Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงแห่ยื่นศาลปกครองฟ้องกราวรูด กฟผ.-ทส.-ครม.จี้ระงับสัญญาซื้อไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี หวั่นทำลายระบบนิเวศน้ำโขง พร้อมเชิญชวนร่วมลงชื่อเรียกร้อง ช. การช่าง หยุดการก่อสร้างทั้งหมด

 
 
วันนี้ (7 ส.ค.55) เวลาประมาณ 10.00 น.ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ ชาวบ้านจากเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ประมาณ 80 คน ได้เดินทางมายื่นฟ้อง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ได้ลงนามในสัญญาซื้อพลังงานไฟฟ้า (PPA) จากบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ในประเทศลาว ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้ฟ้องคดี 37 คน และผู้สนับสนุนให้ฟ้องคดี 1,019 คน ซึ่งเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำโขงในประเทศไทยในหลายจังหวัด ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม อำนาจเจริญ มุกดาหาร และอุบลราชธานี
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านที่เดินทางมาชุมนุมได้ทำพิธีของพรแม่น้ำโขง ก่อนจะเข้ายื่นหนังสือต่อศาลปกครองกลาง โดยร้องขอให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งให้ กฟผ.ยกเลิกสัญญาการซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี  ซึ่งกำลังดำเนินการก่อสร้างที่ประเทศลาว
 
ทั้งนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีนอกจาก กฟผ.แล้วยังประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงพลังงาน และคณะรัฐมนตรี โดยข้อกล่าวหา คือ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติตามข้อตกลงแม่น้ำโขง การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร 
 
ประเด็นในการฟ้องร้องคดีครั้งนี้ เนื่องมาจากเครือข่ายเห็นว่า กฟผ.และหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ทำการตัดสินใจเกี่ยวกับพลังงาน ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงทรัพย์ฯ ได้ปล่อยให้ กฟผ.ทำสัญญาสำคัญ โดยไม่ได้ทำตามหน้าที่ของตนในการแจ้งข้อมูลและปรึกษาหารือกับสาธารณะ และไม่ทำการประเมินผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิตามที่ได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไทย และกฎหมายอื่นๆ
 
นอกจากนั้น หน้าเพจ หยุด เขื่อนไซยะบุรี(stop Xayaburi Dam) ยังมีการเชิญชวนร่วมลงชื่อเรียกร้องให้บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หยุดการก่อสร้างทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมการ สร้างถนน หรืออพยพชาวบ้าน โดยให้มีการทำการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างรอบคอบ รอบด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ ตลอดจนดำเนินการเปิดเผยข้อมูล รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ และเปิดโอกาสให้ชาวบ้านตลอดลำน้ำโขงที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงได้มีส่วนร่วม ตามสิทธิที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไทย ที่ “บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน): หยุดสร้างเขื่อนไซยะบุรีบนแม่น้ำโขง หยุดทำลายระบบนิเวศอันมีค่าของภูมิภาค” ในเว็บไซต์ http://chn.ge/stopchkarnchang
 
ทั้งนี้ข้อมูลจาก โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง TERRA และเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง ระบุเขื่อนไซยะบุรี มีกำลังผลิต 1,285 เมกะวัตต์ จะปิดกั้นแม่น้ำโขงสายหลัก ในแขวงไซยะบุรี ประเทศลาว ตรงข้ามกับจังหวัดน่านของไทย และจะเป็นเขื่อนแรกที่ถูกสร้างบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง
 
ตัวเขื่อนไซยะบุรีจะอยู่เหนือจาก อ.เชียงคาน จ.เลยภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยขึ้นไปตามลำน้ำโขงประมาณ 200 กิโลเมตรอันเป็นระยะทางที่นับว่าใกล้มากในแง่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดนต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของชุมชนริมน้ำโขงตลอดพรมแดนไทย-ลาว ทั้งในเขต จ.เชียงราย ทางภาคเหนือ และในเขต 7 จังหวัดของภาคอีสาน อันได้แก่ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหารอำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่งอาศัยแม่น้ำโขงหาเลี้ยงชีพทั้งการทำเกษตรริมโขง ประมง ฯลฯ การทำมาหาเลี้ยงชีพเหล่านี้จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเก็บกักน้ำและปล่อยน้ำจากเขื่อนไซยะบุรี
 
แม้เขื่อนไซยะบุรีจะสร้างอยู่ในลาว แต่ไฟฟ้าที่ผลิตได้ถึงร้อยละ 95 จะส่งมาขายยังประเทศไทย ซึ่งในเดือนตุลาคม 2554 รัฐบาลไทยโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งผู้ถือหุ้นทั้งหมดคือ บริษัทไทย อันประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท นที ชินเนอร์ยี่ จำกัด (บริษัทลูกของปตท.), บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (บริษัทลูกของกฟผ.) และบริษัท พี.ที.คอนสตรัคชั่นแอนด์อิริเกชั่น จำกัด โดยแหล่งเงินกู้ของโครงการมูลค่า 115,000 ล้านบาทจะมาจากธนาคารสัญชาติไทย คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์
 
