Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้ มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอันสำคัญ คือ การเปิดตัวของเครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112 ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมเอาครอบครัวและญาติพี่น้องของผู้ต้องขังและผู้ต้องหาในคดีกฎหมายอาญามาตรา 112 เครือข่ายนี้มีจุดประสงค์เพื่อรณรงค์ให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยเร็วที่สุด รวมถึง การรณรงค์เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ที่ผู้ต้องขังที่เป็นนักโทษการเมืองควรได้รับ เช่น สิทธิในการประกันตัว สิทธิในการรักษาพยาบาล และให้ความช่วยเหลือด้านการเยียวยาสภาพจิตใจผู้ประสบภัย เป็นต้น 

สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ผู้ประสานงานเครือข่าย กล่าวถึงจุดประสงค์ของการตั้งเครือข่ายว่า เป็นไปเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ต้องขังในคดี 112 เนื่องจากผู้ถูกจับกุมส่วนใหญ่จะได้รับโทษสูง ไม่ได้รับการประกันตัวและไม่สามารถต่อสู้คดีด้วยตนเองได้อย่างเต็มที่ เหล่าครอบครัวและญาติจึงเห็นความจำเป็นของการรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ผู้ต้องขัง 

ส่วนนายชีเกียง ทวีวโรดมกุล กรรมการอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า "เราเห็นว่าองค์กรต่างๆ มาช่วยเรา ถ้าเราไม่ออกมาร่วมด้วยมันจะยังไง มีองค์กรมีเพื่อนๆ ออกมาทำกันเยอะแยะเลย ขนาดเขาไม่ได้เป็นอะไรเขายังมาช่วยเรา แล้วเราเป็นหนึ่งที่ได้รับผลกระทบในนั้นก็ต้องออกมาช่วย ก็ไม่กลัวตายแล้ว อายุมากแล้ว จะเอาไปต้มยำทำแกงก็เอาไป"

การเคลื่อนไหวนี้เป็นจังหวะก้าวสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยยังมีปัญหาในเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างมาก ตราบเท่าที่ยังมีประชาชนผู้บริสุทธิ์กลุ่มหนึ่ง ตกเป็นเหยื่อของการใส่ร้ายป้ายสีด้วยมาตรา 112 เราจึงมีสตรีเช่น คุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ที่อยู่ในคุกมาแล้วเกือบ 4 ปี ด้วยความผิดในข้อกล่าวหาอันเหลือเชื่อ ผนวกกับการได้รับการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมจากศาล และเราจึงมีคุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ที่ถูกจับติดคุกในเรื่องราวเชิงใส่ร้ายป้ายสี คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุขถูกขังคุกฟรีในข้อหาอันไม่เป็นความผิด และมีพี่น้องอีกหลายคนที่ติดอยู่ในคุกอย่างไม่เป็นธรรม เช่น สุชาติ นาคบางไทร ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล เลอพงษ์ วิไชยคำมาตย์ สุริยันต์ กกเปือย ณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ เสถียร รัตนวงศ์ วันชัย แซ่ตัน สุรภักดิ์ ภูไชยแสง เป็นต้น รวมทั้งผู้ที่ต้องถูกขังจนถึงแก่กรรมในคุกอย่างไร้ความผิด เช่น คุณอำพน ตั้งนพคุณ ถึงแก่กรรมตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา

คงต้องทบทวนกันว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีข้อความว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ได้ถูกวิจารณ์ว่า เป็นกฎหมายล้าหลัง ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกล่าวร้ายผู้บริสุทธิ์ และการอนุญาตให้ใครก็ฟ้องได้ กับการที่ไม่อนุญาตให้พิสูจน์ความจริงตามข้อกล่าวหา นำมาซึ่งการเป็นเครื่องมือของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างง่ายดาย รวมทั้ง การที่มาตรามีบทลงโทษที่สูงเกินความสมควร และเป็นมรดกเผด็จการ ก็เป็นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะแม้แต่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บทลงโทษสูงสุด มีเพียงการจำคุกไม่เกิน 3 ปี แต่ เมื่อเกิดการรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ออกคำสั่งแก้กฎหมาย โดยเพิ่มโทษตามข้อความปัจจุบัน และเมื่อคณะเผด็จการแก้ไขกฏหมายแล้ว ศาลก็ใช้หลักกฎหมายเผด็จการนี้ ดำเนินคดีผู้บริสุทธิ์ตลอดมา

ในระยะที่ผ่านมา ได้มีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายนี้มาแล้วโดยกลุ่ม 24 มิถุนา และนักวิชาการเช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นกลุ่มรณรงค์สำคัญ และเมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มคณะกรรมการรณรงค์ปฏิรูปมาตรา 112 หรือ ครก.112 ก็ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า 3 หมื่นชื่อ เสนอต่อรัฐสภา ให้พิจารณาปฏิรูปกฎหมายนี้ ซึ่งการเคลื่อนไหวเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็มีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือและปลดเปลื้องความทุกข์ยากของผู้ตกเป็นเหยื่อของมาตรา 112 แต่กระนั้น ทั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐสภาก็ยังคงวางเฉย ปล่อยให้กลุ่มเหยื่อของมาตรา 112 ต้องรับชะตากรรมอันไม่เป็นธรรมต่อไป

ความไม่ธรรมที่ผู้ต้องขังกรณี 112 ได้รับอาจจะไม่ได้เป็นทราบกันมากนัก แต่เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีการเผยแพร่จดหมายของหนุ่มแดงนนท์ ที่ต้องติดคุกด้วยคดี 112 ได้เล่าถึงความทุกข์ยากในคุกของคุณอำพน ตั้งนพคุณ หรืออากง ก่อนที่จะถึงแก่กรรม เพราะคุณอำพนนั้นป่วยหนักและได้รับความทุกข์ทรมาน แต่ไม่ได้รับความใส่ใจจากทางราชทัณฑ์หรือได้รับการดูแลจากแพทย์ที่ทันการ หนุ่มแดงนนท์เล่าว่า อากงไม่มีความรู้พื้นฐานทางการเมืองใดๆ หนังสือพิมพ์ก็ไม่อ่านเพราะสายตาไม่ดี อยู่บ้านเลี้ยงหลานแล้วโดนจับข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งที่อากงไม่เคยมีพฤติกรรมในเชิงไม่เคารพพระมหากษัตริย์เลย เช่น ในจดหมายเล่าว่า

“แกจะยกมือไหว้พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงที่ตั้งอยู่ที่แดน 8 ทุกครั้งที่เดินผ่าน ผมแน่ใจว่าแกทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ อีกทั้งเรื่องที่อากงเล่าให้ฟังว่า แกพาหลานๆ ของแกไปลงนามถวายพระพรในหลวงที่ศิริราชอยู่หลายครั้ง เวลาไปช็อปปิ้งกับหลานๆ แล้วเห็นโต๊ะที่เปิดให้มีการลงนามถวายพระพร ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ อากงจะชวนหลานๆ ร่วมลงนามถวายพระพรทุกครั้ง ผมจึงแทบไม่เชื่อว่าชราคนนี้จะถูกกล่าวหาไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน”

ดังนั้น การฟ้องร้องต่อคุณอำพน โดยนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และการห้ามประกันตัวของศาล จึงเป็นการก่ออาชญากรรมอย่างเหี้ยมโหดต่อชีวิตของคุณอำพนโดยตรง

ด้วยความยากลำบากหลายประการเช่นนี้ ในวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้ต้องขังคดี 112 ทั้งหมด 8 คน นำโดย คุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ซึ่งสูงอายุถึง 69 ปีแล้ว ได้เขียนจดหมายจากเรือนจำถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินการเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษแก่พวกเขา โดยระบุว่า 

"บัดนี้พวกข้าพเจ้าทั้งหมดรู้สึกสำนึกผิดด้วยความเสียใจยิ่ง ต่อการกระทำที่ผิดพลาด จึงไม่ขอต่อสู้คดี ยอมรับสารภาพให้ศาลตัดสินใจลงโทษจนคดีถึงที่สุด และใช้สิทธิ์ยื่นเรื่องราวขอพระราชทานอภัยโทษ จึงร้องทุกข์ต่อท่านนายกรัฐมนตรี ได้โปรดพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือพวกข้าพเจ้าให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานด้วยเถิด”

แต่กระนั้น เมื่อเวลาผ่านมาแล้ว 4 เดือน ข้อเสนอนี้ ก็ยังถูกวางเฉย

ในงานเปิดตัวเครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112 สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยามและอดีตผู้ต้องหาคดี 112 ให้ข้อเสนอแนะว่า การให้ความเข้าใจต่อสาธารณะเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก โดยเฉพาะผ่านทางสื่อมวลชนกระแสหลัก ซึ่งต้องให้สังคมเข้าใจถึงสภาพความเป็นอยู่ของคนในเรือนจำและปัญหาอื่นๆ ของมาตรา 112 และยังอยากเสนอว่า ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ วันที่ 12 สิงหาที่จะถึงนี้ ควรเสนอขอพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษในคดีหมิ่นฯ ทั้งหมด เพื่อเป็นพระมหากรุณาธิคุณ

ส่วน จอน อึ๊งภากรณ์ สมาชิกคณะอนุกรรมการศึกษากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวในวงเสวนาว่า กฎหมายหมิ่นฯ ทำให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างร้ายแรง จึงจะพยายามผลักดันให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนออกมาพูดเรื่องนี้และให้ข้อเสนอแนะแก้รัฐบาล เนื่องจากหากมีองค์กรของรัฐออกมาเสนอแนะรัฐบาลอาจให้ความสนใจมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

เมื่อมาถึงขณะนี้ ภาระหน่าที่ปัจจุบันของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ยังคงอยู่ ก็คือ การดำเนินการให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองและนักโทษที่โดนคดีอาญามาตรา 112 ทันที โดยให้รวมนักโทษที่โดนคดี 112 เป็นนักโทษการเมืองด้วย และต้องทบทวนการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามข้อเสนอของนิติราษฎร์ และผลพวงจากกรณีนี้ก็คือ การปรับปรุงความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในเรือนจำ ให้สมฐานะแห่งความเป็นมนุษย์มากขึ้น เช่น การแก้ไขเรื่องการรักษาพยาบาล การจัดอาหารให้เพียงพอ การจัดที่พักไม่ให้แออัดเกินไป เป็นต้น

ในกรณีนี้เช่นนี้ ศาลควรจะให้ความร่วมมือ เช่น การให้ผู้ต้องหาได้ประกันตัวตามหลักสิทธิมนุษยชน และการตัดสินความที่ให้ประโยชน์แก่จำเลยไม่ใช่โจทย์ แต่การเรียกร้องต่อศาลอำมหิตให้มีความเมตตาปรานีคงจะเป็นเรื่องเหลือวิสัย คงจะต้องคอยการปฏิรูปศาลแบบล้างบางแต่เพียงอย่างเดียว สังคมไทยจึงจะเป็นธรรมมากขึ้นได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net