คนงานเข้าชื่อร่วมหมื่น เสนอกฎหมาย หวังยกระดับคุณภาพชีวิต

วานนี้ (22 ส.ค.55) เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และคณะ นำโดยนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นำรายชื่อจำนวน 12,567 รายชื่อ ยื่นเสนอร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฉบับบูรณาการแรงงาน ต่อประธานรัฐสภา

โดยแถลงการณ์ระบุว่า เป้าหมายสำคัญของการนำเสนอร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่นี้ คือ การก้าวข้ามอุปสรรคที่ขวางกั้นการใช้สิทธิของคนงาน โดยเปิดโอกาสให้มีการรวมตัวอย่างกว้างขวางของแรงงานทุกกลุ่ม พี่น้องแรงงานมีโอกาสได้รับการปกป้องคุ้มครองเสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรอง อันจะเป็นปัจจัยพื้นฐานสู่การเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งยังเป็นปัจจัยเสริมหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในกระแสที่ประชาคมโลกยอมรับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและสิทธิด้านแรงงาน ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับการแข่งขันทางธุรกิจที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คุณภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

อนึ่ง คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และคณะ ประกอบด้วยสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์ ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย (Team), สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.), สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์แห่งประเทศไทย (TEEF), สหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ต, กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง, กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ย่านเวลโกรว์, กลุ่มสหภาพแรงงานอมตะ, กลุ่มสหภาพแรงงานพื้นที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี, กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกพื้นที่บ่อวิน จังหวัดระยอง, กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่, กลุ่มผู้ใช้แรงงานอยุธยาและใกล้เคียง, กลุ่มสหภาพแรงงานปราจีนบุรี, กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง, สหภาพแรงงานอาหารและการบริการแห่งประเทศไทย และศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้มีประเด็นสำคัญดังนี้

1. มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับหลักการอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง

2. สอดคล้องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 64 ว่าด้วย “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น…”

3. ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน ทั้งแรงงานในระบบอุตสาหกรรม แรงงานรัฐวิสาหกิจ แรงงานนอกระบบ แรงงานภาคเกษตร แรงงานข้ามชาติ

4. คนทำงานไม่ว่าอาชีพใดหรือประกอบกิจการใด มีสิทธิและเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการรวมตัวเพื่อจัดตั้งหรือเข้าเป็นสมาชิกองค์กร ลักษณะหรือรูปแบบใดก็ได้ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเต็มที่จะละเมิดมิได้

5. จำกัดบทบาทมิให้รัฐเข้ามาแทรกแซง ควบคุม กำหนดกฎเกณฑ์อันเป็นอุปสรรคต่อการรวมตัวเพื่อจัดตั้งหรือเข้าเป็นสมาชิกองค์กรของคนทำงาน

6. ผู้จ้างงานต้องส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งองค์การคนทำงาน หรืองดเว้นการกระทำใดๆ ที่เป็นการขัดขวางให้เกิดการรวมตัวของคนทำงาน

7. เปลี่ยนนิยามและคำจำกัดความ “นายจ้าง” และ “ลูกจ้าง” เป็น “ผู้จ้างงาน” และ “คนทำงาน” ที่ครอบคลุมการจ้างงานทุกประเภทไม่ว่าอยู่ภายใต้สัญญาจ้างใดๆ

8. เปลี่ยนกรอบคิดแรงงานสัมพันธ์จากเดิมที่เป็นแบบ“นายกับบ่าว” ที่ให้อำนาจแก่ฝ่าย “นายจ้าง” ให้มีเหนือ “ลูกจ้าง” ไปสู่ “หุ้นส่วนสังคมและเศรษฐกิจ” (Social partnership) ที่มองว่า “ผู้จ้างงาน” กับ “คนทำงาน” เป็น “หุ้นส่วน” กัน มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน การตัดสินใจที่จะมีผลกระทบกับทั้งสองฝ่ายในการทำงานร่วมกันจึงต้องใช้หลักการตัดสินใจร่วมกัน บนพื้นฐานของความเสมอภาคเท่าเทียมและเป็นธรรม

9. ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจร่วมกันอย่างแท้จริงระหว่างผู้จ้างงานและคนทำงาน โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการการมีส่วนร่วมในสถานประกอบการ และคณะกรรมการคนทำงานในสถานประกอบกิจการ

10. การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการเปิดเผยข้อมูลการประกอบการ การจ้างงาน อย่างโปร่งใส โดยผู้จ้างงานมีหน้าที่แสดงข้อมูลแก่คณะกรรมการคนทำงานเมื่อมีการร้องขอ เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการคนทำงาน

11. ส่งเสริมการจ้างงานตามหลักการ “งานที่มีคุณค่า (Decent Work)” ที่เคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน อันได้แก่ การไม่บังคับใช้แรงงาน การคุ้มครองแรงงานเด็ก เสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม และการไม่เลือกปฏิบัติ การพัฒนาศักยภาพในการทำงาน การมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการจ้างงานหรือการทำงาน และการคุ้มครองทางสังคม

12. กำหนดให้รัฐต้องสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ การรวมตัวและการบริหารจัดการองค์การคนทำงานให้มีความมั่นคง ยั่งยืน และอย่างเท่าเทียม ทั้งการจัดตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆขึ้นมา คือคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ คณะกรรมการการมีส่วนร่วมในสถานประกอบกิจการ และคณะกรรมการคนทำงานในสถานประกอบกิจการ

13. การดำเนินงานที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ การปิดกิจการชั่วคราว การย้ายฐานการผลิต การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ การยุบแผนก การควบรวม การจ้างเหมาทุกลักษณะงาน จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการคนทำงาน

14. การแจ้งข้อเรียกร้อง คนทำงานที่เป็นลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรง มีสิทธิแจ้งข้อเรียกร้องต่อผู้จ้างงาน หรือเข้าร่วมกับคนทำงานซึ่งเป็นลูกจ้างโดยตรงของผู้จ้างงาน

15. ในการเจรจาข้อเรียกร้อง ผู้จ้างงาน คนทำงาน สามารถเพิ่มผู้แทนและที่ปรึกษาในการเจรจาต่อรองร่วมได้เพื่อประโยชน์ในการเจรจาข้อเรียกร้อง

16. คนทำงานในทุกกิจการมีสิทธินัดหยุดงานได้ ในกรณีที่มีการนัดหยุดงานหรือปิดงาน คนทำงานมีสิทธิชุมนุมในเขตพื้นที่สถานประกอบกิจการ สาธารณูปโภคและสวัสดิการอื่นที่ผู้จ้างงานจัดให้ก่อนนัดหยุดงานหรือปิดงาน

17. เมื่อมีการปิดงานหรือนัดหยุดงาน ผู้จ้างงานไม่สามารถนำแรงงานเข้ามาทำงานในกระบวนการผลิต แทนคนทำงานเดิมระหว่างการใช้สิทธินัดหยุดงานหรือปิดงานได้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดแรงงานสัมพันธ์อันดีและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน

18. คุ้มครองสิทธิในการเจรจาต่อรอง เมื่อองค์การคนทำงานปฏิบัติการเพื่อประโยชน์ของสมาชิกหรือสาธารณะ ต้องไม่ถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องทางอาญาหรือแพ่ง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท