Skip to main content
sharethis

 

แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพียง 6%

คณะทำงานแรงงานและสวัสดิการสังคม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ จัดสัมมนา การจัดระบบประกันสังคมถ้วนหน้า ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำข้อสรุป ความคิดเห็นเสนอไปยังรัฐบาล ซึ่งนายชวลิต อาคมธน ประธานคณะทำงานการแรงงาน และสวัสดิการสังคม เปิดเผยว่า จากการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2554 ของสำนักงาน สถิติแห่งชาติ พบว่ามีแรงงานนอกระบบจำนวน 24.6ล้านคน เป็นแรงงานที่ทำงานอยู่ใน ภาคเกษตร ถึง 15.1ล้านคน หรือร้อยละ 61.4 ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด ซึ่งไม่มีสิทธิ เข้าสู่ระบบประกันสังคม และหากพิจารณาเฉพาะแรงงานนอกระบบผู้มีสิทธิเข้าสู่ระบบ ประกันสังคมแบบสมัครใจ จำนวน 9.5ล้านคน มีผู้ประกันตนโดยสมัครใจ ประมาณ 5แสน 9หมื่นคน หรือร้อยละ 6.21เท่านั้น เนื่องจากเห็นว่า ไม่ได้ประโยชน์ทดแทนเท่าเทียมกับ ผู้ประกันตนภาคบังคับ หรือผู้ประกันตนที่เคยอยู่ในภาคบังคับมาก่อน ซึ่งประโยชน์ ทดแทนนี้ มี 7 กรณี คือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน

นอกจากนี้ยังพบว่ายังมีผู้ประกันตนภาคบังคับ เพียง 9ล้านคน เท่านั้นที่อยู่ใน ระบบประกันสังคม ทั้งที่มีการจ้างงานในกิจการทุกขนาดถึง 13.5ล้านคน ในกิจการ 3ล้านแห่ง ทำให้แรงงานที่เหลือเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครองตามระบบประกันสังคม

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 16-7-2555)

แรงงานขาด 'อมตะ' ปิ๊งไอเดีย จับมือสถาบันการศึกษาวางแนวทาง

เมื่อวันที่ 16 ก.ค.  นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ทั้งสองแห่งคือ ที่ระยองและชลบุรี มีความต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้คือ ไม่มีนักเรียนสนใจเข้าเรียนในระดับอาชีวศึกษา จนทำให้สถาบันการศึกษาด้านอาชีวะไม่สามารถผลิตแรงงานได้เพียงพอกับความต้อง การของตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรม เพราะค่านิยมที่นักเรียน ต้องการเรียนระดับอุดมศึกษาเพื่อให้ได้วุฒิระดับปริญญาตรี

บริษัทจึงวางแนวทางเพิ่มจำนวนแรงงานที่ใช้ฝีมือ ให้เข้ามาในระบบมากขึ้น ในรูปแบบของความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เพื่อนำนักศึกษาเข้ามาฝึกงานในโรงงานโดยตรง เพื่อได้ประสบการณ์การทำงานจริง ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรม และนักศึกษา สถาบันการศึกษา ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติวงการการศึกษาระดับอาชีวศึกษา คือการนำนักศึกษามาเรียนรู้และฝึกงานในโรงงานอุตสาหกรรมควบคู่กับการเรียน ภาคทฤษฏี จากเดิมที่การเรียนรู้ของนักศึกษาด้านอาชีวศึกษา ต้องรอให้เป็นช่วงเวลาของการฝึกงานจริงกับโรงงานอุตสาหกรรมก่อนจบการศึกษา ซึ่งบริษัทมองว่าเป็นเรื่องที่ล้าสมัยแล้ว ไม่ทันกับสถานการณ์และตลาดการจ้างงานแรงงาน ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

นายวิบูลย์ กล่าวต่อว่า บริษัทได้ร่วมมือกับมูลนิธิเฟืองพัฒนา ดำเนินโครงการ เส้นทางสู่อาชีพที่มั่นคง มีเงิน มีงาน มีวุฒิเพื่อส่งเสริมและยกระดับคุณภาพการศึกษา ในรูปแบบใหม่ให้กับสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ โดยร่วมกับผู้ประกอบการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง รวมกว่า 50 แห่ง อาทิ บริษัท โซนี่ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอเซีย พรีซิชั่น จำกัด บริษัท ยูไนเต็ดคอยล์เซ็นเตอร์ จำกัด บริษัท ฟูคูอิ คาเซอิ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น เปิดโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นห้องเรียนรู้สำหรับฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้กับ นักเรียน-นักศึกษาระดับอาชีวศึกษาในหลักสูตรการ ฝึกงานเต็มรูปแบบ เป็นระยะเวลา 7 เดือน ถึง 1 ปี จากหลักสูตรปกติที่การฝึกงานก่อนจบการศึกษาอาจใช้เวลาเพียง 3 เดือน แต่โครงการของบริษัทในครั้งนี้ จะเป็นการติวเข้มสำหรับนักศึกษาเพื่อให้มีประสบการณ์ในการทำงานจริง ก่อนจบการศึกษา และในที่สุดอาจได้ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแห่งนั้นๆ ที่เข้าไปฝึกฝนประสบการณ์จริงกับโครงการของบริษัทอีกด้วย ไม่ต้องเสียเวลาไปสมัครงานหลังจบการศึกษา

ปัจจุบันรัฐบาลได้สนับสนุนการขยายตัวภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องจักรกล และโลหะ ส่งผลให้มีความต้องการแรงงานด้านวิชาชีพ ที่จบการศึกษาระดับอาชีวะมากขึ้น ผนวกกับเตรียมตัวเพื่อรองรับการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ส่งผลให้ผู้ประกอบการเร่งพัฒนาศักยภาพ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของตนเองในหลายด้าน รวมถึงเพิ่มความต้องการแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านกระบวนการผลิตที่ตรงตาม สายงาน ดังนั้น โครงการเส้นทางอาชีพสู่ความมั่นคง จึงเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะช่วยผลิตกำลังคนที่ตรงตามความต้องการของภาค อุตสาหกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น

ด้าน พล.ต.ท.ระพีพัฒน์ ปาละวงศ์ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิเฟืองพัฒนา กล่าวว่า มูลนิธิเฟืองพัฒนาจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือน ส.ค. โดยมีวัตถุประสงค์การก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานที่ช่วยในการขับเคลื่อน องค์ความรู้ และมีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพการศึกษา รวมถึงพัฒนาทักษะวิชาชีพฝีมือแรงงานชั้นคุณภาพป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการพร้อมก้าวสู่เอ อีซี

สำหรับการดำเนินโครงการ เส้นทางสู่อาชีพที่มั่นคง มีเงิน มีงาน มีวุฒิขณะนี้มีสถานศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ความ สนใจเข้าร่วมโครงการ 20 แห่ง และพร้อมลงนามความร่วมมือ ในการส่งนักศึกษาเข้ารวมโครงการให้อยู่ภายในการดูแลของมูลนิธิ แล้ว 500 คน ซึ่งมูลนิธิจะได้จัดส่งให้บริษัท อมตะฯ เพื่อเข้าสู่การฝึกประสบการณ์ทำงานจริงในโรงงานอุตสาหกรรมของนิคมอุตสาหกรรม อมตะ ในเดือน ส.ค.นี้

"การดำเนินโครงการดังกล่าว นอกจากจะช่วยเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์ให้แก่นักเรียนในระดับอาชีวศึกษา แล้ว ผู้เข้าฝึกงานจะได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการระหว่างการฝึกงาน อาทิ เบี้ยเลี้ยง ที่พัก รถรับ-ส่ง ประกันอุบัติเหตุ ใบรับรองการผ่านงานจากมูลนิธิ ร่วมกับสถานประกอบการ และหากสำเร็จการศึกษาและได้วุฒิบัตรในระดับ ปวช.และ ปวส. เรียบร้อยแล้วมีโอกาสได้รับการบรรจุเป็นพนักงานของสถานประกอบการที่เข้ารับ ฝึกงานได้ทันที พร้อมทั้งรับการสนับสนุน ให้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นต่อไป"

(ไทยรัฐ, 16-7-2555)

โรงงานขยับปรับขึ้นค่าจ้างล่วงหน้าสกัดลูกจ้างย้ายหนีรับค่าแรง 300 บ.

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)เปิดเผยว่า ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาโรงงานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่ยังไม่ได้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้น ต่ำ 300 บาท แต่มีรอยต่อติดกับจังหวัดที่บังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทไปแล้ว อาทิ จ.พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา ได้เริ่มทยอยเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน โดยไม่รอให้ถึงกำหนดวันที่ 1 ม.ค. 2556 เพื่อรักษาฐานแรงงานให้อยู่กับบริษัทตัวเองต่อไป

"พวกโรงงานที่อยู่ใกล้แนวรอยต่อระหว่างจังหวัด ถ้าไม่ปรับขึ้นค่าจ้าง แรงงานก็จะย้ายไปทำงานโรงงานอื่นที่ได้ค่าจ้าง 300 บาทแทน และอีกแค่ 6 เดือนก็จะต้องถูกบังคับให้ขึ้นค่าจ้างอยู่แล้ว ก็เลยปรับเพิ่มให้เสียเลย เพื่อดึงคนงานให้ทำงานที่เดิมต่อไป" นายชาลี กล่าว

ด้านนายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) สายแรงงาน กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่มีแรงงานย้ายงานไปทำงานในจังหวัดที่ปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาท แต่ยังคงเป็นส่วนน้อย เพราะในจังหวัดนำร่องส่วนใหญ่มีค่าครองชีพสูงกว่าในต่างจังหวัด ซึ่งไม่ได้ส่งผลให้แรงงานในต่างจังหวัดขาดแคลน หรือถ้าขาดก็ขาดอยู่แล้วไม่ใช่จากเหตุผลนี้

"โรงงานอุตสาหกรรมที่ปรับค่าจ้างเพิ่มเป็น 300 บาท ให้เท่ากับจังหวัดนำร่องนั้นส่วนใหญ่เป็นโรงานที่มีศักยภาพ หรือให้ค่าจ้างสูงกว่าอยู่แล้ว ส่วนโรงงานขนาดเล็กคงไม่ปรับ เพราะที่ผ่านมาปรับขึ้น 40% ก็ถือว่าอยากลำบากแล้ว" นายทวีกิจ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากต้องการให้รัฐบาลเลื่อนการปรับค่าจ้าง300 บาทออกไปก่อนจนถึงปี 2558 แล้วค่อยปล่อยลอยตัวค่าจ้างให้เป็นไปตามเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด ใครต้องการแรงงานมากก็เพิ่มค่าจ้างเพื่อดึงดูดแรงงานไม่จำเป็นต้องเป็นอัตรา เดียวกันทั่วประเทศ

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เอสเอ็มอีขนาดกลางและขนาดเล็กควรปรับตัวด้วยการเร่งเพิ่มประสิทธิภาพและ คุณภาพ รวมทั้งยกระดับเทคโนโลยีที่ใช้ทดแทนแรงงานคนให้มากขึ้นโดยเร็ว เพื่อคุมต้นทุนและให้ธุรกิจแข่งขันได้

ทั้งนี้ นโยบายค่าจ้างสูงอาจจะทำให้เอสเอ็มอีบางส่วนต้องปิดตัวลงและเลิกจ้างแรงงาน แต่สถานการณ์ไม่น่าจะเลวร้าย เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงานระดับกลางและระดับล่างหลายแสนคน ดังนั้นรัฐจึงควรสนับสนุนทำให้เกิดการถ่ายเทการจ้างงานจากแหล่งงานที่ลดคน งานไปสู่แหล่งงานที่ขาดคนงาน เพราะมีธุรกิจมากกว่า 66% ยังมีความต้องการแรงงาน

"เอสเอ็มอีดันจีดีพีมูลค่ากว่า 3.7 ล้านล้านบาท หรือ 38% ของจีดีพี จากเอสเอ็มอีที่มีมากถึง 2.9 ล้านแห่ง" นายยงยุทธ กล่าว

(โพสต์ทูเดย์, 17-7-2555)

เผยขบวนการตุ๋นแรงงานยังมีอยู่ย้ำต้องหามาตรการปราบให้หมด

นายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการที่มีขบวนการหลอกลวงเรียกเก็บค่าบริการจากแรงงานไทยที่ต้องการไปทำงาน ต่างประเทศนั้น ทางนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีความกังวล และห่วงใยคนหางานไทยเป็นอย่างมาก ล่าสุดพบว่ายังมีการหลอกเก็บเงินแต่ไม่ได้รับการจัดส่งไปทำงาน โดยเมื่อวันที่ 5 และ11 มิถุนายน 2555 มีผู้ร้องทุกข์ซึ่งมีภูมิลำเนาในจังหวัดนครราชสีมาได้ร้องเรียนผ่านสำนักงาน จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา 9 ราย โดยระบุในคำร้องทุกข์ว่ามีนายหน้าหลอกให้โอนเงินค่าบริการจัดหางานไปทำงาน ต่างประเทศผ่านธนาคารแต่ในที่สุดก็ไม่ได้เดินทาง

ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายให้อธิบดีกรมการจัดหางานทำหนังสือสั่งการไปยังสำนักงานแรงงาน จังหวัดทุกจังหวัดกำชับให้ออกมาตรการป้องกัน ปราบปรามขบวนการหลอกลวงแรงงาน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก โดยเฉพาะจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีคนหางานไปทำงานต่างประเทศมาก ที่สุด และหากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ยังเพิกเฉยปล่อยให้มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น อีกจะต้องถูกสอบสวนเป็นกรณีๆ ไป

สำหรับการร้องทุกข์ผ่านศูนย์โปร่งใสกระทรวงแรงงานประจำจังหวัด นครราชสีมาในครั้งนี้ พบว่านายภานุพันธ์ สว่างวงศ์ และนายอาคม จักษุจินดา หลอกเรียกเก็บค่าบริการและค่าใช้จ่ายจากคนหางานประเทศอิสราเอลและสาธารณรัฐ เช็ค ผู้ถูกหลอกอีกกลุ่มหนึ่งได้ติดต่อผ่านบริษัทจัดหางาน โอเวอร์ซีส์ เอ็มพลอยเมนท์เซ็นเตอร์ ประเทศไทย ถนนงามวงศ์วาน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ผ่านนางสาวรักษิกา เกษรสกุลมีภูมิลำเนาอยู่ที่ถนนงามวงศ์วาน เขตหลักสี่กรุงเทพฯ และบริษัทจัดหางาน ฟาเอช เซอร์วิสจำกัด ซอยโนนขมิ้น อำเภอหนองบัว อำเภอเมืองจังหวัดอุดรธานี  และกลุ่มผู้ที่มีภูมิลำเนาในอำเภอเมือง อำเภอสีดา อำเภอบัวลาย จังหวัดนครราชสีมา ถูกหลอกเสียค่าบริการและค่าใช้จ่ายไปทำงานยังไต้หวัน ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอิสราเอล และไม่ได้รับการจัดส่งผ่าน อีกด้วย

สำหรับค่าบริการของผู้ร้องทุกข์เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณรายละ 20,000-53,000 บาท โดยมีหลักฐานการโอนเงินผ่านธนาคารสั่งจ่ายบุคคลและบริษัทจัดหางานดังกล่าว ด้วย ขณะนี้เรื่องร้องทุกข์กำลังอยู่ในระหว่างการรอผล

(พิมพ์ไทย, 17-7-2555)

สปสช.ถกขยายวงเงินชดเชยเพิ่มอีก

นางสุนทรี เซ่งกี่ ในฐานะกรรมการสัดส่วนแรงงาน คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) กล่าวถึงกรณีบอร์ด สปสช. มีมติเพิ่มค่าชดเชยตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยให้ขยายกรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพอย่างถาวร จากเดิมจ่ายเงินไม่เกิน 200,000 บาท เป็น 400,000 บาท กรณีพิการหรือสูญเสียอวัยวะจาก 120,000 เป็น 240,000 บาท ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. นี้ว่า ในวันที่ 6 ส.ค.นี้ จะประชุมคณะอนุกรรมการฯ หลังจากเบื้องต้นมีมติเห็นชอบหลักการให้ขยายครอบคลุม 3 กองทุน โดยจะต้องตั้งคณะทำงานการมีส่วนร่วม โดยดึงทั้งกองทุนประกันสังคม สิทธิสวัสดิการข้าราชการ และสิทธิ 30 บาทฯ หารือว่าจะเดินหน้าอย่างไร

ด้านศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภามีข้อเสนอในเรื่องขยายการชดเชยตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ครอบคลุมไปยังผู้ป่วยสิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ นอกเหนือจากปัจจุบันที่ใช้ได้เฉพาะสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทุกกองทุน อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมฯ นอกจากจะพูดคุยถึงการขยายการชดเชยครอบคลุมทั้ง 3 กองทุนจะเสนอให้ขยายวงเงินชดเชยเพิ่มเติม หลังเคยเสนอให้ขยายวงเงินเป็น 10 เท่าของวงเงินเดิมไปก่อนหน้านี้

(ข่าวสด, 18-7-2555)

