Skip to main content
sharethis

รับ ครม.สัญจร จ.สุรินทร์ 30 ก.ค.นี้ เครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ โขง ชี มูล 7 เขื่อน ออกแถลงการณ์ “รัฐต้องแก้ปัญหาผลกระทบโครงการโขง ชี มูล ให้แล้วเสร็จ..!! หยุด! โครงการผันน้ำขนาดใหญ่ โขง เลย ชี มูล”

 
 
วันนี้ (28 ก.ค55) เครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ โขง ชี มูล 7 เขื่อน ประกอบด้วย เขื่อนราษีไศลเขื่อนหัวนา เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนพนมไพร เขื่อนธาตุน้อย เขื่อนหนองหานกุมภวาปี เขื่อนห้วยหลวง ออกแถลงการณ์โอกาส ครม.สัญจร จ.สุรินทร์ 30 ก.ค.55 “รัฐต้องแก้ปัญหาผลกระทบโครงการโขง ชี มูล ให้แล้วเสร็จ..!! หยุด! โครงการผันน้ำขนาดใหญ่ โขง เลย ชี มูล” ถึงประชาชนจังหวัดสุรินทร์และผู้มีใจเป็นธรรมทั่วประเทศ ระบุ “โครงการ โขง เลย ชี มูล” ใช้งบประมาณมหาศาล และจะสร้างปัญหาให้คนอีสานไม่มีที่สิ้นสุด
 
จากกรณีโครงการผันน้ำขนาดใหญ่ โขง ชี มูล ที่มีการสร้างเขื่อนถึง 14 เขื่อนในภาคอีสาน ใช้งบประมาณไป 10,000 กว่าล้านบาท แต่ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมาย ทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิต การสูญเสียที่ดินทำกิน เสียทรัพยากรธรรมชาติของชาวอีสาน โดยเฉพาะการสูญเสียป่าบุ่งป่าทาม ตัวอย่างกรณีเขื่อนราษีไศล มีน้ำท่วมป่าทามที่เป็นระบบนิเวศสำคัญของแม่น้ำมูนไปถึง 1 แสนไร่ มีผู้สูญเสียที่ดิน 7,760 ครอบครัว รวมผู้เดือดร้อนทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่น้อยกว่า 1 หมื่นครอบครัว
 
แถงการณ์ระบุว่า เขื่อนดังกล่าวไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนการก่อสร้าง ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะและชุมชนท้องถิ่นไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และขณะนี้มีการเผลักดัน “โครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล” ซึ่งจะเป็นการสร้างปัญหาซ้ำรอยโครงการเดิม ขณะที่ปัญหาผลกระทบจากโครงการ โขง ชี มูล ที่คาราคาซัง มา 20 ปี นั้นรัฐบาลยังแก้ปัญหาไม่เสร็จสิ้น อีกทั้งยังสร้างความขัดแย้งในพื้นที่
 
บทเรียนการต่อสู้ของคนในลุ่มน้ำโขง ชี มูน คือ “การสร้างเขื่อนนั้นไม่ใช่คำตอบสำหรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง แต่กลับสร้างผลกระทบตามมา ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน” แต่กลับพบว่าการจัดการน้ำในรูปแบบแหล่งน้ำขนาดเล็กระดับชุมชนท้องถิ่น เป็นทางแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับระบบนิเวศน์และวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นมากกว่า แต่รัฐไม่สนใจ
 
ทั้งนี้ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการโขงชีมูลจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนี้ 1.แก้ไขปัญหากรณีเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วในโครงการ โขง ชี มูล ให้แล้วเสร็จ จ่ายค่าชดเชยที่ดินให้ครบถ้วน รวดเร็ว และให้มีการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังการก่อสร้างเขื่อนทุกเขื่อน 2.จัดทำแผนในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนและธรรมชาติได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม หากศึกษาแล้วพบเขื่อนไหนก่อปัญหาผลกระทบมากกว่าได้ประโยชน์ ให้รื้อเขื่อนนั้นทิ้ง
 
3.ให้ยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่และการผันน้ำ โขง เลย ชี มูลและโครงการอื่นๆ ทันที เพราะจะเกิดผลกระทบมากมายและไม่มีความคุ้มค่า นอกจากจะสร้างผลประโยชน์และสร้างกำไรให้กับธุรกิจสร้างเขื่อน แล้วผลักภาระผลกระทบให้ชุมชนท้องถิ่น 4.ให้มีการกระจายอำนาจและงบประมาณให้ชุมชนท้องถิ่น วางแผนและดำเนินการในการจัดการน้ำ โดยชุมชนท้องถิ่นเอง ตามระบบนิเวศนั้นๆ
 
 
 
แถลงการณ์โอกาส ครม.สัญจร จ.สุรินทร์ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕
ของ เครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ โขง ชี มูล ๗ เขื่อน
รัฐต้องแก้ปัญหาผลกระทบโครงการโขง ชี มูล ให้แล้วเสร็จ..!!
หยุด ! โครงการผันน้ำขนาดใหญ่ โขง เลย ชี มูล
 
เรียน พี่น้องประชาชนจังหวัดสุรินทร์และผู้มีใจเป็นธรรมทั่วประเทศ
 
เราคือขบวนเครือข่ายของชาวบ้านจากหลายจังหวัด ที่เดือดร้อนจากโครงการจัดการน้ำ และการสร้างเขื่อนของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการผันน้ำขนาดใหญ่ โขง ชี มูล ที่มีการสร้างเขื่อนถึง ๑๔ เขื่อนในภาคอีสาน เขื่อนเหล่านี้ใช้งบประมาณของเรา-ท่านไป ๑๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท แต่ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้ไม่ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมาย ทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิต การสูญเสียที่ดินทำกิน เสียทรัพยากรธรรมชาติของชาวอีสาน โดยเฉพาะการสูญเสียป่าบุ่งป่าทาม
 
ที่เห็นชัดกรณีเขื่อนราษีไศลที่เดียว มีน้ำท่วมป่าทามที่เป็นระบบนิเวศสำคัญของแม่น้ำมูนไปถึง ๑ แสนไร่ มีผู้สูญเสียที่ดิน ๗,๗๖๐ ครอบครัว รวมผู้เดือดร้อนทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่น้อยกว่า ๑ หมื่นครอบครัว เขื่อนเหล่านี้ไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนการก่อสร้าง ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะและชุมชนท้องถิ่นไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
 
วันนี้การเดินหน้าผลักดันยักษ์ใหญ่อีกแล้วชื่อ “โครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล” จะเป็นการสร้างปัญหาซ้ำรอยโครงการเดิม ขณะที่ปัญหาผลกระทบจากโครงการ โขง ชี มูล ที่คาราคาซัง มา ๒๐ ปี นั้นรัฐบาลยังแก้ปัญหาไม่เสร็จสิ้น สร้างความขัดแย้งในพื้นที่และกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ล้าช้า
 
๒๐ ปีบทเรียนการต่อสู้ของคนในลุ่มน้ำโขง ชี มูน คือ “การสร้างเขื่อนนั้นไม่ใช่คำตอบสำหรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง แต่กลับสร้างผลกระทบตามมา ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน” แต่กลับพบว่าการจัดการน้ำในรูปแบบแหล่งน้ำขนาดเล็กระดับชุมชนท้องถิ่น เป็นทางแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับระบบนิเวศน์และวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นมากกว่า แต่รัฐไม่สนใจ
 “โครงการ โขง เลย ชี มูล” ซึ่งจะใช้งบประมาณมหาศาล และจะสร้างปัญหาให้คนอีสานไม่มีที่สิ้นสุด
 
เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการโขงชีมูลจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนี้
 
๑.รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วในโครงการ โขง ชี มูล ให้แล้วเสร็จ การจ่ายค่าชดเชยที่ดินให้ครบถ้วน รวดเร็ว และให้มีการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังการก่อสร้างเขื่อนทุกเขื่อน
 
๒.ให้รัฐบาลจัดทำแผนในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนและธรรมชาติได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม หากศึกษาแล้วพบเขื่อนไหนก่อปัญหาผลกระทบมากกว่าได้ประโยชน์...ให้รื้อเขื่อนทิ้งนั้นทิ้งเสีย
 
๓.ให้ยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่และการผันน้ำ โขง เลย ชี มูลและโครงการอื่นๆ ทันที เพราะจะเกิดผลกระทบมากมายและไม่มีความคุ้มค่าที่จะสร้าง นอกจากจะสร้างผลประโยชน์และสร้างกำไรให้กับธุรกิจสร้างเขื่อน แล้วผลักภาระผลกระทบให้ชุมชนท้องถิ่น เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
 
๔.ให้มีการกระจายอำนาจและงบประมาณให้ชุมชนท้องถิ่น วางแผนและดำเนินการในการจัดการน้ำ โดยชุมชนท้องถิ่นเอง ตามระบบนิเวศนั้นๆ
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
เครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ โขงชีมูล
เขื่อนราษีไศล/ เขื่อนหัวนา/ เขื่อนร้อยเอ็ด/ เขื่อนพนมไพร/ เขื่อนธาตุน้อย/ เขื่อนหนองหานกุมภวาปี/ เขื่อนห้วยหลวง
 
 
หมายเหตุ: ภาพจาก http://www.moonlang.com/history.html
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net