Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ธรรมกายทำผิดธรรมวินัยหรือไม่ อันนี้เป็นประเด็นที่นักคิดชาวพุทธหลายท่านได้อรรถาธิบายกันแยะ ซึ่งทุกครั้งที่เกิดการถกเถียงกันเกี่ยวกับประเด็นธรรมกายก็ดี สันติอโศกก็ตาม หรือพุทธแบบอื่นๆ นอกเหนือจากแบบที่รัฐรับรอง ก็มักยกธรรมวินัยขึ้นมาอ้างอิงเสมอ ปัญหาที่น่าสนใจคือ ข้าพเจ้ามองว่า นักคิดชาวพุทธเช่น อาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์ หรือพระไพศาล วิสาโล กำลังพูดคนละภาษากับนักคิดฝั่งเสรีนิยม

เพราะประเด็นที่แท้จริงไม่ใช่ทำผิดพระธรรมวินัยหรือไม่ แต่ประเด็นที่ฝั่งเสรีนิยมเสนอคือ แล้วองค์กรทางศาสนานั้นควรมีอำนาจรัฐมากำกับหรือไม่ต่างหาก ทีนี้เราลองมาตรวจสอบดูว่า อำนาจรัฐที่ให้หรือมอบผ่านตัวแทนทางศาสนามีจริงหรือไม่ในสังคมไทย ผมอยากชี้ชวนให้ดู พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505

มาตรา 4 ภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ บรรดากฎกระทรวง สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับคณะสงฆ์ที่ใช้บังคับอยู่ในวันประกาศพระราชบัญญัตินี้ในราชกิจจานุเบกษา ให้คงใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้จนกว่าจะมีกฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับหรือระเบียบของมหาเถรสมาคม ยกเลิก หรือมีความอย่างเดียวกัน หรือขัดหรือแย้งกัน หรือกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 5 เพื่อประโยชน์แห่งมาตรา 4 บรรดาอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับคณะสงฆ์ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพระภิกษุตำแหน่งใดหรือคณะกรรมการสงฆ์ใดซึ่งไม่มีในพระราชบัญญัตินี้ ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจกำหนดโดยกฎมหาเถรสมาคมให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพระภิกษุตำแหน่งใด รูปใดหรือหลายรูปร่วมกันเป็นคณะตามที่เห็นสมควรได้

มาตรา 8 สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม

มาตรา 15 ตรี มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม

(2) ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร

(3) ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์

(4) รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา

(5) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

เพื่อการนี้ ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง มีมติหรือออกประกาศ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัย ใช้บังคับได้ และจะมอบให้พระภิกษุรูปใดหรือคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา 19 เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่งก็ได้

มาตรา 15 จัตวา เพื่อรักษาหลักพระธรรมวินัยและเพื่อความเรียบร้อยดีงามของคณะสงฆ์มหาเถรสมาคมจะตรากฎมหาเถรสมาคม เพื่อกำหนดโทษหรือวิธีลงโทษทางการปกครอง สำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ประพฤติให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนาและการปกครองของคณะสงฆ์ก็ได้

พระภิกษุและสามเณรที่ได้รับโทษตามวรรคหนึ่งถึงขั้นให้สละสมณเพศ ต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันทราบคำสั่งลงโทษ

เอาล่ะครับ ทีนี้คงพอเห็นว่ารัฐได้ “มอบอำนาจ” ของรัฐให้แก่คณะบุคคล/บุคคล ข้างต้น เพื่อที่จะทำการ “ปกครองสงฆ์” หรือพูดอีกแบบคือ “ควบคุมศาสนาพุทธ” ให้เป็นตามสิ่งที่เชื่อว่าถูกต้องดีงาม นั่นแปลว่าอะไร? นั่นแปลว่าศาสนาที่คนนับถือมากที่สุดในประเทศไทย มีคณะบุคคลที่ทำหน้าที่แทนรัฐมาตีความบัญญัติ คำสอน ปรัชญา ขนบ ฯลฯ แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น แล้วผู้ที่ตีความพุทธหรือสถานะความเป็นพระในแบบอื่น ๆ ล่ะ จะมีชะตากรรมอย่างไร ชะตากรรมของ ครูบาศรีวิชัย สันติอโศก หรือกระทั่งธรรมกาย ก็คงบอกอะไรกับเราได้

