ประชาธรรม: เครือข่าย ปชช.จี้รัฐทบทวน 7 โครงการพลังงานภาคเหนือ–แผนพีดีพี 2010

คณะทำงานศึกษาผลกระทบจากโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ.ในภาคเหนือ เรียกร้องรัฐฯ ทบทวนโครงการและแผนพีดีพี 2555-2573 เตรียมชงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าสะอาด-ประหยัด-เป็นผลประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

 
16 ส.ค.55 เวลา 10.00 น.คณะทำงานศึกษาผลกระทบจากโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ.ในภาคเหนือ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน แสดงเจตนารมณ์เรียกร้องรัฐบาลทบทวนโครงการและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (2555-2573) ฉบับปรับปรุงครั้งที่3 โดยมีตัวแทนชาวบ้านในหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าร่วมแถลงข่าว ณ ร้านหนังสือ Book Re:public จ.เชียงใหม่
 
นายมนตรี จันทวงศ์ ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.) กล่าวว่า ในนามคณะทำงานศึกษาผลกระทบจากโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ.ในภาคเหนือ ได้จัดตั้งขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการไฟฟ้าต่างๆ และการแสวงหาทางออกทางด้านไฟฟ้าของประเทศ ที่สามารถตอบสนองการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ต้องการเรียกร้องให้ กฟผ.และรัฐบาล ทบทวนโครงการพัฒนาต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2555-2573 ทั้งนี้ต้องคืนสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาทุกๆด้าน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ตามาตรา 57 และ 67
 
นายมนตรี กล่าวเสริมว่า ขณะนี้มีโครงการพลังงานไฟฟ้าภาคเหนือ 7 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ จากโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ใน สปป.ลาวผ่านเข้ามาทาง จ.น่าน 2.โครงการเขื่อนฮัตจี บนแม่น้ำสาละวินในประเทศพม่า ผ่านเข้ามายัง จ.ตาก 3.โครงการเขื่อนท่าซางบนแม่น้ำสาละวินในประเทศพม่า ผ่านเข้ามาทางอ.แม่อาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ส่งไปยัง จ.ลำปาง 4.โครงการสายส่งจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมายกก ในรัฐฉาน ประเทศพม่า ผ่านเข้ามาทาง จ.เชียงราย 5.โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ใน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง 6.โครงการทำเหมืองลิกไนต์ ที่ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ และ 7.โครงการสายส่งไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบ่ง และเขื่อนน้ำอุใน สปป.ลาวผ่านเข้ามาทางอ.สองแคว อ.ท่าวังผา จ.น่าน
 
"โครงการทั้งหมดสะท้อนภาพเก่าของปัญหาเชิงระดับรายโครงการ อาทิ การปฏิบัติตามกฎหมาย การดูแลรับผิดชอบผลกระทบจากเจ้าของโครงการ ขณะที่ระดับโครงสร้างอย่างแผนพีดีพีก็มีข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ว่ามีเราพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินจริงมาโดยตลอด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้ภาคประชาชนเข้ามาตรวจสอบกระบวนการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า และการร่วมกำหนดแผนพีดีพี ซึ่งจากเดิมจำกัดอยู่ในวงของหน่วยงานรัฐและ กฟผ.เท่านั้น เพื่อควบคุมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต" นายมนตรี กล่าว
 
พ่อหลวงนุ ชำนาญไพร ตัวแทนชาวบ้าน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า พี่น้องที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำสาละวินมีความกังวลต่อ เรื่องผลกระทบวิถีชีวิต การทำมาหากินของชาวบ้าน สิ่งแวดล้อมที่จะถูกทำลาย อีกทั้งเขื่อนฮัตจีไม่ใช่สร้างผลกระทบจากพี่น้องฝั่งไทยเพียงฝั่งเดียว แต่มีพี่น้องจากฝั่งพม่าอีกด้วยที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ
 
