Skip to main content
sharethis
คนรัฐบาลชี้ยาแพง-คนเมาเพิ่มไม่เป็นไร ต้องเดินหน้า เอฟทีเอกับสหภาพยุโรปให้ได้ รุมอัดกรมเจรจาฯ มั่วข้อมูลไม่มีผลกระทบ
 
10 ส.ค. 55 - ในการประชุมระดับสูงเพื่อพิจารณาเตรียมการเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีของไทย วานนี้ มีการพิจารณาประเด็นที่มีความอ่อนไหวในการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอร์และบุหรี่, ทรัพย์สินทางปัญญา, การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ, นโยบายการแข่งขันทางการค้า และการเปิดตลาดสินค้าบริการ
 
แหล่งข่าวในทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า แม้หน่วยงานที่รับผิดชอบจะยืนยันว่าข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปด้านทรัพย์สินทางปัญญาจะเกินเลยไปกว่าความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลก หรือ ดับเบิลยูทีโอ ซึ่งจะส่งผลต่อราคายา และการเข้าถึงยาของประชาชนไทย แต่รองนายกรัฐมนตรี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม กลับมีคำสั่งสวนคำแนะนำของหน่วยงาน เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญาและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้เร่งการเจรจาเปิดการค้าเสรีกับทางสหภาพยุโรปเร่งด่วนที่สุด โดยให้เหตุผลว่ายอมให้คู่เจรจาเดียว (สหภาพยุโรป) เท่านั้น คงไม่เป็นไรมากนัก อีกทั้งยังมีท่าทียอมรับการเปิดเสรีนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นผลประโยชน์สำคัญของบางประเทศในยุโรป นอกจากนี้รองนายกฯ ยังยกเลิกแนวทางของทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่จะให้มีการนำร่างกรอบการเจรจามาจัดรับฟังความเห็นประชาชนก่อนเสนอต่อรัฐสภาอีกด้วย
 
ต่อกรณีนี้ นายจักรชัย โฉมทองดี จากกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ให้ความเห็นว่า น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลมีท่าทีดังกล่าว ซึ่งสวนทางกับจุดยืนที่รัฐบาลไทยมีมาโดยตลอดคือการไม่ยอมรับความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินเลยกว่าความตกลงในองค์การการค้าโลก เรื่องนี้อาจตีความได้สอง แบบคือหนึ่งการขาดความจัดเจนกลยุทธการเจรจาการค้า เนื่องจากหากยอมตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปแล้ว ในทางปฏิบัติแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลบเลี่ยงข้อเรียกร้องเดียวกันจากคู่เจรจาสำคัญอื่นๆ หรือ สองรู้แต่แกล้งไม่รู้เนื่องจากผลประโยชน์ทางธุกิจด้านอื่นครอบงำการตัดสินใจอยู่ มากไปกว่านั้นรัฐบาลยังมีวามคิดที่จะยอมให้เหล้ายุโรปเข้ามาขายอย่างเสรีใน ประเทศไทยมากขึ้น โดยระบุเพียง การใช้กลไกภายในคือภาษีสรรพสามิตรองรับ ซึ่งในทางปฏิบัติก็เป็นไปได้ยากยิ่งเช่นกัน
 
"แต่ที่หน้าเป็นห่วงที่สุดเห็นจะเป็นความตั้งใจที่จะละเลยประชาชนโดยหลีกเลี่ยงการทำประชาพิจารณ์ก่อนเสนอสภา ซึ่งทั้งขัดหลักธรรมาภิบาล และ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ซึ่งหากเป็นจริงรัฐบาลก็สุ่มเสี่ยงที่จะต้องกลับมาลุ้นคำตัดสินของศาลรัฐ ธรรมนูญอีกในที่สุด" จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนท่าทีดังกล่าว ซึ่งจะไม่ทำให้การเจรจาหากจะเกิดขึ้นล่าช้าแต่ประการใด โดยที่อาจส่งผลให้เร็วขึ้นเสียด้วยซำ
 
ทางด้านนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า รู้ตกใจกับท่าทีของกรมเจรจาฯที่เสนอให้ยอมรับการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา 5 ปี ทั้งที่งานวิชาการที่ทำโดยนักวิชาการอิสระและหน่วยราชการ อาทิ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังชี้ชัดว่า เป็นข้อเรียกร้องที่มีผลกระทบรุนแรง แค่ 5 ปี จะมีผลกระทบต่องบประมาณมากกว่า 81,000 ล้านบาท ประสบการณ์ในต่างประเทศทั้งโคลัมเบียและจอร์แดนก็ได้ผลกระทบชัดเจน ที่ผ่านมาทางฝ่ายไทยจึงมีท่าทีไม่รับข้อเรียกร้องนี้มาโดยตลอด
 
"นี่แสดงให้เห็นว่า กรมเจรจาฯไม่เคยใช้ข้อมูลหรือความรู้นำการเจรจาเลย จึงให้ข้อมูลที่ผิดๆต่อฝ่ายนโยบายว่า รับไปเถอะจะไม่มีผลกระทบอะไร ขอให้รัฐบาลทบทวนท่าทีดังกล่าว"
 
ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ตั้งข้อสังเกตการเร่งการเจรจาความตกลงการค้าเสรี ไทย-อียู อย่างรวบรัดผิดปกติ และไม่ได้ให้ความสนใจกับข้อรับฟังความเห็นสาธารณะและข้อมูลวิชาการใดๆเลย  ที่น่าเสียใจคือท่าทีของกรมเจรจาการค้าฯที่นอกจากจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและสังคมเลย ยังโอนอ่อนต่อท่าทีของทางอียูเป็นอย่างยิ่ง จากเอกสารการประชุมจะเห็นว่าท่าทีของกรมเจรจาคือประเทศไทยควรยอมให้ทางอียูมาค้าขายเหล้าบุหรี่อย่างเสรี เพราะกลัวคำขู่ของทางอียูขู่ว่าจะไม่เจรจาต่อหากไม่รวมเหล้าบุหรี่ในกรอบการเจรจา ซึ่งในการยอมเปิดค้าเสรีนั้นทางกรมเจรจาการค้าฯจะผลักดันให้มีการล้มมติ ครม. ปี 2553 ว่าด้วยยุทธศาสตร์แอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่ระบุว่าจะคุ้มครองสุขภาพคนไทยไม่ยอมให้บรรจุน้ำเมาในรายการสินค้าและบริการในข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ
 
นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า การแยกสุราและยาสูบออกจากข้อตกลงการค้าว่าเป็นสิ่งสอดคล้องกับความต้องการของสังคมไทย จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในปี 2553 และ 2554 ซึ่งพบว่าประชาชนไทยประมาณร้อยละ 68.4 ของประชาชนไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลไทยจะทำสัญญายอมให้ผู้ประกอบการสุราต่างชาติเข้ามาผลิต นำเข้า ขาย และโฆษณาสุราอย่างเสรี และร้อยละ 70 ไม่เห็นด้วย กับการที่ รัฐบาลต่างชาติพยายามผลักดันรัฐบาลไทยทำสัญญาให้การเปิดเสรีสุรา นั่นแสดงให้เห็นว่าประชาชนไทยส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลไทยมีความเข้มแข็งในการปกป้องสุขภาพของคนไทยโดยไม่ยอมตามแรงกดดันของต่างชาติ ดังนั้นจุดยืนที่อยากจะบรรจุเหล้าบุหรี่เข้าไปในการค้าเสรีระหว่างประเทศ จึงเป็นทิศทางที่ขัดแย้งกับข้อมูลวิชาการ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญปัญหาแอลกอฮอล์ขององค์การอนามัยโลกรายงานว่าความตกลงการค้าเสรีในระดับต่างๆ มีผลสำคัญต่อปัญหาแอลกอฮอล์และการพัฒนานโยบายการปกป้องสุขภาพของประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net