ชาวเน็ตมาเลเซียเตรียม "จอดับ" 14 ส.ค.นี้ ค้านแก้กม.ลิดรอนสิทธิออนไลน์

องค์กรรณรงค์เพื่อเสรีภาพสื่อในมาเลเซีย ชวนชาวเน็ตดับหน้าจอต้านกฎหมายที่ระบุให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต-ผู้ให้บริการ ผิดทันที หากพบการกระทำผิดบนเว็บ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าบริสุทธิ์


https://www.facebook.com/evidenceamendmentact

 

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (7 ส.ค.55) ศูนย์วารสารศาสตร์อิสระ (Center for Independent Journalism: CIJ) ในมาเลเซีย เปิดตัวแคมเปญ "วันดับหน้าจออินเทอร์เน็ต" โดยเรียกร้องให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าร่วมเพื่อสร้างความตระหนักในหมู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถึงผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกจากการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายของรัฐบาลมาเลเซีย

การรณรงค์ดังกล่าวจะมีขึ้นในวันที่ 14 ส.ค.ที่จะถึงนี้ เพื่อต่อต้านมาตรา 114A ที่ถูกเพิ่มใน พ.ร.บ.ว่าด้วยหลักฐาน 1950 การดับหน้าจอนี้ถือเป็นครั้งแรกของมาเลเซีย โดยก่อนหน้านี้มีการรณรงค์ในลักษณะเดียวกันในสหรัฐฯ และนิวซีแลนด์ เพื่อสนับสนุนเสรีภาพอินเทอร์เน็ต

ในวันดังกล่าว (14 ส.ค.) เมื่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าเว็บไซต์ที่เข้าร่วมการรณรงค์ จะพบกับหน้าต่างที่มีข้อความรณรงค์ปรากฏขึ้นมา นอกจากนี้ ชาวเน็ตยังสามารถเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กหรืออวตารบนทวิตเตอร์ เป็นสีดำ หรือดาวน์โหลดภาพที่ CIJ เตรียมไว้ใช้ได้

จุดประสงค์ของการรณรงค์ครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมาเลเซียถอนการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งผ่านสภาอย่างรวดเร็วเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

โดยมาตรา 114A หรือที่รู้จักกันในชื่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยหลักฐาน ฉบับแก้ไขครั้งที่สอง 2012 ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นาซรี อับดุล อาซิซ เมื่อ 31 ก.ค.นี้

ภายใต้กฎหมายดังกล่าว เจ้าของคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เคลื่อนที่ รวมถึงผู้ใดก็ตามที่บริหาร ดำเนินการ หรือจัดให้มีพื้นที่สำหรับชุมชนออนไลน์ บล็อก หรือให้บริการเว็บโฮสต์ติง จะถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้เผยแพร่ หรือเผยแพร่ซ้ำเนื้อหา ผ่านบริการหรืออุปกรณ์ของตนเองโดยอัตโนมัติ จนกว่าจะพิสูจน์เป็นอย่างอื่น

การแก้ไขกฎหมายนี้ก่อให้เกิดความกังวลจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้เน็ต นักกิจกรรม นักกฎหมาย พรรคฝ่ายค้าน รวมถึงภาคธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมปฏิเสธว่า รัฐบาลไม่ได้แก้กฎหมายดังกล่าวเพื่อจัดการกับผู้เห็นต่างในโลกออนไลน์ ด้วยการทำให้ความเป็นนิรนามในอินเทอร์เน็ตยากจะดำรงไว้หรือใช้เป็นข้ออ้างได้ หากแต่กฎหมายถูกทำให้รัดกุมขึ้น เพราะไม่ต้องการให้บุคคลนิรนามหรือใช้นามแฝง เพื่อใส่ร้ายหรือคุกคามผู้อื่น

ส่วน ลิว วุย เกียง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ โต้ประเด็นที่มีการวิจารณ์ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนี้จะทำให้พลเมืองเน็ตตกเป็นผู้ต้องหาได้ง่ายๆ ว่า ความกังวลดังกล่าวเป็นความกลัวที่ผิดที่ผิดทาง เพราะมาตรา 114A นั้นระบุไว้ชัดว่า บุคคลเพียงแต่ถูกสันนิษฐานเท่านั้น และว่า ข้อสันนิษฐานทั้งหลายเปิดให้มีการโต้แย้งในชั้นศาล ทั้งหมดเป็นเพียงสมมติฐาน จนกว่าจะสามารถพิสูจน์ได้

