“ชายแดนใต้ ในสายตารุสนี” มองปัญหาความไม่สงบผ่านมุมวรรณกรรม

เวทีมนุษย์ฯ - สังคมเสวนา ครั้งที่ 3 แลกเปลี่ยนเสวนา ผ่านวรรณกรรม นวนิยายรุสนี 1 ใน 15 เรื่อง ที่ผ่านรอบแรก นวนิยายซีไรต์ ปี 2555 ของมนตรี ศรียงค์

ใต้ตึกคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา เวลาบ่ายโมงครึ่งของวันที่ 25 กรกฎาคม 2555 นักศึกษากว่า 150 คน นั่งบนเสื่อราบกับพื้นต่างจดจ้องไปที่ภาพเบื้องหน้าบนแคร่ไม้ไผ่ที่ปูผ้าปาเต๊ะอย่างง่าย ของเวทีมนุษย์ฯ - สังคมเสวนา ครั้งที่ 3 “ชายแดนใต้ ในสายตารุสนี” ที่โครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณจัดขึ้น

ผศ. ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ กรรมการอำนวยการโครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เกริ่นนำว่า อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กล่าวไว้ว่า วรรณกรรมเป็นวิญญาณของประเทศและสังคม ดังนั้นวรรณกรรมกับชีวิตจึงไม่อาจแยกออกจากกัน ทั้งสามารถที่จะช่วยผลักดันให้ชีวิตมีความเปลี่ยนแปลงได้ เช่นเดียวกับงานเขียนเรื่องรุสนี จึงย่อมมีสายตาของผู้ประพันธ์ “มนตรี ศรียงค์” ที่หยิบยกเรื่องราวชายแดนใต้อย่างสะเทือนใจ ตรงไปตรงมา ทว่ารวดร้าว เพราะเรื่องราวเหล่านี้เอาเข้าจริงไม่จำกัดเฉพาะคนในเท่านั้น หากแฝงฝังเข้าไปในโครงสร้างความรู้สึกของสังคม ดังเช่นหนุ่มไทยพุทธรับอุปการะรุสนี

“ในแง่นี้หากกล่าวในสำนวนของ กนกพงศ์ สงสมพันธ์ กวีซีไรต์ผู้ล่วงลับ กล่าวได้ว่า มนตรี ศรียงค์ ได้ทำหน้าที่เลขานุการทางประวัติศาสตร์ แล้วอย่างไม่ต้องสงสัย วรรณกรรมเหล่านี้ สถาพร ศรีสัจจัง ถึงกลับกล่าวว่า เป็นหนังสือที่ผู้เกี่ยวข้องกับปัญหาชายแดนใต้ต้องอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีของท่าน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ กล่าวก่อนเปิดวงเสวนา


มนตรี ศรียงค์

แล้วนายมนตรี ศรียงค์ กวีซีไรต์ปี 2550 นายจรูญ หยูทอง นักวิชาการ นักคิดนักเขียนผู้มีประสบการณ์ นายปรเมศวร์ กาแก้ว นักวิชาการ นักคิดนักเขียนรุ่นใหม่ และผศ.ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาศัย ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ค่อยทยอยนั่งเป็นแคร่ร่วมแลกเปลี่ยนเสวนาผ่านวรรณกรรม นวนิยายรุสนี 1 ใน 15 เรื่อง ที่ผ่านรอบแรก นวนิยายซีไรต์ ปี 2555 ของมนตรี ศรียงค์

“พี่มนตรี” นายมนตรี ศรียงค์ เล่าถึงความเป็นมาของนวนิยายายรุสนีว่า เมื่อก่อนทางศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้โทรศัพท์ติดต่อให้เขียนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งคือ “รุสนี” เกี่ยวกับชายแดนใต้ ทั้งๆ ที่ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับชายแดนใต้เลย ก็เหมือนคนทั่วไปที่เสพสื่อผ่านหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ เพื่อตีพิมพ์ตีพิมพ์ในดีฟเซ้าท์แม็กกาซีน

ต่อมามีแนวคิดที่จะขยายให้เป็นนวนิยาย จึงหาข้อมูลด้วยการไถ่ถามจากเพื่อนพ้องใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งพุทธและมุสลิม โดยให้ซาการียา อมตยา กวีซีไรต์ 2553 เล่าฉากหมู่บ้านของเขา คือหมู่บ้านแคและ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ที่อยู่ริมเทือกเขาบูโด จากนั้นไว้นำพาตัวละคร เนื่องจากฉากในชายแดนใต้เป็นฉากที่ไม่คุ้นเคยจึงจำเป็นต้องนำตัวละคนรุสนี ยะยา ซูไฮมิง มาโลดแล่นในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

“เมื่อก่อนได้ยินว่ามีกลุ่มขบวนการอันมีอุดมการณ์แรงกล้ามีอยู่ ทว่าบนเทือกเขาบูโดหาได้มีขบวนการใหม่ ดังนั้นปัญหาชายแดนใต้จึงเป็นดินแดนลึกลับ เป็นเขตหวงห้ามสำหรับคนอื่น แต่หากเราต้องการทำความเข้าใจสำหรับคนอื่น เราก็ต้องทำตัวให้เป็นคนอื่น” เป็นสายตาที่มองโดยพี่มนตรี


พรพันธุ์ เขมคุณาศัย

ผศ.ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาศัย ตั้งข้อสังเกตถึงนวนิยายรุสนีว่า เหมือนฉากและตัวละครทุกตัว เป็นสัญญะบางอย่างที่ไม่ทราบว่าคืออะไร ในช่วงปี 2522-2524 ซือเกะแซกอง นำเสนอความไม่ไว้วางใจระหว่างคนพุทธกับมุสลิม แต่ผ่านมา 3 ทศวรรต ความขัดแงปริย้าวยิ่งขยายวงกว้างขึ้นระหว่างมุสลิมกันเอง พุทธกันเองด้วย


จรูญ หยูทอง

ขณะที่“รูญ ระโนด” นายจรูญ หยูทอง ผู้อ่านต้นฉบับแรกๆ ของรุสนี มองว่า ชายแดนใต้ในสายตารุสนีมีคำตอบอยู่แล้ว แต่ไม่อยากให้จบลงแบบนี้ โดยรูญ ระโนด ถึงกับร้องไห้จาก 2 ฉากในเรื่อง คือตอนที่รุสนีถูกอดุลย์ข่มขืน และยะยาถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของความเดือดร้อนของหมู่บ้านแคและ ตอนรุสนีถูกข่มขืน เธอกล่าวว่า มนุษย์ไม่มีที่พึ่งใดนอกจากอัลเลาะห์ เมื่ออดุลย์ซึ่งเป็นมุสลิมข่มขืนรุสนีซึ่งเป็นมุสลิมด้วยกัน เธอกลับภาวนาว่า เขาคือคนหลงผิด ขอให้อัลเลาะห์ให้อภัยกับเขาเถิด

จรูญ หยูทอง ตั้งคำถามว่า แล้วเมื่อบนเทือกเขาบูโดไม่มีอะไร ไม่มีขบวนการแบ่งแยกดินแดนใหม่ แล้วคนตายที่ตากใบคือใคร คนตายที่กรือเซะคือใคร

“คนๆหนึ่งที่หากินด้วยการขายบะหมี่แต่เข้าใจปัญหากว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผมมองในแง่ดีหากเขาได้ซีไรต์กรรมการอาจตาถึง แต่ถ้าไม่ได้ซีไรต์ฝีมือเขาอาจไม่ถึง แต่หากการไม่ได้ซีไรต์อาจโชคดีตรงที่ไม่ถูกวิพากษ์วิจารย์จากนักวิจารย์ที่มองตรงกันข้าม” จรูญ หยูทอง แสดงความเห็น


ปรเมศวร์ กาแก้ว

ปรเมศวร์ กาแก้ว มองว่า เมื่อมองมิติทุกตอนเห็นชัดว่านวนิยายเรื่องนี้เหมือนการพิพากษาอะไรบางอย่าง ใครเป็นผู้พิพากษา ใครถูกพิพากษา ยะยาถูกพิพากษา หรือยะยาพิพากษาสังคม ปรเมศวร์นึกถึงนวนิยายคำพิพากษาของชาติ กอบจิต ไอ้ฟักถูกพิพากษา หรือสังคมถูกพิพากษาว่าพิพากษาทั้งที่ไม่มีข้อมูล ก็เหมือนที่ยะยาถูกพิพากษาว่าเป็นแนวร่วมขบวนการก่อความไม่สงบ

ปรเมศวร์ วิเคราะห์ว่า สังคมพยายามสร้างชุดความคิดว่ามุสลิมเป็นแบบนั้นแบนี้ คำถามที่อยู่ในใจรุสนี คำถามที่อยู่ในใจเขา สุดท้ายแล้วใครกลัวใคร สังคมบอกว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้พยายามแบ่งแยกดินแดน จากข่าวบางทีอาจไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน รู้สึกว่าคน 70 กว่าจังหวัดกำลังพยายามถีบ 3 จังหวัดชายแดนใต้ออกไปมากกว่า เขาบอกไม่ได้แบ่งแยก เขาเป็นคนส่วนน้อยจะสู้อำนาจ 70 กว่าจังหวัดอย่างไร อาจจะเป็นโครงสร้างของรัฐเป็นต้นเหตุของความรุนแรงหรือเปล่า

“พี่มนตรี” เล่าถึงกระบวนการเขียนเรื่องสั้นรุสนีแล้วขยายให้เป็นนวนิยายรุสนีนั้น เมื่อหาข้อมูลจึงเกิดการตั้งคำถามกับตัวเองว่าในท่ามกลางความแตกต่างเราอยู่ด้วยกันไม่ได้จริงเหรอ พี่มนตรีมองว่ามันต้องอยู่ด้วยกันได้ จึงสร้างตัวละคร “เขา” ซึ่งเป็นไทยพุทธอายุกว่า 40 ปี ขึ้นมาให้สัมพันธ์กับรุสนี เด็กสาวมุสลิมแรกรุ่น โดยชะตากรรมนำพาให้พบกัน

“พี่มนตรี” บอกถึงการวางพล็อตเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ที่หญิงสาวมุสลิมจะมาอยู่ท่ามกลางชุมชนไทยพุทธ ไม่มีมัสยิดสักหลัง เพื่อต้องการบอกว่าท่ามกลางความสุดโต่งเราอยู่ร่วมกันได้ เหตุการณ์ที่ตันหยงลิมอ กรือเซะ ตากใบ มันมีความขัดแย้งรุนแรงมาก มันมีคำตอบอยู่แล้วว่าความสันติไม่ได้เกิดจากสงครามอย่างแน่นอน ตรีมของเรื่องคือการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความขัดแย้งทั้งหลาย มีการเมืองมาเกี่ยวข้องให้เกลียดกันทางชาติพันธุ์ การละลายความเกลียดชัง ทำไมเราจึงเกลียดกันถ้าตอบคำถามได้ เราก็ละลายความเกลียดชังได้

ปรเมศวร์ กาแก้ว บอกว่าเขาชอบตัวละครซูไฮมิงเด็กชายมุสลิมขาลีบพิการ ที่ถูกบีบจากการทาบทามให้เข้าขบวนการก่อความไม่สงบ แล้วเขาเลือกหนีเข้ามาเรียนที่หาดใหญ่ทว่าเขาถูกกระทำกลั่นแกล้งจากเพื่อนในโรงเรียนใหม่สารพัด

ขณะที่จรูญ หยูทอง บอกถึงตัวละครที่ประทับใจ โดยตอนแรกจรูญชอบยะยา เด็กหนุ่มมุสลิมแห่งหมู่บ้านแคและที่ถูกกระทำ เพราะนึกว่าเป็นพระเอกของเรื่อง ต่อมาต่อมานึกว่าซูไฮมิง เด็กหนุ่มมุสลิมขาลีบพิการที่ไถูกกระทำไม่ได้รับความเป็นธรรมเป็นพระเอกของเรื่อง จะเห็นได้ว่าผู้อ่อนแอคือเหยื่อถูกกลั่นแกล้งรังแกสารพัด ซูไฮมิงไม่ควรถูกรังแกจากอดุลย์

วันที่รุสนีไม่มีใคร ซูไฮมิงพยายามเข้าปลอบประโลมและหยิบยื่นความรักให้รุสนี แต่รุสนีกลับปฏิเสธเขา ซูไฮมิงก็ยอมรับ ทุกครั้งที่เขาพูดกับรุสนีเขาจะลูบขาข้างลีบพิการของเขาเสมอ ซูไฮมิงจึงเป็นนักสู้แต่สังขารไม่อำนวย อดุลย์ชิงข่มขืนรุสนี เพราะรู้ว่าซูไฮมิงชอบรุสนี ส่วนฉากในวัดที่หมู่บ้านทุ่งงายที่รุสนีอธิบายกับพระ ท่ามกลางการเฝ้าดูของชาวบ้าน ถึงกับทำให้หญิงชราที่เกลียดรุสนีถึงกับกอดรุสนี

“ถึงจะรู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องแต่ง ผมเชื่อว่าเขาได้หยิบฉวยความจริงจากข่าวในหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ มาประกอบด้วย วรรณกรรมวัดค่ากันว่าวรรณกรรมที่ดีต้องนำผู้อ่านให้รู้สึกคล้อยตามไปโดยธรรมชาติ ไม่ใช่เทศนาให้คนอ่านรู้สึกไปเอง” จรูญ หยูทอง แสดงความเห็น

มนตรี ศรียงค์ บอกว่า ตัวละครยะยา รุสนี และซูไฮมิง เป็นสัญลักษณ์ของชายแดนใต้ ความสำคัญของยะยากับซูไฮมิง เมื่อถึงจุดพีคสุด ยะยาถามหาปืนสักกระบอก แต่สุไฮมิงภาวนาขอให้เขาเขาหายขาลีบสักวันหนึ่ง จุดพีคสุดของรุสนี เธอลูบท้องที่ถูกอดุลย์ข่มขืนยอมรับชะตากรรม โดยต่อมามีเขาเข้ามา

ผศ. ดร.ณฐพงศ์ แสดงความเห็นว่า เมื่ออ่านเรื่องนี้จบพบว่าความรักงดงามเสมอไม่ว่าในสถานการณ์ใด แม้แต่ความเป็นแม่ของรุสนีที่ถูกอดุลย์ข่มขืน แต่เมื่อเสียงปืนดังขึ้นความรักมันถูกฉุดคร่า ฉีกขาด ปัญหาความฉีกขาดเหล่านี้ พอจะมีอะไรสมานท์รอยแผลได้ ความไม่รู้ไม่เข้าใจที่ภูกฝังในความรู้สึกทำให้การคลี่คลายปัญหามันยากขึ้น

มนตรี ศรียงค์ อธิบายถึงนวนิยายของตัวเองว่า หลวงพ่อเพชรวัดทุ่งงาย ได้เรียกรุสนีไปพูดคุย ขณะที่ชาวบ้านมานั่งล้อมฟัง ฉากนั้นมนตรีในสายตาของหลวงพ่อเพชร ไม่มีคำว่าหมา แมว อะไรทั้งสิ้น มีแต่เพื่อนผู้ร่วมทุกข์ ถ้าเรามองคนอื่นเป็นมนุษย์ ต่อให้มีความขัดแย้งแตกต่างอย่างไรก็ตามถ้าพูดคุยกันได้ต้องวางอาวุธก่อน

ในกรณีชายแดนใต้สาเหตุคืออะไร ชายแดนใต้วันนี้ปัญหามันเหมือนขี้ก้อนใหญ่ จิ้มไปตรงไหนก็คือขี้ ฉะนั้นรัฐต้องแก้ปัญหาและรื้อโครงสร้างทั้งระบบใหม่หมดทุกด้าน โดยการมองเขาในฐานะมนุษย์เท่านั้น อำนาจหนังสือเล่มนี้มีมีอยู่ แต่ก็แค่ประหนึ่งไม้ขีดไฟเล่มเล็กถ้าไม่สันดาปชนวนทางความคิด ไฟก็ไม่ติด ขึ้นอยู่กับคนอ่านจะหยิบนำไปขับเคลื่อนอย่างไร

“ถ้านวนิยายรุสนีสามารถละลายความเกลียดชังทางศาสนา และชาติพันธุ์ได้ รางวัลซีไรต์ไม่เรื่องสำคัญสำหรับผมครับ” มนตรี ศรียงค์ ลั่นวาจาด้วยความมุ่งมั่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท