Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มนุษย์นั้นเมื่อเรามองลักษณะทางกายภาพแล้วก็อาจจะมีสูง ต่ำ ดำ ขาว ต่างกันไป นั้นคือสิ่งที่เราสัมผัสได้ด้วยตาหรือมองอีกแง่หนึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการมองในแง่ของ “เชิงปริมาณ” ก็ว่าได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็กล่าวได้ว่าเมื่อมองของสิ่งใดในเชิงปริมาณแล้วก็อาจทำให้เราตัดสินหรือเป็นกรอบคิดให้ผู้คนนั้นรู้สึกว่าอย่างน้อยคนเรามันก็ เท่ากัน หรือ ไม่เท่ากัน เช่นเดียวกับคำกล่าวที่ว่า “ห้านิ้วของเรายังยาวไม่เท่ากัน” สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงหลักคิดที่ว่า ก็ขนาดนิ้วยังไม่เท่ากันเลยแล้วคุณจะหวังอะไรให้คนเรามันเท่ากัน ฟังแล้วมันก็แค่เป็นคำเปรียบเปรยธรรมดา แต่ในที่สุดแล้วการเปรียบเทียบเช่นนี้มันสะท้อนให้เห็นอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจเป็นได้ว่าเป็นพื้นฐานที่เราเอากลับมามองสังคมว่า โดยทั่วไปแล้วสังคมนั้นๆ มองประเด็นเรื่องความเท่าเทียมกันอย่างไร

เมื่อกล่าวถึง “ความเท่า” หรือ “ไม่เท่า” กันของคนนั้น ปัจจัยที่ส่งเสริมต่อแนวคิดของสังคมต่อสิ่งนั้นอาจมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน โดยในที่นี้ผู้เขียนอยากจะกล่าวถึง ปัจจัย แนวคิดใด ที่ส่งผลทำให้เราตัดสินใจว่าคนเรา เท่า หรือ ไม่เท่ากัน

หากกล่าวถึงประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมากที่สุดที่ส่งผลต่อแนวคิดของคนในเรื่องความเท่ากันหรือไม่เท่ากันของมนุษย์ นั่นก็คือ “ศาสนา” โดยมีมุมมองที่น่าสนในหลายด้านด้วยกัน เช่น แนวคิดของพุทธศาสนา อาทิ บาป-บุญ การเวียนไหว้ตายเกิด เป็นต้น แนวคิดของศาสนาคริสต์ อาทิ มนุษย์ผู้ซึ่งมีบาปติดตัว การไม่มีการเวียนไหว้ตายเกิด เป็นต้น หรือแม้แต่ แนวคิดการเกิดขึ้นของกฎหมาย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่กำหนดกรอบคิดเกี่ยวกับ ความเท่า หรือ ไม่เท่ากัน ของมนุษย์แทบทั้งสิ้น

สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ขอให้มองว่าเป็นเพียงแนวคิดหนึ่งในอีกหลายแนวคิดเท่านั้น การหยิบยกประเด็นเหล่านี้มาไม่ใช่คำตอบที่มันตายตัวและเป็นอย่างนั้นเสมอไป หากจะมองแค่ว่ามันสุดโต่งหรืออย่างไรก็แล้วแต่ แต่สิ่งที่ผู้เขียนอยากให้เป็นก็คือ เปิดใจและรับฟังมันมากกว่า เพราะอย่างน้อยการมีข้อมูลต่างๆมากก็ดีกว่าการมีข้อมูลน้อยและหากคุณไม่เห็นด้วยมันก็เป็นการดีที่จะนำประเด็นต่างๆเหล่านี้มาวิจารณ์ และคุณอาจจะได้อะไรใหม่ๆจากการวิจารณ์ก็เป็นได้

แนวคิดของพระพุทธศาสนา โดยทั่วไปแล้วศาสนาพุทธที่เรานิยมเรียกกันโดยทั่วไปนั้นเกิดขึ้นในแถบเอเชียเป็นหลัก เช่น แถบเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น สิ่งที่เราเห็นทุกเช้าวันในสังคมเหล่านี้นั่นก็คือ การทำบุญตักบาตร การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งผู้กระทำนั้นอาจจะทำให้รู้สึกสบายใจเมื่อได้เป็นผู้ให้ เป็นศิริมงคล หรือแม้แต่การทำเพื่อหวังผลในภายภาคหน้า ดังเช่นเพลงๆหนึ่งที่ว่า “ผู้หญิงที่สวยอย่างคุณทำบุญมาด้วยอะไร จึงสวยน่าพิศสมัย...” กล่าวคือ ก็เพราะคุณทำบุญด้วยอะไรบางอย่างเมื่อชาติที่แล้วคุณจึงสวยในชาตินี้ หรือแม้แต่ “ชาติก่อนเราเพียงคู่เคียงเก็บดอกไม่ร่วมต้น แต่ว่าเราสองคนไม่สนในใส่บาตรร่วมขัน” จนในที่สุดทำให้ชาตินี้ทั้งเขาและเธอไม่ได้อยู่ร่วมกันเพราะเขาไม่ได้ใส่บาตรด้วยกัน สำหรับสิ่งที่กล่าวมามันเป็นสิ่งที่บ่งชี้ได้ดีว่า ในที่สุดแล้วทุกคนมันไม่เท่ากันหรอก เพราะการที่คุณจะ สวย รวย เก่ง หรืออื่นๆ มันอาจจะมาจากการที่คุณนั้นทำบุญมามากในชาติที่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นคุณก็ต้องยอมจำนนต่อสิ่งนี้คุณไม่สามารถไปแก้ไขอะไรได้ ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า “คนนี้รวยมากเลยสงสัยชาติที่แล้วทำบุญมาเยอะ”  คำกล่าวนี้เป็นการบ่งถึงการยอมจำนนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ใส่ใจต่อสาเหตุที่จริงแต่กลับยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมันส่งผลต่อปัจจุบัน นั่นจึงเป็นอีกเหตุที่ทำให้กรอบคิดเรื่องบาป บุญ ส่งผลต่อกรอปคิดเรื่องความเท่า หรือ ไม่เท่ากัน

กล่าวโดยสรุปก็คือว่า คนเรามันไม่มีทางเท่ากันได้ เพราะอย่างน้อยที่สุด ชาติที่แล้วคุณทำอะไรไว้ชาตินี้คุณก็ได้อย่างนั้น เมื่อคุณเกิดมาในชาตินี้มันเป็นผลสะท้อนจากการกระทำของคุณในชาติปางก่อน คุณจึงไม่มีความเท่ากันมาตั้งแต่เกิดทั้งในชาตินี้หรือชาติไหน ดังนั้นเมื่อมองสังคมชาวพุทธส่วนใหญ่ก็มักจะยอมรับในโชคชะตาและความไม่เท่ากันในสังคม ไม่มีอะไรที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกอย่างเกิดจากการกระทำในอดีต แต่หากคุณอยากจะดีขึ้นในชาติหน้าคุณก็ต้องทำดีในชาตินี้ แต่นั้นก็เป็นข้อดีอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมลดความป่าเถื่อนลงได้มาก นับว่าเป็นสิ่งที่อย่างน้อยก็มีประโยชน์มากในสังคมของมนุษย์ที่มีความขัดแย้งกันตลอดเวลา

แนวคิดต่อมาคือ แนวคิดของคริสต์ศาสนา ประเด็นแรกก็คือ หลักคิดที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีบาปติดตัวทุกคนนั้นต้นเรื่องก็คือมนุษย์คู่แรกของโลก ได้แอบไปกินผลไม่ต้องห้าม เมื่อเป็นเช่นนั้นทุกคนก็ย่อมมีบาปติดตัวจากบุคคลสองคนนี้เท่ากันเพราะถือว่าเขาเป็นต้นตระกูลเราโดยไม่สามารถปฏิเสธบาปเหล่าได้เลย และก็กลายเป็นวลีที่ที่ใช้ในสังคมวิชาการที่ว่า “มนุษย์เป็นสิ่งที่ไว้ใจไม่ได้ที่สุด”  ทำให้กล่าวได้ว่าไม่ว่าใครก็ตามที่อยู่บนโลกนี้ก็มีความเท่ากันเพราะคุณก็มีบาปเหมือนๆกัน ทุกคนจึงเท่าเทียมกันโดยเสมอภาค หลักคิดนี้อาจดูเป็นหลักทางปรัชญาที่สุดโต่งอยู่มากสำหรับคนหลายคน แต่ก็เป็นสิ่งที่วงวิชาการกล่าวถึงอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

สำหรับหลักของคริสต์ศาสนาอีกหลักที่น่าสนใจก็คือ การไม่มีการเวียนไหว้ตายเกิด หลักนี้มองอย่างง่ายๆก็คือว่า มองในลักษณะตรงกันข้ามกับแนวคิดของพุทธศาสนา กล่าวคือ เมื่อมนุษย์ไม่มีการเวียนไหว้ตายเกิด นั่นก็แสดงว่า ทุกคนที่เกิดขึ้นเมื่อเป็นคนที่ถูกผลิตขึ้นมาใหม่ทั้งสิ้น ไม่ใช่คนเก่าที่นำไปลบความจำแล้วนำมาใช้ใหม่ เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงไม่มีความผูกพันอะไรกับอดีต ทุกอย่างเกิดมาติดลบเท่ากันหมด (เพราะมีบาปติดตัวจากกรณีมนุษย์คู่แรกของโลก) ดังนั้น การสวย รวย เก่ง ไม่ได้มีผลจากอดีตดังอีกแนวคิดหนึ่ง หลักการนี้มักมีปัญหาเสมอเมื่อผู้คนในพุทธศาสนาได้มาพบกับผู้คนในคริสต์ศาสนา เพราะเหมือนทั้งสองฝ่ายพูดกันคนละภาษา

จากสองแนวคิดทางศาสนานี้จึงทำให้กรอบคิดเรื่องของความเท่าหรือไม่เท่ากันของคนนั้นต่างกันไป แต่สิ่งที่อยากให้พึงระวังไว้นั่นก็คือ คนส่วนใหญ่มักจะทึกทักเอาเองว่าแนวคิดของฉันคือสิ่งที่ถูก ดังที่ผู้เขียนเจอและได้ยินมากับตัวนั่นก็คือ เพื่อนของผู้เขียนดูรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับการฆ่าวัวของชาวยุโรป (ซึ่งในที่นี้น่าจะเป็นชาวคริสต์) และเพื่อนผู้นี้ก็เลยถามลอยๆขึ้นมาว่า “นี่เขาไม่กลัวบาป ไม่กลัวว่าชาติหน้าจะเกิดมาเป็นวัวแล้วถูกฆ่าหรือไง” นั่นเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า เมื่อกรอบคิดต่างหากเพื่อนของผู้เขียนไปพูดกับฝรั่งเจ้าของฟาร์มผู้นั้น มันคงคุยกันไม่รู้เรื่องไปในที่สุด