ด้าน CIJ ระบุว่า การสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด ขัดกับหลักความยุติธรรมขั้นพื้นฐานที่ว่า ผู้ถูกกล่าวหาบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิด และผลักภาระในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลไปให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต อีกทั้งยังส่งผลให้เจ้าของแอคเคาท์หรือคอมพิวเตอร์ที่ถูกแฮก ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาหรือข้อมูลที่ถูกเปลี่ยนได้

ขณะที่กลุ่มพรรคฝ่ายค้าน (Pakatan Rakyat) แสดงความกังวลว่า การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลต่อการผลิตเนื้อหาโดยผู้ใช้และการบริโภคเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต อันเป็นการสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจภายในของมาเลเซียที่กำลังเติบโต ซึ่งนับเป็น 4% ของจีดีพีของประเทศ ทั้งยังเป็นการคุกคามหลักการของความเป็นนิรนามในออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมอินเทอร์เน็ตเปิดและเสรี และคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์ด้วย

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทางการมาเลเซียได้ออกกฎให้ผู้ประกอบกิจการร้านอาหาร คาเฟ่ ผับ บาร์ เลานจ์คลับ ที่มีขนาดใหญ่กว่า 120 ตร.ม. ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่ต้องการจดทะเบียนการค้าใหม่ หรือต่อทะเบียนการค้า ต้องจัดบริการไว-ไฟฟรีหรือในราคาที่เหมาะสมแก่ลูกค้า ภายในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

เจฟ สันธุ โปรดิวเซอร์รายการ "Tech Talk" ของคลื่น BFM แสดงความเห็นว่า ในกรณีนี้เท่ากับว่าเจ้าของร้านอาหารเหล่านี้กำลังก้าวเข้าคุก ไม่ก็เดินไปขอให้ตำรวจจับกุมตัวเอง

นอกจากนี้ CIJ ระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายครั้งนี้ผ่านการพิจารณา ทั้งที่ยังมีกฎหมายอื่นๆ บังคับใช้อยู่ อาทิ พ.ร.บ.อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ 1997 พ.ร.บ.หมิ่นประมาท 1957 และมาตรา 233 ของพ.ร.บ.การสื่อสารและมัลติมีเดีย 1998 ซึ่งใช้เพื่อจับกุมและฟ้องผู้ที่หมิ่นประมาท ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ฉ้อโกง หรือปลุกระดมในออนไลน์ ต่อศาลอยู่แล้ว

CIJ ระบุว่า การรณรงค์ดับหน้าจออินเทอร์เน็ตที่จะเกิดขึ้นนี้ จะมีธุรกิจบนเน็ตต่างๆ อาทิ lelong.com.my เว็บร้านประมูล cari.com.my ฟอรัมออนไลน์ gua.com.my เว็บท่าแนวบันเทิง เว็บไซต์ข่าวออนไลน์อย่างมาเลเซียกินีและดิจิทัลนิวส์เอเชีย บล็อกเกอร์ รวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ เข้าร่วมด้วย

 

 

 

แปลและเรียบเรียงจาก

http://stop114a.wordpress.com

CIJ sets Aug 14 as Internet Blackout Day
http://www.theedgemalaysia.com/highlights/218253-cij-sets-aug-14-as-internet-blackout-day.html
Black day for Internet users — CPI
http://www.themalaysianinsider.com/sideviews/article/black-day-for-internet-users-cpi/
Pakatan seeks to halt new Evidence Act
http://www.freemalaysiatoday.com/category/nation/2012/06/28/pakatan-seeks-to-halt-new-evidence-act/
WiFi providers caught between Evidence Act, DBKL
http://foongchengleong.com/2012/06/wifi-providers-caught-between-evidence-act-dbkl/
Eateries to offer Wi-Fi service in April
http://www.nst.com.my/streets/central/eateries-to-offer-wi-fi-service-in-april-1.26479

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท