Skip to main content
sharethis

แม้ประเทศไทยจะไม่ค่อยมีปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศปรากฏเด่นชัด กระทั่งเมื่อปีที่ผ่านมายังมีข่าวว่า ผู้บริหารระดับสูงของไทยที่เป็นผู้หญิงนั้นเพิ่มขึ้นสูงสุด หรือมีสัดส่วนถึง 45%

แต่สำหรับเรื่องราวในเรือนจำกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม มีกฎระเบียบมากมายในเรือนจำหญิงที่ส่งผลต่อ ‘สิทธิผู้ต้องขัง’ และมันยิ่งชัดเจนขึ้น เป็นปัญหาซ้อนทับซับซ้อนมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกฎระเบียบการปฏิบัติระหว่างเรือนจำชายและเรือนจำหญิง ยกตัวอย่างเทียบเคียงเรือนจำชายและหญิงในกรุงเทพฯ ที่อยู่บริเวณเดียวกันแต่กฎระเบียบต่างกันมากพอสมควร เช่น เรือนจำชาย-เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ สำหรับผู้ต้องหาแรกรับ ฝากขัง กระทั่งผู้ต้องโทษไม่เกิน 15 ปี กับเรือนจำหญิง-ทัณฑสถานหญิงกลาง ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง (เรือนจำอื่นๆ อาจมีกฎระเบียบแบบอื่นที่แตกต่างกันอีกในรายละเอียด) อ้างอิงจากประสบการณ์ตรงของทีมข่าวและคำบอกเล่าจากผู้ต้องขังทั้งหญิงและชายที่อยู่ในเรือนจำเหล่านั้น ความแตกต่างที่พอจะสรุปได้มี ดังนี้

1.ขณะที่เรือนจำชายเปิดกว้างให้ญาติสนิทมิตรสหาย คนรู้จัก เข้าเยี่ยมได้ ไม่เกินครั้งละ 5 คน เยี่ยมได้วันละครั้ง ทำให้นักโทษชายได้มีโอกาสคุยกับผู้คนต่างๆ อย่างน้อยก็วันละ 20 นาที แต่เรือนจำหญิง มีระบบ "ขานชื่อ" คือให้นักโทษข้างในเดาชื่อผู้มาเยี่ยมจากตัวอักษรแรกของชื่อ หากเดาถูกก็ได้ออกมาเจอกัน หากเดาไม่ถูกก็จะมีใบ "ไม่ประสงค์เยี่ยม" กลับออกมาแจ้งผู้เยี่ยม และล่าสุดยังมีกฎใหม่ที่ให้ผู้ต้องขังระบุ 5 ชื่อเท่านั้นที่เข้าเยี่ยมได้

2.ขณะที่เรือนจำชาย ใช้เวลารอเยี่ยมโดยเฉลี่ยไม่เกิน 1 ชม. แต่เรือนจำหญิงต้องใช้เวลา 2 ชม.กระทั่งถึงครึ่งวันกว่าจะได้เยี่ยม

3.ขณะที่เรือนจำชาย ผู้ต้องขังได้มีโอกาสรับข้อมูลข่าวสารบ้าง เช่น ดูข่าวทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ และบางโอกาสเจ้าหน้าที่ยังมีความยืดหยุ่นให้นำหนังสือฝากให้ผู้ต้องขังอ่านเล่นได้ แต่เรือนจำหญิงไม่มีโอกาสนั้น แม้กระทั่งการรับข้อมูลข่าวสารก็ไม่อนุญาต มีแต่รายงานบันเทิงเก่าๆ หรือซีรี่เกาหลีให้ดู เคยมีนักโทษการเมืองหญิงคนหนึ่งแอบไปจูนคลื่นโทรทัศน์เพื่อหาช่องข่าว ทำให้โดนทำโทษอดเยี่ยมญาติสองอาทิตย์มาแล้ว

4.ขณะที่เรือนจำชาย เขียนจดหมายออกมาภายนอกได้ค่อนข้างสะดวก รับจดหมายก็ค่อนข้างสะดวก (แม้จะมีระบบตรวจเนื้อหาก่อน ไม่ให้มีเนื้อหาเกี่ยวพันกับเรือนจำหรือการเมือง) แถมมีอีเมล์กลางประจำเรือนจำ bk_remand@hotmail.com สำหรับญาติมิตรจะส่งอีเมล์หาผู้ต้องขังโดยตรง และจะมีการปริ๊นท์ไปให้อ่าน โดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 3 วันกว่าจะถึงมือผู้ต้องขัง แต่เรือนจำหญิง อ้างอิงจากนักโทษการเมืองหญิงคนเดิม เธอส่งจดหมายหาญาติผู้ใหญ่ที่ส่งซองเปล่าติดสแตมป์มาให้ด้วย แต่จดหมายก็ไม่ถึงมือ

5.ขณะที่เรือนจำชาย เจ้าหน้าที่อัธยาศัยดี ให้ความช่วยเหลือแนะนำญาติผู้ต้องขังอย่างดี แต่เรือนจำหญิงค่อนข้างมีสภาพตึงเครียดกว่า อาจเพราะเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอกับผู้ใช้บริการ

6.ด้วยปัญหายาเสพติด ทำให้ต้องมีการตรวจร่างกายผู้ต้องขังก่อนออกศาล เรือนจำชายผู้ต้องขังต้องถอดเสื้อผ้าให้เจ้าหน้าที่ตรวจ แต่เรือนจำหญิง มีการตรวจภายในด้วย ทั้งขาออกจากเรือนจำหรือขาเข้าเรือนจำ

เหล่านี้คือประเด็นส่วนหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่ามีความแตกต่างกัน ยังไม่นำรวมปัญหาพื้นฐานที่ไม่ว่าจะเรือนจำไหนก็ต้องประสบเช่นเดียวกัน เช่น ปัญหาความแออัดของผู้ต้องขัง ปัญหาอาหารและสุขอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐาน ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรด้านรักษาพยาบาล ฯลฯ

ครั้งหนึ่ง ในเวทีอภิปรายเกี่ยวกับงานวิจัยเรื่อง ‘คุกไทย 2554’ จัดโดยสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมราชทัณฑ์เคยตอบคำถามถึงความแตกต่างในการปฏิบัติระหว่างเรือนจำหญิงกับเรือนจำชายไว้ว่า อันที่จริงระเบียบนั้นเหมือนกันหมด แต่ในภาคปฏิบัติ เรือนจำหญิงดูจะเคร่งครัดกว่า เพราะโดยพื้นฐานแล้วผู้ชายมักมีการต่อต้านสูง ทำให้ต้องมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ นั่นเป็นผลให้ผู้ชายได้เข้าถึงข่าวสารข้อมูล ได้สิทธิในการเยี่ยมญาติมิตร และอะไรอีกหลายอย่าง ซึ่งโดยสามัญสำนึกแล้วน่าจะเป็นสิทธิพื้นฐานทั่วไปสำหรับมนุษย์ทุกคน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net