Skip to main content
sharethis

มติกรรมการสิทธิฯ ชะลอโครงการขุดลอกลำห้วยโมง เสนอให้มีการศึกษาทั้งระบบ ยึดหลักการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ ชาวบ้านแจงในปี 2543 เคยสูญเสียที่ดินไปแล้วหลายไร่ ถ้ามาขุดขยายอีกที่นาคงไม่เหลือ

 
 
วานนี้ (21 ส.ค.55) ที่ห้องประชุม 709 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน ภายใต้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เชิญตัวแทนจาก ส่วนราชการจังหวัดอุดรธานี กรมทรัพยากรน้ำ และองค์การบริหาส่วนตำบลจำปาโมง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีชาวบ้านผู้มีที่ดินติดลำห้วยโมงร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ว่าโครงการขุดลอกลำห้วยโมงละเมิดสิทธิชุมชน และกระบวนการดำเนินการไม่ชอบธรรม
 
ทั้งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ที่มีที่ดินติดลำห้วยโมง ได้มีการร้องเรียนต่ออนุกรรมการสิทธิชุมชนฯ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยมีสถานการณ์ที่ส่วนราชการออกหนังสือให้ชาวบ้านลงรายชื่อในเอกสารเพื่อยินยอมอุทิศที่ดินในการขุดลอกลำห้วยโมง เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่กลุ่มชาวบ้านเห็นว่าการออกเอกสารในลักษณะดังกล่าวเป็นการริดรอนสิทธิของชาวบ้าน จึงรวมกลุ่มกันคัดค้าน เพราะเคยมีบทเรียนได้รับผลกระทบมาตั้งแต่การขุดลอกเมื่อปี 2543 แต่ส่วนราชการไม่ยอมรับฟังยังคงเดินหน้าโครงการขุดลอกลำห้วยโมงต่อ ล่าสุดคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนฯ ได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วนำมาสู่การเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสู่เวทีตรวจสอบในครั้งนี้
 
 
นางคำพอง ทาสาลี แกนนำชาวบ้าน ต.จำปาโมง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี กล่าวว่า ตนเองไม่ยอมลงชื่อให้มอบที่ดินให้กับราชการในการขุดลอกลำห้วยโมง เพราะในปี 2543 ตนเองก็เคยสูญเสียที่ดินไปกับการขุดลอกลำห้วยโมงไปแล้วหลายไร่ ถ้ามาขุดขยายอีกที่นาคงไม่เหลือ
 
“ที่แม่ตั้งข้อสังเกตดูว่าการดำเนินการมันไม่โปร่งใส ชาวบ้านบางคนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็หลงเซ็นเอกสารไปให้แล้ว แม่จึงได้รวมกลุ่มกับชาวบ้านที่มีที่ดินติดลำห้วยโมงอีกกว่า 30 ราย คัดค้าน ไม่ให้มีการขุดลำห้วยโมง เพราะชาวบ้านเจ้าของที่ดินยังไม่รู้ข้อมูลของโครงการ โดยที่ผ่านมาก็มีการร้องเรียนไปยังส่วนราชการ และคณะกรรมการสิทธิฯ ให้เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย” นางคำพอง กล่าว
 
ด้าน นายจีรศักดิ์ คำรณฤทธิ์ศร ปลัดจังหวัดอุดรธานี กล่าวที่ประชุมว่า ในฐานะตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ตามที่ได้รับรายงานมาเกี่ยวกับโครงการขุดลอกลำห้วยโมง ขอชี้แจงต่อที่ประชุมว่า โครงการขุดลอกลำห้วยโมงนั้น เป็นโครงการความร่วมมือกันระหว่าง องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และส่วนราชการจังหวัดอุดรธานี เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยโมง โดยให้ อบต. สนับสนุนค่าน้ำมัน อบจ. สนับสนุนเครื่องจักรในการดำเนินการ และให้ราษฎร สนับสนุนที่ดิน ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว  
 
“แต่เมื่อมีการร้องเรียนของชาวบ้านเกิดขึ้น ซึ่งได้รับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงจากที่ประชุมแล้ว จึงเห็นควรให้มีการหยุดโครงการขุดลอกลำห้วยโมงไปก่อน” นายจีรศักดิ์ กล่าว
 
 
สอดคล้องกับ นายสงวน ปัทมธรรมกุล ผู้จัดการโครงการศึกษาระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤติ 19 พื้นที่ ซึ่งเป็น ตัวแทนจากกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวว่า โครงการขุดลอกลำห้วยโมงตลอดทั้งสายเป็นการพัฒนาที่ผิดศักยภาพของแหล่งน้ำ ควรมีการศึกษาสภาพแหล่งน้ำเพื่อพัฒนาให้ถูกต้องตามศักยภาพ
 
“ลำห้วยโมงเป็นลำน้ำที่กินพื้นที่ในหลายเขตตำบล ก่อนการดำเนินการพัฒนาหรือขุดลอก ควรมีการศึกษาทางวิชาการในการออกแบบให้สามารถระบายน้ำได้ และออกแบบฝายให้มีลักษณะเป็นขั้นบันได แต่โครงการขุดลอกลำห้วยโมงในครั้งนี้ อบต. อบจ. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีการศึกษาศักยภาพในการพัฒนาโครงการอย่างรอบด้าน เพราะว่าขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ฉะนั้น ถ้าจะมีการขุดลอกหรือพัฒนาลำห้วยโมงก็ควรมีการศึกษาอย่างรอบด้านก่อนดำเนินโครงการ และในการดำเนินโครงการลักษณะนี้ ถ้ามีชาวบ้านในพื้นที่เพียงคนเดียงออกมาคัดค้าน โครงการก็ควรหยุดไว้ก่อน” นายสงวน กล่าว
 
ด้านนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อนุกรรมาธิการสิทธิชุมชน ภายใต้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สรุปมติที่ประชุม และข้อเสนอต่อการตรวจสอบโครงการขุดลอกลำห้วยโมงในครั้งนี้ว่า เมื่อรับฟังข้อมูลและข้อเท็จจริงจากทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว สรุปประเด็นเพื่อเขียนรายงานผลการตรวจสอบโครงการขุดลอกลำห้วยโมงดังนี้ ประเด็นแรก การดำเนินโครงการขุดลอกในครั้งนี้ ควรชะลอการขุดไปก่อน แล้วกลับไปตรวจสอบดูว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขุดลอกไปแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งท่านปลัดจังหวัดอุดรธานีก็เห็นพ้องในส่วนนี้
 
ประเด็นที่สองหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องควรมีการประสานงานกับกรมทรัพยากรน้ำเพื่อทำการศึกษาทั้งระบบในด้านการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน โดยดูรายละเอียดจากผลการศึกษาแล้วจึงค่อยออกแบบวางแผนการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ และประการสุดท้าย ฝากถึงกรมทรัพยากรน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ในกระบวนการศึกษาด้านการบริหารจัดการน้ำ ควรยึดหลักการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ ให้ชาวบ้านได้ร่วมแสดงความคิดเห็น และร่วมตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชาวบ้านในพื้นที่
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net