กสทช.จัดถก "ละครไทยในฝัน" กรุยทาง "วิชาชีพ" กำกับกันเอง

กสทช. จัดเวทีชวนผู้กำกับ "ธรณีนี่นี้ใครครอง" นักเขียนบทโทรทัศน์ "สวรรค์เบี่ยง" "สี่แผ่นดิน" นักวิชาการมานุษยวิทยาคอซีรีย์เกาหลี นักสิทธิฯ นักวิชาการสื่อ เครือข่ายผู้ปกครอง ถก "ละครโทรทัศน์แบบไหนที่สังคมไทยอยากเห็น"

(9 ส.ค.55) ที่ห้องประชุม โรงแรมอโณมา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดเวทีเสวนาความร่วมมือไตรภาคี เพื่อกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 2 หัวข้อ ละครโทรทัศน์แบบไหนที่สังคมไทยอยากเห็น โดยมีกลุ่มผู้ชม และผู้ประกอบธุรกิจสื่อเข้าร่วมรับฟัง อาทิ สมรักษ์ ณรงค์วิชัย ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตของช่อง 3 วัชระ ​แวววุฒินันท์ ประธาน​เจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ​เจ ​เอส ​แอล ​โกลบอล มี​เดีย จำกัด
 


ภาพจาก Ferminius
(CC BY-NC-ND 2.0)

อยากเห็นละครไทยตั้งคำถามปลายเปิด
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โน้ตของวิกิพีเดียภาคภาษาอังกฤษเกี่ยวกับละครไทย มีผู้แสดงความเห็นที่น่าสนใจว่า เนื้อหาละครไทยส่วนใหญ่เป็นเรื่องชนชั้นสูงในสังคมไทย พระเอก-นางเอกส่วนใหญ่บ้านรวย มักมีการรีเมก สืบทอดเนื้อหาอุดมการณ์ซ้ำแล้าซ้ำเล่า เนื่องจากมักมีบทและเนื้อหาเมโลดรามาติกหรือแสดงเกินจริง ผู้คน-เนื้อหาในเรื่องจึงมักจะมีมิติเดียว ขาดความลึก เหตุผลอาจมาจากการที่ต้องการให้มีคนดูมาก หรือโฆษณา สปอนเซอร์

ด้วยความด้านเดียวนี้จึงไม่สามารถช่วยให้เกิดความคิดเชิงวิเคราะห์ที่ซับซ้อนได้ ไม่ก่อให้เกิดการคิดแก้ปัญหาด้วยเหตุและผล หรือฉายให้เห็นด้านที่เป็นจริงของตัวละครที่มีหลายมิติ เนื่องจากดำเนินตามจารีตแบบนี้ หากเป็นไปในระยะหนึ่ง อาจทำให้ผู้ชมพัฒนาทัศนคติที่บิดเบี้ยวเกี่ยวกับความจริงของชีวิตได้ ที่น่าสนใจคือ มีผู้ให้ความเห็นว่า ปัญหาทางการเมืองไทยปัจจุบัน อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับอิทธิพลของละครไทย ซึ่งหล่อหลอมให้คนไทยขาดสามัญสำนึกในการคิดวิเคราะห์หรืออดทนกับการวิพากษ์วิจารณ์หรือความเห็นต่าง

เมื่ออ่านแล้ว คิดว่านี่ไม่ได้สะท้อนความจริงทั้งหมดของละครไทย เพราะมีละครบางเรื่องที่พยายามออกจากจารีตเดิม แต่ต้องยอมรับว่า 80% ของละครไทยยังเดินตามจารีตนี้ ส่วนตัวติดตามละครเกาหลี ซึ่งไม่มีพล็อตแบบนี้ ล่าสุดที่ดูคือ "I do I do" ซึ่งนางเอกอายุ 37 เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ละครไทยคงไม่มีทางทำแบบนี้

ปิ่นแก้วเสนอว่า ควรมีละครเชิงทางเลือกหรือเสนออะไรที่มีคุณภาพที่แหกจารีตขึ้นมา โดยเป็นเรื่องต้องลงทุน แม้นักลงทุนไทยอาจไม่ชอบอุตสาหกรรมเชิงความคิด เพราะไม่สร้างกำไร แต่ต้องทำ เพราะละครไทยผลิตซ้ำอุดมการณ์ที่ไม่ได้สะท้อนชีวิตจริงเท่าไหร่

