Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

น่าจะเป็นที่ยอมรับกันในยุคปัจจุบันว่า ในยุคนี้พื้นที่ “สื่อใหม่” ต่างๆ เปิดกว้างให้เสียงของ “ประชาชน” เป็นที่ได้ยินเซ็งแซ่มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเมืองหรือเรื่องใดก็ตาม นี่ทำให้มีความเป็นไปได้ของการเกิดคำวิพากษ์วิจารณ์สารพัดอันสิ่งไม่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อกระแสหลักไปจนถึงกระแสรองอื่นๆ มากขึ้น อย่างไรก็ดีการเปิดกว้างนี้ไม่ได้ทำให้เกิดการวิพากษ์โดยอัตโนมัติ และเมื่อเป็นเช่นนั้นการเกิดขึ้นของ “สื่อใหม่” ก็ไม่ได้เป็นพื้นที่ในการบ่อนเซาะความศักดิ์สิทธิ์ของบรรดาสิ่งที่เคยมีมาได้แต่เพียงอย่างเดียว แต่มันก็อาจเป็นอุปกรณ์เสริมความศักดิ์สิทธิ์แบบใหม่ของ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่มีอยู่เดิมได้เช่นกัน ทั้งนี้ ความศักด์สิทธิ์มันก็ดูจะพุ่งขึ้นสูงสุดจริงๆ ถ้าประชาชนมีสิทธิในการแสดงความเห็นโดยอิสระไม่ผ่านการขู่เข็นเซ็นเซอร์ไม่ว่าจะโดยฝ่ายไหนหรือวิธีการใดก็ตามแต่

“คลิปรีวิวเครื่องดนตรี” เป็นสิ่งที่ปรากฏมากมายใน YouTube ซึ่งปรากฏมาจากหลายฝ่ายและหลายรูปแบบมากๆ ตั้งแต่คลิปรีวิวจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องดนตรีเอง คลิปรีวิวจากนิตยสารเกี่ยวกับเครื่องดนตรี คลิปรีวิวจากแชนแนลรีวิวดนตรีชื่อดังใน YouTube ต่างๆ ไปจนถึงคลิปรีวิวจากบรรดานักดนตรีมือสมัครเล่นหน้าใหม่ทั่วๆ ไป

จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่คุ้นเคยกับเครื่องดนตรีจำพวกกีต้าร์ ผู้เขียนพบว่าคลิปรีวิวเหล่านี้มีการรีวิวอุปกรณ์ที่หลากหลายพอสมควรไม่ว่าจะเป็นตัวกีต้าร์เองตั้งแต่กีต้าร์ไฟฟ้ายันกีต้าร์คลาสสิค ตัวปิ๊คอัพ (pickup) (หรือตัวรับสัญญาณการสั่นของกีต้าร์ไฟฟ้า) ตัวเอฟเฟคกีต้าร์สารพัดรูปแบบ ตัวแอมปลิฟายเออร์กีต้าร์สารพัดรูปแบบ ไปจนถึงไมโครโฟนที่ใช้ขยายเสียงกีต้าร์

คลิปพวกนี้โดยส่วนใหญ่จะเป็นการนำอุปกรณ์ดนตรีชนิดหนึ่งๆ มาโชว์คุณภาพเสียงและความหลากหลายของการใช้งานที่เป็นไปได้ มันมีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่ต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องดนตรีต่างๆ ที่มีในท้องตลาดในท้องถิ่นและในโลก ดังนั้นคุณภาพเสียงที่ออกมาในแต่ละคลิปก็มีความเกี่ยวพันกันกับการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด เพราะสุดท้ายสำหรับคนเล่นดนตรีจำนวนมากไม่ว่าจะกี่ปากว่า กี่ตาเห็น ก็ไม่เท่ากับที่สองหูตัวเองจะได้ยิน และพวกเขาก็ได้ยินเสียงเครื่องดนตรีที่พวกเขาจะตัดสินใจซื้อจากคลิปเหล่านั้นนั่นเอง

แน่นอนว่าการไปลองเครื่องดนตรีแบบสดๆ ที่ร้านค้าต่างๆ ที่มีเครื่องดนตรีจำหน่ายย่อมดีที่สุด อย่างไรก็ดีสิ่งที่การทดลองเครื่องดนตรีแบบนี้ก็มีก็มีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งในแง่ของการเปรียบเทียบ เช่นการทดลองกีต้าร์ไฟฟ้ากับตู้แอมป์ที่ต่างกันก็ให้เสียงที่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญแน่ๆ หรือการลองเครื่องดนตรีไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรีแบบใดๆ ก็ตามไม่ว่าจะเป็นแบบไฟฟ้าหรืออคูสติค สภาพของห้องที่ลองเครื่องดนตรีที่ต่างกันก็ให้เสียงสะท้อน (reverb) ที่ต่างกันซึ่งก็นำมาสู่เสียงเครื่องดนตรีดีที่ต่างกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการทดสอบเครื่องดนตรีในพื้นที่ต่างกันเหล่านี้ และที่ว่ามานี้ก็เป็นแค่เรื่องของเครื่องดนตรีที่ทดลองได้ก่อนซื้อเท่านั้น ยังไม่รวมถึงอุปกรณ์ที่ไม่อาจลองได้ก่อนตัดสินใจซื้อ เช่น เอฟเฟคกีต้าร์ต่างๆ ที่ไม่มีขายในท้องถิ่นต้องจ่ายเงินสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ หรือปิ๊คอัพกีต้าร์ที่ไม่อาจลองเสียงได้ก่อนที่มันจะได้รับการติดตั้งบนกีต้าร์ (เพราะไม่มีร้านใดที่จะรับคืนปิ๊คอัพที่ได้รับการติดตั้งไปแล้วแต่ลูกค้าไม่ชอบ)

ในแง่นี้คลิปการทดสอบเครื่องดนตรีต่างๆ จึงมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจซื้อเครื่องดนตรีของเหล่านักดนตรีในยุคดิจิตัลทั้งหลาย คงจะไม่ต้องสงสัยว่าทางผู้ผลิตทั้งหลายจะพยายามสร้างคลิปแสดงเครื่องดนตรีที่เป็นสินค้าของพวกเขาให้ออกมาเสียงดีที่สุด หากเราดูคลิปการทดลองอุปกรณ์หนึ่งๆ จากบรรดาบรรษัทขายเครื่องดนตรีแล้วเสียงดี เราต้องตระหนักอยู่เสมอว่าอุปกรณ์ทั้งระบบที่ส่งผลต่อเสียงเป็นอุปกรณ์ชั้นเลิศที่สุด ตัวอย่างเช่น ในคลิปเอฟเฟคกีต้าร์เสียงแตกก้อนหนึ่งที่ราคาไม่กี่พันบาทซึ่งไม่บอกกล่าวชัดเจนว่าใช้อุปกรณ์อะไรในการทดสอบบ้าง เราก็น่าจะอนุมานได้ว่ากีต้าร์ที่ใช้เป็นกีต้าร์ชั้นดีราคาไม่ต่ำกว่าครึ่งแสน ที่ติดปิคอัพที่เสียงดีเยี่ยมราคาไม่ต่ำกว่าสามสี่พันบาท สายแจ็คหรือหลายเคเบิลที่ใช้ก็น่าจะเป็นสายที่ส่งสัญญาณเสียงได้ดีที่สุด ตู้แอมป์ที่ใช้ขยายเสียงก็น่าจะเป็นตู้แอมป์ชั้นเลิศราคาหลายหมื่นบาท ไมค์ที่ใช้รับเสียงจากตู้แอมป์ก็น่าจะเป็นไมค์ที่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมบันทึกเสียงราคาหลายพันบาท และสัญญาณจากไมค์ก็ผ่านตัวแปลงสัญญาณเสียงแบบอนาล็อกให้เป็นดิจิตัล (audio interface) ชั้นดีราคาหลักหมื่นแล้วจึงค่อยมาเป็นไฟล์เสียงที่อยู่ในคลิป ซึ่งก็แน่ใจไม่ได้อีกว่าจะมีการปรับแต่งเสียงในขั้นสุดท้ายอีกหรือไม่เพื่อให้เสียงออกมาดีที่สุด ดังนั้นคลิปทดลองเครื่องดนตรีจากบริษัทเครื่องดนตรีเองจึงได้รับการปรุงแต่งไม่ต่างจากนางแบบตามหน้าปกนิตยสารชื่อดังที่ทั้งผ่านการแต่งหน้าโดยช่างแต่งหน้าชั้นเลิศ ใส่ชุดของดีไซเนอร์ชั้นนำ จัดแสงและถ่ายภาพโดยตากล้องชั้นนำ และผ่านการรีทัชโดยกราฟฟิคดีไซเนอร์ชั้นนำก่อนจะไปขึ้นปกนิตยสารในชั้นสุดท้าย ในแง่นี้การเชื่อว่าเสียงเครื่องดนตรีในคลิปจะยอดเยี่ยมแบบในคลิปจริงๆ จึงไม่ต่างจากการเชื่อว่านางแบบตามหน้าปกนิตยสารตัวจริงๆ จะมีหน้าตา ทรวดทรงและผิวพรรณที่งดงามเทียบเท่าที่ปรากฏบนปกนิตยสาร

