Skip to main content
sharethis

ณ เมืองออโรรา ใกล้กับเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด กลางดึกของวันที่ 20 ก.ค. 2555 เจมส์ โฮลมส์ ชายหนุ่มอดีตนักศึกษาปริญญาเอกมหาวิทยาลัยโคโลราโด สาขาประสาทวิทยาศาสตร์วัย 24 ปี สวมหน้ากากกันแก๊ซ ชุดกันกระสุน หมวกกันกระสุนสีดำล้วน เดินเข้าโรงหนังเซ็นทูรี 15 ใจกลางเมืองออโรรา เปิดฉากการสังหารหมู่ด้วยการโยนแก๊ซน้ำตาเข้ากลางผู้ชมที่น่ังอยู่ในโรงหนังหมายเลข 9 และกระหน่ำยิงปืนลูกซอง, ปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติและปืนพกเข้าใส่คนดูอย่างไม่ยั้งมือ

มีผูู้เสียชีวิตทันที 10 ราย อีก 2 ราย เสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาลใกล้เคียง มียอดผู้บาดเจ็บ58 คน รวมถึงทารกวัย 4 เดือนด้วย ตำรวจจับโฮลมส์ได้ทันทีบริเวณไม่ไกลจากที่เกิดเหตุ

มีรายงานว่า เจมส์ โฮลมส์ ซื้อปืนที่เขาใช้สังหารทั้ง 4 กระบอก กับกระสุนอีก 6,000 นัดจากร้านขายปืนและทางอินเทอร์เน็ตอย่างถูกกฎหมาย

ปี 2550…

เมื่อ 7 โมงเช้าวันที่ 16 เม.ย. 2550 ณ วิทยาลัยโพลีเทคนิคเวอร์จิเนียเทค ในรัฐเวอร์จิเนีย ซึง ฮุย โช นักศึกษาเอกวิชาภาษาอังกฤษ สัญชาติเกาหลี- สหรัฐ วัย 23 ปี พกปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติขนาด9 mmที่เขาสั่งซื้อมาจากอินเทอร์เน็ต เดินไปที่ชั้นสี่ของหอพักมหาวิทยาลัย เขาลั่นปืนใส่เพื่อนนักเรียนสองคน เอมิลี่ เฮิร์ช และไรอัน คลาร์ก ทำให้สองคนนั้นเสียชีวิตทันที

ไม่กี่ชั่วโมงถัดมา โชเดินกลับมาที่ห้องพัก จัดแจงเตรียมเอกสารและเทปวีดีโอเกี่ยวกับตนเองส่งไปยังสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซี จากนั้นเตรียมปืนและกระสุน เดินไปยังตึกเรียนที่อยู่ใกล้ๆ และเปิดฉากยิงกระสุน 170 นัด กระหน่ำเข้าใส่เพื่อนนักเรียนและคนที่อยู่ในบริเวณนั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 30 คน และบาดเจ็บเกือบอีก 20 คน เขายิงตัวตายตามหลังจากนั้น

ปี 2542…

ในวันที่ 20 เม.ย. ปี 2542 ราว 11 โมงเช้าเด็กผู้ชายวัยมัธยมปลายสองคน เอริค แอร์ริส และดีแลน คีโบลด์ วัย 18 และ 17 ปี ใช้ระเบิดประกอบเองโยนเข้าตามจุดต่างๆ ของโรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ ในรัฐโคโลราโด ก่อนจะใช้ปืนลูกซองและปืนพกมือคนละ 2 กระบอกที่ซื้อต่อจากคนรู้จัก กราดยิงตามห้องเรียน ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ และลานกลางร.ร. สังหารเพื่อนและครูร่วมโรงเรียน 13 ราย ทำให้บาดเจ็บอีก 24 ราย ทั้งเอริคและดีแลน ฆ่าตัวเองตายหลังจากนั้นทันที โดยเอริคยิงปืนหนึ่งนัดเข้าที่ปาก ส่วนดีแลนใช้ปืนพกยิงเข้าที่ขมับตนเอง