สุดท้ายที่อยากกล่าวถึงนั่นก็คือหลักเกี่ยวกับ การเกิดของกฎหมาย หลักนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่มีผลต่อหลักคิดความเท่ากันหรือไม่เท่ากันของมนุษย์อีกทางหนึ่ง ซึ่งก็น่าจะทำความเข้าใจได้ง่ายกว่าแนวคิดทั้งสองแนวข้างต้น สำหรับผู้มีฐานะมั่งมีทั้งหลายในสังคมโบราณ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดและเป็นสิ่งที่ตนเองนั้นไม่อยากให้เกิดขึ้นนั่นก็คือการถูกฆ่าและก็ถูกแย่งสมบัติที่ตนเองมีไป ดังนั้นผู้มั่งมีทั้งหลายจึงต้องหาทางที่จะรักษาชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงเป็นที่มาของการออกกฎหมายขึ้นมาบังคับใช้และให้เหตุผลว่าเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองมากกว่าที่จะบอกว่าเพื่อรักษาทรัพย์สินของตนเอง เมื่อเป็นเช่นนั้นสิ่งที่สะท้อนออกมาก็คือ เมื่อผู้มั่งมีก่อนหน้านั้นถือว่าเป็นชนชั้นที่มีอำนาจในสังคมอยู่แล้ว  การเข้าถึงทรัพยากรต่างๆก็ทำได้ง่ายกว่าคนทั่วไปจนทำให้ตนเองร่ำรวยเงินทองขึ้น แต่เมื่อความกลัวเข้ามามีบทบาทในชีวิตจนก่อให้เกิดกฎหมายขึ้น นั่นก็เท่ากับว่าผู้มั่งมีทั้งหลายยอมที่จะเสียอำนาจที่มีมาแต่เดิมไป จากเดิมที่เคยอยู่เหนือผู้คนธรรมดาในสังคม ก็ต้องลดตัวเองลงมาให้เท่ากับคนอื่นๆทุกคนในสังคม พูดง่ายๆ ยอมอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกับทุกคน สถานะสังคมของผู้คนจึงเปลี่ยนจากโครงสร้างแบบเดิมที่เป็นแนวดิ่งสู่โครงสร้างที่เป็นแนวราบภายใต้กฎหมาย หากมองกันตามทฤษฎีอาจกล่าวได้ว่า WIN WIN ทั้งคู่ ฝ่ายผู้มั่งมีก็สบายใจในเรื่องของทรัพย์สิน ฝ่ายผู้ที่เคยอยู่ภายใต้สังคมแนวดิ่ง ก็ได้รับเกียรติให้มีความเสมอภาคทางสังคมเท่ากับคนที่เคยอยู่เหนือตน

สิ่งนี้จึงทำให้เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กำหนดกรอบคิดเรื่องความเท่ากัน หรือ ความไม่เท่ากัน ของคนในสังคม ถ้าจะกล่าวไปแล้วจากหลักคิดนี้ หากสังคมใดที่มีการบังคับใช้กฎหมายที่เท่าเทียมกันทุกคนโดยเสมอหน้าแล้วละก็มันก็เป็นการแสดงถึงความเท่าเทียมกันของคนในสังคมอีกทางหนึ่ง แต่หากสังคมใดนั้นการบังคับใช้กฎหมายยังไม่เท่าเทียมกัน ผู้มั่งมีไม่ยอมที่จะอยู่ภายใต้กฎของสังคม หลบหลีก หรืออะไรก็สุดแล้วแต่ นั่นก็หมายความว่า เขาเหล่านั้นไม่ยอมรับหลักความเท่าเทียมกัน แต่ขอแค่ประโยชน์จากกฎนี้เท่านั้น และใช้เพียงแค่คำพูดแสดงความเท่าเทียมกัน แต่มิได้ปฏิบัติแต่อย่างใด สังคมนั้นจึงเป็นสังคมที่ไม่มีความเท่ากันอยู่จริง

หากกล่าวต่อไปให้ไกลกว่ากัน หลักการประชาธิปไตยที่สำคัญมากประการหนึ่งก็คือ การเข้าถึงทรัพยากรต่างๆหากทุกคนมีความเท่าเทียมกันก็บ่งชี้ได้ว่าสังคมนั้นเป็นประชาธิปไตยมาก ดังนั้นเมื่อการเข้าถึงกฎหมายไม่มีความเสมอภาคคนจนก็มักเป็นเหยื่ออันโอชะของกฎหมายเพียงฝ่ายเดียว มันก็สะท้อนให้เห็นว่าสังคมนั้นเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด คุณว่าไหมล่ะ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net