การสร้างภาพตัวแทนของเสียงอันสมบูรณ์พร้อมดังที่กล่าวมากดูจะไม่ให้ภาพ (หรือเสียง) ที่แท้จริงของเสียงของอุปกรณ์ดนตรีที่เราสนใจเท่าใดนักโดยเฉพาะถ้าเครื่องดนตรีอื่นๆ ของเราไม่ได้เลอเลิศเหมือนอุปกรณ์ที่ใช้ทดสอบ ในแง่นี้คลิปการทดลองของบรรดาบุคคลทั่วๆ ไปที่ไม่ได้ใช้เครื่องดนตรีต่างๆ ที่ “เทพ” แบบบรรดาคลิปทดสอบอุปกรณ์โดยบริษัทเครื่องดนตรีก็น่าจะให้เราพบกับเสียงที่ใกล้เคียงกับที่เราจะสามารถสร้างออกมาได้จริงด้วยเครื่องดนตรีทั่วๆ ไปที่ที่เรามีมากกว่า ทั้งนี้เราก็ต้องพิจารณาคุณภาพในการบันทึกเสียงของคลิปทดสองเครื่องดนตรีโดยเหล่านักทดสอบจากทางบ้านเหล่านี้ด้วย เพราะก็มีความเป็นไปได้ที่พวกเขาเหล่านั้นจะบันทึกเสียงออกมาได้แย่เกินจริงเช่นกัน ทั้งนี้ความผิดพลาดของการบันทึกเสียงส่วนใหญ่ก็มักจะเกิดจากการวางไมโครโฟนที่ใช้รับเสียง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรเพราะการวางไมโครโฟนในการบันทึกเสียงก็เป็นทักษะที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนอันยาวนาน การวางไมค์เพื่อบันทึกเสียงต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเรื่องเสียงสะท้อนในห้องที่ให้บันทึกเสียงและคาแรคเตอร์เสียงของไมโครโฟนแต่ละตัว ไปพร้อมๆ กับทักษะการหาจุดแหละองศาในการวางแหล่งกำเนิดเสียงดนตรีและไมโครโฟนอย่างเหมาะสมที่สุด ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่ความรู้และทักษะที่นักดนตรีทั่วไปจะมีแม้ว่าเขาจะเล่นดนตรีได้อย่างเป็นเลิศก็ตาม

ดังนั้นการดูคลิปทดลองอุปกรณ์ชิ้นเดียวกันหลายคลิปเปรียบเทียบกันจึงเป็นสิ่งที่จะทำให้เราได้ภาพของเสียงที่ใกล้เคียงกับเสียงจริงๆ ที่เราจะสร้างมันออกมาได้ อย่างไรก็ดีก็ยังมีผู้ทดลองบางส่วนมาทดลองแบบเปรียบเทียบกันอยู่บ้างด้วยการทดลองอุปกรณ์ต่างๆ เปรียบเทียบกันในคลิปเดียวกัน ซึ่งการทดลองที่น่าสนใจก็ปรากฏอยู่บ้างเช่นการทดสอบอุปกรณ์ที่ใกล้เคียงเปรียบเทียบกันแบบไม่ให้รู้ว่าเป็นอุปกรณ์ชิ้นไหน (blind test) แล้วจึงมาเฉลยตอนท้ายคลิปว่าเสียงไหนเกิดจากอุปกรณ์ชิ้นไหน [1] หรือการทดลองเนื้อเสียงอุปกรณ์ประเภทเดียวกันต่อๆ กันที่ละอันโดยที่อุปกรณ์อื่นๆ คงที่ [2] อย่างไรก็ดีการทดสอบแบบนี้จะเหมาะกับอุปกรณ์ที่ให้เสียงใกล้เคียงกันมากเท่านั้น และความต่างที่การทดสอบแสดงก็วางอยู่บนฐานของความ “ไพเราะ” ในการให้เสียงแบบเดียวกัน ไม่ได้แสดงให้เห็นความแตกต่างแบบอื่นๆ ที่เป็นข้อดีข้อเสียหรือจุดเด่นจุดด้วยของอุปกรณ์นั้นๆ แต่อย่างได กล่าวคือการทดสอบแบบนี้มักจะมีการปรับเอฟเฟคทุกตัวให้เสียงใกล้เคียงกันที่สุดและทดสอบเพียงเสียงเดียว และให้คนฟังฟังว่าเอฟเฟคตัวไหนทำเสียงดังกล่าวได้ “ไพเราะ” ที่สุด ซึ่งนั่นทำให้จุดเด่นและความต่างของเอฟเฟคแต่ละตัวในแง่ของการปรับเสียงต่างๆ ได้ยาก

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในคลิปทดลองเครื่องดนตรีแทบทั้งหมดบน YouTube ก็คือแทบจะไม่มีคลิปใดเลยที่จะทำการวิจารณ์เครื่องดนตรีที่ทดลองในทางลบ ปรากฏการณ์แบบนี้เข้าใจได้ไม่ยากหากต้นตอของคลิปทดสอบเครื่องดนตรีเป็นทางบริษัทเครื่องดนตรีเอง อย่างไรก็ดีในกรณีของคลิปทดลองเครื่องดนตรีของฝ่ายอื่นๆ เราดูจะต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมอยู่บ้าง เราต้องเข้าใจก่อนว่าบรรดาพวกนิตยสารดนตรีทั้งหลายแหล่ก็ไม่ใช่สื่อที่จะทำงานได้อย่างมีอิสระไปเสียหมด เพราะผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่ให้เงินหล่อเลี้ยงนิตยสารดนตรีเหล่านี้ก็คือบริษัทเครื่องดนตรีนั่นเอง จึงไม่แปลกที่การทดสอบเครื่องดนตรีของเหล่าผู้สนับสนุนของนิตยสารดนตรีจะหลีกเลี่ยงการวิจารณ์และพูดถึงข้อดีเป็นหลัก [3] เหล่าช่องอิสระต่างๆ ใน YouTube ที่เป็นช่องทดสอบเครื่องดนตรีชื่อดังอย่าง ProGuitarShop [4] นั้นก็มีแรงจูงใจที่ชัดเจนในการแสดงแต่ข้อดีของอุปกรณ์ในการทดสอบเนื่องจากอุปกรณ์ทุกชิ้นที่ทำการทดสอบล้วนเป็นสินค้าที่ทาง ProGuitarShop ขายทั้งสิ้น ซึ่งนี่เป็นแรงจูงใจที่จะสร้างคลิปทดสอบเครื่องดนตรีที่ไม่วิพากษ์เช่นเดียวกับบรรดาผู้ผลิตเครื่องดนตรี และช่องอิสระอีกส่วนที่ได้รับผลประโยชน์จากบริษัทเครื่องดนตรีไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางตรงหรือทางอ้อมก็ดูจะสร้างคลิปทดลองที่ละม้ายคล้ายคลึงกับที่บรรดานิตยสารเครื่องดนตรีสร้างขึ้นมาที่ล้วนหลีกเลี่ยงการวิจารณ์และพูดถึงข้อดีของทางผู้สนับสนุนนเป็นหลัก สุดท้ายทางฝั่งนักทดสอบเครื่องดนตรีอิสระทั้งหลาย การทดสอบเครื่องดนตรีก็ดูจะเป็นการอวดโชว์เครื่องดนตรีของตนที่ซื้อมาด้วยความภาคภูมิใจมากกว่าที่จะมานั่งหาที่ติของอุปกรณ์นั้นๆ และทั้งหมดนี้ก็ทำให้ความเห็นเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับเครื่องดนตรีในบรรดาคลิปทดสอบเครื่องดนตรีที่ปรากฏใน YouTube นั้นแทบจะไม่ปรากฎเลย

