ภาคประชาชนไทย-เทศ รวมตัว UN ทวงถามการเจรจาแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นธรรม

จี้รัฐบาล-กลุ่มธุรกิจ-การเมือง ทุกชาติเลิกเล่นเกมต่อรองเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ท่ามกลางหายนะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตัวแทน ปชช.ไทยร้องรัฐบาล หยุดนโยบายและเจ้าหน้าที่รัฐที่แอบอ้างเอาปัญหาโลกร้อนมาทำร้ายชาวบ้าน

 
วันนี้ (30 ส.ค.55) หน้าอาคารสหประชาชาติ เครือข่ายภาคประชาชนทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 30 องค์กร รวมตัวกันเพื่อทวงถามความเป็นธรรมและความรับผิดชอบรัฐบาลนานาชาติในการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน ในโอกาสที่ผู้แทนรัฐบาลนานาชาติมาร่วมประชุม ณ อาคารสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 30 ส.ค.-5 ก.ย.2555 เพื่อจัดทำร่างขอบเขตและข้อตกลงในประเด็นสำคัญต่างๆ สำหรับการประชุมภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 18 หรือ COP18 ที่เมืองโดฮาร์ ประเทศการ์ตา ในปลายปีนี้
 
เครือข่ายภาคประชาชนที่รวมตัวกันในวันนี้ ได้แก่ เครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายติดตามโครงการพัฒนาและโรงไฟฟ้าต่างๆ และคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม พร้อมทั้งพันธมิตรประชาสังคมนานาชาติ ซึ่งเกาะติดประเด็นความเป็นธรรมในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
 
“เรามาที่นี่ เพื่อมาบอกว่าโลกไม่ได้มีไว้ขาย” ตัวแทนชนเผ่าพื้นเมือง จากลาตินอเมริกา ประกาศ
 
“เรามาจากทั่วโลก ทั้งจากยุโรป อเมริกา เอเชีย แม้กระทั่งแอฟริกา เพื่อยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม และความเป็นธรรมต้องเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้” ตัวแทนจากประเทศเนปาลกล่าวต่อหน้าเครือข่ายประชาชนที่มาร่วมตัวกันในวันนี้
 
จักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม กล่าวว่าเครือข่ายภาคประชาชนซึ่งรวมตัวกันมาตั้งแต่ พ.ศ.2551 เพื่อติดตามการเจรจาภายใต้การนำของสหประชาชาติ ตั้งข้อสังเกตต่อความจริงใจของบรรดาผู้นำชาติต่างๆ ไม่ว่าชาติอุตสาหกรรมหรือประเทศกำลังพัฒนา ที่จะเร่งหาข้อสรุปร่วมกันในการยับยั้งวิกฤตการณ์โลกร้อน
 
ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนรู้สึกว่า ความหวังที่จะพึ่งความกล้าหาญและความจริงใจของรัฐบาลต่างๆ ในการกอบกู้โลกจากวิกฤติ ทั้งในระดับสากลและระดับชาติกำลังริบหรี่ลงทุกที ไม่ว่าเรื่องการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการคุ้มครองรักษาป่าและระบบนิเวศน์ การช่วยเหลือกลุ่มคนที่อ่อนไหวเปราะบาง รวมถึงทิศทางการพัฒนาโดยรวมที่ควรจะก้าวเดินไป
 
“วันนี้พวกเราจึงจำเป็นต้องมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนานาชาติและกลุ่มธุรกิจ-การเมืองต่างๆ เลิกเล่นเกมต่อรอง ที่มุ่งแต่ปกป้องผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มของนายทุนแต่ละประเทศ”
 
“รัฐบาลที่อ้างตัวเป็นประชาธิปไตยต่างๆ ต้องรับฟังข้อเสนอของประชาชนทั่วโลกอย่างจริงจัง ขณะนี้มีประชาชนหลายร้อยล้านคนทั่วโลกที่กำลังเดือดร้อนและตกเป็นผู้ถูกกระทำอย่างไร้ความเป็นธรรมอย่างยิ่งจากนโยบายและแนวทางการแก้ปัญหาโลกร้อนที่หลายประเทศกำลังทำกันอยู่” ผู้ประสานงานคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรมกล่าว
 
ในระดับประเทศ จักรชัย แสดงความเห็นว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลไทยไม่ได้ให้ความสำคัญจริงจังและไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา แม้จะเป็นที่ยอมรับว่าภาคพลังงานและอุตสาหกรรมเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันมากกว่า 80% โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงเกือบครึ่งของจำนวนนี้ ตรงกันข้ามแผนพัฒนาพลังงานหรือแผนพีดีพี ที่มีการปรับปรุงหลายครั้งแต่ก็ยังคงเน้นการพัฒนาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นตัวการทำให้โลกร้อนขึ้น แต่พลังงานหมุนเวียนและการอนุรักษ์พลังงานกลับไม่ได้รับความสำคัญ ทั้งที่หมายถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาล
 
ส่วนนางอำนวย สังข์ช่วย จากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดกล่าวว่า ภาคประชาชนมาทวงถามความจริงใจและความเป็นธรรมจากรัฐบาลในการแก้ปัญหาโลกร้อน เนื่องจากได้ยื่นข้อเสนอในการรับมือและป้องกันหายนะจากโลกร้อนให้รัฐบาลไปหลายปี และพยายามติดตามความคืบหน้าของเรื่องนี้มาตลอดเวลา แต่ประชาชนมองไม่เห็นความหวังใดๆ ว่ารัฐบาลไทยหรือรัฐบาลนานาชาติจะมีความจริงใจแก้ปัญหาจากโลกร้อนที่เกิดกับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
 
ซ้ำร้าย ประชาชนในหลายชุมชนยังถูกกระทำรุนแรงจากตัวนโยบายและเจ้าหน้าที่รัฐ ที่แอบอ้างเอานโยบายแก้ปัญหาโลกร้อนมาทำร้ายชาวบ้าน เช่น การจับกุม ฟ้องคดี และปรับเงินกับชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตพึ่งพาอาศัยอยู่กับป่า และกล่าวหาว่าเป็นตัวการทำให้โลกร้อน ทุกวันนี้มีชาวบ้านนับพันรายที่ถูกจับกุมด้วยคดีโลกร้อน มีชาวบ้านอีกหลายพื้นที่ในทุกภูมิภาคของประเทศที่ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับโครงการสร้างโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรม เช่น ปิโตรเคมี เหล็ก น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นตัวการที่แท้จริงที่ทำให้โลกร้อนขึ้น แต่รัฐบาลกลับสนับสนุนการลงทุนเหล่านี้โดยไม่แยแสเสียงคัดค้านของชาวบ้าน และไม่คำนึงถึงผลต่อสิ่งแวดล้อม
 
“ไม่ใช่แค่อนาคตของโลกหรอกที่น่าห่วงใย อนาคตของประเทศไทยเองก็กำลังก้าวไปสู่หายนะเหมือนกัน หากรัฐบาลและกลุ่มธุรกิจ-การเมืองยังไม่เปลี่ยนวิธีคิดและแนวทางในการแก้ปัญหาโลกร้อน ดังนั้น ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องถอนรากระบบพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานอย่างเข้มข้นและสกปรก หันมาเสริมสร้างวิถีการผลิตการบริโภคที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ โดยการส่งเสริมสิทธิชุมชนและประชาชนในการบริหารทรัพยากรในท้องถิ่น เช่นป่าไม้อย่างยั่งยืน” นางอำนวย กล่าว
 
ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนที่มารวมตัวกันได้ประกาศข้อเรียกร้อง ดังนี้
 
 
 
ข้อเรียกร้องเครือข่ายประชาชนเพื่อเร่งแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นธรรม
 
30 สิงหาคม 2555 หน้าอาคารสหประชาชาติ กรุงเทพฯ: เครือข่ายภาคประชาชนรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อทวงถามความเป็นธรรมและความรับผิดชอบของรัฐบาลและนานาชาติในการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน จี้รัฐบาลและกลุ่มธุริจการเมืองทุกชาติเลิกเล่นเกมและต่อรองเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มท่ามกลางหายนะที่กำลังก่อตัวขึ้นทั่วทุกมุมโลกจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ในโอกาสที่ผู้แทนรัฐบาลนานาชาติมาประชุมกัน ณ อาคารสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน พ.ศ. 2555 เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 18 หรือ COP18 ที่เมืองโดฮาร์ ประเทศการ์ตา ในปลายปีนี้
 
เครือข่ายภาคประชาชนไทย 32 องค์กรและเครือข่ายที่รวมตัวกันในวันนี้ ขอทวงถามถึงข้อเรียกร้องที่เคยยื่นให้รัฐบาลนานาชาติและรัฐบาลไทย ดังนี้
 
1.     ให้ทุกรัฐบาล รวมถึงรัฐบาลไทย แสดงเจตจำนงผูกพันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วนที่สุด โดยยึดหลักความรับผิดชอบร่วมในระดับที่แตกต่าง ซึ่งหมายถึงประเทศอุตสาหกรรมต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อยร้อยละ 80 ภายในปี พ.ศ. 2563 หรือ ค.ศ. 2020
 
2.     ให้มีการพัฒนานโยบาย กลไกทางกฎหมายและระบบภาษีในประเทศที่มุ่งเสริมสร้างความเป็นธรรม โดยให้ผู้ก่อปัญหาเป็นผู้รับผิดชอบ ต้องไม่ถ่ายโอนความรับผิดชอบผ่านกลไกตลาดและนโยบายที่ไม่เหมาะสมอีกต่อไป
 
3.     ชนชั้นนำในประเทศกำลังพัฒนาเองก็ต้องไม่หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ โดยกล่าวอ้างว่ายังต้องปล่อยก๊าซเพื่อแก้ปัญหาความยากจน หากผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ยังตกอยู่กับกลุ่มทุน มิใช่คนยากจนที่แบกรับภาระจากปัญหาโลกร้อน
 
4.     ให้สหประชาชาติหาทางออกและวางแนวทางการให้ความเป็นธรรมและปกป้องสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองและชาวบ้านในพื้นที่ป่า
 
5.     ให้รัฐบาลไทยแก้ไขและปรับทิศทางและนโยบายต่อไปนี้โดยเร่งด่วน ได้แก่
 
5.1    หยุดการพัฒนากลไกตลาด และการชดเชย เครดิตคาร์บอน
 
5.2    ปฏิรูปให้มีการเข้าถึงพลังงานสะอาดได้อย่างเท่าเทียมในสังคม และส่งเสริมการวางแผนและกระจายการผลิตไฟฟ้าระดับชุมชน
 
5.3    รื้อแผน แผนพัฒนาพลังงาน (PDP) และจัดทำกระบวนการให้มีความโปร่งใส โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวางแผนการจัดการพลังงานพร้อมทั้งเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (พลังงานสะอาด) ให้ได้ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกฯ และดำเนินการอนุรักษ์พลังงานให้ได้ตามแผนอนุรักษ์พลังงานฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ขยายโรงไฟฟ้าจากก๊าซ หยุดการใช้พลังงานจากถ่านหิน และ ยกเลิกแผนพัฒนาและก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงและไม่ยั่งยืน
 
5.4    ควบคุมและยกเลิกการพัฒนาอุตสาหกรรมและโครงการขนาดใหญ่ซึ่งก่อมลพิษสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เหล็กต้นน้ำ ถ่านหิน เป็นต้น และหยุดขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ
 
5.5    หยุดโครงการพัฒนาใดๆ ที่จะทำลายฐานทรัพยากรทางอาหาร ซึ่งเป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
 
5.6    ยกเลิกการสร้างเขื่อนทั้งในประเทศไทย และแม่น้ำโขง เพราะนอกจากทำลายป่าและระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำขนาดใหญ่ของภูมิภาคแล้วยังก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน ทั้งนี้ ต้องให้ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะประชาชนในเขตลุ่มน้ำทั่วภูมิภาค มีส่วนร่วมในการตัดสินใจของรัฐในทุกขั้นตอน
 
5.7    รัฐจะต้องยอมรับสิทธิและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นในการอาศัยและจัดการทรัพยากรจากป่าอย่างยั่งยืนและแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องสิทธิที่ดินทำกินของประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อย่างเร่งด่วนที่สุด
 
5.8    รัฐไทยต้องยุติการไล่รื้อ ฟันทำลายพืชผล จับกุมดำเนินคดีกับเกษตรกรอย่างไม่เป็นธรรม และยุติการใช้แบบจำลองโลกร้อนของกรมอุทยานฯ ซึ่งบิดเบือนหลักวิชาการ มาเรียกค่าเสียหายกับเกษตรกรโดยอ้างโลกร้อน
 
5.9    รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เช่น โดยจัดตั้งธนาคารที่ดิน และจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า รวมทั้งยอมรับและสนับสนุนแนวทางการจัดการที่ดินแบบโฉนดชุมชน ตามสิทธิชุมชน ในมาตรา 66 และ 67 ตามรัฐธรรมนูญ
 
5.10  วางแนวทางให้ชุมชนบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น ด้วยชุมชนเอง ซึ่งรวมถึงแร่ธาตุทั้งบนดินและใต้ดิน รวมถึงป่าไม้
 
5.11  สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านภาคเกษตรของประเทศ โดยเฉพาะให้ความสำคัญกับเกษตรกรรายย่อย ไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์ ที่คำนึงถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งดีต่อระบบนิเวศน์ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งเป็นการปรับตัวต่อโลกร้อนที่ดีสำหรับภาคเกษตร
 
ลงนามโดย
 
กลุ่มเกษตรอินทรีย์ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา
กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก
กลุ่มสมัชชาคนจน
กลุ่มสิทธิเครือข่ายชุมชนวังวน จังหวัดตรัง
กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก
กลุ่มอนุรักษ์ป่าเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จังหวัดหนองบัวลำภู
กลุ่มอนุรักษ์ป่าธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด
คณะทำงานพลังงานยั่งยืนจังหวัดสุรินทร์
คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี
เครือข่ายคนไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน อำเภอกันตรัง จังหวัดตรัง
เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดตราด
เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค จังหวัดตราด
เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
เครือข่ายติดตามผลกระทบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน จังหวัดชัยภูมิ
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรแร่ประเทศไทย
เครือข่ายเฝ้าระวังเรดด์
เครือขายพลเมืองปกป้องแผ่นดินเกิด “ดิน น้ำ ปลา ป่า แร่” ภาคอีสาน
เครือข่ายภาคประชาชนภาคตะวันออก จังหวัดระยอง
เครือข่ายรักษ์ละแม อำเภอละแม จังหวัดชุมพร
เครือข่ายแรงงานนอกระบบ
เครือข่ายศึกษานิเวคลียร์ จังหวัดกาฬสินธุ์
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน (คสข.)
เครือข่ายสิทธิคุ้มครองผู้บริโภค ตำบลคันธุลี อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดราชบุรี
เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมหนองแซง-ภาชี
มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
 
ประมวลภาพ
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท