุดแท้แต่จะพิจารณา

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net