อันที่จริงแล้วลักษณะการไม่วิพากษ์ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือธรรมชาติของคลิปจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้กล่าวถึงข้อดีโดยตรง แต่มีลักษณะ “ให้เครื่องดนตรีพูดออกมาเอง” ในทำนองเดียวกับการ “ให้หลักฐานพูดออกมาเอง” (Let the evidence speak for itself) กล่าวคือมันเป็นการทดสอบที่ผู้ทดสอบไม่ได้พูดจาอะไรมากนอกจากบอกว่าทดสอบอุปกรณ์อะไรอยู่ แล้วก็ทำการทดสอบไปให้ผู้ฟังตัดสินเสียงที่ออกมาเอง อย่างไรก็ดีตราบที่หลักฐานไม่เคยพูดอะไรออกมาเองอย่างตรงไปตรงมาในงานประวัติศาสตร์ เครื่องดนตรีก็ไม่เคยพูดออกมาเองอย่างตรงไปตรงมาในคลิปทดสอบเครื่องดนตรี เพราะอย่างน้อยที่สุดการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้ในการบันทึกเสียงมันก็เกิดขึ้นตลอดเวลาดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งในหลายๆ ครั้งเสียงที่ออกมาดีเลิศเราก็บอกได้ยากว่ามันเกิดจากส่วนไหนของระบบทั้งหมดที่ทำให้เกิดเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ผู้ทดสอบไม่เปิดเผยอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการทดสอบ นอกจากอุปกรณ์ที่ทดสอบ เช่น การทดสอบเอฟเฟคกีต้าร์ ก็อาจไม่เปิดเผยรุ่นและยี่ห้อของกีต้าร์ที่ใช้ แอมป์ที่ใช้และวิธีการปรับเสียงแอมป์ที่ใช้ ไปจนถึงรุ่นและยี่ห้อไมโครโฟนที่ใช้อัดเสียง เป็นต้น [5]

ผู้อ่านอาจสงสัยว่ามันไม่มีอุปกรณ์ “กลาง” ที่เอาไว้ใช้ทดสอบเครื่องดนตรีให้มันพูดออกมาเองอย่างเป็นกลางที่สุดหรือ คำตอบคือไม่มีแน่ชัด และถึงมีจริง อุปกรณ์ที่ได้ชื่อว่า “กลาง” ก็ไม่ใช่อุปกรณ์ที่ราคากลางๆ แต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นกีต้าร์แบบ Fender Standard Stratocaster หรือ Gibson Les Paul Standard ตู้แอมป์คอมโบ Deluxe Reverb ของ Fender หรือตู้แอมป์ในซีรี่ JCM 800 ของ Marshall ไปจนถึงไมค์รุ่น SM57 ของ Shure เพราะอุปกรณ์เหล่านี้ก็ล้วนจัดเป็นอุปกรณ์ชั้นเลิศที่สามารถใช้ในห้องอัดได้อย่างสบายๆ ที่ไม่ได้มีราคาแบบสบายๆ สำหรับผู้เล่นดนตรีทั่วๆ ไปแน่ๆ [6]