ฉะนั้นประเทศไทยจึงมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อการเดินหน้าของโครงการเขื่อนไซยะบุรีแทนที่ประเทศไทยจะสนับสนุนโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มูลค่านับแสนล้านบาทซึ่งจะสร้างผลกระทบมหาศาล และทำลายหลายล้านชีวิตในลุ่มแม่น้ำโขงเพียงเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่ไม่สิ้นสุด ประเทศไทยควรต้องมุ่งเน้นพัฒนาพลังงานทางเลือกที่มีประสิทธิภาพยั่งยืน และเป็นธรรม
 
ทั้งนี้ โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง TERRA และเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง ได้เปิดร่วมลงนามถึงนายกรัฐมนตรีไทย "หยุดเขื่อนไซยะบุรี ปกป้องวิถีแม่น้ำโขง": To Prime Minister of Thailand - “Stop Xayaburi Dam” ในหน้าเว็บไซต์ (คลิก) โดยระบุว่า จนถึงขณะนี้มีผู้ร่วมลงนามถึงนายกรัฐมนตรีในโปสการ์ดปลาบึกเพื่อหยุดเขื่อนไซยะบุรีแล้ว 7,400 รายชื่อ ซึ่งตัวแทนชาวบ้านจากลุ่มน้ำโขงและภาคประชาสังคมในประเทศไทยจะรวบรวมรายชื่อทั้งจากโปสการ์ดและจากสื่อออนไลน์ดังกล่าว เพื่อส่งมอบให้กับนายกรัฐมนตรี กลางเดือนกันยายนนี้
 
 
 
บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน): หยุดสร้างเขื่อนไซยะบุรีบนแม่น้ำโขง หยุดทำลายระบบนิเวศอันมีค่าของภูมิภาค (คลิก)
 
แม่น้ำโขงมีความยาว 4,909 กิโลเมตร จากหิมาลัย หล่อเลี้ยงผู้คนนับจากจีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา ถึงปากน้ำเวียดนาม สู่ทะเลจีนใต้ ประชาชนในลุ่มน้ำอย่างน้อย 60 ล้านคน ที่พึ่งพิงทรัพยากรแม่น้ำโขง ทั้งแหล่งอาหาร การคมนาคม แหล่งน้ำใช้ น้ำดื่ม รายได้ และประเพณีวัฒนธรรม
 
พันธุ์ปลาที่มีกว่า 1300 ชนิด และระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้การประมงแม่น้ำโขงเป็นการประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าขั้นต้นกว่า 7 หมื่นล้านบาทต่อปี ความหลากหลายทางชีวภาพของลุ่มน้ำโขง เป็นรองเพียงลุ่มน้ำอเมซอนเท่านั้น 
 
บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัทก่อสร้างสัญชาติไทย กำลังเดินหน้าก่อสร้าง “เขื่อนไซยะบุรี” กั้นแม่น้ำโขง ในประเทศลาว เขื่อนแห่งนี้เป็นเขื่อนแรก ใน 11 โครงการเขื่อนที่มีการวางแผนก่อสร้างในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ในลาว พรมแดนไทย-ลาว และกัมพูชา
 
เขื่อนไซยะบุรี ขนาด 1260 เมกะวัตต์ จะส่งไฟฟ้าร้อยละ 95 ให้แก่ไทย ผ่านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการลงทุนกว่าแสนล้านบาท ก็มาจากเงินกู้จากธนาคารไทย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย และกรุงเทพ
 
เขื่อนไซยะบุรี จะปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลาที่ว่ายขึ้นไปวางไข่ทางตอนบนของลุ่มน้ำ ปลาเหล่านี้มีทั้งตัวเล็ก และตัวโต ใหญ่ที่สุดคือ ปลาบึก ความยาวประมาณ 3 เมตร น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม ซึ่งบันไดปลาโจน ลิฟต์ปลา หรือทางปลาผ่าน ที่วิศวกรออกแบบติดตั้งบนเขื่อนไซยะบุรีไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากจะว่ายข้ามเขื่อนไซยะบุรี ปลาเหล่านี้ต้องว่ายน้ำเท่ากับตึกสูงถึง 15 ชั้น
 
การศึกษาระบุว่าประชาชนในไทยที่อาศัยตลอดลุ่มน้ำ คิดเป็น 8 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศไทย จะได้รับความเดือดร้อนโดยตรงจากเขื่อนไซยะบุรี
 
ขณะที่ 4 ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ยังไม่มีฉันทามติให้ก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี และตกลงให้มีการศึกษาผลกระทบข้าพรมแดน แต่บริษัท ช.การช่าง กลับเดินหน้าก่อสร้างโครงการโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ ความเสียหาย และความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้น ตลอดสายน้ำโขง
 
ร่วมลงชื่อกับเรา “เรียกร้องให้ ช.การช่าง หยุดการก่อสร้างทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมการ สร้างถนน หรืออพยพชาวบ้าน ให้มีการทำการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างรอบคอบ รอบด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ ตลอดจนดำเนินการเปิดเผยข้อมูล รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ และเปิดโอกาสให้ชาวบ้านตลอดลำน้ำโขงที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงได้มีส่วนร่วม  ตามสิทธิที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไทย”
 
แม่น้ำโขงคือ สายเลือดของภูมิภาคอุษาคเนย์ ช.การช่าง หยุดทำลายสมบัติของสุวรรณภูมิ
 
อัพเดตข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่:
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net