จากบทเรียนของพายุเฮริเคนแคทรีนาถึงการแก้ปัญหาภัยพิบัติในสังคมไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากสังคมไทยจะประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติในทางตรงผ่านเหตุการณ์สึนามิซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากโดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตและพังงา ดินถล่มในจังหวัดนครศรีธรรมราช คลื่นพายุซัดฝั่งจังหวัดปัตตานี น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 แล้ว การเรียนรู้เรื่องภัยพิบัติของสังคมไทยโดยทางอ้อมคือ การรับรู้จากข้อมูลข่าวสาร ประเภทโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในต่างประเทศที่มีจำนวนถี่มากขึ้น เช่น พายุเฮริแคนแคทารีนาในประเทศสหรัฐอเมริกา และสึนามิถล่มโรงงานนิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่น คำถามคือ แล้วเราจะมีความรู้ชุดใดที่จะให้สังคมเกิดความสามารถในการเตรียมความพร้อมรับมือและเฝ้าระวังภัยพิบัติที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต

ในเหตุการณ์ภัยพิบัตินอกเหนือจากเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถในการทำนายการเข้ามาของพายุแล้ว มนุษย์ยังเชื่อมั่นตัวเองว่า มีความสามารถในการจัดการกับธรรมชาติโดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์รอบๆ ตัว เช่น การสร้างเขื่อนหรือทำนบกั้นน้ำ แต่ทว่าความสามารถและความรู้ของมนุษย์ไม่ควรหยุดอยู่แค่นั้น ความรู้ในการสังเกตพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ที่ต้องเผชิญหน้ากับภัยพิบัติ ก่อน ระหว่าง และหลัง ยังเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องเรียนรู้จากประเทศที่ได้ชื่อว่ามีเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าและถือเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกา

พายุเฮริเคนแคทรีนาได้เข้าถล่มเมืองนิวออลีนและอีกหลายเมืองใกล้เคียงในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2548 โดยเฉพาะที่เมืองนิวออลีน เมื่อพายุผ่านไปแล้ว อีกสองวันให้หลังเมืองทั้งเมืองยังต้องจมอยู่ใต้น้ำเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ โดยระดับน้ำมีความสูงถึง 4.6 เมตร ก่อนหน้านี้ชาวเมืองนิวออลีนกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ ได้อพยพออกจากเมืองไปก่อนแล้ว ส่วนคนที่เหลือคือ คนที่ไม่มีรถยนต์ส่วนบุคคล หรือ อยู่ห่างไกลเกินกว่าจะได้รับข่าวสารจากหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น แต่เขาก็มีสถานที่อพยพ คือ หลุยส์เซียน่าซุปเปอร์โดม ที่ใช้เป็นบ้านสำหรับกลุ่มคนที่ไม่สามารถอพยพไปไหนได้

สิ่งที่สหรัฐได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ครั้งนี้ คือ เหตุที่น้ำท่วมเมืองนั้นเป็นผลมาจากการพัฒนาโดยการเปลี่ยนเส้นทางน้ำ และการสร้างทำนบกั้นน้ำในช่วงก่อนหน้ามีพายุ ทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติเส้นทางน้ำนี้กลายทางเดินของคลื่นอันส่งผลให้มีปริมาณน้ำสูงกว่า 5 เมตรและตัวคลื่นอาจมีความสูงถึง 2 เมตรไหลทะลักเข้าสู่เมือง อีกทั้งการสร้างทำนบเพื่อป้องกันน้ำท่วมขนาดใหญ่ กลับกลายเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เมืองแห่งนี้กลายเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ไปโดยปริยาย จริงๆ แล้วเมืองนิวออลีนแห่งนี้เคยเผชิญกับพายุเฮริเคนเบ็ตซีย์ (Betsy) ถล่มมาแล้วเมื่อ 40 ปีก่อน (พ.ศ. 2508) ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่สภาคองเกรสได้มีมติให้ผ่านกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำท่วม (Flood Control Act)

กฎหมายนี้มีความสำคัญอย่างไร? กฎหมายนี้ออกมาเพื่อมอบอำนาจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ออกแบบสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพื่อป้องกันน้ำท่วมในเขตที่เป็นเมืองหลวงสำคัญอย่างเมืองนิวออลีน แต่กว่าจะสร้างเสร็จก็ใช้เวลากว่า 13 ปีให้หลัง หลังจากนั้นเมืองแห่งนี้ก็โดยพายุเฮริเคนจอร์จ ในเดือนกันยายน ในปี พ.ศ. 2541 จึงทำให้แผนการป้องกันน้ำท่วมถูกปัดฝุ่นและนำขึ้นมาใช้อีกครั้งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2544 แผนป้องกันดังกล่าวสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และนักการเมือง จนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันออกมาประกาศอย่างท้าทายธรรมชาติว่า “เมืองนิวออลีน คือ เมืองที่พร้อมรับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น”

แต่ปรากฏว่าในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2548 กำแพงป้องกันน้ำท่วมและคันกั้นน้ำที่สร้างไว้เพื่อปกป้องเมืองหลวงกลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง จนทำให้สภาวิศวกรรมแห่งอเมริกาประกาศว่า น้ำท่วมครั้งนี้ถือเป็นหายะทางวิศวกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา ในวันที่ 28 สิงหาคม กรมอุตนิยมวิทยาแห่งชาติได้ออกประกาศทำนายความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และกล่าวว่า “ภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นจะทำให้มนุษย์ทุกข์ทรมานอย่างหาที่สุดไม่ได้ในโลกสมัยใหม่ที่มีมาตรฐาน” คือ การขาดแคลนน้ำสะอาดเป็นเวลาหลายสัปดาห์ และผู้เชี่ยวชาญบางท่านกล่าวว่าเหตุการณ์นี้อาจขึ้นเป็นเวลาถึงนานถึงหกเดือน การสื่อสารโทรคมนาคม ตึกรามบ้านช่องจะเสียหายจนคนไม่มีที่อยู่อาศัย

ก่อนหน้านี้ ในวันศุกร์ที่ 26 และเสาร์ที่ 27 สิงหาคม นายกเทศมนตรีประกาศให้มีการอพยพ ปิดบ้านช่องเพื่อความปลอดภัย และแจ้งว่า น้ำจะอยู่ในระดับเดียวกันกับความสูงของเขื่อน แต่มีผู้คนจำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมอพยพเพราะเชื่อว่าบ้านที่ตัวเองอยู่อาศัยนั้นปลอดภัยเพียงพอ บางส่วนถึงแม้ว่าอยากจะอพยพแต่ขาดการสนับสนุนด้านการเงินและไม่มีรถโดยสารที่จะเดินทาง และอีกส่วนอยากอยู่เพื่อปกป้องทรัพย์สินของตน อีกส่วนหนึ่งก็เนื่องจากประสบการณ์ก่อนหน้าที่เผชิญกับพายุเฮริเคนอีวาน (Ivan) ส่งผลให้ผู้สูงอายุส่วนมากต้องป่วยอันเป็นผลจากต้องติดอยู่ในรถเป็นเวลานานระหว่างการอพยพ

และความจริงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ พายุเฮริเคนแคทรีนาเกิดขึ้นปลายเดือนก่อนที่เงินเดือนจะออกและนี้เป็นเหตุสำคัญที่คนส่วนมากที่ไม่ค่อยจะมีเงินหรือไม่มีเงินไม่สามารถอพยพออกไปไหนได้ ดังนั้นหลุยส์เซียน่าซุปเปอร์โดมที่อยู่สูงกว่าน้ำทะเลเกือบ 1 เมตร จึงถูกจัดเตรียมเพื่อเป็นที่หลบภัยในช่วงบ่ายของวันที่ 28 สิงหาคม แต่ทว่าก็ยังมีคนกว่าแสนที่อยู่ในเมือง และจำนวนนี้ก็เป็นพระจำนวน 400 รูป และแม่ชีกว่า 750 คน ที่ไม่ยอมอพยพไปไหน นอกจากนั้นกว่าสองหมื่นคนไปอยู่ในหลุยส์เซียน่าซุปเปอร์โดม โดยทางการมีจุดรับผู้อพยพกว่า 12 จุด ใช้ทหารกว่า 300 นายคอยดูแล ทุกคนถูกบอกให้เตรียมอาหาร เสื้อผ้า สำหรับอยู่ในหลายวันและบอกว่าที่ๆ อยู่นี้จะไม่สะดวกสบายสักเท่าไหร

เมื่อพายุผ่านไป นายกเทศมนตรีประกาศความสูญเสียเนื่องจากพบศพลอยตามน้ำอยู่ในเมือง ผู้ที่ไม่ได้อพยพและรอดชีวิตปีนขึ้นไปอยู่บนหลังคาบ้าน บ้างก็ติดอยู่ห้องใต้หลังคา บางส่วนต้องใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ทะลวงบ้านออกมาเพื่อเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำ ทหารเริ่มหาที่เก็บศพและดำเนินการหลังจากเหตุการณ์ผ่านไป การสื่อสารล้มเหลวไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือหรือระบบอินเตอร์เนทก็ใช้การไม่ได้ สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นและหนังสือพิมพ์อพยพอย่างเร่งด่วนไปอยู่เมืองใกล้เคียง วิทยุสมัครเล่นถูกนำมาใช้ในการสื่อสารยามฉุกเฉินและตั้งศูนย์บัญชาการอยู่ที่โรงแรมไฮเอดที่อยู่ในตัวเมืองของนิวออลีน ถนนเส้นทางเข้าออกหลักของเมืองได้รับความเสียหาย มีเส้นทางเดียวเท่านั้นที่ใช้ได้แต่ถูกทำให้เป็นเส้นทางอพยพฉุกเฉินเท่านั้น ส่วนสนามบินก็ปิดไปก่อนหน้านี้แล้ว กระทรวงสาธารณสุขของเมืองหลุยส์เซียน่าประกาศว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตราว 1,464 คน ในวันที่ 4 กันยายน นายกเทศมนตรีคาดว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตราว 10,000 คน หลังจากที่ทำความสะอาดเมืองแล้ว

หลังเหตุการณ์พายุเฮริเคนแคทรีนาน่าผ่านไป เกิดการปล้นสะดมและการก่ออาชญากรรมที่ค่อยๆ ขยายไปทั่วทั้งเมือง ทั้งนี้เนื่องมาจากมาตราการในการรักษาความปลอดภัยถูกจำกัดเพียงช่วงที่พายุมาเท่านั้น ทหารถูกสั่งปลดประจำการทันทีที่พายุผ่านไป และนี้เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาชญากรรมและการปล้นสะดมหลังภัยพิบัติ ส่วนมากผู้คนจะปล้นเอาอาหาร น้ำ เครื่องใช้จากร้านขายของชำ ส่วนตำรวจเองก็ทำอะไรไม่ได้มากนักในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ภายหลังมีการเกณฑ์ตำรวจเข้ามาใหม่กว่า 1,500 นาย ตามมาด้วยกองกำลังทหารถือปืน M-16 จำนวนเล็กน้อย เนื่องจากส่วนใหญ่ปฏิบัติการอยู่ในประเทศอิรัก จนภายหลังรัฐบาลต้องออกประกาศกฎอัยการศึกเพื่อควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินและควบคุมเหตุการณ์ไม่ให้ปานปลาย

ปัญหาต่อมาคือ การปล่อยข่าวลือเรื่องการข่มขืนในหลุยส์เซียน่าซุปเปอร์โดม ข่าวนี้ถูกแพร่กระจายและทำให้เกินความจริง แต่เมื่อพิสูจน์แล้วพบว่ามีจำนวน 2 ราย ส่วนอีกข่าวลือหนึ่งคือ ผู้คนคาดหวังว่าจะมีผู้เสียชีวิตจำนวนกว่า 100 คนในซุปเปอร์โดม แต่ในความเป็นจริงมีเพียง 6 คนเท่านั้นที่เสียชีวิต โดยมีสาเหตุการตาย คือ ตายจากธรรมชาติ 4 คน ตายเพราะเสพยาเกินขนาด 1 คน และฆ่าตัวตาย 1 คน นี้คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีคนจำนวน 25,000 คน อยู่ในพื้นที่เดียวกันโดยไม่มีน้ำ ไฟฟ้า และการสื่อสาร ตำรวจของเมืองนิวออลีนเองมีบางนายถูกจับในภายหลัง ข้อหาสงสัยว่าโจรกรรมรถยนต์เพื่ออพยพก่อนมีมาพายุมา ที่น่าสนใจคือ ก่อนหน้ามีพายุเมืองนิวออลีนมีอัตราการก่ออาชญากรรมสูงกว่ามาตราฐานเกือบ 10 เท่า แต่พอหลังภัยพิบัติจำนวนดังกล่าวกลับลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

การอพยพผู้คนให้มาอยู่ในที่เดียวกันจำนวนมาก ทำให้มีปัญหาด้านสุขภาพตามมาภายหลัง คือ ภาวการณ์ขาดน้ำดื่ม อาหารเป็นพิษ ตับอักเสบ A อหิวาตกโรค วัณโรค และไข้ไทฟอย โรคทั้งหมดนี้มาจากการปนเปื้อนในอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งเข้ามา ผู้รอดชีวิตมีโอกาสที่จะเผชิญหน้ากับด้านสุขภาพในอนาคตด้วย เช่น น้ำมันหรือน้ำยาเคมีที่ปนเปื้อนที่มาพร้อมกับน้ำท่วม โรคที่เกิดจากยุง เช่น ไข้เหลือง และไข้มาลาเลีย กลุ่มคนที่อพยพโดยทางเฮลิคอปเตอร์ คือ คนสูงอายุ คนป่วย และได้รับบาดเจ็บ เข้าไปรักษาในโรงพยาบาลพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้โรงพยาบาลเหล่านี้ต้องทำงานหนักมากเพื่อดูแลผู้ที่กำลังจะเสียชีวิตจากภาวะการขาดน้ำและอ่อนเพลีย ส่วนในด้านเศรษฐกิจเอง หลังจากพายุเฮริเคนแคทรีนาเกิดภาวะการตกงานจำนวนกว่า 70,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นผลมาจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจอุตสาหกรรม มีเพียงธุรกิจก่อสร้างอย่างเดียวที่ยังดำเนินกิจการอยู่ในได้ช่วงเวลาดังกล่าว

ถึงแม้ว่าเรื่องราวของพายุเฮริเคนแคทรีนา จะเกิดขึ้นมากว่า 7 ปี แล้ว แต่ความรู้เรื่องภัยพิบัติโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของสังคมในการจัดการกับธรรมชาตินั้นน่าจะยังเป็นสิ่งที่ทันสมัยอยู่ เช่น บทเรียนเรื่องการป้องกันธรรมชาติที่กลายเป็นตัวสร้างหายนะเอง ได้แก่ การก่อสร้างทำนบกั้นน้ำจนทำให้เมืองต้องกลายเป็นแอ่งกะทะขนาดใหญ่ การจัดการระบบอพยพผู้คนและกลุ่มคนที่ไม่อยากอพยพ โรคภัยที่มาพร้อมกับธรรมชาติ และการจัดการหลังภัยพิบัติ  หลายกรณีที่เกิดขึ้นที่เมืองนิวออลีนในประเทศสหรัฐอเมริกาจะว่าไปก็คลับคล้ายคลับคลากับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อไม่นานมานี้ จะมีเพียงบางประเด็นที่แตกต่างกันในเรื่องของความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เรียนรู้จากพายุเฮริเคนแคทรีนา คือ สังคมไทยควรระมัดระวังในการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์หรือเน้นการแก้ปัญหาในทางเทคนิคเพื่อรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติเพียงด้านเดียวนั้นอาจจะไม่เพียงพอ และอาจมีข้อผิดพลาดได้ การเรียนรู้ให้ความสำคัญกับสภาวะของสังคม พฤติกรรมของคนเมื่อต้องเผชิญกับภัยพิบัติ น่าจะเป็นสิ่งสำคัญควบคู่กันไปที่ทำให้สังคมไทยมีความสามารถในการรับมือกับเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ภาพพายุเฮริเคนแคทรีนา
ที่มา : The National Oceanic & Atmospheric Administration (NOAA), Last Updated: February 12, 2007
http://www.google.com.au/i

ภาพ:นิวออลีนซุปเปอร์โดม
ที่มา:Cynical Times Newsสืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2555 สืบค้นจาก http://www.cynicaltimes.org/articles/putting-together-a-household-disaster-kit/

 

 

ภาพทำนบกั้นน้ำ

ที่มา: http://blog.silive.com/sinotebook/2008/10/NOLA%20cross-section.gif

 

สรุปความจาก :

Hurricane Katrina: http://en.wikipedia.org/wiki/Hurricane_Katrina

Mercedes-Benz Superdome: http://en.wikipedia.org/wiki/Louisiana_Superdome 2005 levee failures in Greater New Orleans: http://en.wikipedia.org/wiki/Levee_failures_in_Greater_New_Orleans,_2005 mso-bidi-language:TH">

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท