Skip to main content
sharethis

อ่านความคิดของผู้ใหญ่บ้านปากบางคนใหม่ วัย 27 ปี ต่อแผนพัฒนาขนาดใหญ่ในจังหวัดสตูล ทั้งท่าเรือน้ำลึกปากบารา-โครงการก่อสร้างคลังน้ำมัน 5,000 ไร่ย้ำยึดชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง ต้องปรึกษากัน

 

 
 
“นายนรินทร์ สมันตกาญจน์” เพิ่งรับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านปากบาง ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล ได้แค่ 3 เดือน แทน “นายต่ายูเด็น บารา” ผู้ใหญ่บ้านคนเดิมที่เพิ่งพ้นตำแหน่ง เมื่อเร็วๆ นี้
 
ถือเป็นการเข้ารับตำแหน่งในห้วงแห่งการต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบารากำลังระอุ ขณะที่บ้านปากบางและหมู่บ้านใกล้เคียงเอง ก็มีโครงการก่อสร้างคลังน้ำมัน ในพื้นที่ 5,000 ไร่ ของกระทรวงพลังงานจ่อคิวตามท่าเรือน้ำลึกปากบารามาติดๆ
 
ต่อไปนี้เป็นความคิดความเห็นของผู้ใหญ่บ้านปากบางคนใหม่ วัย 27 ปี ต่อแผนพัฒนาขนาดใหญ่ในจังหวัดสตูล
 
ก่อนหน้าเป็นผู้ใหญ่บ้านทำงานอะไรอยู่ที่ไหน ตอนนี้อายุเท่าไหร่?
 
ผมอายุ27 ปี ก่อนหน้านี้เป็นเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลละงู นายจำรัส ฮ่องสาย จบมาจากมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สาขาวิชาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ ก็เป็นเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลละงูเลยประมาณ 3–4 เดือน หมดวาระ ปี 2554 เลือกตั้งใหม่นายกฯ คนเดิมก็ได้อีก ผมก็เป็นเลขานุการนายกฯ อีก เป็นอยู่ 7–8 เดือน ผมก็ลาออกมาสมัครผู้ใหญ่บ้าน และทำธุรกิจเลี้ยงกุ้งในเนื้อที่ 12 ไร่ 6 บ่อ
 
เรื่องท่าเรือน้ำลึกปากบารา พอได้ยินอยู่บ้าง แต่ไม่ได้สนใจ ได้ยินผ่านๆ ปากต่อปากเท่านั้น พอมาเป็นผู้ใหญ่บ้านก็สนใจข้อมูลมากขึ้น ศึกษามากขึ้น
 
รู้รายละเอียดโครงการตั้งคลังน้ำมัน 5,000 ไร่ของกระทรวงพลังงาน ที่บ้านปากบาง อำเภอละงู จังหวัดสตูลบ้างไหม?
 
ผมเพิ่งได้ยิน ยังไม่รู้รายละเอียด ไม่เคยรู้ว่ากินพื้นที่กว้างขนาดไหน จะมีผลกระทบแบบไหน ไม่มีข้อมูลจริงๆ ถ้าโครงการเล็กๆ ชาวบ้านไม่ได้รับผลกระทบก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้ากินพื้นที่กว้างมีผลกระทบกับชาวบ้าน ก็สมควรลุกขึ้นมาต่อต้าน
 
พื้นที่บ้านปากบางมีกี่พันไร่?
 
บ้านปากบางมีพื้นที่ 2,000 กว่าไร่
 
ที่ดินปากบางเป็นที่ดินประเภทไหน?
           
ผู้ใหญ่บ้านคนก่อนน่าจะรู้ดีกว่าผม ทิศตะวันตกเป็นที่ดินของโรงเรียนทั้งหมด มีชาวบ้านสร้างบ้านเรือนอยู่ในนั้น ถ้าเขาจะเอากลับก็ต้องยอม เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ์อะไรเลย
 
ที่ค่ายลูกเสือก็มีอยู่ชาวบ้านอยู่ แต่ไม่มาก เมื่อก่อนที่ตั้งค่ายลูกเสือเคยคิดจะตั้งโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยสตูล แต่สร้างไม่ได้เพราะมีชาวบ้านอาศัยอยู่ก่อน ต่อมาชาวบ้านยอมให้สร้างค่ายลูกเสือได้ แต่ผมไม่รู้ว่าเขายอมเพราะอะไร
 
สมัยก่อนชาวบ้านปากบางปลูกบ้านอยู่ริมทะเลอ่าวละงู ตั้งแต่รุ่นปู่ผมน่าจะ 30–40 ปีมาแล้ว ต่อมาอยู่ไม่ได้ เพราะโดนคลื่นกัดเซาะ จึงย้ายมาปลูกบ้านที่ปากบาง คิดว่าจะปลอดภัยมากกว่าอยู่ริมทะเล ตอนแรกก็ย้ายมาอยู่แค่หลังสองหลัง ต่อมาก็ตามกันขึ้นมาจับจองที่ดินที่นี่
 
ถ้าบ้านปากบางมีพื้นที่แค่นี้ คลังน้ำมันก็ต้องใช้พื้นที่หมู่บ้านใกล้เคียงด้วย แถวนี้มีหมู่บ้านอะไรบ้าง?
 
มีบ้านหลอมปืน บ้านปากละงู บ้านท่าชะมวง บ้านหัวหิน ถัดจากบ้านหัวหิน ก็บ้านบากันโต๊ะทิด บ้านนาพญา บ้านตีหยี ผมได้ข่าวว่าถ้าเกิดท่าเรือน้ำลึกปากบารา ต่อไปเขาจะตัดถนนเลี่ยงเมืองตรง 3 แยกไฟแดงบ้านในเมือง ทางเข้าอำเภอละงูตรงไปปากบารา
 
แล้วชาวบ้านหลอมปืน บ้านปากละงู บ้านหัวหิน รู้เรื่องคลังน้ำมันละงู 5,000 ไร่แล้วยัง?
 
บ้านหลอมปืนน่าจะรู้นะ บ้านหัวหินก็น่าจะรู้ เพราะผู้ใหญ่บ้านทั้ง 2 หมู่บ้านเป็นผู้ใหญ่บ้านมานาน มีการต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบารามานานกว่า 2 ปี ชาวบ้านแถวนั้นน่าจะรู้เรื่องบ้าง ผมเองเพิ่งมาเป็นผู้ใหญ่บ้านราว 3 เดือน ก่อนหน้านี้ก็ไม่ค่อยสนใจเรื่องพวกนี้เท่าไหร่
 
แถวนี้มีสถานที่สำคัญอะไรบ้าง?
 
มีโรงเรียนบ้านปากบาง เด็กนักเรียน 200 กว่าคน โรงเรียนบ้านปากละงู มีเด็กนักเรียน 200 กว่าคน สถานีอนามัย 1 แห่ง มัสยิด 3 แห่ง ค่ายลูกเสือ 1 แห่ง วัดที่บ้านปากละงู 1 วัด กุโบร์ 2 แห่ง สุสานจีนอีก 1 แห่ง
 
ชาวบ้านปากบางประกอบอาชีพอะไรบ้าง?
 
คนปากบางประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นก็ทำสวนยางพารา ชาวบ้านจะประกอบอาชีพ 2 อย่างนี้เป็นหลัก ที่เหลือทำงานรับจ้างทั่วไป
 
ปากบางมีประชากรประมาณเท่าไหร่?
 
ประมาณ 4–5 พันคนรวมหมู่บ้านใกล้เคียงที่น่าจะได้รับผลกระทบคงจะไม่ถึงหมื่นคน
 
คลังน้ำมันละงูกินพื้นที่ 5,000 ไร่ ขณะที่บ้านปากบางมีพื้นที่แค่ 2,000 ไร่ เท่ากับหายไปทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านจะไปอยู่ที่ไหน?
 
นั่นแหละคือปัญหา ตอนนี้ชาวบ้านไม่รู้ข้อมูลเรื่องคลังน้ำมัน บางส่วนที่พอรู้ก็รู้แบบงูๆ ปลาๆ คิดว่าจะสร้างในทะเล ไม่กินอาณาเขตเข้ามาในหมู่บ้าน ถ้ารู้ว่าบ้านปากบางหายไปทั้งหมู่บ้าน เป็นไปได้ที่ชาวบ้านจะลุกขึ้นมาต่อต้าน ถ้ารู้ลึกจริงๆ ชาวบ้านมีสิทธิ์เข้าร่วมขบวนต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา เพราะเขาไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน
 
ในฐานะผู้ใหญ่บ้านคิดอย่างไรเมื่อคลังน้ำมันมาตั้งที่บ้านปากบาง แล้วปากบางหายไปทั้งหมู่บ้าน?
 
ในฐานะผู้ใหญ่บ้านผมต้องยึดชาวบ้านส่วนใหญ่ ยึดชาวบ้านเป็นที่ตั้ง ตอนนี้ชาวบ้านเขาไม่รู้ ถ้าหากเขารู้ปุ๊บเขาก็เดือดร้อนอยู่ไม่ได้ ต้องปรึกษากันแน่นอน ทั้งลูกบ้านและผู้ใหญ่บ้านว่าจะเอาอย่างไร เสียงข้างมากชาวบ้านว่าอย่างไร ผมก็เอาด้วยตามนั้น ผมคิดเองไม่ได้ต้องยึดลูกบ้านเป็นหลัก
 
จะแก้ไขปัญหาชาวบ้านอย่างไร?
 
ถ้าพื้นที่ตรงนี้หายไปจริงๆ ชาวบ้านจะไปอยู่ไหนกัน ผมก็ตั้งคำถามกับตัวเอง ชาวบ้านมีที่อยู่ ที่ทำกินแค่ตรงนี้ ถึงไปไหนไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนี้คงต่อต้านอย่างเดียว ถ้าชาวบ้านมีพื้นที่ข้างนอกอาจย้ายหนีออกไปได้ ส่วนคนที่ไม่มีก็ไม่รู้ไปอยู่ไหน
 
ถ้าโครงการคลังน้ำมันขึ้นที่นี่ผู้ใหญ่บ้านจะย้ายไปอยู่ที่ไหน?
 
ถ้าเป็นแบบนั้นจริงๆ ผมก็ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น เพราะที่ดินที่อื่นผมก็มี แต่ชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินละ
 
หน่วยงานรัฐเคยเข้ามาให้ข้อมูลคลังน้ำมันละงู 5,000 ไร่ กับข้อมูลท่าเรือน้ำลึกปากบาราบ้างหรือไม่?
 
ไม่เคยมีเลย ไม่มีข้อมูลอะไรเลย
 
ผมอยากให้หน่วยงานเจ้าของโครงการนี้มาให้ข้อมูล มาชี้แจงกับชาวบ้านให้ชัดเจน ชาวบ้านจะได้รับเตรียมรับมือแก้ปัญหาได้ พูดถึงชาวบ้านที่นี่ยังนิ่ง เพราะไม่รู้เรื่องอะไรเลย เพราะต้องทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำ
 
รัฐบาลจะทำอะไรก็ต้องเห็นใจประชาชนบ้าง ถ้ามีการให้ความรู้แลกเปลี่ยนกับชาวบ้านคงจะดีกว่า บางคนบอกมีข้อมูลอย่างนี้ บางคนบอกมีข้อมูลอย่างโน้น ไม่รู้จะเชื่อใคร
 
นักพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอเข้ามาให้ข้อมูลเรื่องคลังน้ำมันละงูบ้างไหม?
 
ไม่มี เออเมื่อก่อนน่าจะมีอยู่ครั้งหนึ่งในสมัยผู้ใหญ่คนเก่า นายตายูเด็น บารา เข้ามา แต่ตอนที่ผมเป็นผู้ใหญ่บ้าน ไม่มี
 
ถ้าเอ็นจีโอจะลงมาให้ข้อมูลชาวบ้านล่ะ?
 
ถ้าเอ็นจีโอเข้ามา ผมต้องบอกลูกบ้าน ผมตัดสินใจลำพังตัวเองไม่ได้ ต้องมีการหารือว่าเราจะรับฟังข้อมูลจากเอ็นจีโอดีไหม ถ้าชาวบ้านยินดีให้ชี้แจงก็เอาเลย ถ้าชาวบ้านไม่รับ ผมก็ไม่สนใจ คิดว่าชาวบ้านคงมีเหตุผล ถ้าเอ็นจีโอจะเข้ามาให้ข้อมูล คงไม่โดนปฏิเสธดื้อๆ
 
ระหว่างกระทรวงพลังงานกับเอ็นจีโอเข้ามาให้ข้อมูล ฝ่ายไหนน่าเชื่อถือมากกว่ากัน?
 
คงจะเป็นกระทรวงพลังงาน เพราะเป็นเจ้าของโครงการ น่าเชื่อถือมากกว่า คือเอ็นจีโอเขาอาจไม่รู้จริงก็ได้ ชาวบ้านเองก็ไม่รู้ว่าเอ็นจีโอคืออะไร กลุ่มไหนที่มา เข้ามาต่อต้านเพื่ออะไร ทำอะไรกัน
 
หน่วยงานภาครัฐมักชี้แจงแต่ข้อดี ไม่บอกข้อเสีย?
 
ถ้าหากไม่บอกด้านเสียเลย คนก็ไม่มีข้อเปรียบเทียบซิ มุ่งแต่ชี้แจงด้านดีอย่างเดียวเน้นไม่ให้คนต่อต้าน ทำให้ดูเหมือนเจริญ มันไม่ยุติธรรมสำหรับชาวบ้าน
 
ถ้าหากท่าเรือน้ำลึกปากบาราเกิด คลังน้ำมันละงูเกิด คิดว่าอาชีพประมงพื้นบ้านหายไปหรือไม่?
 
น่าจะไม่หายไปเสียทีเดียว คงจะหลงเหลืออยู่บ้าง ถ้าส่งผลกระทบมากๆ ชาวประมงคงประกอบอาชีพไม่ได้เหมือนกัน ก็มีชาวบ้านบางส่วนกังวล แทนที่จะหาปลาบริเวณน้ำตื้นใกล้ฝั่ง ก็ต้องออกหาปลาบริเวณน้ำลึกไกลฝั่ง ค่าใช้จ่าย ค่าน้ำมันก็สูงขึ้น บางส่วนก็ไม่กังวล เพราะคิดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรมาก
 
ถ้าหากท่าเรือน้ำลึกปากบาราเกิด คลังน้ำมันละงูเกิด คิดว่ามีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไหม?
 
มีผลกระทบแน่นอน ปากบาราน่าจะโดนเต็มๆ เรือขนส่งสินค้าน้ำมันรั่วมันต้องมี อาจส่งผลเสียทั้งอ่าวปากบารา อ่าวละงู ทั้งใต้ทะเลและบนผิวทะเล ธรรมชาติก็เสีย ท่องเที่ยวเสียแน่นอน ธรรมชาติก็โดน คนก็โดน ถ้าเสียมากกว่าจะทำไปทำไม ถ้าเสียน้อย แต่ผลดีมากคงไม่เป็นไร เสียกับดีอะไรมากกว่าละ
 
พอจะทราบข่าวท่าเรือน้ำลึกปากบาราบ้างหรือไม่?
 
ได้ยินคนพูดเรื่องท่าเรือน้ำลึกปากบารามานานแล้ว รู้สึกว่านายนาวี พรหมทรัพย์ อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล เป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้
 
วันที่ 9–10 มิถุนายน 2555 มีขบวนชาวบ้านออกมาต่อต้านรณรงค์โบกธงเขียว ส่วนเรื่องคลังน้ำมันละงู 5,000 ไร่นี่ผมเพิ่งรู้ ตั้งที่บ้านปากบางแน่หรือ
 
รู้รายละเอียดท่าเรือน้ำลึกปากบาราอย่างไรบ้าง?
 
ไม่ค่อยรู้เท่าไหร่ 2–3 ปีก่อน นายนาวี พรหมทรัพย์ และคณะเสนอให้สร้างท่าเรือน้ำลึก ต่อมามีการขึ้นป้ายข้างถนนทั่วจังหวัดสตูล แล้วมีกลุ่มนักพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอประท้วงหลายครั้ง เพราะเกรงผลกระทบจากการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ผมไม่รู้นะว่าจะส่งผลกระทบด้านใดบ้าง เพราะผมไม่ได้สนใจอะไรมาก่อน
 
คิดอย่างไรกับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา?
 
ผมว่าถ้ามันเกิดจริงๆ แล้วไม่มีผลกระทบกับชาวบ้าน ชาวบ้านเห็นด้วยหมด ผมอยากให้เกิด เพราะเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดสตูล อาจจะดีขึ้นเจริญขึ้นมาก็ได้ ยกตัวอย่างในหมู่บ้านปากบางเอง ห่างไกลจากตัวตลาด ตัวเมือง ไม่มีร้านเซเว่น-อีเลเว่น ถ้ามีการพัฒนาจะทำให้ที่นี่มีสภาพกลายเป็นเมือง ได้รับผลดีไปด้วยกันหมด คนมันจะพลุกพล่านมากกว่า จะมีการสร้างงานให้ชาวบ้านทำมากขึ้น คนว่างงานจะลดลง
 
รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ระบุว่าแหล่งทรายบริเวณปากละงู ปากบางหัวหิน 10 ล้านคิว จะถูกไปถมทะเลสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา?
 
หากขุดทรายพื้นที่ทะเลจะกว้างขึ้นหรือไม่ ทะเลจะกินอาณาเขตแผ่นดินล้ำหมู่บ้านมากขึ้น จะมีผลกระทบในช่วงมีคลื่นลม มีมรสุม นี่ขนาดบ้านผมอยู่ห่างจากทะเล 500 เมตร เวลามีคลื่นลมก็นอนไม่หลับ ถ้าหากทะเลล้ำเข้ามา จะพูดอะไรอีก ชาวบ้านได้รับผลกระทบอยู่แล้ว
 
บางคนเขาคิดว่า จะมีการดูดทรายจากทะเลไปถม คงไม่กระทบอะไรมาก แต่ถ้าตั้ง 10 ล้านคิว ผมว่ามีผลกระทบแน่ๆ
 
มองขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบาราอย่างไร?
 
มีคนต่อต้านไม่มากเท่าไหร่ ไม่รู้เหมือนกันนะว่าขบวนต่อต้านเขาอยู่กันอย่างไร ธรรมดาหากมีผลกระทบชาวบ้านต่อต้านอยู่แล้ว สำหรับชาวบ้านที่นี่ยังไม่รู้ว่ามีผลกระทบ จึงไม่ได้ออกไปเคลื่อนไหว
 
วันที่ 9–10 มิถุนายน 2555 คนปากบางเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับเอ็นจีโอ และชาวบ้านที่ปากบาราบ้างไหม?
 
มีคนเข้าร่วมแต่ไม่มาก มีชาวบ้านบางส่วนออกไปร่วม
 
เพราะอะไรชาวบ้านปากบางจึงออกไปร่วมไม่มาก?
 
เพราะเขาคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะกินพื้นที่มาถึงบ้านปากบาง จึงไม่มีคนไปร่วม ชาวบ้านไม่รู้ข้อมูลว่าผลกระทบมันกินพื้นที่แค่ไหน ถ้าหากรู้ว่าคลังน้ำมันจะมาสร้างที่บ้านปากบาง คนคงจะไปร่วมต่อต้านกับคนปากบารามากกว่าที่ผ่านมาก็ได้ เพราะไม่รู้จึงไม่มีใครออกไปต่อต้าน
 
มองเอ็นจีโออย่างไร?
 
เคยได้ยินว่าพวกเอ็นจีโอรับเงินมาปลุกระดมชาวบ้านต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา แต่สำหรับผม ผมไม่แน่ใจว่าพวกเขาอยู่กันอย่างไร บางทีเขาอาจจะลงมาให้ความรู้เป็นประโยชน์กับชาวบ้านก็ได้
 
ได้ยินว่ามีกระบวนการสกัดไม่ให้ชาวบ้านปากบางออกไปร่วมต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา เมื่อวันที่ 9–10 มิถุนายน 2555?
 
ที่ปากบางไม่มีใครบล็อกใครหรอกแถว คนปากบางไปร่วมก็มี คนที่คิดว่าจะส่งผลกระทบกับเขาแน่ เขาก็ออกไป แต่น้อยกว่าคนที่ไม่ไป ไม่มีการบล็อกนะ พื้นที่ตรงนี่ยังนิ่งอยู่ ไม่เหมือนกับปากบารา
 
เมกะโปรเจ็กต์จังหวัดสตูล ทั้งแลนด์บริดจ์สตูล–สงขลา ท่าเรือน้ำลึกปากบารา คลังน้ำมัน ฯลฯ คิดว่าจะพลิกโฉมหน้าจังหวัดสตูลไปจากปัจจุบันไหม?
 
พลิกจังหวัดสตูลแน่นอน ปัญหาที่สำคัญก็คือ แรงงานต่างด้าวจะไหลเข้าจังหวัดสตูลมากขึ้น ใจหนึ่งผมอยากได้ความเจริญ แต่ใจหนึ่งผมก็ไม่ต้องการให้ชาวบ้านเดือดร้อน อันนี้สำคัญที่สุด
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net