แน่ล่ะ ข้าพเจ้าไม่ได้บอกว่า ครูบาศรีวิชัย สันติอโศก หรือธรรมกาย ดีเหมือนกัน หรือมีปรัชญาคำสอนอะไรที่เหมือน ๆ กัน แต่ข้าพเจ้ากำลังจะบอกว่า เขาเหล่านั้นมีชะตากรรมเหมือนกันในแง่ที่ถูกอำนาจรัฐ (ผ่านตัวแทนที่เป็นองค์กรสงฆ์) ตัดสิน ตีความ กระทั่งขับไล่ให้พ้นจากความเป็นสงฆ์ (เช่น กรณีสันติอโศก เป็นต้น)

ข้าพเจ้าขอยืนยันอีกครั้งว่า ธรรมกายดีหรือไม่ ครูบาศรีวิชัยท่านสอนถูกปฏิบัติถูกหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นของข้าพเจ้า แต่ปัญหาคือ ในรัฐโลกียวิสัย (Secular State) จะมีคณะ/บุคคล ใดบุคคลหนึ่งได้รับอำนาจจากรัฐ มาตัดสินเรื่องความเชื่อได้จริงๆ หรือ?

ข้าพเจ้าลองตั้งคำถามว่า สมมติสันติอโศกเกิดมีแนวคิดว่า พระสงฆ์ทั่วไปของไทยนั้น ยึดถือหลักการที่ผิดและขาดจากความเป็นสงฆ์บ้างจะเกิดอะไรขึ้น คำตอบคือ ก็คงไม่เกิดอะไร เพราะสันติอโศกไม่มีอำนาจรัฐรับรอง เช่นนั้น สถานะพุทธแบบสันติอโศกย่อมไม่เท่ากันกับสถานะพุทธแบบมหาเถรสมาคม ใช่หรือไม่? แปลว่ารัฐยอมให้อำนาจแก่ความเชื่อแบบหนึ่งเป็นพิเศษ มากกว่าความเชื่อแบบอื่น ๆ ใช่หรือไม่?

สรุปให้เข้าใจง่ายๆ คือ พุทธแบบ ก. มีอำนาจรัฐรับรอง แต่พุทธแบบ ข. ค. ง . ฯลฯ ไล่ไปจนถึง ฮ.นกฮูก ไม่ได้มีอำนาจรัฐรับรองด้วย แล้วรัฐมีความชอบธรรมอันใดเล่าที่จะให้อำนาจ (ที่ตราเป็นกฎหมาย) แก่ความเชื่อแบบใดแบบหนึ่งเหนือกว่าความเชื่อแบบอื่นๆ ?

ท่านอาจมีคำถามว่า แล้วที่พระสงฆ์ทั้งหลายในปัจจุบันทำเรื่องต่าง ๆ ที่บาดใจสาธุชนเหลือเกินนั้น หากไม่ให้รัฐหรือตัวแทนอำนาจรัฐเข้าไปจัดการแล้วจะให้ทำอย่างไรเล่า ข้าพเจ้าประทับใจอย่างยิ่งกับคำกล่าวของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์จากรายการ พุทธชยันตี ฟังเสียงพุทธบริษัท ช่อง TPBS http://www.youtube.com/watch?v=3bO7Y6blYsc

“....จะทำยังไงให้พระปรับตัว ผมไม่เชื่อว่าคุณจะมีรัฐบาลที่ดี มีผู้นำที่ดีแล้วไปให้พระปรับตัว ไม่ ผมไม่เชื่อ ผมเชื่อว่าพระไทยสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับกาลสมัยได้ ขออย่างเดียว อย่าให้รัฐไปคุ้มครองพระเป็นอันขาด เป็นอิสระ แข่งขันกันกับพระหลาย ๆ นิกาย คุณอยากอยู่รอด คุณปรับตัวเอง แต่เมื่อไหร่ที่มีรัฐ มีอำนาจ มีทรัพย์ไปคอยปกป้องคุ้มครองคณะสงฆ์เอาไว้ คณะสงฆ์จะอึดถึกไม่มีวันปรับตัว เท่านั้นเอง...”

ก็ขอแลกเปลี่ยนมาดังนี้ ก็หวังว่าท่านที่เรียกร้องให้ มหาเถรสมาคมไปจัดการกับธรรมกายทั้งหลาย ก็ลองทบทวนดูอีกทีแล้วกันครับ และข้าพเจ้าคิดว่ามันจะไม่เป็นอะไรเลย ถ้ามหาเถรสมาคมเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่ดึงอำนาจรัฐมารับรอง แต่ถ้ายังเป็นเช่นปัจจุบันนี้ เราจะบอกว่า เราเป็นรัฐโลกียวิสัยได้อย่างไร เราจะเป็นรัฐที่ให้ความเท่าเทียมกันแก่ทุก ๆ ความเชื่อได้อย่างไร ข้าพเจ้ามองไม่ออกจริงๆ

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net