เปิดตัวหนังสั้น “อยู่ด้วยกัน” ลดตีตราเด็กติดเชื้อเอชไอวี

 

 

(5 ส.ค.55) ที่โรงแรมทาวน์อินทาวน์ กรุงเทพฯ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดตัวหนังสั้นชุด “อยู่ด้วยกัน” ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กโดยชุมชน (CHILDLIFE) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลก รอบที่ 10

อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายฯ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในภาคอีสาน เด็กอายุ 5 ขวบที่มีเชื้อเอชไอวีไม่ได้เข้าเรียนชั้นอนุบาล เนื่องจากคนในชุมชนกลัวว่าลูกหลานของตัวเองที่เรียนร่วมจะได้รับเชื้อฯ ไปด้วย ไม่เพียงเท่านั้น เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เครือข่ายฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการตรวจเลือดนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ในมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในเขตปริมณฑล และเมื่อพบว่านักศึกษามีเชื้อเอชไอวี มหาวิทยาลัยแจ้งผู้ปกครองให้ทราบและก็ให้ย้ายไปเรียนคณะอื่นทันที จนนักศึกษารู้สึกกดดันและต้องออกจากมหาวิทยาลัย ซึ่งเรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อยมา เพียงแต่อาจจะไม่ได้ถูกพูดถึงในสังคมวงกว้างมากนัก ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเห็นได้ชัด

อภิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า จากสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ เครือข่ายฯ ได้ผลิตหนังสั้นชุด “อยู่ด้วยกัน” ทั้งสิ้น 29 เรื่อง ผลิตโดยเยาวชน แกนนำผู้ติดเชื้อฯ ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ตรง ร่วมกับอาสาสมัครทำหนัง โดยหนังสั้นชุดนี้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคม เพื่อลดการตีตรา และแบ่งแยกเด็ก/เยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี/เอดส์ เด็กเร่ร่อน เด็กที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงเด็กที่ถูกตีตราจากสาเหตุอื่นๆ เพื่อให้เขาเหล่านี้อยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ทั้งนี้ หนังสั้นทั้ง 29 เรื่องจะเผยแพร่ในเคเบิลทีวี ช่อง C–series ทุกวันเสาร์ เวลา 18.30 น. และในช่องเคเบิลทีวีท้องถิ่นทั้ง 29 จังหวัด หรือหากมีผู้สนใจอยากนำหนังสั้นชุดนี้ไปใช้ ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่หมายเลข 02-3775065

ด้านนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนงานที่ทำอยู่นั้นเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ระดับประเทศ ที่จะสร้างกลไกหรือพัฒนาให้เกิดคณะทำงานด้านเด็กในชุมชน หรือ CAG (Child action Group) ในพื้นที่ 1,680 ตำบล ใน 29 จังหวัด เพื่อให้ชุมชนเป็นผู้มีบทบาทหลักในการทำงานเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตเด็กในชุมชนของตนเอง ให้เกิดความยั่งยืนในการทำงาน และแก้ปัญหาได้ตรงจุดที่สุด ซึ่งหนังสั้นทั้ง 29 เรื่องนี้จะถูกนำไปใช้ในการทำงานของชุมชนด้วย

ผู้อำนวยการฯ กล่าวอีกว่า เรื่องสำคัญคือ ต้องผลักดันให้เกิดการแก้ไขนโยบายที่มีการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะในหน่วยงานราชการและสถานศึกษาหลายแห่งที่ยังมีการบังคับตรวจเลือดอยู่


เสวนา “การรังเกียจกีดกัน ยังมีอยู่จริง”

สุพรรณี สฤษดิ์อภิรักษ์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จังหวัดเพชรบุรี กล่าวในการเสวนา หัวข้อ “การรังเกียจกีดกัน ยังมีอยู่จริง” ว่า กรณีที่เพื่อนของเด็กล้อเลียนเด็กติดเชื้อฯ ซึ่งถือเป็นการตีตรานั้น ครูสามารถช่วยจัดการได้ แต่ต้องไม่ใช่โดยการเลือกปฏิบัติ พร้อมยกตัวอย่างเช่น ไม่ใช่การปกป้องเด็กติดเชื้อฯ ประเภทหาที่นั่งให้ต่างหาก ซึ่งจะยิ่งทำให้เขาต่างจากเพื่อนในห้อง

เจ้าหน้าที่สาธารณสุข กล่าวเสริมว่า เราข้ามเส้นความคิดที่ว่า "เป็นเอดส์แล้วตาย" มาแล้ว แต่คำถามคือ แล้วเด็กจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร ถ้าต้องอยู่แบบชั้นพิเศษตลอด คงไม่มีความสุข

