Skip to main content
sharethis

กรุณาอย่าหัวเราะ หรือก่นด่า หากคุณเทพไทจะลุกขึ้นมาวิจารณ์ชุดของยิ่งลักษณ์เป็นเรื่องเป็นราว (เพราะดิฉันในฐานะนักเขียนแฟชั่นที่นิตยสารหัวนอกชื่อดังฉบับหนึ่งก็รู้สึกร้อนๆ หนาวๆ ว่า หากคุณเทพไทจะหันมาเอาดีทางด้านนี้—หลังจากตกงานการเป็นนักการเมือง ฮา!) เพราะใช่ว่าจะมีแต่ประเทศโลกที่สามอย่างเรา ที่ชอบนำเรื่องไม่เป็นเรื่องมาวิพากษ์วิจารณ์แล้วโยงเรื่องนั้นเรื่องนี้เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไร้ตรรกะ และมันสมอง เพื่อจะให้มันเป็นประเด็นทางสังคมให้จงได้ (ตอนได้อ่านข่าวนี้ก็ยังงงๆ อยู่ว่า เอ๊ะ! เดี๋ยวนี้ในนักการเมืองเขาหันมาวิจารณ์แฟชั่นกันแล้วเหรอ—สงสัยเป็นการเปิดตัวอาชีพใหม่ เผื่อในอนาคตจะไม่มีใครเลือกให้มาทำงานการเมือง ฮา!) ประเทศโลกที่หนึ่งอย่างสหรัฐฯ ก็ไม่น้อยหน้า เมื่อสภาคองเกรส ประชาชนจำนวนหนึ่งแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ชุดนักกีฬาโอลิมปิกของสหรัฐฯ ซึ่งออกแบบโดยดีไซเนอร์ชื่อดัง Ralph Lauren ว่า เป็นชุดไม่รักชาติ!!! เพราะนอกจากจะไม่มีธงชาติเด่นหราแล้ว หมวกก็ไม่ใช่หมวกเบสบอล และที่สำคัญข้อหาหนักๆ ก็คือ แทนที่จะเป็น Made In USA แต่กลับเป็น Made In China !!! แบบนี้รับไม่ได้ !!!

จากรายงานชิ้นก่อน ในบทความเรื่อง “ธงชาติกับโอลิมปิก” จะเห็นว่า ที่อังกฤษนั้น สเตลล่า แมคคาร์ทนีย์ ดีไซเนอร์ที่ออกแบบยูนิฟอร์มของนักกีฬาของสหราชอาณาจักร ถูกวิพากษ์วิจารณ์จนอ่วม เรื่องการนำลายธงชาติ หรือยูเนียนแจ๊ก มาดัดแปลงโดยไม่มีสีแดงแบบดั้งเดิม แต่ที่สหรัฐฯ กับผลการออกแบบของ ราล์ฟ ลอเรน ก็ไม่เห็นมีใครว่าอะไร จนเมื่อมีคนตาดีแอบไปเห็นว่า ที่ปกเสื้อซึ่งจะมีแถบยี่ห้อที่ระบุว่าเสื้อผ้านี้ทำมาจากไหนนั้น ดันมีข้อความว่า “Made In China” เสียนี่

และมันก็ไม่ใช่ประเด็นเล็กๆ แบบว่าส่งต่อกันในเฟซบุ๊ก แต่ถึงขั้นที่นักการเมืองในสภาครองเกรส ทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิคกัน ออกโรงมาอย่างพร้อมเพรียงเลยทีเดียว (มีนักข่าวสหรัฐฯ บางคนเขียนแซวว่า มีไม่กี่เรื่องที่นักการเมืองสองพรรคนี้จะเห็นร่วมกัน และเรื่องนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องนั้น มันช่างเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ระดับชาติจริงๆ!) โดยสมาชิกสภารัฐนิวยอร์ก Kristen Gillibrand ออกมากล่าวว่า

“หากนักกีฬาที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในประเทศนี้ ต้องไปยืนบนเวทีโลกเพื่อเป็นตัวแทนของประเทศของเรา เขาก็ควรจะนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดในประเทศของเรา สิ่งที่ประเทศเราได้ผลิตขึ้นมาอย่างดีและมีคุณภาพ ซึ่งจะยังความภาคภูมิใจมาสู่ประชาชนชาวสหรัฐฯ ทั้งหมด ทั้งในเรื่องการผลิตและเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าในการผลิต”

สมาชิกสภาอีกคนหนึ่ง Harry Reid ก็ออกมาบอกว่า “เผามันทิ้งให้หมดเลย!” นอกจากนี้ ประชาชนจำนวนมาก สื่อมวลชน รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า “เรา (ประชาชนชาวอเมริกันฯ) จะภาคภูมิใจได้อย่างใร หากตัวแทนของประเทศ ใส่เสื้อผ้าในนามของชาติแต่ Made In China” รวมถึงบรรดาดีไซเนอร์ระดับท้องถิ่น อย่าง Nanette Lepore ที่ใช้ฐานการผลิตในประเทศ ก็ออกมาผสมโรงในประเด็นที่ว่า ไม่ใช่แค่เรื่องความภาคภูมิใจในความเป็นชาติเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องเศรษฐกิจอีกด้วย ในขณะที่ดีไซเนอร์หลายคนใช้แหล่งผลิตในประเทศ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศ ใครกันแน่ที่ทำลายเศรษฐกิจของอเมริกัน !!! แล้วในขณะที่อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ อยู่ที่ 8.2% แต่ราล์ฟ ลอว์เรน กลับไปจ้างคนจีนผลิตเสื้อผ้า เพื่อให้ตัวแทนของชาติสวมใส่ไปแข่งโอลิมปิกในนามของชาติ ทำอย่างนี้ได้ไง!!!

กลายเป็นดราม่าระดับประเทศที่กดดันไปยังตัวดีไซเนอร์และคณะกรรมการโอลิมปิกของสหรัฐ ฯ อย่างหนัก จนในที่สุดก็มีถ้อยแถลงออกมาจากดีไซเนอร์และคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งสหัฐฯ ว่า เอาล่ะ ปีนี้ เราคงจะแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ครั้นจะให้เผาทิ้งให้หมด นักกีฬาก็คงไม่มีอะไรใส่ไปแข่ง เอาเป็นว่า ในโอลิมปิกปีหน้า ลาร์ฟ ลอว์เรน จะออกแบบชุดนักกีฬาใหม่ แล้วคราวนี้รับรองว่า Made In USA แน่นอน!

ดูเหมือนว่า ความคิดเห็นโดยรวมจะมุ่งไปยังประเด็น ความภูมิใจของชาติ ความเป็นสหรัฐฯ กับ Made In China โดยหลายฝ่ายก็มีเหตุผลมาประกอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ (ที่ดูเป็นรูปธรรม) หรือชาตินิยม (ที่เป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ แต่อินกว่ามากๆ) แต่มีคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งก็คือบรรดานักเศรษฐศาสตร์และคอลัมนิสต์ด้านเศรษฐกิจออกมาให้ความเห็นที่แตกต่างออกไป ในประเด็นนี้อย่างน่าสนใจ โดย The Wall Street Journal ให้ความเห็นว่า ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมนี้ หากสหรัฐฯ จะต้อง “ส่งออก” สหรัฐฯ ก็ต้อง “นำเข้า” และเราไม่สามารถคิดเพียงแค่ว่า การสนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศ อย่างการใช้ฐานผลิต หรือวัตถุดิบในประเทศจะเป็นการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของชาติเท่านั้น เพราะในกรณีของแบรนด์ Ralph Lauren ได้ก้าวไปไกลกว่านั้น เพราะมันถือเป็นบริษัทระดับโลก กับการค้าขายระดับโลก บริษัทนี้มีมูลค่าสูงถึง 6.9 พันล้านเหรียญฯ มีช็อปทั่วโลกกว่า 379 ช็อป ในปีที่แล้ว บริษัทมีกำไรสูงถึง 691 ล้านเหรียญสหรัฐ และในผลกำไรนั้นก็คือ “ภาษี” ที่บริษัท Ralph Lauren จ่ายคืนให้กับ “สหรัฐ” ซึ่งมีมูลค่าหลายร้อยล้านเหรียญ เลยทีเดียว

ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม หรือ Free Trade นั้นจึงไม่อาจคิดได้ว่าใครทำลายชาติเพียงแค่ไม่ใช้ฐานการผลิต หรือวัตถุดิบในประเทศ แต่ยังต้องดูที่ภาพรวมของการค้าขาย ซึ่งนำกำไรเข้ามาสู่ประเทศชาติในรูปแบบภาษีที่ต้องเสียอีกด้วย และหากจะพูดถึงความภูมิใจก็อย่าลืมว่าแบรนด์ Ralph Lauren คือแบรนด์อเมริกันที่ทำให้คนทั่วโลกใส่เสื้อคอโปโลในสไตล์ Preppy ที่เป็นอเมริกันขนานแท้ รวมถึงคนอเมริกันอีกหลายล้านคนอีกด้วย

ความน่าสนใจของประเด็นชาตินิยมเช่นนี้คือ ในโลกเศรษฐกิจแบบเสรีนินม ชาตินิยมที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจนั้นถูกจัดวางตำแหน่งแห่งที่ไว้ตรงไหน เพราะหากจะกล่าวถึงระบบเศรษฐกิจล้วนๆ ก็จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เพียงแค่ Ralph Lauren หรอก แบรนด์อื่นๆ อีกมากมาย ที่แม้ไม่ได้ผลิตเสื้อผ้าในโอกาสพิเศษการไปเป็นตัวแทนของชาติ ก็ล้วนแต่ใช้ระบบโรงงานที่ต่างประเทศกันทั้งนั้น ไม่ใช่แค่จีน แต่ยังเป็นเม็กซิโก สเปน เวียดนาม กัมพูชา และไม่ใช่แค่ที่สหรัฐเท่านั้น ไฮแบรนด์ต่างๆ ก็พากันย้านฐานการผลิตไปสู่ประเทศที่ค่าแรงต่ำกันเกือบทั้งหมดแล้ว หากจะมีเหลือสิ่งที่ยังเรียกว่า Luxury Item ในโลกนี้ ก็คงเหลือเพียงกระเป๋าเบอร์กิ้นของ Hermes เท่านั้น ที่ยังพอเรียกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าเป็น Luxury Item ขนานแท้ นี่ยังไม่พูดถึงภาคส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจ อย่างรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เทคโนโลยีต่างๆ หรือแม้กระทั่งอาหาร พืชผัก เพราะหากจะบอกว่าชุดนักกีฬาโอลิมปิกของ ราล์ฟ ลอว์เรน ที่ Made In China นั้นทำลายเศรษฐกิจของประเทศ และไม่แสดงถึงความภาคภูมิใจของชาติด้วย แล้วสิ่งของอื่นๆ ที่มีการใช้ในสหรัฐฯ แต่ไม่ได้ผลิตในประเทศล่ะ เราจะยกขึ้นมากล่าวถึงในประเด็นชาตินิยมด้วยหรือเปล่า ?

จุดนี้เอง ซึ่งเป็นจุดที่น่าสนใจของคำว่าชาตินิยม ว่า หากเราหยิบยกประเด็น “ชาตินิยม” ขึ้นมา เราหยิบยกมันขึ้นมาด้วยบริบทของอะไร ในปัจจุบัน ไม่ว่าที่สหรัฐฯ ในกรณีนี้ หรือประเทศไทยเอง ประเด็นเรื่อง ชาตินิยม นั้นดูเหมือนจะมีความหมายที่แบนราบและถูกหยิบยกขึ้นมาเป็น “อาวุธ” ในการทิ่มแทงคนอื่นเสียมากกว่าที่จะมองมันในมิติอื่นๆ ที่น่าสน หรือในมิติที่มันสามารถสะท้อนความหมายอื่นๆ ไปได้อีก โดยเฉพาะในประเทศไทย ชาตินิยมนั้นเป็นอาวุธร้ายแรงจนขึ้นถึงทิ่มให้คนเข้าคุกเข้าตะรางกันได้เลยทีเดียว

เหมือนดังเช่นกรณีของคุณเทพไท ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การแต่งกายของยิ่งลักษณ์ อยากถามหน่อยว่า หากเราไม่ตอบโต้ว่าชุดนั้นเป็นชุดของ “โครงการศิลปาชีพ” เราจะตอบโต้เขาว่าอย่างไร แล้วอะไรที่ทำให้เรายกข้อตอบโต้ “โครงการศิลปาชีพ” ขึ้นมา

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net