0000

อันที่จริงแล้ว สำหรับสหรัฐอเมริกา อาจกล่าวได้ว่า เหตุการณ์สังหารหมู่ด้วยปืนเช่นตัวอย่างที่ยกมาไม่ใช่เรื่องที่คาดเดายากเท่าใดนัก จากการรวบรวมเหตุการณ์สังหารหมู่ในสหรัฐที่ปรากฎเป็นข่าว โดยองค์กรรณรงค์เพื่อจำกัดการใข้ปืน Brady Campaign to Prevent Gun Violence พบว่า ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา เกิดการสังหารหมู่ด้วยปืนในสหรัฐโดยเฉลี่ยปีละราว 60 ครั้ง [1] และจากสถิติขององค์กร Small Arm Survey พบว่า ประชากรสหรัฐเป็นเจ้าของปืนมากที่สุดในโลก โดยใน 100 คน มีถึง 88 คนที่มีอาวุธปืน ในขณะที่รองลงมา คือประเทศเยเมน มี 54.8 คน ต่อ 100 หัว ตามมาด้วย สวิสเซอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และเซอร์เบีย ตามลำดับ [2]

นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงอีก 22 ประเทศ อัตราการฆาตกรรมด้วยการใช้อาวุธปืนในสหรัฐสูงกว่าประเทศอื่นถึงเกือบ 20 เท่า [3]

สิทธิการถือปืนในฐานะสิทธิพลเมือง

ยังไม่เป็นที่ชัดเจนนักว่า สถิติการเป็นเจ้าของปืนต่อประชากร เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสังหารหมู่และความรุนแรงที่เกิดขึ้นมากแค่ไหน แต่การถกเถียงเรื่องนี้ มักจะเกิดขึ้นในสังคมอเมริกันเสมอๆ หลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญเช่นนี้เกิดขึ้น โดยฝ่ายสนับสนุนให้มีการพกปืน อย่างสมาคมไรเฟิลแห่งชาติ (National Rifle Association) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลในการเมืองสหรัฐ มักจะอ้างบทแก้ไขเพิ่มเติมที่ 2 (Second Amendment) ตามคำประกาศว่าด้วยสิทธิพลเมือง (Bill of Rights) ในรัฐธรรมนูญสหรัฐ ซึ่งพิทักษ์สิทธิประชาชนในการมีอาวุธในครอบครอง เพื่อป้องกันตนเองจากภัยอันตราย ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนกฎหมายที่จำกัดการใช้ปืน จะอ้างถึงความรุนแรงของการใช้อาวุธปืนและกฎหมายควบคุมการใช้อาวุธที่ไม่รัดกุมอย่างเพียงพอ

ทั้งนี้ บทแก้ไขเพิ่มเติมที่ 2 ระบุว่า “กองกำลังอาสาสมัครที่มีกฎข้อบังคับอย่างดี ซึ่งจำเป็นต่อการรักษาความมั่นคงของรัฐอิสระรวมทั้งสิทธิของประชาชนที่จะเก็บรักษาและถืออาวธุเป็นสิ่งที่ละเมิดมิได้”โดยที่มาของบทบัญญัตินี้ มีที่มาจากบริบททางประวัติศาสตร์ของสหรัฐ สมัยที่อยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งไม่ต้องการให้ผู้ที่อยู่ใต้ปกครองติดอาวุธและลุกฮือขึ้นต่อต้าน เมื่อผู้นำสหรัฐอเมริกาทำการปฏิวัติได้สำเร็จ จึงได้ร่างคำประกาศว่าด้วยสิทธิพลเมืองโดยเพิ่มบทแก้ไขเพิ่มเติมที่ 2 รับรองสิทธิการครอบครองอาวุธแก่พลเมืองอเมริกัน เพื่อคุ้มครองตนเอง ป้องกันประเทศจากการรุกราน และต่อสู้กับรัฐบาลที่เป็นทรราชย์

ที่ผ่านมา บทแก้ไขเพิ่มเติมที่ 2 ถูกตีความจากนักวิชาการด้านกฎหมายหลายทาง โดยแนวทางหลักๆ ที่ปรากฏ มี 3 แนว คือ

  • รัฐเท่านั้นที่มีสิทธิตั้งกองกำลังติดอาวุธ
  • รัฐรับรองสิทธิของบุคคลในการครอบครองอาวุธบางส่วน โดยจำกัดเฉพาะปัจเจกที่อยู่ในกองกำลังของรัฐ
  • บุคคลมีสิทธิในการครอบครองอาวุธเพื่อคุ้มครองตนเองจากภัยอันตราย

อย่างไรก็ตาม การถกเถียงดังกล่าว ก็เริ่มมีบรรทัดฐานชัดเจนขึ้น เมื่อปี 2551 ศาลฎีกาตัดสินคดีพิพาทระหว่าง District of Columbia v. Heller [4] ซึ่งเป็นคดีหมุดหมายที่ตัดสินให้สหพันธรัฐรับรองสิทธิของบุคคลในการครอบครองอาวุธปืน เพื่อป้องกันตนเองจากภัยอันคราย โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะการใช้ในกองกำลังของรัฐ และบรรทัดฐานดังกล่าวก็ยิ่งชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อปี 2553 ศาลสูงสุดสหรัฐได้ตัดสินคดี McDonald v. Chicago [5] ให้ “รัฐ” ทุกรัฐต้องรับรองสิทธิบุคคลในการครอบครองปืน

แน่นอนว่า แม้จุดประสงค์ของบทบัญญัติแก้ไขที่ 2 จะมีไว้เพื่อให้พลเมืองป้องกันตนเองจากภัยอันตราย แต่ปรากฎการณ์สังหารหมู่ในสหรัฐที่โหดเหี้ยมและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง นำมาสู่คำถามที่ว่าบทบัญญัติดังกล่าว ทำให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น หรือในทางกลับกัน เพิ่มความเสี่ยงของการตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงกันแน่


เจมส์ โฮลมส์ วัย 24 ปี ผู้ต้องสงสัยคดีการสังหารหมู่ที่โรงหนังในออโรรา
เขาถูกจับกุมหลังจากเกิดเหตุ และขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินคดีในศาล

การถกเถียงที่ยังดำเนินอยู่

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโอบามา ออกมาให้สัญญาว่า รัฐบาลจะทำให้การใช้อาวุธปืนเข้มงวดกว่าเดิม โดยให้มีการเช็คประวัติผู้ซื้อปืนแน่นหนาขึ้น และมีมาตรการไม่ให้ปืนตกอยู่ในมือคนที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า การผ่านกฎหมายจำกัดอาวุธปืนในสภาที่พรรคเดโมแครตพยายามผลักดัน ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากประเด็นเรื่องปืนเป็นเรื่องการเมืองซึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มผลประโยชน์ ทำให้ความพยายามดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ในขณะเดียวกัน มิตต์ รอมนีย์ ผู้สมัครอย่างไม่เป็นทางการจากพรรครีพับลิกันซึ่งมีแนวโน้มสนับสนุนสิทธิการใช้ปืน ออกมาให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีในวันเดียวกันว่า เขาเสียใจต่อกรณีการสังหารหมู่ที่เมืองออโรรา อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าการใช้กฎหมายควบคุมการใช้อาวุธปืนที่เข้มงวดมากขึ้น ไม่ใช่ทางออกของปัญหาความรุนแรงดังกล่าว แต่เขาก็ไม่เห็นด้วยเช่นกันว่า คนร้ายไม่ควรจะมีอาวุธปืน

“แต่เขาก็มีมันจนได้ และเราก็หวังกันว่า บางที การเปลี่ยนกฎหมายอาจจะช่วยให้สิ่งที่เลวร้ายมันหายไปได้หมด แต่มันไม่ไปหรอก การเปลี่ยนจิตใจของชาวอเมริกันมากกว่าที่เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอเมริกันชนต่างหาก” รอมนีย์กล่าว [6]