ปัญหาที่มากกว่านั้นในการ “ให้เครื่องดนตรีพูดออกมาเอง” ก็คือเครื่องดนตรีมันไม่เคยได้รับอนุญาตให้พูดถึงข้อเสียของมันเลย โดยทั่วไปไม่มีเครื่องดนตรีอะไรที่เลอเลิศไร้ที่ติไปเสียหมดอยู่แล้ว โดยเฉพาะเครื่องดนตรีต่างๆ ที่ใช้กับการเล่นกีต้าร์ไฟฟ้าที่ต้องใช้กันอย่างสัมพันธ์เป็นระบบ ซึ่งถ้าระบบไม่มีความสมดุลเสียงอันไม่พึงประสงค์ต่างๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้จากเครื่องดนตรีที่สภาพดีเต็ม 100 เช่น กีต้าร์ที่มีเสี่ยงจี่ (hum) เยอะตามธรรมชาติของวงจรไฟฟ้าของมัน ก็ไม่ควรจะใช้คู่กับเอฟเฟคที่มีเสียงจี่เด็ดขาดถ้าไม่ต้องการให้เสียงจี่ในระบบมีมากเกินไปจนเป็นเสียงรบกวนที่น่ารำคาญ ส่วนผสมของกีต้าร์และปิคอัฟที่ให้ย่านเสียงกลางเป็นพิเศษก็ไม่ควรจะเอาไปเล่นกับเอฟเฟคหรือแอมป์ที่เด่นย่านเสียงกลางถ้าผู้เล่นไม่ต้องการให้เสียงกลางมันบวมล้นจนสดับรับฟังเสียงกีต้าร์ได้ไม่คมชัด เป็นต้น และแน่นอนว่าโดยทั่วไปคลิปทดสอบอุปกรณ์ดนตรีจะตระหนักถึงการจำเป็นต้องรักษาสมดุลของเสียงเหล่านั้นเป็นอย่างดี และทำการจัดวางและผสมอุปกรณ์ให้เสียงออกมาสมดุลที่สุด [7] นี่เป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคจำนวนมากอาจมองไม่เห็นและกังขาว่าทำไมเครื่องดนตรีที่ซื้อมาของตนมีเสียงที่ไม่อาจเทียบเทียมกับที่เขาเคยได้เห็นเครื่องดนตรีของเขาเฉิดฉายเลิศเลอในการทดสอบ

ทั้งหมดนี้ผู้เขียนไม่ต้องการจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทั้งสิ้นในปัญหาของการปราศจากการวิพากษ์เครื่องดนตรีที่ดำรงอยู่ เราคงไม่ควรจะคาดหวังว่าทางบริษัทเครื่องดนตรีจะทดสอบเครื่องดนตรีให้เสียงออกมาสมจริงกับการใช้ของผู้ใช้ทั่วๆ ไปแทนที่จะทำเสียงออกมาให้ฟังดูดีที่สุด เราคงไม่ควรจะคาดหวังได้ว่าบรรดาผู้ได้รับการสนับสนุนของบริษัทเครื่องดนตรีจะวิจารณ์เครื่องดนตรีของบรรดาบริษัทผู้สนับสนุนอย่างสาดเสียเทเสีย หรือเรากระทั่งไม่ควรจะคาดหวังว่าบุคคลทั่วๆ ไปจะทำการทดสอบเครื่องดนตรีโดยไม่พยายามทำเสียงดนตรีออกมาให้ดีที่สุด เพราะนั่นจะทำให้เขาโดนเหล่านักวิจารณ์ใน YouTube รุมทึ้งวิจารณ์แบบเสียๆ หายๆ อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราน่าจะต้องการคือการทดสอบเครื่องดนตรีที่ไม่ได้ใช้อุปกรณ์เลอเลิศพร้อมแจงอุปกรณ์ทุกๆ ชิ้นที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบ และมีการพูดถึงทั้งข้อดีและข้อเสียของเครื่องดนตรีอย่างเหมาะสม ซึ่งนั่นดูจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับผู้บริโภคเครื่องดนตรีที่สุดแต่ขาดแคลนเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน

 

อ้างอิง:

  1. ตัวอย่างเช่นคลิปที่ทาง www.thetoneking.com ทำการทดสอบระหว่างเอฟเฟค Metal Zone ของยี่ห้อ Boss ที่เป็นเอฟเฟคกีต้าร์ที่ขายดีที่สุดอันหนึ่งของโลกกับ Ultra Metal ของยี่ห้อ Behringer ซึ่งเป็นของเลียนแบบซึ่งมีราคาขายในท้องตลาดเพียงราว 30% ของ Metal Zone โดยให้ผู้ชมฟังเสียงเอฟเฟคสองก้อนเทียบกันแต่ไม่ให้เห็นเอฟเฟคที่กำลังใช้ http://youtu.be/5fD34Yy1wqw
  2. ตัวอย่างเช่น http://youtu.be/gA4pHeMvhBw
  3. ซึ่งนี่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกนิตยสารดนตรีจะไม่มีมุมมองเชิงวิพากษ์เอาเลย เพราะมุมมองแบบนี้มักจะปรากฏมากกว่าในนิตยสารเหล่านี้ในฉบับพิมพ์เป็นเล่ม การทดสอบเครื่องดนตรีต่างๆ ที่เผยแพร่เป็นคลิปโดยทั่วไปจะมีลักษณะ “ให้เครื่องดนตรีพูดออกมาเอง” มากกว่า (จะกล่าวต่อไป)
  4. โดยทั่วไป หากทำการสืบค้นชื่อเครื่องดนตรีสักชิ้นใน Youtube คลิปของทาง ProGuitarShop ก็มักจะปรากฏมาเป็นคลิปแรกๆ ซึ่งก็เกิดจากการรีวิวเครื่องดนตรีที่หลากหลายและจำนวนคนที่เข้าชมการรีวิวของทาง ProGuitarShop อย่างไรก็ดีดูช่องนี้ได้ที่ http://www.youtube.com/user/proguitarshopdemos?feature=results_main
  5. ในแง่นี้คลิปทดสอบเครื่องดนตรีที่ตรงไปตรงมากับผู้ฟังที่สุดคือคลิปที่บอกอุปกรณ์ทุกอย่างที่ใช้ในการทดสอบอย่างละเอียด อย่างไรก็ดีคลิปเหล่านี้ก็ปรากฎไม่มากนัก
  6. ผู้เขียนมาพบที่หลังว่าการเคลมแบบนี้เป็นการคิดในบริบทของไทยที่อุปกรณ์ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นสินค้านำเข้าราคาแพงจากอเมริกาที่นักดนตรีทั่วๆ ไปไม่มีงบประมาณให้การซื้อหามาแน่ๆ เพราะราคาอุปกรณ์ทั้งหมดที่กล่าวมาในท้องตลาดไทยก็น่าจะรวมกันเกือบ 1 แสนบาทเลยทีเดียว อย่างไรก็ดีผู้เขียนไม่แน่ใจเท่าไรว่าบรรดาอุปกรณ์ที่กล่าวมานั้นจัดเป็นอุปกรณ์ที่ราคาแพงแค่ไหนในบริบทค่าครองชีพของอเมริกา
  7. สิ่งนี้ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีเพราะต่อให้ใช้อุปกรณ์ดีเลิศหมด แต่ขาดทักษะการผสมเสียงและการบันทึกเสียงที่เหมาะสม การบันทึกเสียงที่ออกมาก็อาจจะฟังดูไม่เข้าท่าเลยก็ได้ในมาตรฐานผู้ฟังทั่วไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net