Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
การรวมศูนย์อำนาจในสมัยรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ราช รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้มีกระบวนการผนึกความเป็นหนึ่งเดียวโดยการทำลายศูนย์อำนาจต่างๆเพื่อเข้าสู่ศูนย์อำนาจของส่วนกลาง มีการสร้างระบบราชการ กองทัพ เพื่อปกครองควบคุมอาณาบริเวณ “ประเทศไทย” มีการสถาปนากฎหมายด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งออกกฎหมายด้านองค์กรสงฆ์ และอื่นๆ เพื่อรวมศูนย์อำนาจผูกขาดในการบริหารจัดการไว้ที่ส่วนกลาง
 
นอกจากนี้แล้วยังมีสร้างองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรม-ภาษา และด้านอื่นๆ เพื่อครองอำนาจนำทางอุดมการณ์วัฒนธรรมในสังคมไทย หรือในอีกด้านหนึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการรวมศูนย์อำนาจการปกครองบริหารเข้าสู่ศูนย์กลางแทบทุกปริมณฑล โดยมีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เป็นกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ซึ่ง ธเนศวร์ เจริญเมือง ได้กล่าวถึง ประวัติศาสตร์การรวมศูนย์อำนาจ แนวคิดทฤษฎีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ พร้อมเสนอทางออกไว้ในหนังสือเล่มนี้ 
 
อย่างไรก็ตาม ต่อมา ภายหลังการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร นำโดยปรีดี พนมยงค์ ได้มีแนวคิดในการกระจายอำนาจสู่ส่วนท้องถิ่นในรูปแบบของเทศบาล และได้มีการจัดตั้งเทศบาลขึ้นในปี พ.ศ. 2476 โดยมีการตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 หรือกล่าวได้ว่า การผลักดันให้มีการกระจายอำนาจครั้งแรกมาจากส่วนสำคัญของคณะราษฎร ผู้ปรารถนาสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง  ขณะที่การกระจายอำนาจในสังคมไทยปัจจุบัน  ไม่ว่าการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร   หรือองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเมืองพัทยา ก็หาได้เป็นการกระจายอำนาจที่แท้จริงแต่อย่างใด ยังมีข้อจำกัดมากมายที่อำนาจส่วนกลางยังควบคุมกำกับอยู่    ที่สำคัญเนื่องเพราะประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อำนาจนอกระบบหรือระบอบอำมาตยาธิปไตยยังครองอำนาจนำ จึงไม่เหมือนประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น  เกาหลีใต้  อเมริกา  อังกฤษ  เป็นต้น 
 
บทความของ ณัฐกร วิทิตานนท์ ในหนังสือเล่มนี้ ก็ได้ชี้ให้เห็นถึง พัฒนาการของการกระจายอำนาจที่เป็นผลโดยตรงจากการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญต่างประเทศที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นบรรจุอยู่ พร้อมหยิบยกประเทศญี่ปุ่นที่มีลักษณะทางการเมืองโดยรวมใกล้เคียงกับประเทศไทยมาใช้เป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการกระจายอำนาจด้วยรัฐธรรมนูญข้อเสนอแนะบางประการเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้เป็นโอกาสสำคัญยิ่งนัก 
 
นอกจากนี้แล้ว บทความของ สำนักเรียนรู้การกระจายอำนาจและปกครองตนเอง (กอปอ.) ในหนังสือเล่มนี้ ได้กล่าวถึงการเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจในสังคมไทยมีความเป็นมาอย่างไร และมีข้อเสนอในรูปแบบต่างๆ ในแต่ละช่วงประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทั้งในรูปแบบขององค์กรบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งข้อเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และการปกครองท้องถิ่นในรูปของนครรัฐปัตตานีที่กำลังเป็นข้อถกเถียงในปัจจุบัน 
 
พร้อมข้อถกเถียงในแต่ละช่วงการขับเคลื่อน รวมทั้งยังได้ตั้งข้อสังเกตและวิพากษ์วิจารณ์ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน “ขบวนการจังหวัดจัดการตนเอง” ซึ่งมีผู้นำส่วนหนึ่งที่สำคัญมีบทบาททางการเมืองฟากฝั่งอนุรักษ์นิยมหรือสนับสนุนฝ่ายอำมาตยาธิปไตยมาตลอดทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย ทั้งช่วงก่อนและหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ช่วงหนึ่งพวกเขาก็เคยร่วมผลักดันให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และปัจจุบันก็ยังมีบทบาทคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 อยู่เช่นเดิม 
 
วิธีคิดของคนเหล่านี้ก็เช่นเดียวกับ สำนักคิดประเวศ วะสี ซึ่งมักสรุปอย่างง่ายๆ ว่าถ้ามีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นแล้ว ก็จะแก้ไขปัญหารัฐประหารในสังคมไทยได้เลยในทันที และก็หาไม่ตั้งเจตจำนงแน่วแน่ในการผลักดันให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใดไม่ เช่น ต้องปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น 
 
นอกจากคำว่า “จังหวัดจัดการตนเอง” ซึ่งแปรเป็นรูปธรรมคือ “พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร” ที่ยังตั้งความหวังไว้กับกระบวนการออกกฎหมายที่ต้องผ่านมือวุฒิสมาชิกที่มาจากการลากตั้งซึ่งล้วนแล้วนิยมอำมาตยาธิปไตย หรือในทางตรงกันข้ามพวกเขาเหล่านี้ยังมีแนวคิด จุดยืน ในการขับเคลื่อนไปทางฝั่งอำมาตยาธิปไตยที่ขัดขวางเส้นทางประชาธิปไตยเสมอมาด้วยซ้ำ
 
ขณะที่ประวัติศาสตร์การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่แท้จริงทั่วโลก มักมาควบคู่กับการก่อเกิดประชาธิปไตยที่แท้จริง หรือประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่ปราศจากอำนาจนอกระบบอยู่เหนืออำนาจประชาธิปไตยอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน  
 
หนังสือเล่มนี้ได้เปิดประเด็นเหล่านี้ เพื่อแสวงหาทางออกเรื่องการกระจายอำนาจและการขับเคลื่อนในการสร้างประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ แน่นอนว่าต้องผลักดันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างมิอาจปฏิเสธได้ เช่นกัน.
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net