ตัวแทนชาวบ้าน อ.แม่สะเรียง กล่าวอีกว่า "ที่ผ่านมาทาง กฟผ. พูดว่าสามารถรองรับพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ได้ หากมีการอพยพ แต่ความเป็นจริงไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากพื้นที่อพยพไม่เพียงพออย่างแน่นอน ส่วนพี่น้องฝั่งพม่าคงยากลำบากที่จะสามารถจัดการพื้นที่อพยพให้พวกเขา ตลอดระยะเวลา 4-5 พี่น้องทั้งสองฝั่งได้พูดคุยกันถึงโครงการสร้างเขื่อนที่จะเกิดขึ้น ชาวบ้านมีความเห็นตรงกันว่า ไม่ต้องการให้เกิดโครงการสร้างเขื่อนต่างๆ เนื่องจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมีมากมายมหาศาล"
 
ด้านนายโอฬาร อ่องฬะ ตัวแทนคณะทำงานศึกษาผลกระทบฯ กรณี อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.ได้ลงพื้นที่เวียงแหงตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 พยายามสำรวจถ่านหินลิกไนต์ที่เวียงแหงเพื่อป้อนพลังงานเข้าสู่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งหากพิจารณาตามแผนพีดีพีของรัฐบาลฉบับล่าสุด จะพบว่าได้กำหนดให้มีโรงไฟฟ้าใหม่ที่แม่เมาะอีก 4 โรง แม้ว่า กฟผ.จะพยายามทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แต่คนในชุมชนก็รวมต่อสู้เพื่อให้ กฟผ.ยกเลิกโครงการเช่นกัน
 
"สำหรับกรณีส่วนเขื่อนท่าซางที่จะเกิดขึ้นนั้น แม้จะเป็นโครงการในประเทศพม่าแต่ก็กระทบกับประเทศไทย คือจะมีการลากส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 กิโลโวลต์ เชื่อมเข้ามาในประเทศผ่านพื้นที่เวียงแหง เข้าสู่ อ.เชียงดาว ซึ่งชาวบ้านยังไม่ได้รับทราบข้อมูลจากโครงการเกี่ยวกับกระบวนการเดินสายไฟดังกล่าว เช่นเดียวกับกรณีที่ จ.น่าน ปัจจุบันชาวบ้านได้ตั้งเป็นเครือข่ายติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และยื่นหนังสือให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนให้ตรวจสอบลงพื้นที่ และต่อจากนี้ต้องติดตามเรียกร้องกับรัฐบาลต่อไป" นายโอฬาร กล่าว
 
นางจุฑามาศ ราชประสิทธิ์ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา จ.เชียงราย กล่าวว่า เมื่อปี 2549 ทราบข่าวว่าจะมีการขุดเหมืองถ่านหินลิกไนต์และจะมีการขนส่งเข้ามายัง จ.เชียงราย บริเวณ ต.เทอดไท อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย หลังจากนั้นปี 2551 มีโครงการทำถนนจากบริเวณชายแดนไทย-พม่า ในจุดที่เป็นป่าประมาณ 5-6 กิโลเมตร ผ่านมาทางบ้านม้งเก้าหลัง ระหว่างปี 2552-2553 ทางเครือข่ายคณะทำงานยุติการขนส่งถ่านหินผ่าน จ.เชียงรายร่วมกับเครือข่ายของ จ.เชียงใหม่ ร่วมกันคัดค้านการขนส่งถ่านหิน และปี 2554 ได้รับทราบข่าวว่าจะไม่มีการทำถนนและขนถ่านหินผ่านทางเขตชายแดนไทย-พม่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าสงวน
 
นางจุฑามาศ กล่าวทิ้งท้ายว่า "การทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ ของโครงการมายกกถือว่าเป็นอันตราย เนื่องจากว่าเหมืองอยู่ทางต้นน้ำแม่กก หากมีการเปิดเหมืองอย่างเต็มรูปแบบ สารเคมีที่ไหลลงมาจากต้นน้ำแม่กก จะไหลสู่เชียงรายและคนเชียงรายก็ใช้แม่น้ำนั้นด้วย ล่าสุดทราบว่ามีการขุดพบสายแหล่งทองคำ บริเวณตัวเหมือง และมีแนวโน้มว่าจะมีการเปิดเป็นเหมืองทองคำแทน ซึ่งจะทำให้ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมรุนแรงขึ้น"
 
ทั้งนี้คณะทำงานศึกษาผลกระทบฯได้จัดทำเอกสารแถลงเจตนารมณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนแผนพัฒนาพลังงาน พร้อมยื่นข้อเสนอแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่สมเหตุผล สะอาดและประหยัดต่อรัฐบาล โดยมีรายละเอียด ดังนี้
 
 
 
แถลงการณ์
 
"รัฐบาลต้องทบทวนโครงการและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (2555-2573) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3"
 
ในนาม "คณะทำงานศึกษาผลกระทบจากโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ. ในภาคเหนือ" ขอเรียกร้องให้ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาทบทวน โครงการพลังงานไฟฟ้าในภาคเหนือจำนวน 7 โครงการภายใต้การดำเนินการของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และได้ทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (2555-2573) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 โดยต้องคืนสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาทุกๆด้าน ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 57, 58 และ 67 ได้รับรองไว้
 
โครงการพลังงานไฟฟ้าในภาคเหนือจำนวน 7 โครงการภายใต้การดำเนินการของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แก่
 
1.โครงการสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ จากโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ในประเทศ สปป.ลาว กำลังการผลิต 1,473 เมกะวัตต์ กำลังก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ผ่านเข้ามาทาง อ.สองแคว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ไปเชื่อมต่อกับระบบสายส่งที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
 
2.โครงการเขื่อนฮัตจี กำลังการผลิต 1,260 เมกะวัตต์ บนแม่น้ำสาละวินในประเทศพม่า และโครงการสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ ผ่านมายังประเทศไทยด้าน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก โดย กฟผ. ไปร่วมลงทุนก่อสร้างเขื่อนฮัตจีผ่าน บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
 
3.โครงการเขื่อนท่าซางบนแม่น้ำสาละวินในประเทศพม่า กำลังการผลิต 5,000 เมกะวัตต์ และโครงการสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ ผ่านมายังประเทศไทยด้าน อ.แม่อาย, อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ไปเชื่อมระบบสายส่งที่ จ.ลำปาง โดย กฟผ. ไปร่วมลงทุนก่อสร้างเขื่อนท่าซางผ่าน บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
 
4.โครงการสายส่งจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมายกก ในรัฐฉาน ประเทศพม่า มีกำลังการผลิต 405 เมกะวัตต์ ในรัฐฉาน ประเทศพม่า จะก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าเข้ามายังประเทศไทย ด้าน อ.แม่จัน จ.เชียงราย มาเชื่อมกับสถานีไฟฟ้าเชียงราย
 
5.โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ใน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
 
6.โครงการทำเหมืองลิกไนต์ ที่ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เพื่อขนส่งถ่านหินไปใช้ที่ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง
 
7.โครงการสายส่งไฟฟ้า จากเขื่อนปากแบ่ง และเขื่อนน้ำอู ในประเทศสปป.ลาว จะผ่านเข้ามาทาง   อ.สองแคว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ไปเชื่อมต่อกับระบบสายส่งที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
 
ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
 
1.ในระดับโครงการนั้น ทุกโครงการจะสร้างปัญหาผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและต่อชุมชน ทั้งภายในประเทศและข้ามพรมแดน ซึ่ง กฟผ. มิได้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส บนหลักการธรรมาภิบาลที่ดี  และอาจข้ามขั้นตอนของกฎหมายที่กำหนดไว้ อาทิเช่น
 
- โครงการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ที่รับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศนั้น ชุมชนที่อยู่ในแนวสายส่งไม่มีโอกาสรับทราบข้อมูล (เช่น ภาพรวมของโครงการ, แนวสายส่งไฟฟ้า, ผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่อยู่อาศัยตามแนวสายส่งไฟฟ้าในระยะยาว) และมีกระบวนการมีส่วนร่วมตัดสินใจต่อโครงการทั้งหมดในภาพรวมได้ ชุมชนจะรับทราบก็ต่อเมื่อได้มีการตกลงซื้อขายไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าในประเทศไทย ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ โดยชุมชนไม่มีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลและสิทธิแสดงความเห็นต่อโครงการ ตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 57, 58 แต่ประการใด  นอกจากนั้นการผูกพันการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าในสัญญานั้น ยังเป็นการดำเนินการที่ข้ามขั้นตอนของกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 67 และกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้โครงการของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จก่อนการดำเนินโครงการด้วยเช่นกัน
 
- โครงการเขื่อนฮัตจี บนแม่น้ำสาละวินในประเทศพม่า จะสร้างปัญหาผลกระทบต่อชุมชนและระบบนิเวศในประเทศไทยด้วยเช่นกันนั้น  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ดำเนินการตรวจสอบและมีมติให้ระงับการดำเนินการโครงการดังกล่าว และได้แจ้งมตินี้ต่อรัฐบาลในปี 2552 แต่จนถึงปัจจุบัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยังคงประกาศจะเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนฮัตจี โดยมิได้ใส่ใจต่อมติของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแต่ประการใด
 
- โครงการเหมืองถ่านหินที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างเตรียมการนั้น โครงการนี้ได้สร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในชุมชน และจะสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการใช้ที่ดิน, แหล่งน้ำ และคุณภาพอากาศของชุมชนเวียงแหงตลอดระยะเวลาการทำเหมืองอย่างน้อย 30 ปี ซึ่งปริมาณถ่านหินสำรองทั้งหมดที่อำเภอเวียงแหง เทียบได้กับการใช้ถ่านหินของโรงไฟฟ้าแม่เมาะเพียง 1 ปีเท่านั้น
 
- โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ใน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เท่ากับเป็นการซ้ำเติมปัญหาผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ในยาวนานออกไปอีก
 
 
2.    ในระดับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(2555-2573) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 นั้น ได้กำหนดเป้าหมายของการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศรวม 6,572 เมกะวัตต์ ซึ่งแยกได้ดังนี้
 
- ระหว่างปี 2555 ถึง 2562 มีการลงนามในสัญญาซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศแล้วรวม 3,572 เมกะวัตต์
 
- ระหว่างปี 2564 ถึง 2573 กำหนดในแผนว่าจะรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศปีละ 300 เมกะวัตต์ รวม 3,000 เมกะวัตต์
 
ดังนั้นการที่ กฟผ.ระบุว่าจะพัฒนาโครงการเขื่อนฮัตจีและเขื่อนท่าซางในเดือนกรกฎาคม 2555 ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกันถึง 6,260 เมกะวัตต์นั้น เป็นจำนวนที่มากกว่าการรับซื้อที่ระบุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้ากว่าสองเท่าตัว ซึ่งเป็นแผนฯที่เพิ่งประกาศใช้ใหม่เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 จึงเป็นความขัดแย้งกันเองอย่างเห็นได้ชัด และสะท้อนให้เห็นว่าแผนกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ไม่ได้ถูกตั้งบนพื้นฐานของความต้องการไฟฟ้าที่แท้จริง และในกรณีของเขื่อนฮัตจีและเขื่อนท่าซาง กฟผ. จะมีภาพลักษณ์ของผลประโยชน์ทับซ้อนในการไปร่วมลงทุนก่อสร้างเขื่อนในประเทศพม่าด้วย โดยสามารถผลักภาระต้นทุนของการมีไฟฟ้าสำรองมากเกินไป ให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ
 
นอกจากนี้ในปี 2563 กฟผ.จะมีกำลังผลิตติดตั้งที่พึ่งได้สูงถึง 44,089 เมกะวัตต์  ดังนั้นหาก กฟผ.เลือกลงทุนในการเพิ่มประสิทธิการใช้พลังงานให้ได้ 1 % ต่อปี และต่อเนื่องไปจนสิ้นสุดแผนในปี 2573 แล้ว เท่ากับการได้กำลังการผลิตไฟฟ้ากลับคืนมาประมาณ 440 เมกะวัตต์ต่อปี การเลือกลงทุนในวิธีนี้เท่ากับ ประเทศไม่จำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศอีกต่อไปตั้งแต่ปีพ.ศ. 2564
 
3. การพัฒนาแผนกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยพัฒนาจากข้อบกพร่องของการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่ผ่านมา (ได้แก่ การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เกินความเป็นจริง, การประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงเกินจริง และเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด), การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า ที่สอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปีของรัฐบาล, การเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน, การเพิ่มการผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วมที่มีประสิทธิภาพสูง (Cogeneration), การเพิ่มการผลิตพลังงานไฟฟ้าและความร้อนร่วม, การขยายอายุโรงไฟฟ้าบางแห่งจาก 20-25 ปี เป็น 30 ปี ซึ่งมีชื่อเรียกว่า "ข้อเสนอ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า 2555-2573 (แผนพีดีพี 2012*)"
 
แผนพีดีพี 2012 จะส่งผลให้กำลังผลิตทั้งหมดจนถึงสิ้นปี 2573 นั้น เท่ากับ 35,579 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับกำลังผลิตพึ่งได้ในปีนี้อยู่ที่ 30,608 เมกะวัตต์ เท่ากับว่าใน 18 ปีข้างหน้า ประเทศมีความต้องการใช้ไฟฟ้าจริงเพิ่มขึ้นเพียง 4,971 เมกะวัตต์ หรือปีละ 276 เมกะวัตต์เท่านั้น
 
และหากเทียบกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(2555-2573) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 กำหนดให้ปี 2573 มีกำลังผลิตไฟฟ้าพึ่งได้เท่ากับ 60,680 เมกะวัตต์แล้ว หมายถึงใน 18 ปีข้างหน้า ประเทศต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าให้ได้ถึงปีละ 1,760 เมกะวัตต์
 
แผนพีดีพี 2012 นอกจากจะไม่ต้องดำเนินการใน 7 โครงการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังรวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าอีกเป็นจำนวนมากไม่มีความจำเป็นต้องสร้างอีกต่อไป ผลประโยชน์ที่จะได้จากแผนพีดีพี 2012 ได้แก่
 
- ลดความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดได้ 13,198 เมกะวัตต์
 
- ไม่จำเป็นต้องนำเข้าถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ พลังงานนิวเคลียร์หรือพลังน้ำเพิ่มเติม ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองมากเพียงพอ และมียังโครงการที่มีแผนจะดำเนินงาน สามารถรักษาปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่ 15% ไว้จนถึงปี 2560
 
- หลีกเลี่ยงไม่ต้องลงทุนเป็นเม็ดเงินจำนวน 2 แสนล้านบาท
 
- ค่าไฟฟ้าของผู้บริโภคจะลดลง 12% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2553-2573
 
- ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ต่อหัวประชากรในอัตรา 7.7% ภายในปี 2573 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2553 แต่ถ้าดำเนินการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2553-2573 จะมีการเพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ต่อหัวประชากรขึ้นถึง 75%
 
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งสามประการนั้น "คณะทำงานศึกษาผลกระทบจากโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ. ในภาคเหนือ" ขอเรียกร้องให้ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี
 
1.ได้เข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาระบบไฟฟ้าของประเทศอย่างจริงจัง ให้สอดคล้องกับความโป่รงใส หลักการธรรมาภิบาลที่ดี และสอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ได้รับรองสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมพัฒนาในทุกๆด้าน
 
2.ต้องไม่ให้มายาคติ "ความมั่นคงด้านพลังงาน" ถูกนำมาใช้เพื่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไม่มีที่สิ้นสุด โดยปราศจากกระบวนการตรวจสอบดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้เกิดผลประโยชน์ใดๆต่อประชาชน ในทางกลับกันจะสร้างภาระให้กับประชาชนในการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้ามากกว่า สองแสนล้านบาท ในอีก 18 ปีข้างหน้า
 
3.ได้มีบัญชาสั่งการให้กระทรวงพลังงานและ กฟผ. นำ แผนพีดีพี 2012 มาใช้
 
 
ขอแสดงความนับถือ
 
คณะทำงานศึกษาผลกระทบจากโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ. ในภาคเหนือ
 
16 สิงหาคม 2555
 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท