Skip to main content
sharethis

กรรมการศึกษา ติดตามกระบวนการขออนุญาตประทานบัตรโปแตชอุดรฯ ลงพื้นที่ สำรวจการปักหมุดรังวัดเขต พิสูจน์ข้อค้านชาวบ้าน จำนวนกว่า 5,000 รายชื่อ ด้าน เอ็นจีโอ จวก กพร. หมกเม็ด ไม่เปิดเผยข้อมูล หวังดันประทานบัตร

 
 
วานนี้ (14 ส.ค.55) เวลา 13.00 น. คณะกรรมการศึกษา ติดตามกระบวนการขออนุญาตประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ได้ลงตรวจสอบข้อเท็จจริง ในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี คำขอประทานบัตรที่ 1-4/2547 ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ซึ่งครอบคลุม 5 ตำบล ได้แก่ ต.หนองขอนกว้าง ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง ต.นาม่วง และต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม โดยมีตัวแทนจากที่ดินจังหวัดเป็นคนกลางร่วมตรวจสอบ และมีชาวบ้านในพื้นที่กว่า 100 คน เข้าร่วมสังเกตการณ์
 
การลงพื้นที่ครั้งนี้ สืบเนื่องจากว่ามีชาวบ้าน จำนวนกว่า 5,000 รายชื่อ ได้ยื่นโต้แย้ง คัดค้าน ตามมาตรา 49 ของ พ.ร.บ.แร่ 2510 ว่า ข้อมูลสภาพพื้นที่ในใบไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรเป็นเท็จ และการปักหมุดรังวัดเขตคำขอประทานบัตร จำนวน 6 หมุด ครอบคลุมพื้นที่เหมืองกว่า 2.6 หมื่นไร่ ไม่ถูกต้อง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงพื้นที่ของคณะกรรมการฯ ในครั้งนี้ ได้เริ่มต้นด้วยการดูพื้นที่บริเวณรอบหนองนาตาล ซึ่งแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีเนื้อที่เกือบ 1,000 ไร่ และเป็นพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่ที่จะทำโรงแต่งแร่ ของบริษัทเอพีพีซี หลังจากนั้น คณะกรรมการฯ และกลุ่มชาวบ้านที่ร่วมสังเกตการณ์ได้ตระเวนไปดูหมุดตามจุดต่างๆ ทั้งหมด 6 จุด ปรากฏว่า พบหมุดรังวัดเพียงจุดเดียวเท่านั้น คือริมถนนมิตรภาพอุดร-ขอนแก่น บริเวณหน้าสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ที่เหลืออีก 5 จุด ไม่พบหมุดรังวัด
 
นางมณี บุญรอด คณะกรรมการศึกษา ติดตามกระบวนการขออนุญาตประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ได้กล่าวถึงการลงพื้นที่ในครั้งนี้ว่า คณะกรรมการฯ ได้มีมติร่วมกันที่ลงมาเพื่อดูสภาพข้อเท็จจริงของพื้นที่และหมุดรังวัด ซึ่งข้อเท็จจริงของสภาพพื้นที่ที่คณะกรรมการเห็นในวันนี้ ผิดจากที่มีการระบุไว้ในใบไต่สวน และหมุดรังวัดก็พบเพียงจุดเดียวเท่านั้น ส่วนจุดอื่นๆ ไม่พบว่ามีหมุดรังวัดเลย
 
“หลังจากนี้ก็จะลงบันทึกผลจากการลงพื้นที่ร่วมกัน แล้วจะนำบันทึกผลการลงพื้นที่ในครั้งนี้เข้าที่ประชุมของคณะกรรมการฯ ซึ่งเมื่อทำผิดก็จะต้องดำเนินการว่าไปตามผิด ” นางมณี กล่าว
 
สอดคล้องกับ นายภัทรชัย แก้วมณี นายช่างรังวัดชำนาญงานสำนักงานที่ดินจังหวัดอุดรธานี ซึ่งร่วมในการสำรวจที่ระบุว่า เจอเพียงแค่หมุดเดียวตรงริมถนนมิตรภาพ และจับ จีพีเอส ดูแล้ว ก็มีพิกัดตรงกันกับที่ระบุไว้ในแผนที่ ส่วนหมุดที่เหลือที่ลงไปตรวจดูแล้วตามจุดต่างๆ ที่มีการระบุว่ามีการปักหมุด ก็ไม่พบหมุด
 
นายภัทรชัย กล่าวถึงการเข้ามามีบทบาทเข้ามาลงพื้นที่ในครั้งนี้ว่า ทางคณะกรรมการได้มีการตั้งประเด็นการตรวจสอบถึงใบไต่สวนที่ไม่ถูกต้อง แล้วจึงมีหนังสือมายังสำนักงานที่ดินจังหวัด เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่มาเป็นคนกลางในการร่วมตรวจสอบ ตนเองจึงได้เข้ามาร่วมตรวจสอบสภาพพื้นที่และหมุดรังวัดในครั้งนี้ด้วย
 
“ในการลงพื้นที่ในครั้งนี้บรรยากาศก็ราบรื่นดีมีการพูดคุยกันกับคณะทำงานอย่างเป็นเหตุเป็นผลไม่ได้ใช้อารมณ์กระทบกระทั่งกันแต่อย่างใด” นายภัทรชัย กล่าว
 
ส่วน นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน แสดงความคิดเห็นว่า จากการลงพื้นที่ของคณะกรรมการฯ ในวันนี้ ทำให้เห็นว่ากระบวนการขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรที่ผ่านมานั้น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) พยายามจะหมกเม็ด และไม่เปิดเผยข้อมูลให้กับชาวบ้าน ซึ่งมองได้สองประเด็น คือ โดยข้อเท็จจริงนั้นได้ปรากฏว่า ไม่มีหมุดรังวัด ตามที่ กพร. เคยอ้างมาตลอดว่าทำการปักเสร็จแล้ว อีกประเด็น คือ ขั้นตอนการขอประทานบัตรเหมืองแร่นั้น กพร. ก็จะพยายามดันต่อ ทั้งที่ชาวบ้านมีการค้านมาแล้วกว่า 5,000 รายชื่อ
 
“ในส่วนเรื่องใบไต่สวนที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ ซึ่งวันนี้กรรมการฯ ก็มาดูแล้วก็พิสูจน์ชัดแล้ว ทาง กพร.ก็บ่ายเบี่ยงว่าไม่ใช่สาระสำคัญหลักในส่วนเอกสารใบไต่สวน ควรจะต้องไปดูในส่วนของรายงาน อีเอชไอเอ ซึ่งทางเรามองว่า กพร.กำลังจะปัดความรับผิดชอบไปให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” นายสุวิทย์ กล่าว
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการศึกษา ติดตามกระบวนการขออนุญาตประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ตั้งขึ้นมาโดยอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ มีบทบาทหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องการไต่สวนพื้นที่ และกระบวนการขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี รวมทั้ง ร่วมกันพิจารณาข้อกฎหมายแร่ มาตรา 88/9 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ให้ได้ข้อยุติ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net