Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รายการเล่าข่าวทางโทรทัศน์ถูกข้อครหาหนึ่งมาเสมอโดยเฉพาะในช่วงน้ำท่วมปีที่แล้วว่ามุ่งเน้นนำเสนอภาพที่เร้าอารมณ์มากจนเกินไป รายการข่าวโดยเฉพาะช่วงเช้าจึงมีทั้งภาพเมโลดรามามาร้องไห้ให้คนสงสาร ไม่ก็คนสองกลุ่มทะเลาะกันเพราะปัญหากระทบกระทั่งกันจนบานปลายใช้กำลัง ใครที่ชอบดูข่าวแล้วได้ “เรื่องจริงผ่านจอ” แถมให้พร้อมคงพึงพอใจมาก ๆ

กลายเป็นคำถามที่น่าสนใจชวนให้หาคำตอบว่าแท้ที่จริงแล้วเหตุผลสำคัญที่รายการข่าวเหล่านี้จงใจนำเสนอภาพเหตุการณ์จริงที่อุดมด้วยอารมณ์ความรู้สึกคืออะไร คนทำงานสื่อก็บอกว่า เป็นเพราะคนดูนั่นแหละที่ชอบอะไรแบบนี้ เราก็เพียงตอบสนองความต้องการ ใครเลยจะอยากดูข่าวที่นำเสนอได้แสนแห้งแล้ง ส่วนคนดูก็พร้อมใจกันว่าบอกว่าเพราะรายการทีวีทำให้ดูนั่นแหละ เราก็เลยดูแบบที่เขาทำให้ดู ต่างก็โบ้ยกันไปมาหาคำตอบไม่ได้ แน่ตามความเห็นของผมแล้วก็คงจะประกอบด้วยกันทั้งคู่ วัฒนธรรมไทยมุงชอบเห็นภาพเหตุการณ์ระยะประชิดคงได้รับการตอบสนองอย่างดีจากภาพข่าวเมโลดราม่าเหล่านี้ เพราะให้ความรู้สึกเหมือนได้อยู่ในเหตุการณ์จริง

แต่ไม่ว่าต้นเหตุจะมาจากฝั่งไหน คนไทยที่มีเวลาตื่นมาดูทีวีตอนเช้าก็เสพติดภาพเมโลดรามาแบบนี้กันไปแล้วโดยไม่รู้ตัว
เมื่อเช้ามีโอกาสได้ชมรายการเล่าข่าวทางช่องสาม ทางรายการได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับปัญหาครอบครัวหนึ่งซึ่งมีสมาชิกที่เป็นเด็กเสียชีวิต สิ่งที่น่าสนใจคือภาพข่าวนั้นถูกทำเบลอมองไม่เห็นหน้าคนถูกสัมภาษณ์ (ซึ่งเป็นคนในครอบครัว) รวมถึงภาพเหตุการณ์ที่คนในครอบครัวกำลังร้องไห้ต่อการสูญเสียก็ถูกเบลอด้วยเช่นกัน

เหตุผลที่ต้องมีการเบลอภาพสืบเนื่องมาจาก มาตรา 9 ใน พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 สรุปเนื้อหาได้คือ ห้ามเผยแพร่ภาพ เรื่องราว หรือข้อมูลใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวหรือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว (สมมติกรณีแบบน้ำเน่า มีแม่เลี้ยงตีลูกเลี้ยงจนเกือบเสียชีวิต รายการข่าวก็ห้ามเผยแพร่ภาพ เรื่องราว หรือข้อมูลทั้งฝ่ายแม่เลี้ยงและลูกเลี้ยง)

ดูจากกรอบกฎหมายฉบับนี้ การนำเสนอข่าวย่อมต้องเลี่ยงการก่อให้เกิดความเสียหาย ทีมงานจึงต้องขุดหาวิธีการอาจจะเลี่ยงด้วยการไม่นำเสนอชื่อของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ รวมไปถึงการเบลอภาพเพื่อไม่ให้คนดูเห็นหน้าตัวผู้เกี่ยวข้องกับคดี ส่วนข้อมูลก็คงไม่สามารถเล่าชนิดเจาะลึกละเอียดได้อาจจะเป็นเพียงการนำเสนอเพื่อให้เป็นในเชิงอุธาหรณ์เท่านั้น

นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการนำเสนอข่าว แม้จะขัดตาในช่วงแรกแต่เชื่อว่าไม่นานคงเคยชิน ปกติแล้วการนำเสนอข่าวชนิดเจาะลึกชื่อสกุล บ้านที่อยู่ไหน ทำอะไรยังไงมาก่อนนี่แทบจะเรียกได้ว่าตั้งศาลเตี้ยประหารชีวิตกันคาจอเลยทีเดียว ยิ่งข่าวประเภทปัญหาครอบครัวที่คนทั่วไปส่วนใหญ่มักมีแนวโน้มชิงชังกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผลที่คนในข่าวได้รับไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำหรือถูกกระทำล้วนมีแต่ผลกระทบในแง่ลบ

สิ่งที่ได้แถมมาคือ การเบลอภาพทำให้ข่าวเกี่ยวกับครอบครัวที่ปกติเป็นทัพหน้าของข่าวแนวเมโลดรามาได้ถูกลดทอนอารมณ์ความรู้สึกไปบ้าง ปัญหาของการนำเสนอข่าวแบบเน้นอารมณ์ความรู้สึกคือ ในแนวทางทฤษฎี ข่าวต้องให้ข้อเท็จจริง (Fact) เป็นสำคัญ โดยมิใส่อคติของผู้นำเสนอลงไปด้วย เรามักเป็นผู้เล่าข่าวใส่ความคิดเห็นลงไปเสมอ แต่อีกสิ่งที่อุดมด้วยอคติคืออารมณ์ความรู้สึกที่เสนอผ่านข่าว ยามเราได้ฟังเสียงสะอื้นของใครสักคนในทีวีปนลอยออกมาพร้อมเสียงสัมภาษณ์ คนใจแข็งขนาดไหนก็ย่อมต้องหันมาดูและมีแนวโน้มที่จะเชื่อและรู้สึกสงสารโดยทัน

การใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นตัวหลักนำหน้าข้อเท็จจริงเป็นปัญหาสำคัญ เพราะแทนที่คนดูข่าวจะได้พิจารณาเนื้อหาด้วยตนเองผ่านข้อมูลที่ให้ผ่านมาให้ข่าว กลับใช้ความรู้สึกตัดสินโดยละเลยข้อเท็จจริง และหลายครั้งเราก็ได้เห็นการพิพากษาศาลเตี้ยคนในข่าวจากคนดูผ่านทาง sms ข่าว

อย่างน้อย ๆ การเบลอภาพก็ทำให้เราเห็นภาพไม่ชัดและให้ความสำคัญกับการฟังข้อมูลข่าวสารมากขึ้น อย่างไรก็ดีจากกรณีข่าวที่ผมได้ดูในช่วงเช้า ความเมโลดรามาก็ยังไม่ลดไปเท่าใดนักแม้ภาพจะถูกเบลอแล้วก็ตามเพราะรายการเลือกที่จะปล่อยภาพเหตุการณ์ที่มีเสียง ‘สะอึกสะอื้น’ ร่ำไห้ระงมชวนสังเวชใจอยู่หลายสิบวินาทีโดยปราศจากเสียงจากผู้ประกาศใด ๆ ทั้งสิ้น นั่นเท่ากับคนดูอย่างเรา ๆ ก็ได้เสพความเมโลดรามากันต่อไป แค่เปลี่ยนเป็นเน้นผ่านเสียงแทน

อาจจะลดเรื่องผลกระทบแง่ลบต่อคนในข่าวได้ แต่ความเร้าอารมณ์ในข่าวของสังคมเมโลดรามาก็ยังมีให้เสพเหมือนเดิมไม่ได้หายไปไหน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net