สังคมวิทยาภัยพิบัติ: ว่าด้วยการก่อเหตุที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การก่อเหตุภัยพิบัติที่มาจากน้ำมือของมนุษย์ ในฐานทฤษฎีเดิม ว่ากันไว้ว่า “การก่อเหตุมีแรงจูงใจมาจากการต้องการ ผู้ฟัง ไม่ได้ต้องการจำนวนของผู้เสียชีวิต” (Waugh, 1990)

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? เหตุผลของการวางระเบิดหรือการก่อเหตุอื่นๆ ที่ไม่ได้หวังผลการตาย เกิดขึ้นเพราะกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบต้องการแสดงให้เห็นถึงพลังและอำนาจ ทำให้เป้าหมายหรือเหยื่อดูน่าสงสาร น่าเห็นอกเห็นใจ และต้องการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีอำนาจ และถึงมีก็ไม่มีประสิทธิภาพ 

การสร้างความเสียหายโดยไม่หวังผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนั้นเนื่องจากว่า จะทำให้จำนวนการตายของคน นำไปสู่การขาดสนับสนุนด้านการเมือง ดังนั้นการวางระเบิดในโรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี จึงเป็นการก่อเหตุที่สัญลักษณ์มากกว่า เพราะที่ผ่านมาโรงแรมแห่งนี้ถูกใช้เป็นพื้นที่กลางในการประชุมด้านสันติภาพจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ครู สภาภาคประชาสังคมชายแดนใต้ หน่วยงานด้านการศึกษาและวิจัยทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น

ทุกวันนี้เรากำลังสู้กับภัยพิบัติที่มาจากน้ำมือของมนุษย์ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ เพราะเป้าหมายของผู้สร้างภัยพิบัติตั้งใจจะใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ทั้งโทรทัศน์และอินเตอร์เนท ช่วยกระตุ้นให้เกิดความหวาดกลัวและขยายผลงานของตัวเองในวงกว้าง

ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ทฤษฎีที่วิเคราะห์ภัยพิบัติที่มาจากน้ำมือของมนุษย์ กล่าวว่า ภัยพิบัติที่มาจากน้ำมือของมนุษย์เกิดขึ้น เพราะบุคคลหรือกลุ่มองค์กรต้องการแสดงแสนยานุภาพโดยการฆ่าคนจำนวนมาก  และส่วนใหญ่คือผู้บริสุทธิ์ โดยไม่หวังว่าจะได้รับผลกระทบจากสังคมสาธารณะและการสนับสนุนด้านการเมืองหรือไม่ เช่น การระเบิดเครื่องบิน ตลาด โรงเรียน จนกระทั่งถึงในช่วงทศวรรษที่ 1990 พื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับรัฐหรือพื้นที่เศรษฐศาสตร์สังคมของกลุ่มชนชั้นนำ ภายหลังถูกนำมาใช้เป็นเป้าหมายในการก่อเหตุเพิ่มขึ้น 

บุคคลหรือกลุ่มองค์กรที่ขยันสร้างภัยพิบัติบางองค์กร ได้ก้าวข้ามการนับจำนวนคนที่เสียชีวิตและการทำให้เกิดความเสียหาย  มาเป็นการสร้างภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาและผลกระทบทางสังคมมากกว่า ถ้ายังจำกันได้ เหตุการณ์ระเบิดห้างในตัวเมืองหาดใหญ่ กับโรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี ล้วนแล้วแต่เป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ทางเศรษฐกิจและกลุ่มของชนชั้นนำด้วยกันทั้งคู่ 

เหตุของการก่อความรุนแรงจนกระทั่งมีผู้ตายหรือเสียชีวิตมีล้านแปด ประการแรก ส่วนมากงบประมาณสนับสนุนและอุปกรณ์ที่หามาได้ ไม่ได้มาจากการสนับสนุนจากองค์กรหรือหน่วยงานภายนอก แต่มาจาก “rouge” หรือ เงินที่มาจากการก่ออาชญากรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการลักขโมย เรียกค่าไถ่ หรือแม้แต่ค้ายาเสพติด ซึ่งถ้าใครบอกว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาหลักมาจากยาเสพติด อันนี้ก็ไม่แปลก เพราะเงินที่ได้จากการค้ายาก็สามารถนำมาสนับสนุนการก่อเหตุได้เช่นกัน ประการที่สอง กลุ่มที่มีแรงจูงใจมาจากศาสนาหรือพวกการเมืองสุดขั้ว หรือกลุ่มที่มีเป้าหมายในระดับนานาชาติ พวกนี้ไม่ค่อยเป็นประเด็นสำคัญเท่ากับว่า การก่อเหตุเป็นความพยายามค้นหา “สิทธิในการปกครองตนเอง” (autonomy) จากอำนาจส่วนกลางหรือจากรัฐเจ้าอาณานิคม ประการที่สาม การสร้างอาวุธจะมาจากอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายแบบบ้านๆ (low-tech weapons) เช่น ปุ๋ย หรือน้ำมัน ก็สามารถสร้างอำนาจของกลุ่มก่อการได้ด้วยเช่นกัน แต่ทั้งผลของภัยพิบัติที่มาจากธรรมชาติและมาจากน้ำมือของมนุษย์นั้นเหมือนกัน คือต้องมีการฟื้นฟูอย่างยาวนาน (long-term recovery)

เมื่อเกิดเหตุแต่ละครั้ง จึงไม่มีผู้นำคนไหนอยากให้เกิดในขณะที่ตนยังดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ เพราะโดยพื้นฐานแล้ว ผู้นำเหล่านี้ โดยเฉพาะรัฐบาล ยังต้องมีหน้าที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งดูแลมูลค่าด้านความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ถ้าทำไม่ได้จะส่งผลให้เกิดความล้มเหลวด้านการเมืองที่มีมูลค่าสูงมากตามมาในภายหลัง 

ในอดีต ความรุนแรงเป็นเรื่องของการข่มขู่คุกคามเพื่อทำให้เกิดความหวาดกลัวโดยเน้นด้านการเมืองเป็นหลัก แต่ปัจจุบันการก่อเหตุอาจต้องการผลด้าน เศรษฐกิจ สังคม ศาสนาและวัฒนธรรม ผสมเข้าไปด้วย โดยกลุ่มผู้กระทำการอาจมีจำนวนน้อยมากและอาจมีไม่ถึงพันคน แต่การเน้นผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับคน และสาธารณูปโภค ซึ่งอาจส่งผลในวงกว้างมากโดยสร้างความเสียหายจำนวนที่น้อยกว่าได้ เช่น การโจมตีบุคคลที่เป็นสัญลักษณ์ ได้แก่ ผู้พิพากษา ผู้นำจากการเลือกตั้ง นักธุรกิจ และคนที่อยู่ในตำแหน่งระดับสูง เพราะจะได้รับความสนใจจากสาธารณชน หรือสถานที่สาธารณะที่เป็นที่รู้จักกัน

ลองวิเคราะห์ดูเหตุการณ์ระเบิดที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี ตัวโรงแรมเองก็ได้ชื่อว่าเป็นโรงแรมของคนชั้นสูง (elite) ในจังหวัด ตัวเจ้าของโรงแรมเองคือ คุณอนุศาสน์ สุวรรณมงคล เป็นสัญลักษณ์ทั้งด้านธุรกิจและการเมือง คือ ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปัตตานี ตัวโรงแรมเองยังเป็นพื้นที่ทางสังคมที่มีหน่วยงานราชการต่างๆ ชาวบ้านธรรมดาหรือทั้งที่เป็นกลุ่มเคลื่อนไหว นักสร้างสันติภาพจากกรุงเทพหรือต่างจังหวัด นักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ เคยใช้เป็นพื้นที่ในการพบปะด้วยกันทั้งสิ้น นั่นหมายถึงว่า การก่อเหตุ ณ โรงแรมแห่งนี้ จะทำให้ความหวาดกลัวขยายวงกว้างได้ง่ายเพราะเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้วในแวดวงสาธารณะชน 

จะว่าไปการก่อเหตุความไม่สงบกับความรุนแรงในเชิงอาชญากรรมมีความคล้ายคลึงกัน 4 อย่าง คือ 1) ทั้งคู่ถูกใช้เพื่อสร้างให้เกิดความรุนแรงเกินจากความเป็นธรรมดา 2) เพื่อนำเสนอเป้าหมายอะไรบางอย่าง 3) การเลือกเป้าหมายเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ และ 4) ต้องการสร้างให้เกิดผู้ฟังและติดตามในวงกว้างมากกว่าทำให้เกิดเหยื่อจากสถานการณ์ 