เช่นเดียวกับส.ส. รีพบลิกันจากรัฐเท็กซัส ลูยอี โกแมร์ท ซึ่งให้สัมภาษณ์ผ่านทางสถานีวิทยุ The Heritage Foundation เมื่อวันศุกร์เดียวกับที่เกิดเหตุว่า หากมีคนที่อยู่ในโรงหนังติดอาวุธปืน ก็อาจจะป้องกันเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นได้ เขายังกล่าวด้วยว่า การโจมตีดังกล่าว เป็นการโจมตีความเชื่อแห่งศาสนาคริสต์ และหากคนเชื่อในพระเจ้ามากขึ้น เหตุการณ์ดังกล่าวก็อาจจะไม่เกิด [7]

การสังหารหมู่ที่ออโรรา ทำให้กลุ่มที่สนับสนุนและต่อต้านการใช้อาวุธปืน เปิดประเด็นกฎหมายการใช้ปืนอย่างกว้างขวางอีกครั้งเช่น Gun Owners of America (GOA) ซึ่งเป็นกลุ่มล็อบบี้เพื่อสิทธิการใช้อาวุธปืนก็ออกมากล่าวว่า การจำกัดการใช้ปืน ไม่ใช่ทางออกของความรุนแรงที่เกิดขึ้น

“เราคงจะเห็นกลุ่มที่รณรงค์จำกัดการใช้ปืนออกมาบอกว่า จำเป็นต้องเข้มงวดมากขึ้นหลังจากเหตุการณ์เลวร้ายดังกล่าว” จอห์น เวลเลโค ผู้อำนวยการฝ่ายสหพันรัฐของ GOA กล่าว “แต่อย่าลืมว่า การจำกัดการใช้อาวุธ อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิมเนื่องจากทำให้พลเมืองดีครอบครองปืนได้ยากขึ้น ซึ่งสำหรับพวกคนเสียสติแล้ว เท่ากับว่ามีเหยื่อมือเปล่ามากขึ้นด้วย” [8]

องค์กรสมาคมไรเฟิลแห่งชาติ หรือ NRA เป็นกลุ่มล็อบบี้สิทธิการใช้ปืนที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในการเมืองสหรัฐ
ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 4 ล้านคนทั่วประเทศ

ในขณะเดียวกัน กลุ่มรณรงค์เพื่อจำกัดการใช้อาวุธปืนอย่าง Brady Campaign ก็ใช้โอกาสนี้ เรียกร้องให้ผู้นำสหรัฐแสดงจุดยืนที่ชัดเจนที่เข้มงวดมากขึ้นต่อการใช้ปืน และเรียกร้องให้ประชาชนชาวสหรัฐลงนามรณรงค์เพื่อต่อต้านการใช้ปืนของคนที่มีแนวโน้มอันตราย เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีรัฐนิวยอร์ก ไมเคิล บลูมเบิร์ก ที่เรียกร้องให้ ผู้สมัครทั้งสองพรรคแถลงจุดยืนให้ชัดเจนว่า มีจุดยืนต่อเรื่องนี้อย่างไร

“มันถึงเวลาแล้วที่คนสองคนที่ต้องการจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ลุกขึ้นยืน และบอกเราว่าพวกเขาจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ เพราะเป็นที่ชัดเจนว่า นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นไปทั่วประเทศ” บลูมเบิร์กกล่าว

ทั้งนี้่ กฎหมายควบคุมการใช้อาวุธปืน มีความเข้มงวดแตกต่างกันออกไปในแต่ละรัฐโดยรัฐนิวยอร์ก เป็นรัฐที่มีกฎหมายควบคุมการใช้อาวุธปืนที่เข้มงวดแห่งหนึ่งที่สุด ซึ่งมีกฎกำกับดูแลการซื้อขาย การครอบครอง และการใช้อาวุธและกระสุนปืน

ช่องโหว่ทางกฎหมายที่อ้าซ่า

โดยทั่วไปแล้ว ตามกฎหมายการควบคุมอาวุธปืนของสหรัฐ (Gun Control Act 1968) ระบุไว้ว่า ผู้ที่ต้องการซื้ออาวุธปืน ต้องไม่เป็นผู้ที่เคยก่ออาชญากรรม ผู้ติดยาเสพติด คนที่ไม่เป็นพลเมืองสหรัฐ เยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี สำหรับปืนยาว เยาวชนที่ต่ำกว่า 21 ปี สำหรับปืนพก (ยกเว้นรัฐเวอร์มอนต์ที่ห้ามเยาวชนต่ำกว่า 16 ปี)

ในการซื้อปืนเพื่อมีไว้ในครอบครองกฎหมายยังกำหนดให้บุคคลต้องซื้อจากร้านจำหน่ายปืนที่จดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากสหพันธรัฐ (Federally licensed firearm dealer) เท่านั้นและผู้ซื้อ ต้องถูกตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และสภาพจิตใจ เพื่อรับรองว่าไม่เข้าข่ายบุคคลที่ห้ามถือครองอาวุธปืน

นอกจากนี้ การซื้อขายอาวุธปืนข้ามรัฐ ก็ไม่สามารถทำได้ระหว่างบุคคลสองคน จำเป็นต้องกระทำผ่านร้านจำหน่ายปืนที่มีใบอนุญาต เช่นเดียวกับการสั่งซื้อปืนออนไลน์ ที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ขายต้องส่งปืนทางไปรษณีย์ไปยังร้านจำหน่ายที่ได้รับอนุญาต จากนั้นให้ผู้ซื้อมารับปืนที่ร้าน และกรอกแบบฟอร์มเพื่อให้ข้อมูลที่จำเป็น

แต่ถ้าหากว่าอยู่ในรัฐเดียวกัน นิติบุคคลสามารถกระทำการซื้อขายได้ โดยไม่ต้องกระทำผ่านร้านจำหน่ายปืนจดทะเบียน และไม่จำเป็นต้องถูกตรวจสอบประวัติใดๆ

อย่างไรก็ตาม มีรายงานจาก Rossen Report หน่วยข่าวสอบสวนเว็บไซต์ TODAY ของสำนักข่าว NBC ซึ่งได้ทดลองสั่งซื้ออาวุธปืนชนิดต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ต พบว่า ภายใน 12 ชั่วโมง ผู้ซื้อสามารถสั่งซื้อปืนกำลังสูงถึง 8 กระบอกจากทางอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย [9] โดยไม่มีการตรวจสอบประวัติใดๆ และถึงแม้ผู้ซื้อจะบอกกับผู้ขายไปตรงๆ ว่าเขาไม่ผ่านการเช็คประวัติอาชญากร แต่ก็ไม่มีการถามคำถามใดๆ ระหว่างกระบวนการซื้อขายดังกล่าว นอกจากนี้ การซื้อขาย ก็มิได้ทำผ่านร้านขายปืนที่มีใบอนุญาต หากแต่มีการนัดรับส่งสินค้าตามจุดต่างๆ ตามสะดวกของผู้ซื้อและผู้ขาย

ในขณะเดียวกัน เว็บไซต์เดอะการ์เดียน ได้ชี้ให้เห็นถึงความง่ายดายของการสั่งซื้อกระสุนปืน 6,000 นัดจากทางอินเทอร์เน็ต [10] โดยเว็บไซต์ขายกระสุนอย่าง BlackAmmo.com ได้ระบุว่า มีกระสุนปืน 1,000 นัด อย่างละ 18 กล่อง “พร้อมส่งได้ทันที” โดยเพียงคลิกสั่งทั้ง 18 กล่อง จ่ายเงินทางบัตรเครดิต เพียงเท่านี้ กระสุนปืนทั้งหมดก็พร้อมส่งถึงบ้าน ง่ายดายปานการสั่งซื้อพิซซ่าหรือการซื้อหนังสือจากเว็บไซต์อเมซอนเลยทีเดียว

การเมืองเรื่อง “ปืน” และอนาคตที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง

ถึงแม้ว่าประธานาธิบดีโอบามาและพรรคเดโมแครตจะมีจุดยืนสนับสนุนการจำกัดการใช้ปืนเสมอมาแต่การผลักดันกฎหมายจำกัดการใช้ปืนก็ดูเหมือนจะมีอุปสรรคอยู่ตลอด โดยสภาคองเกรสเองไม่ได้ผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ปืนเลยตั้งแต่ปี 2537 ทั้งนี้ ผู้สังเกตการณ์บางส่วนมองว่า สาเหตุหลักของอุปสรรคที่เกิดขึ้น มาจากองค์กร NRA ซึ่งเป็นกลุ่มล็อบบี้สิทธิการใช้ปืนที่ใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดในสหรัฐอเมริกา

องค์กร NRA หรือสมาคมไรเฟิลแห่งชาติ เป็นองค์กรล็อบบี้ที่ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 4 ล้านคนทั่วประเทศ มีจุดยืนเพื่อพิทักษ์สิทธิตามบทแก้ไขที่ 2 ตามคำประกาศว่าด้วยสิทธิพลเมือง รวมถึงรณรงค์เพื่อความปลอดภัยในการใช้ปืน สิทธิใช้ปืนเพื่อการล่าสัตว์และป้องกันตัวเอง

ทั้งนี้ บทบาทของ NRA ในการเมืองสหรัฐเริ่มมีมากขึ้น หลังจากในปี 2537 ประธานาธิบดีบิล คลินตัน จากพรรคเดโมแครต ผ่านกฎหมายห้ามการใช้อาวุธจู่โจม (Assault weapon ban) ได้สำเร็จ โดยฝ่ายสนับสนุนการจำกัดการใช้อาวุธปืนถือว่าเป็นชัยชนะที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม คลินตันต้องเผชิญกับการพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรกลางเทอมปี 2537 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ที่พรรคเดโมแครตพ่ายแพ้การเลือกตั้งส.ส. ให้กับพรรครีพับลิกัน ซึ่งภายหลังคลินตันเองก็ยอมรับว่า องค์กร NRA มีส่วนอย่างมากที่ช่วยให้พรรครีพับลิกันได้รับชัยชนะในครั้งนั้น [11] เนื่องจากส.ส. เดโมแครตสูญเสียคะแนนในรัฐอนุรักษ์นิยมและตามเขตชนบทจากนโยบายจำกัดอาวุธปืน

“NRA เป็นองค์กรที่มีอิทธิพลสูงมาก พวกเขาสามารถบงการคะแนนเสียงและเงินสนับสนุน (แก่พรรคการเมือง)” จิม แมนลีย์ นักวิเคราะห์จากองค์กร QCA ให้สัมภาษณ์ CNN “สำหรับเดโมแครตหลายคน มันเป็นเรื่องฉลาดในทางการเมืองที่จะไม่เข้าไปยุ่งในวิวาทะเรื่องการใช้ปืน” [12]

มีรายงานว่า ในรอบปี 2555 มิตต์ รอมนีย์ ในฐานะผู้เข้าชิงปธน.อย่างไม่เป็นทางการจากพรรครีพับลิกัน ได้เงินสนับสนุนจากกลุ่มสนับสนุนสิทธิปืนแล้วราว 126,400 ดอลลาร์ ในขณะที่โอบามาได้เพียง 2,300 ดอลลาร์เท่านั้น เช่นเดียวกับในปี 2551 ที่จอห์น เเมคเคน วุฒิสภาจากรีพับลิกัน ได้รับ 483,711 ดอลลาร์ โดยโอบามาได้เพียง 25,987 ดอลลาร์จากกลุ่มเดียวกัน [13]

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า การพ่ายแพ้ของอัล กอร์ ผู้แข่งขันชิงตำแหน่งปธน. ในการเลือกตั้งปี 2543 มีผลมาจากจุดยืนของพรรคเดโมแครตในเรื่องปืนเช่นเดียวกัน โดยเขาสูญเสียคะแนนจากรัฐทางตอนใต้และภาคกลางที่เป็นสวิงโหวต อย่างโอไฮโอ เพนซิลเวเนีย วิสคอนซิน และเวอร์จิเนีย ซึ่งประชากรยังนิยมการเป็นเจ้าของปืนอยู่มาก [14] ต่อมา พรรคเดโมแเครต จึงพยายามส่งผู้สมัครที่มีจุดยืนประนีประนอมต่อการใช้อาวุธปืนลงในรัฐเหล่านี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการพ่ายแพ้การเลือกตั้ง


ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เตรียมพร้อมหาเสียงในการเลือกตั้งเดือนพ.ย. ที่จะมาถึง
ที่มาภาพ: realjameso16 (Flickr) [CC-BY-2.0], via Wikimedia Commons

 

และถึงแม้ประธานาธิบดีโอบามา จะให้สัญญาว่า รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วยการใช้กฎหมายที่เข้มงวดขึ้น แต่ล่าสุด มีรายงานจากทำเนียบขาวว่า ประธานาธิบดี จะไม่ผลักดันให้มีกฎหมายการใช้อาวุธปืนที่เข้มงวดกว่าเดิมในปีการเลือกตั้งนี้ เพียงแต่ให้มีการบังคับใช้กฎหมายปัจจุบันให้ดีขึ้นเท่านั้น [15] ทำให้องค์กรรณรงค์เพื่อจำกัดการใช้อาวุธปืน แสดงความผิดหวังต่อโอบามาไปตามๆ กัน

ด้านแคล จิลสัน นักวิเคราะห์การเมืองจากมหาวิทยาลัยเซาเทอร์น เมธิดิสต์ในเท็กซัส ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า NRA เป็นกลุ่มพลังที่มีอำนาจสูงในทางการเมือง ที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงกฎหมายการจำกัดการใช้ปืนเป็นไปอย่างยากลำบาก

“ในระยะสั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ อาจจะทำให้พวกเสรีนิยมในเดโมแครตได้เปิดประเด็นนี้ขึ้นมา ซึ่งสังคมก็อยู่ในสภาพที่จะรับฟัง แต่ในระยะยาวแล้ว มันคงไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใดๆ” จิลสันกล่าว

 

อ้างอิง:

  1. http://www.bradycampaign.org/xshare/pdf/major-shootings.pdf
  2. http://www.aljazeera.com/indepth/interactive/2012/07/2012726141159587596.html
  3. Richardson, Erin G., and David Hemenway, “Homicide, Suicide, and Unintentional Firearm Fatality: Comparing the United States With Other High-Income Countries, 2003,” Journal of Trauma, Injury, Infection, and Critical Care, published online ahead of print, June 2010
  4. http://en.wikipedia.org/wiki/District_of_Columbia_v._Heller
  5. http://en.wikipedia.org/wiki/McDonald_v._Chicago
  6. http://www.chicagotribune.com/news/la-na-pn-romney-colorado-gun-control-20120725,0,7662085.story
  7. http://www.huffingtonpost.com/2012/07/20/louie-gohmert-aurora-shootings_n_1689099.html
  8. http://edition.cnn.com/2012/07/20/us/colorado-gun-control-debate/index.html
  9. http://today.msnbc.msn.com/id/46316454/#.UBP-liKisSA
  10. http://www.guardian.co.uk/world/2012/jul/23/stockpiling-ammunition-online-shopping
  11. http://blogs.voanews.com/2012-election/2012/07/23/u-s-a-gun-politics/
  12. http://edition.cnn.com/2012/07/20/us/colorado-gun-control-debate/index.html
  13. http://edition.cnn.com/2012/07/20/politics/obama-gun-debate/index.html
  14. http://rt.com/usa/news/colorado-shooting-gun-control-749/
  15. http://www.kfvs12.com/story/19125399/white-house-makes-clear-no-push-for-new-gun-laws

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net