Skip to main content
sharethis

ทั้งชาวพม่าและชาวต่างชาติ ในจำนวนนี้มีลูก "ออง ซาน ซูจี" และ "หมอซินเธีย" พ่วงด้วย ขณะที่ "แอ๊ด คาราบาว" "ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" และผู้สื่อข่าวไทยหลายคนก็ถูกเลิกขึ้นบัญชีดำเช่นกัน ด้านอดีตนักศึกษาพม่าเรียกร้องให้ทางการพม่ายกเลิกบัญชีดำที่เหลืออยู่ทั้งหมด

เมื่อวานนี้ (30 ส.ค. 55) เว็บไซต์ทำเนียบประธานาธิบดีพม่า ได้แจ้งว่า ได้ลบรายชื่อประชาชนราว 2,000 คน ทั้งชาวต่างชาติและพลเมืองพม่า ออกจากบัญชีดำบุคคลซึ่งถูกพิจารณาว่าเป็นภัยต่อสันติภาพและความมั่นคงของรัฐบาลทหารพม่าชุดก่อนแล้ว

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากสื่อของรัฐบาลพม่าประกาศว่า รายชื่อบุคคลจำนวน 2,082 คน ได้ถูกย้ายออกจากบัญชีผู้ที่อาจเป็นศัตรูของรัฐ ในสมัยรัฐบาลทหารชุดก่อนแล้ว โดยในรายชื่อมีทั้งฝ่ายต่อต้านรัฐบาลชาวพม่า นักกิจกรรมชาวต่างชาติ ผู้สื่อข่าว นักประวัติศาสตร์ เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ และลูกของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน

โดยบุคคลที่มีชื่อเสียงของพม่า ที่อยู่ในบัญชีดังกล่าวประกอบด้วย นพ.เส่ง วิน ผู้นำรัฐบาลพม่าพลัดถิ่น อ่อง ดิน จากกลุ่ม US Campaign for Burma นางซิปโปร่า เส่ง เลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) พญ.ซินเธีย หม่อง ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการแม่ตาวคลินิก โป่จี, เต็ตหน่าย และสมาชิกสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (AAPPB) อ่อง โมซอว์ จากพรรคประชาธิปไตยเพื่อสังคมใหม่ (DPNS) หม่อง หม่อง จากสหพันธ์สหภาพแรงงานพม่า (FTUB) ขิ่น โอมาร์ จากเครือข่ายเพื่อประชาธิปไตยและการพัฒนา อ่อง ทู จากสภาทนายความพม่า และหน่อ เล ดี จากสหภาพสตรีพม่า

รายชื่อในบัญชีดำที่ถูกยกเลิกยังประกอบด้วยโม ตี ซอน และ นพ.นายอ่อง อดีตผู้นำแนวร่วมนักศึกษาพม่าทั้งมวล (ABSDF) กองกำลังนักศึกษาพม่าติดอาวุธ ซึ่งจัดตั้งขึ้นหลังการปราบปรามผู้ประท้วงฝ่ายนิยมประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ. 2531 ด้วย

โดยโม ตี ซอน ซึ่งวางแผนกลับเข้าพม่าในวันที่ 1 ก.ย. นี้ กล่าวกับอิระวดีว่าเขายินดีกับข่าวลบชื่อออกจากบัญชีดำนี้ แต่ขอเรียกร้องให้มีการลบชื่อบุคคลที่ยังอยู่ในบัญชีดำทั้งหมด ซึ่งยังมีมากกว่า 4 พันรายชื่อ

"ถ้ารัฐบาลลบชื่อพวกเราออกจากบัญชีดำได้ ก็ควรลบชื่อคนอื่นๆ ซึ่งเป็นผู้ปราศจากมลทินด้วย"

ทั้งนี้ นพ.นาย อ่อง ซึ่งจะเข้าไปในพม่าวันศุกร์นี้ พร้อมด้วยนักกิจกรรมซึ่งลี้ภัยอีก 4 คน ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยเพื่อสังคมใหม่ (DPNS) รวมทั้งหม่อง หม่อง จากสหพันธ์สหภาพแรงงานพม่า (FTUB)  จะหยิบยกเรื่องการถอนรายชื่อบุคคลต่างๆ ออกจากบัญชีดำไปหารือกับรัฐมนตรีในรัฐบาลพม่าด้วย

"การเดินทางของเรานั้นราบรื่นและเรียบง่าย เราไม่ต้องกรอกหนังสือแสดงความยินยอมอะไร และเราจะไปหารือเรื่องนี้กับรัฐบาล" นพ.นาย อ่อง กล่าว

ในบรรดารายชื่อชาวต่างประเทศที่อยู่ในบัญชีดำ ประกอบด้วย เดนิส เกรย์ จากสำนักข่าว AP แอนดรูว์ มาร์แชล อดีตผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ อดีตผู้สื่อข่าวอังกฤษอย่างจอห์น พิลเกอร์ และอดีตผู้ประกาศ CNN และผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่า ริซ ข่าน

"การถอนบัญชีดำ ไม่ได้มีความหมายอะไรมาก ที่ผมสนใจก็คือ ยังมีคนอีกจำนวนหลายพันที่ยังถูกขึ้นบัญชีดำ" มาร์แชลให้สัมภาษณ์กับอิระวดี "พวกเขาเป็นใคร และทำไมเขายังถูกพิจารณาว่าเป็นศัตรูของยุคพม่าปฏิรูป?"

ทั้งนี้ มาร์แชล ถูกควบคุมตัวและเนรเทศเมื่อปี 2551 หลังแอบเข้าไปรายงานข่าวพายุไซโคลนนาร์กีส แม้ว่าชื่อของเขาจะถูกลบออกจากบัญชีดำอย่างเป็นทางการแล้ว แต่เขากล่าวว่า เขาได้เข้าไปเยือนพม่ามา 6 ครั้งแล้วนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รวมทั้งการเข้าไปทำข่าวการเยือนพม่าของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา นางฮิลลารี่ คลินตัน

ชาวต่างชาติคนอื่นๆ ที่ถูกลบชื่อจากบัญชี ยังประกอบด้วย เดวิด สก็อต แมธิสันจาฮิวแมนไรท์วอช (HRW) เดสมอนด์ บอล ศาสตราจารย์ออสเตรเลีย และคริสทีนา ฟิง ผู้เขียน "Living Silence" หนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวภายใต้รัฐบาลทหารพม่า

จอห์น วิลเลียม ยิตทอว์ ชาวอเมริกันที่ลอบเข้าไปในบ้านพักนางออง ซาน ซูจีในเดือนพฤษภาคมปี 2552 ซึ่งทำให้นางออง ซาน ซูจีถูกขยายเวลาการกักบริเวณออกไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนปี 2553 ก็ถูกลบรายชื่อออกจากบัญชีดำเช่นกัน

ทั้งนี้ประมาณ1 ใน 3 ของรายชื่อ 2,082 บุคคลที่ถูกลบออกจากบัญชีดำ ประกอบด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัย แพทย์ นักธุรกิจ และนักกิจกรรมในประเทศพม่า

โดยอิระวดี สัมภาษณ์อาจารย์มหาวิทยาลัยสตรีท่านหนึ่ง ซึ่งกล่าวว่า ไม่น่าเชื่อว่ารายชื่อของเธออยู่ในบัญชีนั้น "ฉันได้ลาออกจากตำแหน่งก่อนที่จะสิ้นสุดสัญญาจ้างงาน 5 ปี บางทีนี่อาจเป็นสาเหตุว่าทำไมฉันถึงอยู่ในบัญชีดำ แม้ว่าฉันได้จ่ายค่าปรับจากการเลิกสัญญาแล้วก็ตาม"

ทั้งนี้ ประชาชนในประเทศที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีดำจะไม่ได้รับอนุญาตให้ถือหนังสือเดินทางเพื่อออกไปนอกประเทศ ซึ่งนักศึกษารุ่น '88 หลายคนก็ยังเผชิญปัญหานี้อยู่

จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวเพิ่มเติม รายชื่อของผู้ที่ถูกยกเลิกจากบัญชีดำยังประกอบด้วย เบอร์ทิล ลิตเนอร์ ผู้สื่อข่าวและนักเขียนชาวสวีเดน ซึ่งมีงานเขียนเกี่ยวกับพม่าหลายเรื่อง แอนเดอร์ส ออสเตอร์การ์ด ผู้กำกับภาพยนตร์ Burma VJ ซึ่งเคยเข้าชิงรางวัลออสการ์ แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย ของฮิวแมนไรท์ วอทซ์ ชี ซุน ฉวน ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน SDP ของสิงคโปร์ สี ชี หาว นักสิทธิมนุษยชนและ ส.ส.จากรัฐซาราวัก มาเลเซีย ขณะเดียวกันมีชื่อของ พริสซิลลา แอน แคลปป์ นักการทูต ประจำกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ซึ่งรับผิดชอบกองงานพม่า  ระหว่างปี 2542 - 2545 ด้วย

นอกจากนี้ยังมีรายชื่อบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้วอย่าง คิม แด จุง อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และนางคอราซอน อากีโน อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์

ขณะเดียวกัน ยังพบรายชื่อของชาวไทยที่ถูกยกเลิกจากบัญชีดำของทางการพม่าจำนวนมาก เช่น ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ สมศรี หาญอนันทสุข ผู้อำนวยการเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้ง ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน และผู้สื่อข่าวไทยอย่างเช่น ชิบ จิตนิยม, สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, สุพัตรา ภูมิประภาส และวาสนา นาน่วม

นอกจากนี้ยังมีชื่อของยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว ซึ่งเคยแต่งเพลงโจมตีรัฐบาลพม่า และเคยเข้าไปแสดงดนตรีในพื้นที่ของกองกำลังชนกลุ่มน้อยพม่า

ขณะเดียวกันมีชื่อของนักกิจกรรมทางการเมืองด้วย อย่างเช่น จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และแกนนำ นปช. ซึ่งเคยถูกทางการพม่าจับและเนรเทศ หลังเข้าไปเคลื่อนไหวในพม่า และมีชื่อของอัญชะลี ไพรีรัก อดีตผู้ประกาศข่าว ซึ่งเคยมีบทบาทในขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วย

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

อิระวดี  และ Myanmar President Office [1], [2]

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net