ในการจัดการกับภัยพิบัติที่มาจากน้ำมือของมนุษย์นั้น จริงๆแล้วหน่วยงานในพื้นที่และในระดับนโยบายก็มีการดำเนินการอยู่แล้ว คือการสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยร่วมกับภาคประชาสังคม (civil security) ในหลายประเทศที่มีเหตุการณ์เช่นนี้ อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกาเองหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ก็สนใจและให้ความสำคัญกับวิธีการเช่นนี้มากขึ้น ควบคู่กับการทำงานด้านความมั่นคงและการป้องกันภัยพิบัติที่มาจากน้ำมือของมนุษย์ โดยได้สร้างแผนการป้องกันไว้ทั้งหมด 15 แผน โดย 12 แผนจะเน้นการรับมือกับเหตุที่อาจเกิดขึ้นในหลายมิติ ได้แก่ การรับมือกับการบาดเจ็บและเสียชีวิต ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างพื้นฐาน ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และช่วงเวลาของการฟื้นฟู โดยแผนดังกล่าวจะเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นสำหรับเหตุร้ายที่ไม่อาจจะจินตนาการได้ด้วย 

สำหรับนักสังคมวิทยาภัยพิบัติที่สนใจเรื่อง ภัยที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ ยังมีคำถามอีกมากที่ต้องการคำตอบ ประการแรก ทำไมบุคคลหรือกลุ่มเลือกใช้ความรุนแรงเพื่อให้บรรลุผลด้านการเมือง ถ้าการสร้างความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวยาวนาน อะไรจะเป็นทางเลือกที่ไม่ให้คนกลุ่มนี้ก่อความรุนแรง เช่น การวิเคราะห์ที่ต้นเหตุว่า มาจากความยากจน หรือความไม่อดทนอดกลั้นทางความแตกต่างด้านศาสนาและวัฒนธรรม ประการที่สอง เราจะสามารถสร้างองค์กรที่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับเหตุการณ์ความไม่สงบได้อย่างไร โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งมีฐานทรัพยากรที่จะนำมาใช้ในการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีปัญหาร่วมกันคือ การไม่สามารถดึงทรัพยากรดังกล่าวมาใช้ร่วมกันได้อย่างจริงจัง เช่น หน่วยงานในพื้นที่ทั้งที่เป็นรัฐและหน่วยงานอิสระ อาจมีประสบการณ์เป็นอย่างดีในการรับมือกับปัญหา แต่ขาดทรัพยากรอันเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญ 

ประการที่สาม ในอุดมคติ การทำงานร่วมมือกันจากหลายภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญและต้องการเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ยังคงต้องการระบบในการบริหารจัดการ (Incident Command System-ICS) เพื่อร้อยทักษะต่างๆ เข้าด้วยกัน เพราะการจะให้ทุกองค์กรทุกฝ่ายทำงานด้วยกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวกันนั้นอาจไม่เป็นผลในทางปฏิบัติจริง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ซับซ้อนและฉุกเฉิน เพื่อให้ได้ผลในทางปฏิบัติ การใช้กระบวนการในการตัดสินใจร่วมกันโดยพื้นฐาน (consensus-based decision process) น่าจะเป็นทางหนึ่งที่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดได้หรือไม่ อย่างไร

จริงๆ แล้วยังมีคำถามอีกมากที่ต้องการโจทย์วิจัยและต้องการคำตอบ ยิ่งถ้าทำให้มีการสื่อสารระหว่างหน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานที่จัดการด้านเหตุฉุกเฉินและการก่อเหตุ นักวิจัยที่ทำงานด้านสันติภาพ และนักวิจัยที่สนใจงานด้านภัยพิบัติ ทั้งหมดนี้ก็จะช่วยให้ระบุโจทย์ เกิดการพัฒนาด้านนโยบาย และโปรแกรมที่จะสามารถรับมือกับเหตุการณ์ภัยพิบัติที่มาจากน้ำมือของมนุษย์ได้ในอนาคต

 

บรรณานุกรม
Waugh, W. L. Jr., (2007), ‘Terrorism as Disaster’, in Rodríguez, H., E. L. Quarantelli, et al. (eds) Handbook of Disaster Research. New York, Springer. pp. 388-404.

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท