“ประมงพื้นบ้าน” เข้ากรุงฯ เดินสายค้านกรมประมง “นิรโทษกรรม” เรืออวนลากเถื่อน

เช้าเข้ายื่นหนังสือค้านต่อกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภาฯ บ่ายไป “EU” ถามกระบวนการรับรอง IUU Fishing ในไทย ก่อนเข้าชี้แจง กสม.พร้อมตัวแทนกรมประมงวันนี้ ด้านตัวแทน EU แจงอาจเข้าใจกันคลาดเคลื่อน ชี้เรื่องนี้ต้องนำเข้าเวทีสำนักงานใหญ่

วันที่ 30 ก.ค.55 เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน ประมาณ 30 คน จากสมาคมรักษ์ทะเลไทย และสมาคมชาวประมงพื้น จากจังหวัดตรัง สงขลา พัทลุง สุราษฎร์ธานี และประจวบคีรีขันธ์ เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเคลื่อนไหวคัดค้านและติดตามกรณีการเปิดให้มีการออกอาชญาบัตร (ใบอนุญาต) รอบใหม่แก่อวนลากเถื่อน หรือที่เรียกว่า "นิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อน" โดยช่วงเช้าได้ยื่นหนังสือคัดค้านกรณีดังกล่าวต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และนายสุรจิต ชีรเวทย์ รองประธานฯ ที่รัฐสภา

ต่อมาในเวลาประมาณ 13.30 น.ได้เข้ายื่นหนังสือแก่คณะผู้แทนสหภาพยุโรป (EU) ประจำประเทศไทย ถ.วิทยุ เพื่อขอรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและกำจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ของสหภาพยุโรป 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับตัวแทน EU ถึงประเด็นที่กรมประมงอ้างถึงการจดทะเบียนเรืออวนลากให้ถูกต้องตามกฏหมาย เพื่อตอบสนองต่อการที่ EU ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่ประเทศไทยส่งออกสัตว์น้ำไม่รับซื้อสัตว์น้ำจากกลุ่มเรือประมงที่ไม่ได้จดทะเบียน ทั้ังที่เรืออวนลากเป็นการทำประมงแบบทำลายล้าง ที่จับสัตว์น้ำวัยอ่อนล้างผลาญทรัพยากรสัตว์น้ำให้สูญพันธุ์ โดยไม่คำนึงสนใจกลุ่มทำประมงพื้นบ้านที่จับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือเหมาะสม และมีการทำกิจกรรมอนุรักษ์ฟื้นฟูควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากร

ด้านนายอันโตริโอ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและการตลาด ตัวแทน EU ผู้รับหนังสือ ได้แสดงความสงสัยต่อการเข้าใจที่อาจคลาดเคลื่อนของกรมประมง เพราะ EU มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนกับการทำประมงจับสัตว์น้ำที่เหมาะสม สร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับทรัพยากรสัตว์น้ำที่เป็นแหล่งอาหารของคนทั้งโลก และกล่าวด้วยว่าเรื่องนี้ต้องนำเข้าเวทีสำนักงานใหญ่ EU กรุงรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยมแน่นอน

ข้อมูลจากเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน ระบุว่า กรมประมงมีแนวคิดจะ "นิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อน" ซึ่งเป็นเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายไทยในปัจจุบัน เพื่อทำให้ผลผลิตจากการทำประมงอวนลากเถื่อนนั้นถูกกฎหมาย ผ่านการรับรองของกรมประมง และสามารถส่งออกไปขายยังตลาดสหภาพยุโรปซึ่งมีมาตรการจะไม่รับซื้อผลผลิตจากการประมงที่ไม่ผ่านกระบวนการรับรอง IUU เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านและชาวประมงขนาดเล็กจึงคัดค้านไปยังกรมประมง แต่กลับได้รับคำชี้แจงว่าเรื่องได้ผ่านมติของคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติแล้ว และมีการยื่นเสนอการออกใบอนุญาตเพิ่มเติมแก่อวนลากผิดกฎหมายไปให้ ครม.พิจารณา 

ล่าสุด กรมประมงแจ้งว่า เรื่องถูกตีกลับมาจาก ครม.และเชิญให้ฝ่ายประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 18 ก.ค.55 แต่ฝ่ายประมงพื้นบ้านที่ได้ทำจดหมายคัดค้าน เนื่องจากเห็นว่าการประชุมดังกล่าวไม่จริงใจ เพราะมีการสอดแทรกเรื่องการออกอาชญาบัตรเพิ่มเติมแก่อวนลากไว้ในวาระการประชุม ทั้งที่ยังเป็นประเด็นถกเถียงกัน อีกทั้งกรมประมงไม่ยอมแสดงหลักฐานเอกสารที่ว่าเรื่องถูกตีกลับมาจาก ครม. และในวันดังกล่าวทางสมาคมชาวประมงพื้นบ้านประกาศไม่เข้าร่วมการประชุมและออกแถลงการณ์ด่วนคัดค้านการพิจารณาผ่อนผันการจดทะเบียนเรือประมงอวนลากที่ผิดกฎหมายด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านยังได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก่อนหน้านี้เพื่อให้ตรวจสอบว่าการดำเนินการผ่อนผันการจดทะเบียนอวนลากของกรมประมงเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน และทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำและทรัพยากรทางทะเลได้รับผลกระทบหรือไม่ และวันที่ 31 ก.ค.นี้ ตัวแทนเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจะเข้าชี้แจงแก่คณะอนุกรรมการฯ ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ พร้อมกับตัวแทนกรมประมง ผู้แทนชาวประมงอวนลาก ผู้ทรงคุณวุฒิ ฯลฯ

 
 
 
ทั้งนี้ อวนลาก ถือเป็นอุปกรณ์ประมงทำลายล้าง ส่งผลเสียต่อทรัพยากรและระบบนิเวศท้องทะเล โดยอวนจะกวาดหน้าดินใต้ทะเล ทำลายแหล่งที่อยู่สัตว์น้ำและปะการัง ขนาดตาอวนที่ถี่ยังทำให้สัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับก่อนวัยอันควรเป็นจำนวนมาก เป็นการตัดวงจรการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ การทำประมงอวนลาก จึงถือเป็นการทำประมงที่ไม่รับผิดชอบและไม่ยั่งยืน
 
อุปกรณ์ประมงอวนลากในปัจจุบัน หากไม่ได้มีใบอนุญาต (อาชญาบัตร) อยู่แล้ว ถือว่าผิดกฎหมาย ประเทศไทยมีนโยบายควบคุมอวนลาก โดยในปี 2515 ประกาศห้ามอวนลากเข้าเขต 3,000 เมตรจากชายฝั่ง ซึ่งถือเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน จากนั้นในปี 2523 มีนโยบายห้ามจดทะเบียนเรืออวนลากอีกต่อไป คือ จะไม่มีการให้ใบอนุญาตเพิ่มเติมอีก โดยหวังว่าอวนลากที่มีอยู่จะค่อยๆ ลดลง เมื่ออวนเสื่อมสภาพหรือใบอนุญาตหมดอายุ
 
ทว่าอวนลาก ก็ไม่หมดไปจากท้องทะเลไทย โดยมีการเปิดให้ใบอนุญาตเพิ่มเติมแก่อวนลากเถื่อน บางครั้งใช้คำว่า “นิรโทษกรรมเรืออวนลาก” 3 ครั้งด้วยกันคือ ในปี 2525, 2532 และ 2539
 
จากผลการศึกษาต่างๆ ทั้งของ FAO และกรมประมงที่ผ่านมาล้วนบ่งชี้ว่า ท้องทะเลไทยนั้นมีการจับปลามากเกินกำลังที่ขีดความสามารถของทรัพยากรทะเลจะรองรับได้ไปแล้ว (overfishing) และหากจะให้การประมงคงอยู่ได้ ต้องลดจำนวนอวนลากลง 40%
 
แต่ล่าสุด เนื่องจากทางสหภาพยุโรปได้มีมาตรการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated (IUU) Fishing) โดยจะไม่รับซื้อผลผลิตที่มาจากการทำประมงเหล่านี้ ทำให้กลุ่มประมงพาณิชย์ที่จับปลาด้วยอวนลากเถื่อน (ไม่มีอาชญาบัตร) ไม่สามารถส่งผลผลิตไปขายยังสหภาพยุโรปได้ ได้รับความเดือดร้อน และเรียกร้องให้เปิดจดทะเบียนแก่อวนลากเถื่อนรอบใหม่ เพื่อให้อวนลากผิดกฎหมายเหล่านี้ถูกต้องขึ้นมา และสามารถส่งออกไปขายสหภาพยุโรปได้
 
นอกจากนี้กรมประมงยังอ้างผลการศึกษาซึ่งไม่เป็นที่รับรู้มาก่อนว่าท้องทะเลไทยสามารถรองรับเรืออวนลากได้อีก 2,107 ลำ ทำให้สามารถเปิดออกอาชญาบัตรเพิ่มได้อีก
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท