Skip to main content
sharethis

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบอนน์ เยอรมนี ค้นพบว่ากลุ่มคนที่มีอาการติดอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่มีการผ่าเหล่าในยีนส์ CHRNA4 ซึ่งเป็นตัวเดียวกับการเสพติดนิโคติน

29 ส.ค. 2012 - การวิจัยในมหาวิทยาลัยของเยอรมนีพบว่า อาการติดอินเทอร์เน็ตของมนุษย์เราอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับยีนส์สืบทอดทางพันธุกรรม

นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่าพวกเขาค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างการเสพติดอินเทอร์เน็ต กับการผ่าเหล่าของยีน ซึ่งเป็นตัวเดียวกับการเสพติดนิโคติน

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบอนน์ ประเทศเยอรมนีได้สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง 843 คน เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับอินเทอร์เน็ต มีอยู่ 132 คนที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์กับการใช้อินเทอร์เน็ตที่ดูผิดหลัก พวกเขาคิดว่าความเป็นอยู่ของพวกเขาจะสั่นคลอนหากพวกเขาไม่ได้เชื่อมตัวเองเข้ากับโลกอินเทอร์เน็ต

และเมื่อเปรียบเทียบยีนส์ของทั้งสองกลุ่มแล้ว นักวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่เสพติดอินเทอร์เน็ตมักจะมีการผ่าเหล่าของยีนส์ CHRNA4 ซึ่งปกติแล้วเชื่อมโยงกับการติดนิโคติน

รายงานการวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสารเวชศาสตร์การเสพติด คริสเตียน มอนแทก ผู้เขียนรายงานกล่าวว่านี่คือหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการเสพติดอินเทอร์เน็ตไม่ใช่แค่เรื่องที่เราจินตนาการไปเอง

"หากสามารถศึกษาเข้าใจความเชื่อมโยงได้มากขึ้น ก็จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญสำหรับการรักษาที่ดีขึ้น" มอนแทกกล่าว

มอนแทกและทีมของเขาเน้นย้ำว่า เรื่องนี้ยังต้องศึกษากับกลุ่มตัวอย่างมากกว่านี้ โดยเฉพาะการค้นคว้าเพื่อพิสูจน์ว่าการผ่าเหล่าของยีนส์เกิดขึ้นในผู้ติดอินเทอร์เน็ตผู้หญิงมากกว่าจริงหรือไม่

"กรณีการค้นพบเรื่องการเชื่อมโยงจากยีนส์ระบุเพศ อาจจะมาจากกลุ่มย่อยของผู้ติดอินเทอร์เน็ตบางกลุ่มโดยเฉพาะก็ได้ เช่นกลุ่มผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค เป็นต้น" มอนแทคกล่าว

 
 
ที่มา
Internet Addiction Tied to Gene Mutation, Livescience, 29-08-2012

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net