Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนคัดค้านพลังงานนิวเคลียร์ ออกแถลงการณ์ “ผู้วางแผนพีดีพี ยังเป็น “คน” อยู่หรือไม่?” ชี้ PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 บิดเบือนเจตนารมณ์ของแผนพีดีพี ถูกครอบงำโดยอวิชชา ทั้งขาดจิตสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์

 
 
วันนี้ (20 ก.ค.55) เครือข่ายประชาชนคัดค้านพลังงานนิวเคลียร์ ออกแถลงการณ์ “ผู้วางแผนพีดีพี ยังเป็น “คน” อยู่หรือไม่?” เรียกร้องให้นำพลังงานนิวเคลียร์ออกจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หลังจากเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 55 การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศระหว่างปี 2553 - 2573 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 หรือ PDP 2010 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. ยังสั่งการให้กระทรวงพลังงาน ศึกษาแผน PDP ฉบับปี 2012 ในทันที
 
โดยแผน PDP ฉบับดังกล่าว ถูกอ้างว่ามีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้า ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ที่รวมโครงการรถไฟฟ้า 12 สาย และให้สอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ร้อยละ 25 ใน 10 ปี เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
 
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้อนุมัติแผน PDP 2010 โดยมีพลังงานนิวเคลียร์อยู่ในแผน 5,000 เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2554-2573 โดยมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 10 โรง และโรงไฟฟ้าก๊าซ 20 โรง ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ว่าจ้างบริษัทปรึกษาให้คัดเลือก 5 พื้นที่ ได้แก่ อุบลราชธานี นครสวรรค์ ตราด สุราษฎร์ธานี ชุมพร ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีถูกเลือกเป็นอันดับ 1 โดยพิจารณาจากด้าน วิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และการประมาณต้นทุนก่อสร้างของโรงไฟฟ้า
 
ต่อมา รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ปรับปรุงแผน PDP 2010 ครั้งที่ 3 โดยมีพลังงานนิวเคลียร์อยู่ในแผน 2,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าความร้อนร่วมก๊าซธรรมชาติ 25,451 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 4,400 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าซื้อจากต่างประเทศ 6,572 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าระบบพลังงานร่วม Co-generation 6,374 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 9,516 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ 750 เมกะวัตต์ โดยมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 โรง ซึ่ง กฟผ.ได้ว่าจ้างบริษัทปรึกษาให้คัดเลือก 4 พื้นที่ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ตราด อุบลราชธานี กาฬสินธุ์
 
แถลงการณ์ ระบุว่า รายละเอียดเชิงตัวเลขของการปรับเปลี่ยน แผนพีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 แสดงอย่างชัดแจ้งว่า แผนดังกล่าว บิดเบือนเจตนารมณ์ของแผนพีดีพี เพราะมีการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าเกินความเป็นจริง และกระบวนการพิจารณาใช้เวลาในการพิจารณาเพียง 9 วัน คือตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. – 8 มิ.ย.55 เป็นการงุบงิบปรับเปลี่ยนแผนโดยขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน อีกทั้งถูกครอบงำโดยอวิชชา ด้วยความมืดบอดแห่งพุทธิปัญญา และมืดบอดทางวิชาการ แม้จะมีความพยายามคัดค้านจากเครือข่ายประชาชนและมีการนำเสนอตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น กรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ประเทศยูเครน แต่ก็ไร้ผล
 
นอกจากนั้นยังขาดจิตสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์ ดังที่รู้ซึ้งกันดีของผู้คนทั้งโลกว่า เหตุการณ์ระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก คือ โศกนาฏกรรม ที่นำมาซึ่งความสูญเสียในหลายมิติ แต่ความหายนะที่มวลมนุษยชาติที่ได้รับจากเหตุการณ์การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่ได้อยู่ในจิตสำนึกของกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันจัดทำPDP 2010 หลังเกิดเหตุการณ์ฟูกูชิมะ ในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ได้ผ่านเลยไป และเมื่อผู้คนต่างลืมเลือนความสยดสยองของเหตุการณ์ แล้วจึงมีการเดินหน้าผลักดันโครงการอีกครั้ง
 
“บรรดาความพยายามของคนกลุ่มนี้ มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่การบีบสังคมให้ยอมรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วยการโยนคำถามชี้นำ อาทิ เมื่อไฟฟ้าจะหมดในอนาคต จะทำอย่างไร? ระหว่างพลังงานถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และแม้แต่การประชุมสัมมนา แต่ข้อคำนึงที่คนกลุ่มนี้ไม่เคยคิดคำนึง คือ การมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีความเป็นไปได้ที่ประเทศนี้และประชาชนในประเทศนี้ มีความเสี่ยงและไม่เสี่ยงต่อหายนะภัยจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่การไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประเทศนี้และประชาชนในประเทศนี้ จะไม่เสี่ยงใดๆ เลย!!” แถลงการณ์ ระบุ
 
ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้
 
 
แถลงการณ์
เครือข่ายประชาชนคัดค้านพลังงานนิวเคลียร์
20 กรกฎาคม 2555
 
ผู้วางแผนพีดีพี ยังเป็น “คน” อยู่หรือไม่?
 
สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้อนุมัติแผนพีดีพี 2010 โดยมีพลังงานนิวเคลียร์อยู่ในแผน 5,000 เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2554-2573 โดยมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 10 โรง และโรงไฟฟ้าก๊าซ 20 โรง โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ว่าจ้างบริษัทปรึกษาให้คัดเลือก 5 พื้นที่ ได้แก่ อุบลราชธานี นครสวรรค์ ตราด สุราษฎร์ธานี ชุมพร ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีถูกเลือกเป็นอันดับ 1 โดยพิจารณาจากด้าน วิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และการประมาณต้นทุนก่อสร้างของโรงไฟฟ้า
 
ต่อมา รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ปรับปรุงแผนพีดีพี 2010 ครั้งที่ 3 โดยมีพลังงานนิวเคลียร์อยู่ในแผน 2,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าความร้อนร่วมก๊าซธรรมชาติ 25,451 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 4,400 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าซื้อจากต่างประเทศ 6,572 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าระบบพลังงานร่วม Co-generation 6,374 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 9,516 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ 750 เมกะวัตต์ โดยมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 โรง ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ว่าจ้างบริษัทปรึกษาให้คัดเลือก 4 พื้นที่ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ตราด อุบลราชธานี กาฬสินธุ์
 
รายละเอียดเชิงตัวเลขของการปรับเปลี่ยนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (แผนพีดีพี 2010) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 แสดงอย่างชัดแจ้งว่า
 
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 บิดเบือนเจตนารมณ์ของแผนพีดีพี
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ถูกครอบงำโดยอวิชชา
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ขาดจิตสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์
 
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 บิดเบือนเจตนารมณ์ของแผนพีดีพี
แผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan - PDP) มีเจตนารมณ์เพื่อให้การพัฒนากิจการไฟฟ้าปรับเปลี่ยนอันเป็นไปสู่ความสมดุล ยั่งยืน และสมเหตุสมผล แต่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (แผนพีดีพี 2012) ได้บิดเบือนเจตนารมณ์ของแผนพีดีพีโดยสิ้นเชิง เพราะมีการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าเกินความเป็นจริง และกระบวนการพิจารณาใช้เวลาในการพิจารณาเพียง 9 วัน คือตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม – 8 มิถุนายน 2555 เป็นการงุบงิบปรับเปลี่ยนแผน โดยขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
 
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ถูกครอบงำโดยอวิชชา
ภายหลังเหตุการณ์สึนามิและการระเบิดของเตาปฏิกรณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคม 2554 กลุ่มชาวสิรินธรไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และเครือข่ายคนไทยไม่เอานิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี ได้มีหนังสือไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อชี้ให้เห็นว่ามหันตภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดในญี่ปุ่น ทำให้นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นออกมายอมรับว่า เป็นภัยพิบัติครั้งสำคัญชาติ เพราะผลของความสูญเสียเท่ากับความสูญเสียของญี่ปุ่นที่ถูกถล่มด้วยระเบิดนิวเคลียร์เมื่อสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 นั่นหมายถึงว่า การระเบิดของเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ เทียบได้กับการทิ้งระเบิดปรมาณูของฝ่ายสัมพันธมิตรที่บริเวณ 2 เกาะของญี่ปุ่น
 
ความสูญเสียจากนิวเคลียร์มิได้สิ้นสุดลงโดยเร็ว หากแต่จะยังลุกลาม และยังความทุกข์ทรมานแก่ผู้ประสบภัยไปอีกนาน จะเห็นได้จาก กรณีการระเบิดของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl Nuclear Power Plant) ที่เมืองเชอร์โนบิล ประเทศยูเครน ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2529 แต่ความทุกข์ทรมานทั้งทางกายและจิตใจยังยืดเยื้อเรื้อรังจนถึงปัจจุบัน หรือกว่า 26 ปีแล้ว
 
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีความเสี่ยงใน 4 มิติ ดังนี้
 
มิติสิ่งแวดล้อม
สารกัมมันตภาพรังสีสมารถปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมได้หลายช่องทาง เช่น ในรูปฝุ่นละอองและก๊าซ นำไปสู่การปนเปื้อนทางการเกษตร น้ำทั้งปนเปื้อนรังสี สะสมในสัตว์น้ำเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร คนกิน ปลา กินผัก ดื่มนม กินเนื้อ เข้าสู่ร่างกายโดยทางผิวหนัง สัมผัสรังสีโดยตรง ฯลฯ
 
มิติเศรษฐกิจ
ต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ได้ต่ำดังคำชี้แจง เพราะ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีปัญหาต้นทุนบานปลายในทุกที่ งบประมาณที่ตั้งไว้ 1 แสนล้านทำโครงการ แต่เมื่อก่อสร้างจริงมักใช้งบประมาณ ไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนล้าน หรือบานปลายถึง 2-3 เท่า ซึ่งงบประมาณที่งอกเพิ่ม จะตกเป็นภาระแก่ประชาชนให้แบกรับ ดังกรณี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Olkiluoto 3 ในฟินแลนด์ ที่เริ่มก่อสร้างปี 2548 ต้องล่าช้าเกินกำหนดกว่า 3 ปี งบประมาณบานปลายจาก 3,200 ล้านยูโร เป็น 5,500 ล้านยูโร และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Framanville 3 ในฝรั่งเศส เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ก็ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน
 
ขัดแย้งกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง
โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์เป็นโรงงานที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ เพราะจำเป็นต้องนำเข้าเทคโนโลยี และเชื้อเพลิงตลอดอายุการใช้งาน หรือตลอดชีพ
 
มิติทางสังคม
โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกแห่ง นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงของผู้คนในสังคม
 
เป็นที่ชัดเจนว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (แผนพีดีพี 2010) ได้ดำเนินการไปโดยถูกครอบงำด้วยพลังแห่งอวิชชา ด้วยความมืดบอดแห่งพุทธิปัญญา และมืดบอดทางวิชาการ
 
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ขาดจิตสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์
เป็นที่รู้ซึ้งกันดีของผู้คนทั้งโลกว่า เหตุการณ์ระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก คือ โศกนาฏกรรม ที่นำมาซึ่งความสูญเสียทุกมิติ โดยเฉพาะความตายอย่างน่าอนาถของเหยื่อ ทั้งในอดีตที่เชอร์โนบิล และเหตุการณ์สดๆ ร้อนๆ ที่ฟูกูชิมะ ภาพความสยดสยองจากร่างกายที่พิกลพิการของเหยื่อทั้งมนุษย์และสัตว์ เป็นที่สลดหดหู่ใจแก่มวลมนุษยชาติ แม้ผู้ไม่เข้าใจเหตุการณ์อย่างลึกซึ้ง ก็รู้สึกหดหู่และสะเทือนใจโดยสัญชาตญาณ
 
แต่ความหายนะและสยดสยองที่มวลมนุษยชาติที่ได้รับจากเหตุการณ์การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มิได้ชำแรกถึงสัญชาตญาณและจิตสำนึกของกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (แผนพีดีพี 2012) แม้แต่น้อย ความเลือดเย็นของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ จะเห็นได้จาก เมื่อเกิดเหตุการณ์ฟูกูชิมะ ในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2554 คนเหล่านี้ต่างเงียบ ชะลอความกระตือรือร้นในอันจะผลักดันโครงการ พวกเขาในเย็นพอที่จะเฝ้ารอ... เหมือนพรานที่เฝ้ารอบนห้างส่องสัตว์ รอจนกระทั่งเหตุการณ์ได้ผ่านเลยไปเป็นปี และเมื่อผู้คนต่างลืมเลือนความสยดสยองของเหตุการณ์ แล้วพวกเขาก็ออกปฏิบัติการอีกครั้ง
 
บรรดาความพยายามของคนกลุ่มนี้ มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่การบีบสังคมให้ยอมรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วยการโยนคำถามชี้นำ อาทิ เมื่อไฟฟ้าจะหมดในอนาคต จะทำอย่างไร? ระหว่างพลังงานถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และแม้แต่การประชุมสัมมนา
 
แต่ข้อคำนึงที่คนกลุ่มนี้ไม่เคยคิดคำนึง คือ การมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีความเป็นไปได้ที่ประเทศนี้และประชาชนในประเทศนี้ มีความเสี่ยงและไม่เสี่ยงต่อหายนภัยจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

แต่การไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประเทศนี้และประชาชนในประเทศนี้ จะไม่เสี่ยงใดๆ เลย!!
 
 
ขอแสดงความนับถือ
 
1.กลุ่มชาวสิรินธรไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
2.คณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
3.คณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
4.สภาองค์กรประชาชน
5.กลุ่มเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา
6.เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดอุบลราชธานี (คป.สม.)
7.เครือข่ายคนฮักน้ำของ
8. กลุ่มสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนสิรินธร
9. กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล หมู่บ้านคำสร้างไชย อ.สว่างวีระวงศ์ อุบลราชธานี
10.ชมรมข้าราชการบำนาญและผู้สูงอายุ
11.พ่อค้าประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี
12.มูลนิธิประชาสังคมอุบลราชธานี
13.มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต
14.ผู้บริหารโรงเรียนสังกัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
15.เครือข่ายเฟซบุค ‘มั่นใจว่าคนอุบลราชธานีเกิน 1 ล้านคนคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์’
16.กลุ่มศึกษาพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นธรรม
17.เครือข่ายพี่น้องชาวไทย-เวียดนามอุบลราชธานี
18.สมาคมคนไทย-อเมริกันในสหรัฐอเมริกา
19.เครือข่ายเฟซบุค “เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์”
20. กลุ่มสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net