ด้าน ศุภรัตน์ จิตจำนงค์ แกนนำเยาวชนอาสา กลุ่ม Y-Gent ใน จ.เชียงราย เล่าถึงปัญหาในพื้นที่ว่า พบกรณีที่พยาบาลพยายามโน้มน้าวให้แม่ที่มีเชื้อเอชไอวีซึ่งมาฝากครรภ์ เปลี่ยนมาทำแท้งเสีย โดยตั้งคำถามว่าไม่กลัวว่าลูกจะโดนรังเกียจหรือ ทั้งที่ในความเป็นจริง ลูกที่เกิดจากแม่ที่มีเชื้อฯ ไม่ได้ติดเชื้อจากแม่ทุกคน และปัจจุบันยังมีการรักษาที่ดีขึ้น ทำให้ครอบครัวของแม่ที่มีเชื้อมีความพร้อมในการมีลูกมากขึ้น จากปัญหาดังกล่าว กลุ่มของเธอได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน พูดคุยกับแม่ที่ติดเชื้อฯ ถึงความกังวลต่างๆ และทำสื่อรณรงค์ให้ความรู้ว่า แม่ที่ติดเชื้อสามารถมีลูกและมีชีวิตปกติได้

ด้านสมภาร บุญเรือง คณะทำงานด้านเด็กในชุมชน เล่าถึงกรณีที่โรงเรียนไม่อนุญาตให้เด็กที่มีเชื้อเข้าเรียน เนื่องจากถูกผู้ปกครองของเด็กคนอื่นๆ ตั้งเงื่อนไขว่าหากให้เด็กที่มีเชื้อเรียน จะไม่ให้ลูกๆ ของตัวเองมาโรงเรียน หลังจากนั้น มีการนำเรื่องนี้หารือกับผู้บริหารโรงเรียน อปท. และผู้นำชุมชน มีแนวทางร่วมกันว่าให้มีการจัดอบรมคณะครู อสม. และผู้ปกครอง เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน

สุดใจ ตะภา แกนนำเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคอีสาน แสดงความเห็นว่า กรณีที่ผู้นำชุมชนเสนอให้มีการบอกผลเลือดของผู้ติดเชื้อแก่คนในชุมชน เพื่อให้มีการระวังตัวมากขึ้นและเพื่อความสะดวกในการให้ความช่วยเหลือว่า ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา และจะเกิดผลกระทบกับการใช้ชีวิตของผู้ติดเชื้อ หากคนในชุมชนยังไม่ปรับทัศนคติต่อเรื่องเอดส์ มองว่าผู้ติดเชื้อเป็นคนไม่ดีและสำส่อน การอยู่ร่วมกันคงเป็นเรื่องที่ยากมาก

 

 

 


00000

 


 

โอกาสเสี่ยงของการรับเชื้อเอชไอวี จะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับปัจจัยอะไรบ้าง

ถ้าเราจะเสี่ยงต้องมี 3 องค์ประกอบครบถ้วนคือ
a. ต้องได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี เข้าสู่ร่างกาย โดยต้องมาจากแหล่งที่มีปริมาณเชื้อมากพอที่จะทำให้ติด ได้แก่ เลือด น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด

b. เชื้อที่จะทำให้ติดต่อได้นอกจากเรื่องปริมาณแล้วเชื้อต้องมีคุณภาพและแข็งแรง
เช่น ในเลือด น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด มีสภาพที่พอเหมาะที่จะทำให้ เชื้อเติบโตได้แต่ถ้าไปอยู่ในน้ำลาย น้ำตา เชื้อไวรัสจะอยู่ในสภาพที่เป็นกรด เป็นด่าง ทำให้ไม่มีคุณภาพ เติบโตไม่ได้ หมดความสามารถที่จะทำให้ติดต่อได้

c. ต้องเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการสัมผัสส่งต่อเชื้อได้โดยตรง เช่น การใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน หรือการร่วมเพศ ซึ่งเป็นการส่งต่อเชื้อกันโดยตรงเช่นในกรณีการร่วมเพศ ถ้าฝ่ายชายมีเชื้ออยู่ เชื้ออาจจะผ่านเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุช่องคลอด หรือถ้าผู้หญิงมีเชื้ออยู่ เชื้ออาจจะผ่านเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุที่ปลายและเยื่อบุในท่อปัสสาวะขององคชาติ

และต้องดูโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจริงด้วย คนส่วนใหญ่จะกังวลกับการติดเชื้อเอชไอวี จากช่องทางที่ไม่มีหรือมีโอกาสเสี่ยงน้อยมากๆ และมักจะไม่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา เช่น การช่วยคนประสบอุบัติเหตุ การสัมผัสกับเลือดตามแต่จะสมมติกัน แต่มักจะไม่คิดถึงช่องทางที่ทำให้ติดเอดส์จากวิถีชีวิตและพฤติกรรมทางเพศที่กระทำอยู่เป็นประจำ ทั้งที่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ติดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน

ที่มา: เว็บไซต์มูลนิธิเข้าถึงเอดส์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท