Skip to main content
sharethis

 

 

14 ก.ค.55  กลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ (Media Inside Out)  จัดงานเปิดตัวกลุ่ม และมีการเสวนาที่น่าสนใจหลายรายการ กลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ ก่อตั้งโดยผู้สื่อข่าวอาวุโสอาทิ นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ นวลน้อย ธรรมเสถียร สุพัตรา ภูมิประภาส รวมถึง อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อดีตอาจารย์นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ  โดยมุ่งหมายให้เป็นการ เปิดพื้นที่สำหรับการศึกษา การสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น รวมทั้งตั้งคำถาม หาคำตอบกับบทบาทของสื่อ และองค์กรสื่อ

นวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้สื่อข่าวบีบีซีภาคภาษาไทย กล่าวว่า การรวมตัวเกิดจากคนในวงการสื่อไม่กี่คน คุยกันถึงปัญหาในวงการสื่อ ในช่วงการเมืองเหลือง-แดง หลายคนรู้สึกว่าคนที่อยากทำข่าวอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งแทบไม่มีที่ยืน จึงคิดว่าหากมีการรวมตัวของคนที่มีความเข้าใจการทำงานสื่อ มองจากคนปฏิบัติงาน และเปิดพื้นที่ให้คนนอก น่าจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้สังคมได้

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์  บรรณาธิการอาวุโสเครือเนชั่น กล่าวว่า หลังเห็นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เกิดการที่สื่อต้องเปลี่ยนตามเทคโนโลยี เกิดสื่อแท้ สื่อเทียม สื่อเลือกข้าง อยากจะดูว่าสื่อไทยทันต่อการเปลี่ยนแปลงนี้หรือไม่ อย่างไร โดยจะไม่ตัดสินผิด-ถูก ดี-เลว แต่จะประเมินในกรอบวิชาการดูทิศทางสื่อว่านำอะไรมาสู่สังคม

สุพัตรา ภูมิประภาส กล่าวว่า งานหลักๆ ของกลุ่มจะแบ่งเป็นสามส่วน คือ 1.เว็บไซต์  www.mediainsideout.net ซึ่งจะเปิดพื้นที่ให้มีการ “ส่องสื่อ” เรียกว่ามีงานที่เกี่ยวข้องกับสื่อทั้งหมด ทั้งบทวิเคราะห์ บทแปล มุมวิชาการ สีสันของวงการสื่อ เป็นต้น 2.งานวิจัย มีทีมวิจัยซึ่งจะเลือกประเด็นร้อนของสื่อมาทำการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยจะเปิดตัวงานวิจัยชิ้นแรกในเดือนมกราคม 2556 3.Media Cafe เป็นการจัดวงพูดคุยของคนทำงานสื่อเพื่อให้เกิดการถกเถียงและแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งมีการจัดไปแล้วครั้งหนึ่ง เรื่อง นาซ๋า เป๋ ใครเป๋? โดยนำนักข่าวสายสิ่งแวดล้อม สายการศึกษา และสายการเมือง ความมั่นคง มาคุยกัน ซึ่งถกเถียงกันเป็นประโยชน์มาก

เมื่อถามว่าแนวทางการทำงานของกลุ่มนี้จะได้รับแรงเสียดทานจากแวดวงสื่อมวลชน เป็นอุปสรรคในการทำงานหรือไม่ สุพัตรา กล่าวว่า สื่อมวลชนคุ้นเคยกับการวิจารณ์คนอื่น แต่ไม่คุ้นกับการโดนวิจารณ์ และสื่อมักจะอ้างเสมอว่าคนวิจารณ์ไม่มีทางรู้ว่าสื่อทำงานอย่างไร มีปัจจัยอย่างไรบ้าง ข้ออ้างนี้คงไม่สามารถอ้างได้อีกต่อไปเพราะพวกเราก็เป็นคนทำสื่อ และหวังว่าสื่อจะเรียนรู้ที่จะยอมรับมุมมองการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีเหตุผล  

นอกจากนี้ยังมีการเสวนา หัวข้อ “สนทนาประสาคนทำสื่อ” โดยมีวิทยากรจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ร่วมด้วย

วิษณุ ตรี ฮังโกโร Institute for the Studies of Press Information จากอินโดนีเซีย เล่าว่า หลังซูฮาร์โตพ้นอำนาจ ประชาชนอินโดนีเซียเริ่มมีเสรีภาพในการสื่อสาร มีสื่อใหม่ๆ เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับยุคก่อน ทำให้ภูมิทัศน์ของสื่อสารมวลชนเปลี่ยนไปมาก สื่อมีสถานะแข็งแกร่งมากกว่าทหาร ทำอะไรก็ได้ไม่เกรงกลัวใคร ไม่มีสื่อไหนเลยที่มีผู้ตรวจการภายในที่จะตรวจสอบจริยธรรม ความประพฤติและบทบาทของตัวเอง สื่อกับนักข่าวอาวุโสในยุคนั้นจึงพยายามทำการตรวจสอบสื่อต่างๆ ให้มากขึ้น รวมถึงแนะนำให้คนรุ่นใหม่ทำงานตรวจสอบคุณภาพสื่อมากขึ้นด้วย

วิษณุ ตรี ฮังโกโร เล่าว่า มีการตั้งเครือข่ายทำงานร่วมกันเพื่อตรวจสอบการทำงานของสื่อ โดยมีการวิเคราะห์วาทกรรม ใช้วิธีวิจัยเกี่ยวกับสื่อ โดยไม่ห้ามให้สมาชิกทำหรือไม่ทำอะไร สมาชิกในเครือข่ายจึงสามารถพัฒนากระบวนการตรวจสอบสื่อด้วยตัวเองได้ นอกจากนี้ ในเครือข่าย ยังมีองค์กรที่ทำเรื่องเอดส์ สิ่งแวดล้อม ที่จะตรวจสอบสื่อในการรายงานข่าวประเด็นเหล่านี้ ซึ่งเครือข่ายก็จะให้ข้อมูลว่าจะเก็บข้อมูล-วิเคราะห์ตรวจสอบอย่างไร รวมถึงมีการให้ข้อมูลเพื่อให้ประชาชนเท่าทันสื่อด้วย

กายาทรี เวนกิทสวารัน Southeast Asian Press Alliance กล่าวว่า การตรวจสอบสื่อจำเป็นเพราะสื่อมาเลเซียส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่ของพรรคการเมือง ก็เป็นของเอกชนที่ใกล้ชิดนักการเมือง สื่อต้องจดทะเบียนทุกปี หากรายงานไม่เป็นที่พอใจก็จะไม่ได้รับการต่อทะเบียน เมืองไทยอาจมีบางเรื่องที่พูดไม่ได้ แต่ในมาเลเซีย ขึ้นกับช่วงเวลา ซึ่งจะกำหนดโดยรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ มาเลเซียยังมีการใช้หลายภาษาร่วมกัน ทั้งภาษามาลายู อังกฤษ จีนกลาง ทมิฬ มีภาษาของชนพื้นเมืองในเกาะบอเนียว ซึ่งความหลากหลายนี้เป็นความท้าทายด้วย เพราะหากต้องการตรวจสอบสื่อในมาเลเซียให้ได้จริง จะต้องเข้าถึงทั้งแปดภาษา โดยในการเลือกตั้งใหญ่ที่จะถึงนี้ ยังตรวจได้แค่สี่ภาษาเท่านั้น

โดยในยุคที่คนจำนวนมากใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก จะพบว่า เนื้อหาแตกต่างจากที่รายงานในสื่อหลัก หน้ามือเป็นหลังมือ เพราะในอินเทอร์เน็ต ไม่มี gate keeper ที่จะคอยตัดสินว่าอะไรเผยแพร่ได้ หรือไม่ได้ โดยในการชุมนุมเบอเซะ ซึ่งรณรงค์เรื่องการเลือกตั้งสะอาด พบว่า ทวิตเตอร์มีบทบาทมากขึ้นชัดเจน อำนาจของสื่อหลักในการกำหนดการรับรู้ของสาธารณะลดลง มีความสนใจถกหน้าที่ที่ทางของสื่อมากขึ้น
 


ถัดมาเป็นวงเสวนาเรื่อง รู้ทันสื่อออนไลน์ แค่หมายเฝ้าบ้านยังไม่พอ ? วันรัก สุวรรณวัฒนา ผู้จัด Divas Café และอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รายการดีวาส์ คาเฟ่ มีวาระชัดเจนที่จะผลักดันเรื่องประชาธิปไตย วันนี้เราพูดเรื่องจริยธรรมของสื่อ รู้สึกดีใจมากที่เลิกยึดติดเรื่องความเป็นกลางของสื่อแล้ว ทุกวันนี้สื่อต่างประเทศทุกเล่มชัดเจนว่ายืนอยู่ตรงไหน คนอ่านรู้ว่าอ่านเล่มนี้แล้วได้ Ideology ไหน แต่ข้อสังเกตคือ มันมีการโยกจาก “ความเป็นกลาง” มาที่ “จรรยาบรรณ” เพื่อให้ตรงกับความมีบรรทัดฐาน ขณะที่ทั่วโลกเขา decentralize กันแล้ว

วันรักกล่าวว่า โจทย์หลักอยู่ตรง “หมาเฝ้าบ้าน” คำนี้เคยมีความหมายในยุคหนึ่งของการเกิดของสื่อในยุคเผด็จการที่มีศัตรูชัดเจน แต่ทุกวันนี้สื่อไทยก็ยังกินบุญเก่า คำถามคือตำแหน่งแห่งที่ของสื่อมวลชนในระบอบการเมืองร่วมสมัย ที่มีวาระการปกครองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย นับถือสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมกัน ตำแหน่งแห่งที่ของสื่อจะอยู่ไหน คุณไม่ได้ต่อสู้กับสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อีกต่อไป แต่วันนี้เราพยายามเปลี่ยนเป็นเผด็จการทุนแทน ซึ่งก็ทำให้เราตาบอดในอีกหลายอย่าง มากกว่าทุนทักษิณ คำถามที่ต้องตอบคือเราจะอยู่ตรงไหน สื่อมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยแค่ไหน ในหลักสูตรสื่อสารมวลชน มีการถกเถียงเรื่องประชาธิปไตยคืออะไรไหม คุณให้ความสำคัญกับหลักการแค่ไหน หรือคุณให้ความสำคัญกับวิธีการ  

“นี่คือจุดหลักที่ก้าวมาทำงานสื่อ เพราะมันขาดคนที่เทคไซด์ และพูดเรื่องประชาธิปไตยอย่างชัดเจน” วันรักกล่าวและว่า นอกจากนี้สื่อมวลชนไทยยังขาดงานสืบสวนสอบสวนอย่างมาก ที่มีก็ลึกด้านเดียว ไม่มีการถ่วงดุลข้อเท็จจริง และประเด็นทางการเมืองที่เกิดขึ้นก็มักถูกทำให้เป็น conspiracy theory (ทฤษฎีสมคบคิด) ทั้งหมด

นิรันดร์ เยาวภาว์ เว็บมาสเตอร์เอเอสทีวีผู้จัดการ ตอบคำถามพิธีการเกี่ยวกับมุมมองบทบาทของสื่อเลือกข้างเป็นอย่างไร และจะนำไปสู่การรายงานที่ไม่เที่ยงธรรมไหม โดยเขากล่าวว่า เราต้องยึดความเที่ยงธรรม ยึดข้อเท็จจริง เพียงแต่อย่างข่าวเวลานักการเมืองพูดอะไรออกมา เราจะรายงานว่าเขาพูดอะไรเฉยๆ หรือหยิบประเด็นที่เป็นนัยยะออกมาพูด ถ้ารายงานเฉยๆ เราก็เป็นเพียงแค่เครื่องมือของนักการเมือง ถ้าจะเป็นตะเกียงก็ต้องบอกว่านัยยะมันคืออะไร คำถามที่ว่ามันผูกขาดความถูกต้องหรือเปล่า เราไม่ได้ผูกขาด เรารายงานไปตามข้อมูลข้อเท็จจริงที่ได้มา ไม่ได้ยั่วยุว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเป็นคนไม่ดี ต้องทำลาย สำหรับบทบาทหมาเฝ้าบ้านต้องทำอยู่ และหลักจริยธรรมก็ต้องยึดมั่น เพียงแต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่พัฒนา มีช่องทางที่จะทำให้การกระจายข่าวมีหลายช่องทาง  เรามีการอบรมผู้สื่อข่าวและพยายามตามให้ทันในการใช้เครื่องมือใหม่ๆ ในการทำงานข่าว

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ปัจจุบันสื่อหลักที่ไม่มีอำนาจกำหนดวาระทางสังคม แล้วเพราะคนทั่วไปสามารถตีโต้และตอบกลับได้ นี่เป็นภูมิทัศน์ใหม่ที่น่าสนใจ ไม่เคยเชื่อว่าสื่อใหม่หรือเก่าใครจะชนะ มันอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันต้องทำงานร่วมกัน ปฏิสัมพันธ์กัน ส่วนการที่ Media Inside Out จะลุกขึ้นมาส่งเสียง อาจจะยากหน่อย เพราะสังคมไทยไม่ค่อยเปิดให้ถกเถียงกันอย่างเท่าเทียม การปฏิรูปสื่ออาจต้องปฏิรูปองค์กรสื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ประชาชนถกเถียงแลกเปลี่ยน

นอกจากนี้จีรนุช ยังกล่าวว่า เมื่อประชาชนเป็นผู้สื่อข่าวแล้ว สื่อก็อย่าเอาเปรียบประชาชน เขารายงานเบื้องต้น เท่าที่เห็น เท่าที่สัมผัสให้แล้ว สื่อมวลชนก็ยังต้องทำหน้าที่ในการศึกษาอย่างเข้มข้น สร้างองค์ความรู้ ต้องทำงานหนักขึ้นและลึกขึ้น

อิสรียะ ไพรีพ่ายฤทธิ์  จากเว็บไซต์ Siam Intelligence Unit  (SIU)  ระบุว่า การผูกขาดเสียง หรือสื่อหลักเดิมถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง เพราะแค่จุดเล็กๆ จุดเดียวขอแค่สารที่มีค่า ก็เทียบเท่าสื่อหลักพันล้าน ถามว่าหมาเฝ้าบ้านควรมีไหม ควรมี แต่นั่นหมาของผมคนเดียว และทุกคนควรมีหมาได้แล้ว

อิสรียะ กล่าวด้วยว่า เห็นด้วยว่าสื่อควรเลือกข้าง advocacy journalism ก็แพร่หลายในต่างประเทศ โดยมี ideology ของตัวเอง เชื่อว่าผู้บริโภคมีสิทธิเลือก ดังนั้น แนวคิดของสื่อแบบเก่าว่าความจริงมีเพียงหนึ่งใช้ไม่ได้แล้ว ผู้บริโภคจะเลือกเอง สิ่งที่เห็นอยู่ตอนนี้จะเห็นการเปรียบเทียบเนื้อหาของข่าวเดียวกันของสำนักข่าวต่างๆ เรียกว่า ด้วยสถาปัตยกรรมพื้นฐานของโลกออนไลน์จึงมีการตรวจสอบถ่วงดุลกันไปได้ในตัว สื่อแค่ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดตามมุมมองของตัวเอง แล้วผู้บริโภคจะเลือกเอง

สมเกียรติ อ่อนวิมล กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อออนไลน์ดูเหมือนมีบทบาทมาก แต่เขายังคงใช้มันเป็นพื้นที่ส่วนตัว แม้ไม่ได้ตั้งใจจะตรวจสอบประเด็นทางสังคม แต่ก็กลายเป็นการตรวจสอบไปโดยธรรมชาติ เพราะหลายอย่างที่สื่อหลักไม่ทำ และเขาทำก็กลายเป็นประเด็นทางสังคมไป เช่น การแปลหนังสือ conversation with Taksin หรือการแปลเรื่องราวต่างๆ มาโพสต์ในเฟซบุ๊ค ส่วนเรื่องจริยธรรมของสื่อ เป็นเรื่องคลาสสิคที่ไม่เปลี่ยนตามยุคสมัย แต่อาจมีบางอย่างเพิ่มเติมขึ้นมาตามปัญญาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net