ละครเกาหลีหรือญี่ปุ่นนั้นไม่ได้โฟกัสคู่ตรงข้าม ความดี-เลว แบบที่เดาตอนจบได้ แต่พล็อตส่วนใหญ่เป็น dilemma คือเล่นกับภาวะที่คนไม่ได้ตั้งใจอยู่ในภาวการณ์บางอย่าง แต่เงื่อนไขของชีวิตพาไป โดยมีทั้ง dilemma ของอนุรักษนิยม-เสรีนิยม การประสบความสำเร็จ-ความเป็นแม่ เหล่านี้ทำให้ตัวละคร-เนื้อเรื่องลึก ทำให้คนดูได้คิดวิเคราะห์ เพราะไม่ว่าเลือกอะไรก็แล้วแต่ ก็จะเกิดผลที่เราไม่คาดคิดได้ ทำให้คนเข้าใจปัญหาที่เป็นจริงในชีวิตตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องการเมืองได้

ทั้งนี้เชื่อว่าถ้าละครไทยเป็นละครปลายเปิด ตั้งคำถามชวนให้คนคิดและวิเคราะห์ อาจทำให้คนดูมีความสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวมากขึ้น

ปิ่นแก้วกล่าวว่า เห็นด้วยกับในวิกิพีเดียที่ว่าละครไทยส่วนใหญ่เป็นเรื่องชนชั้นสูง ไม่มีชีวิตของสามัญชน คนทำรองเท้า ชาวมุสลิม ช่างปั้นหม้อ ที่มีความรัก มีชีวิตที่ซับซ้อน มีทัศนคติต่างจากคนในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ การจะทำละครให้คนดูเข้าใจความหลากหลายของคนที่ต่างจากเราได้นั้น คนเขียนบทต้องทำการบ้านอย่างมาก ซึ่งเสนอว่า ไม่ต้องทำเองก็ได้ มีวรรณกรรมซีไรต์ วิทยานิพนธ์มานุษยวิทยาจำนวนมากที่จะทำให้ละครเข้าถึงวัตถุดิบของสังคมได้มากขึ้น
 

 

ว่าด้วยบรรทัดฐานรักต่างเพศในละคร
นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ นักวิชาการจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวว่า ละครไทยได้สร้าง Heteronormative หรือบรรทัดฐานทางเพศขึ้นมา ไม่ใช่แค่การพูดถึงความสัมพันธ์ชายหญิง หรือความสัมพันธ์ทางเพศ แต่เป็นเรื่องของอำนาจที่ถูกทำให้กลายเป็นบรรทัดฐานจนเราไม่รู้สึกว่าเป็นอำนาจ

Heteronormative มีผลต่อการผลิตซ้ำ สร้างภาพความเป็นตัวแทนของความเป็นผู้ชาย ความเป็นผู้หญิง ที่อยู่ใต้อุดมการณ์ของรักต่างเพศ ทำให้เกิดตัวละครที่สร้างความเป็นหญิงภายใต้สังคมแบบชายเป็นใหญ่ ผลิตซ้ำว่าความเป็นหญิงมีเพื่อความพอใจทางเพศเท่านั้น เมื่อผลิตซ้ำมากเข้า ชุดความรู้ที่ผู้หญิงจะเรียนรู้ภายใต้ความหลากหลายของความเป็นผู้หญิงจะหายไป

นอกจากนี้ Heteronormative ยังมีผลต่อการกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์และความปรารถนาทางเพศ เช่น Romantic Love ที่พูดถึงความรัก ความซื่อสัตย์ รักเดียวใจเดียว มั่นคงในความรัก ขณะที่ซ่อนอคติต่อการชิงรักหักสวาท การนอกใจ โดยผลิตซ้ำออกมาเป็นคู่ตรงข้าม ซึ่งนฤพนธ์ตั้งคำถามว่า การพยายามให้คุณค่าทางศีลธรรมของ Romantic Love ในความหมายด้านเดียว จะตีความให้มันหลากหลายในการปรากฏในช่วงชีวิตมนุษย์ได้อย่างไร

Heteronormative มีผลต่อการกำหนดบทบาทหน้าที่ของคนในครอบครัว เช่น พ่อแม่มีอำนาจปฏิเสธคู่รักของลูกชาย หาคู่รักให้ลูกสาว ศีลธรรมของครอบครัวเป็นศูนย์กลาง เชื่อในผัวเดียวเมียเดียว ผู้หญิงให้อยู่ในครัว เป็นต้น

นฤพนธ์ กล่าวด้วยว่า Heteronormative มีผลต่อการสร้างภาพตัวแทนของเพศ และเพศสภาพในแบบที่รัฐไทยต้องการเห็น รัฐไทยต้องการสร้างเพศวิถีแบบชาตินิยมที่ให้ความสำคัญกับบรรทัดฐานของรัฐเหนือกว่าความสัมพันธ์อื่นๆ

นอกจากนี้ เพศและเพศสภาพ (sex and gender) ในละครไทยหลายเรื่อง พยายามให้คุณค่าระบบผัวเดียวเมียเดียว เห็นเพศวิถีอื่นๆ เป็นเพียงน้ำจิ้ม มีการผลิตซ้ำ ถ่ายทอดมายาคติดูหมิ่นเหยียดหยามเพศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผู้ชาย-ผู้หญิงลงในละครไทย ทำให้เชื่อว่าคนที่เบี่ยงเบนทางเพศมีคาแรกเตอร์แบบนี้ แม้ปัจจุบันละครไทยพยายามเอาคาแรกเตอร์คนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศเข้ามามากขึ้น แต่ก็มีศีลธรรมบางอย่างซ่อนอยู่ในนั้น

ชี้ระบบการศึกษาส่งผลคุณภาพละคร
ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ หรือ ป้าแจ๋ว ผู้กำกับละครโทรทัศน์ เรื่อง "ธรณีนี่นี้ใครครอง" กล่าวว่า สาเหตุที่ละครของประเทศต่างๆ อย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลี อังกฤษ มีคุณภาพกว่า เพราะประชากรของเขาได้รับการศึกษาสูง ขณะที่ระบบการศึกษาไทยทำให้มาตรฐานคนดูไม่เท่าประเทศอื่น เราไม่สามารถทำละครสืบสวนสอบสวนได้ เพราะเรทติ้งจะแย่มาก มีเพียงคนจำนวนน้อยที่อยากดู

ผู้กำกับ "ธรณีนี่นี้ใครครอง" บอกว่า คนดูบางประเภท ชอบทำตัวเหนือ ต้องเก่งกว่าคนสร้าง อาทิตย์แรกที่ออกอากาศ วิจารณ์ว่าทำไมคุณย่า (ตัวละครใน "ธรณีนี่นี้ใครครอง") พูดไปสอนไป ทำไมคุณย่ายังสาว โดยไม่คิดถึงเหตุผลที่วางไว้ จะเห็นว่า คุณย่ามีหลานเป็นยี่สิบคนก็แปลว่าแต่งงานตั้งแต่ยังสาว ปรากฏว่าด่าไปแต่ก็ดูจนเข้าอาทิตย์ที่สาม หลงรักคุณย่าเข้าไปแล้ว

เราไม่สามารถสร้างขั้นตอนการดูละครให้มีรสนิยมได้ เพราะระบบการศึกษาของไทยแย่ลงกว่าตอนเราเป็นเด็กที่สอนให้คิดได้ ดูแล้วแยกแยะออก ปัจจุบัน ระบบการศึกษาแบบใหม่ไม่มีความเสถียรในการทำให้เกิดมาตรฐานที่ดี ยกระดับเยาวชนในชาติ

ส่วนละครสำหรับเพศต่างๆ นั้น ยุทธนากล่าวว่า ส่วนตัวอยากทำ แต่ทำไม่ได้ เพราะเมื่อมีข่าวว่าจะทำตัวละครจากนิยายที่เป็นหญิงรักหญิง ชายรักชาย ก็จะโดนถล่มจากผู้ปกครองและผู้ชมทันที

ยุทธนา กล่าวว่า เห็นด้วยกับหลายข้อเสนอที่วงอภิปรายเสนอมาและอยากทำในฐานะผู้ผลิต แต่มองว่าสิ่งที่ต้องทำก่อนคือการสร้างประชากรที่มีจิตสำนึก ยกย่องและให้เกียรติกันเมื่อเห็นว่าทำดี ไม่ใช่เอาแต่ตำหนิเพื่อชื่อเสียงของตัวเองเท่านั้น

โต้ละครรีเมกไม่ได้ทำสังคมแย่
ณัฐิยา ศิรกรวิไล ผู้เขียนบทโทรทัศน์ เรื่อง "สวรรค์เบี่ยง" โต้คำวิจารณ์ต่อละครไทยว่าทำให้สังคมแย่ โดยชี้ว่าละครส่วนมากมาจากนวนิยายงานเขียนเก่าๆ แม้แต่ "สวรรค์เบี่ยง" ก็เป็นงานเมื่อ 40-50 ปีก่อนที่นำมาทำใหม่ ถามว่าในยุคนั้นๆ สังคมเลวร้ายจากละครเหล่านั้นหรือไม่ หรือเป็นเพราะคนคิดกันน้อยลง เพราะเมื่อคนรุ่นนั้นดู ก็รู้ว่ามันคือละครไม่ใช่ชีวิตจริง

ส่วนตัวอยากทำละครที่ลงลึก ให้ข้อเท็จจริงของอาชีพนั้นๆ ในสังคม โดยพยายามค้นคว้าและทำอยู่ แต่สิ่งที่จะออกมาหน้าจอนั้นไม่ได้ขึ้นกับตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ หลายครั้งพบว่าเมื่อเขียนแล้วกลับโดนตัดทิ้ง นอกจากนี้ อาชีพแต่ละอาชีพยังมีม่านหรือบอดี้การ์ดอยู่ เช่น แพทย์ แอร์โฮสเตส ไม่สามารถสร้างให้เป็นคนเลวได้ ล่าสุดมีหนังสือสั่งมาว่าห้ามมีนักการเมืองเลวในละคร

หากจะพัฒนาละคร ต้องพัฒนาบุคลากรทุกสาขา ในส่วนของตนเองมองว่า วิชาการเขียนบทในมหาวิทยาลัยยังมีน้อย สี่ปีอาจมีเพียงหนึ่งวิชา ทั้งยังไปรวมกับวิชาการเขียนอื่นๆ อีก ทั้งนี้ เสนอว่า การทำละครนั้นมีต้นทุน หากอยากได้ละครดีๆ หน่วยงานราชการที่มีงบจำนวนมาก ก็น่าจะเข้ามาสนับสนุน เช่น ซื้อโฆษณา เป็นต้น

ชี้ "โครงสร้างธุรกิจ" มีผลต่อละคร
นลินี สีตะสุวรรณ ผู้เขียนบทโทรทัศน์ เรื่อง "สี่แผ่นดิน" กล่าวว่า ผู้ปกครองประเทศของเราได้ใช้ละครก่อรูปสังคมมานานแล้ว โดยพูดถึงเรื่องความดีความชั่ว ซึ่งรูปแบบนี้ก็ใช้ตามกันมา แต่ถามว่า ปัจจุบันนี้ สังคมแบบไหนที่เราอยากจะเห็น ก็ดูเหมือนว่าคนไทยจะยังไม่ชัดว่าอยากให้สังคมไทย เด็ก หรือครอบครัวเป็นอย่างไร ซึ่งนี่จะส่งผลต่อทิศทางของละครในอนาคต นอกจากนี้ เธอมองว่า โครงสร้างธุรกิจเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะที่ผ่านมา ผู้จัดในฐานะผู้ลงทุนมีอิทธิพลสูงต่อเนื้อหา ถ้าทำให้กลุ่มวิชาชีพเข้าสู่โครงสร้างธุรกิจได้ก็จะแก้ปัญหานี้

อยากได้ละครแทรกแง่คิดตลอดเรื่อง
อุษา บิกกินส์ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า อยากเห็นละครที่สะท้อนชีวิตแบบ realistic มีความเป็นคนจริงๆ ส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานที่ประสบความสำเร็จ โดยสอดแทรกข้อคิดตลอดเรื่อง อาทิ เศรษฐกิจพอเพียง ปลูกฝังทักษะชีวิตแก่เยาวชน ทั้งนี้ ไม่ต้องรอใส่ในตอนจบ เพราะคนอาจเปลี่ยนช่องไปก่อนและไม่สามารถจับแง่คิดได้ รวมถึงมีเนื้อหาที่ทำให้คนขบคิด เช่น ช่องทรู ที่มีเรื่องเกี่ยวกับนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนบทจะต้องทำงานหนัก แต่จะช่วยยกระดับความคิดผู้คนได้

อุษาระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการมีตัวเอกที่เป็นนางอิจฉา เช่น "เรยา" เพราะตัวเอกนั้นจะกลายเป็น role model ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี พร้อมชี้ว่า นอกกรอบได้ แต่ต้องทำสิ่งที่ถูกต้องด้วย

เสนอทางเลือกนอกกรอบให้บ้าง
นัยนา สุภาพึ่ง อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมความเป็นธรรมทางเพศ เล่าว่า ที่ผ่านมา ตนเองถูกคาดหวังให้ทำตามกรอบวัฒนธรรมประเพณีที่สังคมคาดหวังมาตลอด ทั้งเรื่องความเป็นหญิงที่ต้องเรียบร้อย หรือเรียนจบแล้วต้องแต่งงาน มีลูก ทั้งที่จริงๆ ก็ไม่ได้รู้สึกอยากทำ ดังนั้น จึงอยากให้ละครชี้ให้สังคมเห็นว่ามีทางเลือกที่ออกไปจากกรอบคิดแบบเดิมอย่างไรบ้าง เพื่อให้ผู้ชมสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ไม่ต้องเดินตามกันโดยไม่รู้ตัวว่ามีความทุกข์ รวมถึงอยากให้ผู้จัดละครเท่าทันกับปัญหาชีวิตแบบต่างๆ โดยเสนอให้ผู้จัดละครแลกเปลี่ยนข้อมูลกับองค์กรที่ทำงานในประเด็นต่างๆ เช่น เด็ก ผู้หญิง แรงงาน LGBT เพื่อทำให้ละครมีฉากชีวิตอื่นๆ บ้าง

นัยนาย้ำว่า อยากเห็นว่าละครจะขยับเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ แม้สังคมจะยังไม่เปลี่ยนก็ตาม ส่วนกรณีมีคำถามว่าหากเสนอเรื่องที่ล่อแหลม จะถูกมองว่าเป็นการชี้โพรงให้กระรอกนั้น มองว่า การนำเสนอจะต้องยกระดับการศึกษา คือ ให้ข้อมูลเต็มที่ทุกด้าน เพื่อทำให้ผู้รับเท่าทันว่าข้อมูลแบบไหนเป็นอย่างไร

ห่วงเยาวชนไม่มีคนแนะนำ
อัญญาอร พานิชพึ่งรัถ เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า ละครไทยเป็นงานประเภทเดียวที่ยังจัดระดับเรทติ้งไม่ตรงตามความร่วมมือที่เคยพูดคุยกันไว้ โดยที่ผ่านมา มีบางเรื่องที่ได้เรท น.13 (ผู้ใหญ่ควรแนะนำให้เด็กต่ำกว่า 13 ปี) แต่หลุดมาออกอากาศในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น ช่วงบ่ายที่เด็กอาจนั่งดูอยู่คนเดียว ไม่มีผู้ปกครองคอยให้คำแนะนำ จึงอยากเรียกร้องให้จัดสรรช่วงเวลาและมีสัญลักษณ์เตือนอย่างจริงจัง นอกจากนี้ เสริมว่า เนื้อหาที่ยังขาดไปคือ ทักษะและการส่งเสริมสัมพันธภาพชีวิตที่ดีในครอบครัว

จัดเวทีโฟกัสกรุ๊ป 16 ส.ค.นี้
สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง กล่าวว่า งานสำคัญของ กสทช. ตามที่กฎหมายระบุไว้คือ การจัดสรรคลื่นความถี่ และการกำกับดูแล โดยการกำกับดูแลนั้นยากไม่แพ้การจัดสรรคลื่นความถี่ เพราะมีทั้งแง่กฎหมายและเจตนารมณ์สากล ที่สื่อมีนัยสำคัญของเรื่องเสรีภาพของสื่อและสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน ดังนั้น แม้ กสทช.จะเป็นภาครัฐที่ต้องกำกับดูแล แต่เจตนารมณ์กฎหมายไม่ได้ให้ใช้อำนาจควบคุม แต่เป็นการส่งเสริมการรวมตัวและกำกับดูแลกันเองของวิชาชีพ

โดยรูปธรรม ในอนาคต เมื่อสื่อทุกแขนงได้ใบอนุญาตประกอบกิจการจาก กสทช. แล้วต้องรวมตัวกันเป็นองค์กรวิชาชีพและต้องมีแนวกรอบจรรยาบรรณ โดยตามกฎหมาย กสทช. จะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งผู้ชม นักวิชาการ ผู้ผลิตละครโทรทัศน์ เข้ามาแลกเปลี่ยน เพื่อนำไปสู่การจัดทำร่างคู่มือแนวทางปฏิบัติกลาง (Guideline) เพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองของผู้ประกอบการวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

ทั้งนี้ ในวันที่ 16 ส.ค.นี้ จะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus group) เวลา 09.30-16.00 น. ณ อาคารหอประชุมชั้น 2 สำนักงาน กสทช.จากนั้นจึงรวบรวมความคิดเห็นเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง หรือ กสท. ในเดือน ก.ย.นี้ โดยคาดว่าจะเริ่มประกาศใช้ร่างดังกล่าวอย่างเป็นทางการได้ในเดือน ต.ค.นี้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท