Skip to main content
sharethis

 

 

 

 

ดาโตะ ศรี อันวาร์ อิบรอฮิม ที่ปรึกษาพรรค เกออาดิลัน อดีตรองนายกรัฐมนตรี ของประเทศมาเลเซีย กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจอิสลามอาเซียน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2555 ในงานฉลองครบรอบ 20 ปีการก่อตั้ง สหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟาน จำกัด ณ สนามกีฬากลางจังหวัดปัตตานี มีเนื้อหาบางส่วนในการพัฒนาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้

 0 0 0

...ในบริบทของประเทศมาเลเซียซึ่งมีทั้งคนมุสลิม  คนฮินดู และคนจีน เรามีความสามัคคีและเข้ากันได้ในระดับค่อนข้างดี ไม่มีความขัดแย้งที่รุนแรง และทุกชาติพันธุ์มีพื้นที่พอในการดำรงซึ่งอัตลักษณ์ของตน และมีความเข้าใจที่ดีพอในการสมาคมกับเพื่อนร่วมชาติที่ต่างชาติพันธุ์ ผมไม่แน่ใจว่า กลุ่มคนในลักษณะเช่นนี้ สามารถร่วมมือกันเหมือนในประเทศไทยหรือไม่

ผมเชื่อว่ามีอะไรบางประการซึ่งเป็นสิ่งที่ดีๆที่ไทยมีอยู่ ผมก็อยากจะเรียนรู้จากประเทศไทยในประเด็นนี้เช่นกัน

จากพื้นฐานประสบการณ์ที่ผมเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงมีความเชื่อที่ว่า ในการพัฒนาประเทศงบประมาณของชาติจะต้องทุ่มมากที่สุดคือ ด้านการศึกษา เมื่อประชาชนมีการศึกษาที่ดีแล้ว ประชาชนจะมีโอกาสและสามารถเลือกกำหนดรูปแบบการทำงานได้ถูกต้อง และเขาจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเขาเองได้

ประเด็นต่อไปนี้ จะเป็นวัตถุประสงค์และเป็นหลักการสำคัญของคนมุสลิม กล่าวคือ เราสามารถเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจหลักการของศาสนาอื่นๆ เพื่อทำความเข้าใจศาสนาแต่ละศาสนา และเมื่อมุสลิมจะต้องไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันจะได้เข้าใจในหลักการ ข้อห้ามของศาสนานั้นๆ จะได้ไม่ไปสร้างความรู้สึกขัดแย้งกับเขา และเป็นการที่มีความใจกว้างกับคนต่างศาสนิก ให้การนับถือซึ่งกันและกัน หรือการให้เกียรติระหว่างกันและกัน

ในประวัติศาสตร์อิสลาม มีการถามว่า คนอิสลามคบสมาคมกับคนอิสลาม และคนอิสลามคบกับคนต่างศาสนิก ทำได้อย่างไรและในรูปแบบใด

สำหรับระหว่างมุสลิมด้วยกัน เราก็เป็นญาติพี่น้องกันในอิสลาม เราต้องให้เกียรติให้ความเคารพและสัมพันธ์กันในสถานะเสมือนญาติ คือญาติร่วมศาสนากัน เราต้องทำความรู้จักคบสมาคมกัน ตักเตือนในสิ่งที่ผิดและแนะนำสิ่งที่ดีให้กันและกัน

ในประเด็นนี้จะสามารถทำดีได้ สังคมจะต้องใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินการ และการที่สมาชิกในสังคมมีการศึกษาเป็นฐานในการสมาคมกันแล้ว การทะเลาะกัน การขัดแย้งกันก็ไม่เกิดขึ้น หรือถ้าเกิดก็ไม่ลุกลามบานปลายจนเกินเหตุ

การสมาคมในกลุ่มมุสลิมด้วยกันไม่น่าจะเกิดความขัดแย้งกันได้ เพราะในกลุ่มมุสลิมเราเป็นพี่น้องกันในศาสนา เราต่างยึดมั่นในอัลกุรอานในแบบอย่างที่ท่านรอซูล(ศาสนทูต) ได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่าง และด้วยสายสัมพันธ์ทางศาสนา

ในความหลากลายทางศาสนา หลากหลายชาติพันธุ์ในประเทศมาเลเซีย อิสลามได้กำหนดหลักการและแนวทางให้มุสลิมคบค้าสมาคมกับคนต่างศาสนา บนฐานความเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

มุสลิมซึ่งเป็นสังคมส่วนใหญ่และมีบทบาทนำในการปกครองประเทศจะต้องดูแลด้วยความเคารพให้เกียรติกันและกันและด้วยความยุติธรรม  ดังตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในยุคของท่านนบี(ศาสดา) เป็นตัวอย่างที่มุสลิมปกครองโดยใช้หลักอิสลามปกครองทั้งกับมุสลิมด้วยกันและประชาชนต่างศาสนิก

มีกรณีที่ผู้หญิงถูกเอาเปรียบ ถูกลงโทษคุมขังโดยผู้ปกครอง ในกรณีเช่นนี้ เมื่อผู้นำเป็นมุสลิม อิสลามกำหนดให้มุสลิมจะต้องให้ความสำคัญ ให้ความยุติธรรมและให้เกียรติไม่กดขี่ทางเพศ เช่นที่เคยเป็นกันในสังคมอาหรับยุคก่อนอิสลาม

จากประสบการณ์ของข้าพเจ้า การอยู่ในคุก ก็เป็นโอกาสที่ดี ที่ผมได้มีเวลาศึกษาอัลกุรอาน อ่านหนังสือต่างๆ รวมทั้งตำราที่เขียนโดยปราชญ์ปัตตานี เช่น เชคดาวูด อัลฟาตอนี เป็นต้น ทำให้ผมมีความเข้าใจในอิสลามมากขึ้น มีการนำเอาหลักการอิสลามมาเป็นแนวในการดำรงตนมากขึ้น แต่สิ่งที่ผมรับไม่ได้คือ ความไม่เป็นธรรมที่ผมถูกคุมขังด้วยข้อหาที่ผมไม่ได้กระทำผิด

สิ่งที่เราควรคิดใคร่ครวญอีกประการหนึ่งก็คือ ในโลกนี้ มีมุสลิมเยอะมากที่ร่ำรวย และประสบความสำเร็จในตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือในเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลก แต่เชื่อหรือไม่ว่าคนที่ยากจนที่สุดก็เป็นมุสลิม

องค์กรต่างๆ ต้องเป็นเครื่องมือที่ช่วยกันดูแลคนทุกกลุ่ม รณรงค์เพื่อสร้างความยุติธรรม สร้างโอกาส ในมาเลเซียก็ให้โอกาสกับคนเหล่านั้น โดยให้พื้นที่หรือโอกาสทางการศึกษา  และทางเศรษฐกิจในกับพวกเขาให้มากขึ้น หรือพอๆกับกลุ่มอื่นที่มีโอกาส

สำหรับในภาคใต้ของไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ติดต่อกับมาเลเซีย เราสามารถร่วมมือกันยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่นี้ ในอนาคตเราสามารถร่วมมือกันได้ เรามีสายสัมพันธ์กัน ในฐานะของการเป็นมุสลิมด้วยกัน และการเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก

ทั้งสองกรณีนี้ ถ้าเราเข้าใจกัน และให้ความสำคัญร่วมกัน เรา(ทั้งสองประเทศ)ก็จะสามารถร่วมมือกันในการพัฒนาพื้นที่นี้ให้มีสันติสุข มีการศึกษาและเศรษฐกิจดี นั่นหมายถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่นี้นั่นเอง...

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net