เผยอินเดียต้องการส่งแรงงานมาทำงานในไทย

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้ให้การต้อนรับนายอนิล วัธวะ เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย (H.E. Mr. Anil Wadhwa) และนายประศานต์ อัคราวัล อุปทูตด้านการเมือง (Mr. Prashant Agrawal : Counsellor – Political) โดยได้หารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการนำแรงงานอินเดียเข้ามาทำงานในประเทศ ไทยอย่างถูกต้องในระบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจีและมีการทำบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) ซึ่งชี้แจงว่า ประเทศไทยมีความยินดีที่จะนำแรงงานอินเดียเข้ามาทดแทนตำแหน่งงานที่ขาดแคลน ในกิจการต่างๆ ของผู้ประกอบการในประเทศไทย หรือหากมีความเป็นไปได้ จะนำแรงงานอินเดียไปทำงานยังประเทศต่างๆ ที่ผู้ประกอบการไทยจะไปลงทุน โดยคิดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศที่จะไปลงทุนนั้นๆ ซึ่งทางเอกอัครราชทูตอินเดียไม่ขัดข้อง อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการสำรวจชัดเจนแล้วว่ากิจการใดขาดแคลนแรงงานเท่าใด จะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาอนุญาตการทำงานของคนต่างด้าวพิจารณา จากนั้นจะขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า เอกอัครราชทูตอินเดีย แจ้งว่า มีแรงงานหลากหลายสาขา ครอบคลุมแทบทุกกิจการ และมีการส่งแรงงานไปยังประเทศต่างๆ โดยแรงงานสามารถปรับตัวตามสภาพแวดล้อมของประเทศปลายทางได้ ทั้งนี้ มองว่า แรงงานประเทศอินเดียน่าจะทำงานในตำแหน่งกรรมกรบางสาขาเท่านั้น

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 18-7-2555)

รมต.แรงงาน จี้ทูตเช็กสัญญาจ้างแรงงานไทย

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม นายเผดิมชัยสะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการให้โอวาทแก่อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) จำนวน 13 คนว่า ขณะนี้การไปทำงานในต่างประเทศของแรงงานไทยกำลังประสบปัญหา มีการแก้ไขสัญญาจ้างงานที่ปลายทาง โดยจะเขียนสัญญาจากประเทศไทยอย่างหนึ่ง แต่เมื่อไปถึงประเทศปลายทางที่เลือกไปทำงานจะมีการปรับเปลี่ยนสัญญาจ้าง ลดสวัสดิการ และลดเงินเดือนปัญหานี้จะเกิดขึ้นหากใช้บริการกับบริษัทซับคอนแท็ค เพราะไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งจึงให้ทูตตรวจสอบเรื่องนี้เร่งด่วนและรายงาน กลับไปที่กระทรวง ทั้งนี้ นโยบายปราบปรามและลดค่าหัวคิวไปทำงานต่างประเทศจะเดินหน้าอย่างถึงที่สุด โดยเฉพาะการไปทำงานที่ไต้หวันมีการเก็บค่าหัวคิวสูงมาก และรู้สึกเป็นห่วงเพราะมีรายงานทุกวันว่าแรงงานไทยเดินทางไปวันละกว่า 100 คน

ขณะที่นายบัญญัติ ศิริปรีชา อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน ประจำสำนักงานแรงงานไทย (สนร.) ในกรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวว่า จากข้อมูลแรงงานไปทำงานในยูเออี พบว่ามีแรงงานไทยเดินทางไปยูเออีปีละกว่า 10,000 คน ในจำนวนนี้พบว่าแรงงานไทยมีปัญหาถูกร้องเรียนเดือนละไม่ต่ำกว่า 200 คน เช่นปัญหาทะเลาะวิวาท ถูกจำคุก ฯลฯ นอกจากนี้มีปัญหาขาดความอดทน เนื่องจากอากาศที่ยูเออีร้อนจัด

(มติชน, 19-7-2555)

สหภาพฯประปาคัดค้านเปิดบริษัทลูกบังหน้า ผลิตน้ำดื่มทั้งที่การประปาทำอยู่ทุกวัน

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก "การประปรนครหลวง"ถนนประชาชื่นว่า สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทั้ง 5 แห่งในนาม "เครือข่ายไฟฟ้า-ประปาเพื่อชาติและประชาชน"  (คฟปช.) ประกอบกด้วย 1-สหภาพฯการไฟฟ้านครหลวง (สร.กฟน.) มี นายประจวบคงเป็นสุข เป็นประธาน 2-สหภาพฯการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (สร.กฟภ.) มี นายสุดเจริญ สมชม เป็นประธาน 3-สหภาพฯการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) มี นายศิริชัย ไม้งาม เป็นประธาน 4-สหภาพฯ การประปานครหลวง (สร.กปน.) มี นายสมชาย ศรีนิเวศน์ เป็นประธาน 5-สหภาพฯ การประปาส่วนภูมิภาค (สร.กปภ.) มีนายธรรมรัตน์ รำขวัญ เป็นประธาน ทั้งหมดได้นำกรรมการส่วนหนึ่งไปประชุมที่องค์กรดังกล่าว โดยเนื้อหาสาระในการประชุม จะเน้นในเรื่องคัดค้านการแปรรูป รวมถึงเรื่องการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อมารับงานกับองค์กรรัฐวิสาหกิจทั้ง 5 แห่งโดยเฉพาะซึ่งทั้ง 5 สหภาพฯ ไม่เห็นด้วย ภายหลังการประชุม

นายอิทธิพล ศรีพระนาม เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปานครหลวง(สร.กปน.)  เปิดเผย "พิมพ์ไทย" ว่า ทางสหภาพฯขอคัดค้านการจัดตั้งกลุ่มบริษัทลูกต่างๆ ของ "การประปานครหลวง"  เพื่อหวังจะมารับงานของการประปาโดยเฉพาะ "เราคงกลืนไม่เข้า-คลายไม่ออก"ถ้าการ "ประปานครหลวง"  ซึ่งเป็นบริษัทแม่ แต่กลับมาจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อทำเช่นนี้ อันถือได้ว่า"เป็นการทุจริตเชิงนโยบาย" ชัดๆ

นายอิทธิพล กล่าวต่อไปว่า เมื่อสมัย"ดร.ทักษิณ ชินวัตร" ขณะดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ได้เคยเข้ามาเยี่ยมการประปานครหลวงอยู่ครั้งหนึ่ง และมีการสั่งให้ "การประปานครหลวง"ทำการผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดยี่ห้อ "ปาป้า" เพื่อเป็นการตรึงราคาและจำหน่ายน้ำดื่มให้กับประชาชนในราคาถูก เนื่องจากโรงงานผลิตเป็นของ "รัฐวิสาหกิจ" อันเป็นการทำให้บริษัทเอกชนไม่กล้าขายน้ำดื่มในราคาแพงแน่ เป็นการช่วยพยุงราคา และทำให้ประชาชนมีน้ำบริโภคในราคาที่เป็นธรรม

ซึ่งเมื่อบอร์ดใหม่เข้ามา สหภาพฯ กปน.ได้ยื่นข้อเสนอว่า การผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดขาย หากจะต้องมีการจัดตั้งบริษัทลูกของ การประปานครหลวง ก็ต้องให้บริษัทลูกผลิตแต่น้ำดื่มบรรจุขวดขายเพียงอย่างเดียว จะมาทำธุรกิจตัวอื่นไม่ได้โดยเด็ดขาด ห้ามมิให้นำเรื่องผลิตน้ำดื่มมาบังหน้าแต่เบื้องหลังที่แท้จริงจะรับงาน อื่นๆ ไปทำด้วย นั่นก็แสดงว่า ต้องการแปรรูปโดยไม่ให้พนักงานรู้สึกตัว เพราะต่อไปก็จะโอนงานต่างๆ ไปให้บริษัทลูกทำจนหมดนั่นเอง

นโยบายของ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยต้องการให้หาแหล่งน้ำใหม่ ที่จริงเรื่องแหล่งน้ำถ้าเป็นของเก่า ก็คือน้ำที่มาจาก "แม่น้ำเจ้าพระยา" ถ้าเป็นที่ใหม่ก็คือน้ำจาก "เขื่อนเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาท" ซึ่งถ้าให้บริษัทเอกชนเข้ามาทำ สหภาพฯได้ปรึกษากับ "การประปาส่วนภูมิภาค" ว่าจะมีผลกระทบอะไรหรือไม่ เขาบอกว่าไม่มีผลกระทบ แต่เราควรทำเอง ดีกว่าให้ทางด้านเอกชนเข้ามาทำ มองลึกๆ แล้ว ทางผู้ใหญ่อยากจะให้เอกชนเข้ามาทำอย่างนี้ สหภาพฯ รับไม่ได้และไม่ยอมแน่

ด้าน นายสมชาย ศรีนิเวศน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปานครหลวง(สร.กปน.) กล่าวว่า ในการประชุม คฟปช. ครั้งนี้เราให้เกียรติซึ่งกันและกัน สหภาพฯ กปน. ได้เสนอไปยังผู้บริหารระดับสูงปรับเงินเดือนให้กับพนักงานที่มีเงินเดือนตัน มานานแล้ว เพราะไม่มีโอกาสได้ขยายตัวหรือปรับเงินเดือนให้สูงขึ้นเลย จะได้มีโอกาสได้ขึ้นเงินเดือนในบั้นปลายชีวิต มีตัวคูณเพิ่มขึ้นจากระดับ 3 เป็นระดับ 4 ระดับ 5 หรือระดับ 6 เพราะบางคนเงินเดือนตันมานานแล้ว แต่ผู้ที่สมควรจะได้จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้คือ

1-ทำงานมาไม่ต่ำกว่า 32 ปี / 2-ครองตำแหน่งมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี  3-มีอายุงานไม่เกิน 3 ปีก่อนจะเกษียณอายุ และ ยังมีเงื่อนไขบางข้ออีกเล็กๆ น้อยๆ ตรงนี้ไม่มีปัญหา เพราะพนักงานพวกนี้ได้ผ่านการอบรมเพื่อเตรียมตัวรับการปรับปรุงตัวมาเรียบ ร้อยแล้ว แต่บางคนไม่มีเวลาเข้าฝึกอบรม เราก็ไม่ว่ากัน แต่ต้องมีคุณสมบัติใน3 ข้อใหญ่นี้ทุกคนจึงจะรับสิทธิ์นี้ได้ ซึ่ง สหภาพฯกปน. ได้ต่อสู้เรื่องนี้มานานแล้ว พอมาถึง "ผู้บริหารคนใหม่" ก็ได้ให้ความเห็นชอบกับทางสหภาพฯ กปน. โดยไม่ต้องเสนอเข้า ครม. หรือนำเรื่องเสนอเข้า กระทรวงการคลัง แต่อย่างใด เราจึงอยากให้รัฐวิสาหกิจต่างๆ ลองนำแบบ "สหภาพฯกปน."  ไปใช้บ้าง เพื่อประโยชน์ของพนักงานทุกคนผู้บริหารสามารถตัดสินใจได้เลย

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ทางผู้บริหาร"การประปานครหลวง" จะมีการเอาซอฟเข้ามา การเอาซอฟก็คือการแปรรูปนั่นเอง แต่จะมีความแยบยลมากขึ้น ทำแนบเนียนมากขึ้น คณะกรรมการบอร์ดทั้งหมดพร้อมใจกันที่จะรับการตั้งบริษัทลูก ผมเองเป็นกรรมการใน "คณะอนุกรรมการปรับปรุงการประปานครหลวง" อยู่ด้วย ก็พอเห็นตรงว่า เรารู้ทัน จึงได้ถามไปยัง "คณะกรรมการบอร์ด"ว่า การจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมา ทำเพื่ออะไร เขาบอกว่าตั้งมาเพื่อผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดสหภาพฯ ก็แย้งว่า น้ำดื่มบรรจุขวด "ยี่ห้อปาป้า"ปัจจุบัน การประปานครหลวง ก็ทำการผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดอยู่แล้ว "ยี่ห้อปาป้า" เคยได้ยินไหม ทางสภาพฯเสนอไปว่า ถ้าจะผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดขายก็ต้องผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดเพียงอย่างเดียวนะ อย่ามาพูดคลุมเครือ อย่าเอามาทำอย่างอื่นโดยเด็ดขาดสหภาพฯ กปน. จะไม่ยอมแน่ เพราะถ้าผู้บริหารเอาเรื่องนี้ไปพูดที่ไหนฯ สหภาพฯ กปน. ก็จะเข้าไปราวีถึงที่นั่นหมือนกัน สหภาพฯ ไม่ได้ก้าวร้าวเลยนะ สหภาพฯทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ  ผู้บริหารจึงต้องให้ความสำคัญกับเราพอสมควร หน้าที่ของผู้บริหารต้องปกป้ององค์กรด้วย ไม่ใช่ให้แต่ทางสหภาพฯ คอยปกป้องแต่เพียงฝ่ายเดียว ผู้บริหารก็ชอบใจที่ สหภาพฯ พูดออกมาพูดเช่นนั้น

นายสมชาย กล่าวอีกว่า ถ้าพวกนี้ "ยึดไฟฟ้า-ยึดน้ำประปา" ได้แล้ว ประชาชนเดือดร้อนอย่างแน่นอน พวกนี้คอยจ้องจะเข้ามา "เอาน้ำ-เอาไฟ" ของประชาชนไปแสวงหาผลประโยชน์ พวกเราทุกรัฐวิสาหกิจต้องออกมาสามัคคีกัน เพื่อปกป้องทรัพย์สมบัติของชาติของแผ่นดินไว้

ด้านนายสมยศ เจียวก๊ก ผู้ช่วยประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร. กฟผ.) กล่าวว่า กรรมการบริหารของ สหภาพฯการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้หมดวาระลงเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน2555 ที่ผ่านมา กรรมการชุดปัจจุบันจึงเป็นชุดรักษาการณ์ และจะมีการเลือกตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ในวันที่ 28  สิงหาคม 2555

 เพราะฉะนั้น ในระหว่างเดือน สิงหาคม นี้ก็จะมีการเดินหาเสียง ทางกรรมการชุดเดิมจึงอาจจะไม่ได้เข้ามาร่วมในการประชุม "เครือข่ายไฟฟ้าประปาเพื่อชาติและประชาชน" (ด.ฟ.ป.ช.) แต่อาจจะมีการส่งตัวแทนเข้ามาร่วมประชุมบ้าง ถ้าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญจริงๆ เราจะเดินสายหาเสียงตั้งแต่ วันที่ สิงหาคม 55 ถึง วันที่ 24 สิงหาคม55 สำหรับ วันที่ 23-24 สิงหาคม 55 ทุกกลุ่มที่ลงสมัคร จะมีการปราศรัยใหญ่ที่ สำนักงานกลางการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และ จะเลือกตั้งใน วันที่ 28 สิงหาคม 55 นี้อย่างแน่นอน

สำหรับการหมดอายุของกรรมการ สร.กฟภ. ที่มี "นายสุดเจริญ สมชม" เป็นประธานฯนั้นนายวัฒนา สุขตอง รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (สร.กฟภ.) กล่าวว่า ทางสหภาพฯ กฟภ. จะหมดวาระใน วันที่ 26 กรกฎาคม นี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเปิดรับสมัคร และจะมีการเลือกกรรมการชุดใหม่ประมาณต้นเดือน กันยายน 55 นี้อย่างแน่นอน

(พิมพ์ไทย, 19-7-2555)

เผยอพยพคนไทยในซีเรียออกมาหมดแล้ว เพื่อความปลอดภัยจากเหตุการณ์ความรุนแรง

นายสิงหเดช ชูอำนาจ ผู้อำนวยการสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ สปร. สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากปัญหาการสู้รบอย่างรุนแรงในประเทศซีเรีย และสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤต สปร.ได้ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ(กต.) อพยพคนไทยกลับประเทศ ซึ่งมีประมาณ 50 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษา และบางส่วนเป็นคนไทยที่แต่งงานกับคนซีเรียออกมาหมดแล้ว โดย มอบหมายให้สำนักงานแรงงานไทยในประเทศซาอุดิอาระเบีย ทำหน้าที่ดูแลแรงงานไทยในประเทศแถบตะวันออกกลาง

จากข้อมูลของสำนักงานสำนักบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ (สรต.) พบว่า ในปี 2554 มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในประเทศซีเรีย 6 คน ทำงานเป็นพนักงานนวดแผนโบราณ 5 คน และแม่บ้าน 1 คน ขณะนี้ไม่ได้รับรายงานว่าทั้ง 6 เดินทางกลับประเทศไทยแล้วหรือไม่

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 19-7-2555)

นำเข้าแรงงานบังกลาเทศ 5 หมื่นคน

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการพิจารณาการทำงานของคนต่างด้าว  มีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการจ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติบังกลาเทศ เข้ามาทำงานในกิจการประมง ทดแทนแรงงานพม่า กัมพูชา และลาว ที่ไม่ต้องการทำงานด้านนี้ล่าสุด สมาคมการประมงส่งหนังสือถึงกรมการจัดหางาน (กกจ.) ขอนำเข้าแรงงานบังกลาเทศ 50,000 คน แยกเป็นแรงงานประมงนอกน่านน้ำไทย 10,000 คน และแรงงานประมงในน่านน้ำไทย 40,000 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลตอบรับเงื่อนไขที่กำหนด หากผู้ประกอบการประมงสามารถปฏิบัติได้จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา

นายเผดิมชัยกล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัว ไม่ควรจำกัดสิทธิแรงงานบังกลาเทศทำงานประเภทอื่นๆ เบื้องต้นจะเปิดโอกาสให้แรงงานชาวบังกลาเทศสามารถทำงานได้ทุกอาชีพ แต่จะให้แจ้งจำนวนแรงงานที่นำเข้าเป็นรายอาชีพ เมื่อแรงงานเข้ามาทำงานแล้ว จะไม่อนุญาตให้เปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น จึงได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการประเภทต่างๆ หากต้องการนำเข้าแรงงานต่างด้าว สามารถแจ้งขออัตราผ่านทางสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้

(มติชน, 20-7-2555)

อัดรัฐสอบตกขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บ. ยอดร้องพุ่ง5พันฉะนายจ้างตุกติกไม่ปรับเพิ่มจริง

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)เปิดเผยว่า จากการสำรวจผลกระทบการขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ร้องเรียนมายังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมของ คสรท.จำนวน 5,134 คน แบ่งเป็น 3 กรณี คือ1.ไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2,380 คน ของยอดร้องเรียนทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจโรงแรม ธุรกิจขนส่ง ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ และจิวเวลรี

2.ถูกเปลี่ยนสภาพการจ้างงาน เช่นปรับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่ง ลดสวัสดิการย้ายฐานการผลิต 2,168 คน พบในกิจการสิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและ 3.ถูกนำสวัสดิการมารวมกับค่าจ้าง 586 คน พบในกิจการอิเล็กทรอนิกส์ บริการ ธุรกิจขนส่ง อาหาร และเฟอร์นิเจอร์

นายชาลี กล่าวอีกว่า จากข้อมูลดังกล่าวแสดงว่านโยบายนี้ยังไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับ คุณภาพชีวิตของคนงาน เนื่องจากสถานประกอบการกว่า 50% แม้จะยอมปรับขึ้นค่าจ้างขึ้น แต่กลับปรับลดสวัสดิการอื่นๆลงขณะที่หลายแห่งก็ไม่ยอมปรับขึ้นค่าจ้าง

"ลูกจ้างที่มีอายุงานนับ 10 ปี เมื่อขอให้นายจ้างปรับค่าจ้างเพื่อหนีแรงงานเข้าใหม่ กลับถูกปฏิเสธและถูกข่มขู่จะเลิกจ้างบางบริษัทเลือกใช้วิธีเลิกกิจการแล้ว เปิดกิจการใหม่ มีการรับพนักงานแล้วเริ่มนับอายุงานใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นค่าจ้างให้แรงงานที่ทำงานมานานแล้ว" นายชาลีกล่าว

ขณะที่ กระทรวงแรงงานในฐานะหน่วยงานที่ผลักดันนโยบายยังละเลยการตรวจสอบ ปล่อยให้นายจ้างกับลูกจ้างเจรจากันเอง ลูกจ้างที่ไม่ได้สังกัดสหภาพแรงงานจึงไม่มีอำนาจต่อรอง บางสถานประกอบการยังเปลี่ยนสัญญาจ้างเป็นรายบุคคล มีการกดดัน หากลูกจ้างไม่ยอมเซ็นยินยอมตามเงื่อนไขก็จะโยกย้ายงานเป็นต้น

นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำยังคงใช้กับการจ้างงานในระบบอุตสาหกรรมแต่ไม่ครอบ คลุมแรงงานกลุ่มอื่นๆเช่นแรงงานนอกระบบ แรงงานเหมาค่าจ้างแรงงานในภาคเกษตร เกษตรพันธสัญญายิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้น

นายชาลี กล่าวว่า คสรท. ขอเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการที่คำนึงถึงกลุ่มแรงงานที่เข้าไม่ถึงการปรับอัตรา ค่าจ้างขั้นต่ำ และต้องจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยคำนึงถึงค่าจ้างที่เป็นธรรม นอกเหนือการค่าจ้างขั้นต่ำ

"ต้องคำนึงถึงค่าครองชีพและฝีมือแรงงานที่สอดคล้องกับผลิตภาพ ความเสี่ยง และลักษณะงานของลูกจ้าง ค่าจ้างที่เป็นธรรมสามารถเพิ่มขึ้นได้โดยวัดจากประสบการณ์ ฝีมือ และทักษะของแรงงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการต่อรองระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง" นายชาลีกล่าว

(โพสต์ทูเดย์, 20-7-2555)

ลุ้นจ่ายเพิ่มเงินตอบแทนหลังเกษียณกองทุนการออมแห่งชาติ

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อขอใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร จากฐานข้อมูลทะเบียนกลาง โดยวิธีเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ และข้อตกลงว่าด้วยการขอใช้โปรแกรมสำหรับอ่านข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชน

"ขณะนี้กอช.อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการพัฒนาด้านระบบไอที เพื่อให้สามารถเปิดรับสมาชิกได้ภายในเดือนส.ค.นี้ รวมทั้งอยู่ระหว่างรอให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พิจารณาความเหมาะสมผลตอบแทนของกองทุนหลังเกษียณอายุ 60 ปีของสมาชิก ซึ่งกอช.เสนอที่ 1,800 บาทต่อเดือน สูงกว่าเส้นความยากจนที่ระดับ 1,600 บาทต่อเดือน โดยการจ่ายเงินสมทบของสมาชิกยังคงไว้เท่าเดิม แต่ให้เพิ่มการจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลแทน หากรมว.คลังพิจารณาเห็นชอบ จะเร่งเปิดรับสมาชิกทันที" นายสมชัยกล่าว

นอกจากนี้ กอช.ได้เจรจากับธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หาสมาชิกให้เนื่องจากมีพนักงานและสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ เจาะกลุ่มกองทุนหมู่บ้านที่ทั้งสองธนาคารดูแลอยู่ 8 หมื่นหมู่บ้าน

สำหรับ กอช.เป็นกองทุนเพื่อการเกษียณอายุให้กับแรงงานนอกระบบจำนวน 35 ล้านคน โดยปีนี้ กอช.ตั้งเป้าหาสมาชิกให้ได้ 5 แสนราย และปีหน้าหาเพิ่มให้ได้อีก 1 ล้านราย ซึ่งกอช.เป็นกองทุนภาคสมัครใจ สมาชิกต้องจ่ายสมทบให้กับกองทุนขั้นต่ำ 50 บาทต่อเดือน แต่ไม่เกิน 13,250 บาทต่อปี โดยรัฐบาลจะจ่ายสมทบให้ 50-100 บาทตามอายุของสมาชิก

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ล่าสุดรมว.คลังยังไม่เซ็นแต่งตั้งเลขาธิการ กอช. เพื่อมาบริหารงานของ กองทุนเต็มเวลา โดยคณะกรรมการ กอช. ได้เสนอชื่อให้พิจารณาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว

(ข่าวสด, 20-7-2555)

ลูกจ้างชั่วคราว สพฐ.บุกทำเนียบจี้ต่อสัญญาจ้าง

20 ก.ค.55 - ที่ทำเนียบรัฐบาล สหพันธ์ธุรการโรงเรียนภาคเหนือ สมาพันธ์ธุรการโรงเรียนภาคใต้ สมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนภาคอีสาน และสมาพันธ์ธุรการโรงเรียนภาคกลาง กว่า 1 พันคน เดินทางมาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเรียกร้องเงินเพิ่มค่าครองชีพ และความมั่นคงในอาชีพลูกจ้างชั่วคราว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หลังจากนั้น ได้ส่งตัวแทนเข้ายื่นหนังสือที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายไกร เกษทัน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สพฐ.เป็นตัวแทนของนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ.เข้ารับเรื่องร้องเรียน
      
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีตำแหน่งเจ้าหน้าที่ ธุรการโรงเรียน เป็นตำแหน่งถาวรมั่นคงและประจำ 1 คนต่อ 1 โรงเรียน เพื่อความสะดวกในการทำงาน รวมทั้งต้องการให้ต่อสัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งครูอัตราจ้าง งบไทยเข้มแข็ง SP2 ที่ สพฐ.แจ้งตัดงบประมาณเลิกจ้าง วันที่ 30 ก.ย.2555 และต้องการให้มีสวัสดิการพิเศษ และหลักประกันชีวิต กรณีเจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้รับเงินชดเชยกรณีประสบภัยจากความไม่สงบ
      
นายไกร กล่าวว่า เรื่องนี้ นายชินภัทรได้ประชุมกับสำนักนโยบายและแผน และสำนักสินทรัพย์ เตรียมหาแนวทางแก้ไขปัญหาแล้ว โดยอยู่ระหว่างทำความตกลงกับกรมบัญชีกลาง และพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไร ส่วนงบของ สพฐ.นั้น ก็เป็นงบดำเนินการ จะเอามาใช้เป็นงบอื่นไม่ได้ อย่างไรก็ตาม สพฐ.ไม่อยากเลิกจ้างลูกจ้างชั่วคราว เพราะขณะนี้ก็ยังขาดแคลนบุคลากรครูกว่า 58,000 อัตรา ทำให้ถึงขั้นวิกฤตจึงได้จ้างลูกจ้างชั่วคราวมาแทน ซึ่งยังมีความจำเป็นอีกมากและไม่อยากเลิกจ้าง ขณะที่สิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็มีกฎระเบียบอยู่แล้ว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 20-7-2555)

ศาลมะกันยกฟ้อง บ.แรงงาน ลวงคนไทย 600 คนทำงานทาส

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 21 ก.ค. ว่า ศาลสหรัฐฯ มีคำสั่งยกฟ้องคดีค้ามนุษย์ของผู้บริหารบริษัทจัดหาแรงงานหลายราย รวมถึงผู้ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัทดังกล่าว โดยทั้งหมดถูกตั้งข้อหาค้ามนุษย์เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ปี 2011 กล่าวหาว่า หลอกลวงแรงงานชาวไทยกว่า 600 คน ให้ทำสัญญาปลอม และเมื่อเดินทางถึงสหรัฐฯ ก็ถูกยึดพาสปอร์ต และถูกบังคับให้จ่ายเงินค่าจัดหางานเป็นเงินหลายพันดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้คนงานต้องเป็นหนี้มากมาย

ศาลเมืองโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย มีคำตัดสินยกฟ้องคดีค้ามนุษย์ของ นายมอร์เดชัย โอเรียน ประธานและผู้บริหารชาวอิสราเอลของบริษัทแรงงาน โกลบอล โฮริซันส์ แมนพาวเวอร์ ในนครลอสแองเจลิส กับนางปราณี ทับชุมพล ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ รวมถึงที่ปรึกษาอีก 3 คน หลังจากเมื่อปีก่อนมีการยกฟ้องข้อกล่าวหาเดียวกันนี้ของนายอเล็ค และ ไมเคิล ซู สองพี่น้องเจ้าของฟาร์ม อาลอน ในรัฐฮาวาย ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นสถานที่ที่แรงงานชาวไทยถูกส่งไปใช้แรงงานเยี่ยงทาส

ในคำสั่งยกฟ้อง ระบุว่า จากกรณียกฟ้องฟาร์มอาลอน ทำให้มีการสืบสวนเพิ่มเติม และจากข้อมูลที่ได้รับพบว่า รัฐบาลท้องถิ่นไม่สามารถหาข้อพิสูจน์ข้อกล่าวหาในคดีของบริษัท โกลบอล โฮริซันส์ ได้ ศาลจึงตัดสินยกฟ้อง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขณะที่ นายไมเคิล กรีน ทนายความของบริษัท โกลบอล โฮริซันส์ ในโฮโนลูลู กล่าวว่า คำสั่งยกฟ้องครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะด้านศีลธรรม

คดีฟาร์มอาลอนเริ่มปั่นป่วน หลังจากนางซูซาน เฟรนช์ หัวหน้าทีมอัยการ ซึ่งดูแลคดีนี้ และเป็นผู้กล่าวหาฟาร์มดังกล่าวว่า บังคับแรงงานไทยให้ทำงาน โดยได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด ยอมรับกับคณะลูกขุนใหญ่ ว่า เธอได้ให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนแก่ศาล ซึ่งเฟรนช์ได้ถอนตัวออกจากทีมอัยการหลังจากนั้น โดยอ้างปัญหาสุขภาพ

(ไทยรัฐ, 21-7-2555)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net