Skip to main content
sharethis

คณะละคร 'เบลารุส ฟรี เธียร์เตอร์' (Belarus Free Theater) เมื่อดูเผินๆ อาจจะดูเหมือนคณะละครบันเทิงทั่วไปที่จัดแสดงละครให้ความบันเทิงกับผู้ชมที่ชื่นชมการแสดงละครของเช็คสเปียร์และอื่นๆ ตามโรงละครในยุโรป แต่เบื้องหลังคณะละครที่มีกันอยู่ราวสิบชีวิตนี้ กว่า 7 ปีของการก่อตั้งคณะละคร พวกเขาต้องเผชิญการคุกคามในรูปแบบต่างๆ จากรัฐบาลเบลารุส - ประเทศเผด็จการสุดท้ายในยุโรป - มาแล้วนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ถูกตำรวจเข้าบุกรุกระหว่างการแสดง ไปจนถึงการถูกประกาศตัวว่าเป็น "ศัตรูของรัฐ" เพียงเพราะละครที่พวกเขาจัดแสดง ทำให้สมาชิกบางส่วนต้องลี้ภัยออกมาอาศัยอยู่ที่ประเทศอังกฤษปีกว่าแล้ว 

ในประเทศเบลารุส การเข้าไปชมละครของพวกเขา ก็ใช่ว่าจะสามารถตีตั๋วและเข้าไปชมได้เช่นเดียวกับที่อื่นๆ แต่ผู้ชมจะต้องแสดงความประสงค์ในการชม หาเบอร์โทรศัพท์ของผู้จัดการคณะ และโทรศัพท์ไปหาเพื่อจะรอนัดหมายสถานที่ และเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนการแสดง ผู้ชมที่ได้รับการติดต่อ จะได้รับการนัดหมายไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง และจากนั้น จะมีรถมารับพาไปยังสถานที่ที่คณะเบลารุส ฟรี เธียร์เตอร์จะมีการแสดง ซึ่งก็มักจะเป็นตึก อพาร์ทเมนท์ หรือบ้านร้างที่ห่างไกลสายตาจากเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากคณะละครเบลารุสฯ เป็นคณะละครที่ผิดกฎหมายภายในประเทศ เพราะรัฐอนุญาตให้มีเพียงโรงละครที่ควบคุมโดยรัฐเท่านั้น จึงทำให้พวกเขาต้องแสดงกันแบบ "ใต้ดิน" ผู้ชมมักได้รับคำแนะนำให้นำบัตรประชาชนติดตัวไปด้วยเสมอ เพราะถ้าหากถูกจับกุม จะได้รับการปล่อยตัวได้เร็วขึ้น เนื่องจากสามารถบอกชื่อเสียงเรียงนามของตนเองได้ 

"เพราะฉะนั้น เรามักพูดเสมอว่า ผู้ชมชาวเบลารุสเป็นผู้ชมที่มีความกล้าหาญมากที่สุดในโลก" นาตาเลีย โกเลียดากล่าว เธอและนิโกไล กาเลซิน สามีของเธอที่เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ก่อตั้งคณะละครเบลารุส ฟรี เธียร์เตอร์ขึ้นมาในปี 2005 เพื่อแสดงละครเกี่ยวกับเรื่องต้องห้ามต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชนกลุ่มน้อยทางเพศ การลักพาตัว โทษประหารชีวิต ไปจนถึงนักโทษการเมือง พวกเขาได้มาเยือนกรุงเทพฯ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เพื่อมาเก็บข้อมูลเรื่องโทษประหารชีวิตในเมืองไทย ก่อนที่จะเดินทางต่อไปมาเลเซีย ในโอกาสนี้ พวกเขาได้นำเสนอกิจกรรมและผลงานของคณะละครให้กับผู้ที่สนใจในเมืองไทยด้วย 

นาตาเลียกล่าวว่า เธอไม่อยากจะฟันธงลงไปว่า ละครของเธอเป็นละครการเมืองหรือละครให้การศึกษา เพราะสุดท้ายแล้ว เธอเพียงต้องการที่จะแสดงละครที่มีความท้าทายให้ดีที่สุด เพื่อให้คนดูได้รู้สึกฉุกคิดบางสิ่งบางอย่าง

"ในความเป็นจริงแล้วฉันไม่อยากจะแบ่งแยกประเภทอะไร เพราะมีละครหลายประเภท ทั้งละครการเมืองหรือละครสตรี ฉะนั้นฉันจึงไม่เชื่อเรื่องนั้น แต่ที่สำคัญก็คือคำว่า "ละคร" เราทำละครเรื่องที่เรารัก และเราก็ไม่ได้สั่งสอนใครจากบทเวที เราแค่ชอบศิลปะที่เราทำอยู่ แต่ข้อสำคัญสำหรับเราก็คือความท้าทาย ถ้ามันเป็นหัวข้อที่ท้าทายทางอารมณ์และทางปัญญา เราก็จะแสดงเรื่องนั้น แต่หากเรารู้แล้วว่าเรื่องนี้ต้องแสดงอย่างไร เราก็จะไม่เล่นมัน ฉะนั้น การกำกับละครของเราโดยผู้กำกับวลาดิเมียร์ แชร์เบน และทีมของเรามักเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น ท้าทาย และซับซ้อนอยู่เสมอ" นาตาเลียกล่าว

 "สำหรับเราแล้ว เราเพียงแค่ต้องการทำละครที่ดีที่สุด และการในการแสดงนั้น หากเราสามารถทำให้คนดูเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือฉุกคิดอะไรขึ้นมาได้ เราก็ถือว่าได้ทำอะไรบางอย่าง ในการเลือกเล่นละครแต่ละอัน เราจะเลือกแต่สิ่งที่เป็นท้าทายทางสติปัญญา ทางร่างกาย และอารมณ์เท่านั้น ถ้ามันง่ายเกินไปเราก็จะไม่ทำ"

ไม่น่าแปลกใจเลยว่า ถึงแม้คณะละครเบลารุส จะต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายในการแสดงในประเทศ ทั้งด้านความปลอดภัยหรือด้านการเงิน แต่ความมุ่งมั่นและความตั้งใจ ทำให้พวกเขาได้การสนับสนุนจากนานาชาติ โดยเฉพาะนักแสดงอย่าง จู๊ด ลอว์, เซียนนา มิลเลอร์, อดีตประธานาธิบดีและนักเขียนบทละครเช็ค วาซลาฟ ฮาเวล, นักร้องวงเดอะโรลลิง สโตนส์ มิค แจ็กเกอร์ และผู้กำกับภาพยนตร์ สตีเวน สปีลเบิร์ก เป็นต้น 


นิโกไล และนาตาเลีย ถ่ายกับอดีตประธานาธิบดีเช็ค วาซลาฟ ฮาเวล (กลาง)

ทั้งนี้ ประเทศเบลารุส เป็นประเทศสุดท้ายที่ยังคงปกครองด้วยระบอบเผด็จการในยุโรป และประเทศเดียวในยุโรปที่ยังใช้โทษประหารชีวิต โดยมีประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเช็นโก ปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 1994 ถึงแม้จะมีการจัดการเลือกตั้งโดยเฉลี่ยทุกๆ 5 ปี และเขาจะชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูเรื่องการทุจริตการเลือกตั้ง ทำให้ในปี 2010 ชาวเบลารุสกว่า 50,000 คน ออกมาเดินถนนเพื่อประท้วงการทุจริตการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับนาตาเลีย และนิโกไล ที่ถูกจับกุม ซ้อมทรมาน และจำคุกเป็นระยะเวลาสั้นๆ ในขณะที่ผู้สมัครประธานาธิบดีคนอื่นๆ ที่ร่วมประท้วงถูกจำคุกและกักบริเวณเป็นเวลาหลายปี 

โดยในปัจจุบัน ลูกาเช็นโก ยังคงใช้นโยบายจากสมัยโซเวียตในการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นการรวมศูนย์อำนาจทางการผลิตและเศรษฐกิจ ถึงแม้จะเผชิญกับการคัดค้านอย่างหนักจากประเทศตะวันตก นอกจากนี้ ยังปิดกั้นและกำจัดผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองด้วยวิธีลักพาตัว อุ้มหาย สังหาร และจับเข้าคุก โดยมีเคจีบี หน่วยงานตำรวจลับทำหน้าที่สอดส่องภัยต่อความมั่นคงของชาติ ไม่ต่างจากในสมัยโซเวียต ทำให้เบลารุสถูกจัดอันดับเรื่องประชาธิปไตยและเสรีภาพเป็นอันดับท้ายๆ ของยุโรปและของโลกด้วย 

"เรามักจะมีมุกตลกในประเทศที่ชอบเล่ากันว่า วันหนึ่ง หัวหน้าของคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ไปบอกข่าวแก่ประธานาธิบดีลูกาเช็นโกหลังการเลือกตั้งว่า 'ท่านประธานาธิบดีครับ ผมมีข่าวจะมาบอก มาเริ่มกันที่ข่าวดีก่อนแล้วกัน คือ คุณได้เป็นประธานาธิบดีอีกรอบแล้ว - แล้วข่าวร้ายอะไรคืออะไรล่ะ? - ก็ไม่มีใครโหวตให้คุณน่ะสิ" นาตาเลียกล่าวด้วยความขบขันกึ่งขมขื่น ก่อนที่จะเสียงหัวเราะของผู้ชมทั้งห้องจะตามมา 

เธอกล่าวว่า ในเบลารุสเอง ก็มีปรากฎการณ์เช่นเดียวกับวงดนตรีพุสซี ไรออต ในรัสเซีย หากแต่เบลารุส ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ ไม่มีน้ำมัน หรือทรัพยากรอื่นๆ ทำให้ไม่ได้รับความสนใจเท่ากับประเทศอื่นๆ ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในยุโรป และอยู่ห่างจากลอนดอนเพียงสองชั่วโมงด้วยเครื่องบินเท่านั้น  

ละครของคณะเบลารุส ฟรี เธียร์เตอร์ เรื่อง Numbers
บอกเล่าถึงสถิติสภาพทางสังคมและการเมืองในเบลารุส

จากผู้กำกับละคร ถึงบทบาทนักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิ

ทั้งนาตาเลีย และนิโกไลกล่าวที่ถึงมาของความสนใจเรื่องโทษประหารชีวิตว่า จุดเปลี่ยนเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว  เมื่อรถใต้ดินในกรุงมินสก์ เมืองหลวงของเบลารุส เกิดเหตุระเบิด ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 15 รายและบาดเจ็บกว่าอีก 200 ราย หลังเกิดเหตุไม่กี่วัน รัฐบาลเบลารุสสามารถจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยเป็นชายหนุ่มพี่น้องวัย 25 สองคน ซึ่งต่อมารัฐบาลอ้างว่าพวกเขาสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือวางระเบิด ทำให้รัฐบาลตัดสินลงโทษประหารชีวิตในทันที

คำตัดสินดังกล่าว นำมาซึ่งการคัดค้านจากประชาชนภายในประเทศจำนวนมาก เช่นเดียวกับสหภาพยุโรปที่ออกแถลงการณ์ประณามคำตัดสินดังกล่าว โดยชี้ว่าผู้ต้องหาสองคนไม่ได้รับการไต่สวนอย่างเป็นธรรม และมารดาของเขาและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ออกมากล่าวว่า พวกเขาถูกบีบให้สารภาพด้วยการซ้อมทรมานอย่างโหดร้าย  ต่อเรื่องนี้ นาตาเลียเห็นว่า น่าจะเป็นฝีมือที่จัดฉากโดยเคจีบี เพื่อเบี่ยงเบนปัญหาอื่นๆ ภายในประเทศ ทำให้เธอหันมาสนใจประเด็นโทษประหารชีวิต ซึ่งเธอมองว่าขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

"เรามาคิดว่า ถ้าเราพูดเรื่องโทษประหารชีวิตในเบลารุส ทำไมต้องพูดแต่เรื่องนี้ในเบลารุสด้วย เพราะเรื่องนี้ยังเป็นปัญหาในอีกหลายๆ ประเทศ ถ้าเราต้องการจะหยุดมัน เราน่าจะต้องเจาะลึกและศึกษามันอย่างจริงจังในรายละเอียด นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงเดินทางไปยังทวีปแอฟริกาและเอเซียเพื่อไปพูดคุยกับผู้คนต่างๆ" นาตาเลียกล่าว "อย่างที่เรามาไทย เราก็ได้รับความสนับสนุนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และใช้เวลาอย่างคุ้มค่าที่สุดเพื่อศึกษาประเทศที่เรามาถึง โดยศึกษาเรื่องโทษประหารชีวิตราว 90% และเรื่องอื่นๆ ด้วย"​ 

โดยในการเดินทางมาครั้งนี้ ทางคณะละครเบลารุสยังได้เข้าไปเยี่ยมเรือนจำบางขวาง เพื่อเยี่ยมนักโทษประหารชีวิตต่างชาติสองคน ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในคดียาเสพติดด้วย นอกจากนี้ ยังได้พูดคุยกับองค์กรสิทธิต่างๆ เช่น สมาคมเพื่อสิทธิและเสรีภาพประชาชน เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากม. 112 

 

(ที่มาภาพ: Sponsume- Belarus Free Theatre


ประชาไทสัมภาษณ์ นาตาเลีย โกเลียดา ผู้ก่อตั้งคณะละครเบลารุส ฟรี เธียร์เตอร์
(สามารถเลือกปุ่ม CC เพื่อแสดงคำบรรยายภาษาไทย)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net