สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 26 ส.ค. - 1 ก.ย. 2555

เสวนาแรงงานชี้สิทธิแรงงานยังล้าหลังอัดนักการเมืองยังมึนเรื่องรัฐสวัสดิการ 

26 ส.ค. 55 - ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม โดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาทางวิชาการเรื่องประกันสังคมถ้วนหน้า เพื่อคนทำงานทุกกลุ่ม อิสระ โปร่งใส และเป็นธรรมมีผู้เข้าร่วมเสวนาอาทิ เช่น น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นางสุจิน รุ่งสว่าง เครือข่ายแรงงานนอกระบบ นายโกวิทย์ บุรพธานินทร์ นักวิชาการด้านแรงงานและกรรมการมูลนิธิคม จันทรวิทุร โดยมี นางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ดำเนินรายการ

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า โครงสร้างการบริหารของกองทุนประกันสังคมถูกแทรกแซงโดยง่ายจากฝ่ายต่างๆที่ เกี่ยวข้องในหลายรูปแบบ ในอนาคตจะกระทบกับสิทธิการรักษาพยาบาลต่างๆ กองทุนชราภาพ ซึ่งจะกระทบกับลูกจ้างมาก ทั้งนี้เราจะสามารถทราบได้ว่านายจ้างไม่นำเงินเข้าสมทบในกองทุนประกันสังคม เมื่อมีการไปใช้สวัสดิการที่โรงพยาบาล เรื่องนี้น่าวิตกเป็นอย่างมาก

"อีกทั้งมีการนำเงินกองทุนฯจำนวนหลายร้อยล้านบาทไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ 23 ปีที่ผ่านมาสิทธิประโยชน์ยังล้าหลัง ทำให้ผู้ประกันตนอยากถอนตัวออกจากประกันสังคมมากขึ้น และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการมีสมาชิก 1.2 ล้านคน แต่มีผู้บริหารมืออาชีพที่มาจากการสรรหามืออาชีพเข้ามาบริหาร ต่างจากกองทุนประกันสังคมมีผู้ประกันตนกว่า 10 ล้านคนแต่ไม่มีผู้บริหารมืออาชีพเนื่องจากกฎหมายกำหนดให้เป็นข้าราชการเข้า มาบริหาร"  ขอเสนอแนะให้การบริหารในกองทุนฯมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้และเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย และเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน

ด้านนางสุจิน กล่าวว่า เห็นด้วยที่สิทธิประโยชน์ของกองทุนฯจะสามารถเข้าถึงทุกภาคส่วน เป็นอิสระในการจัดการ เนื่องจากที่ผ่านมาเรารับรู้มาตลอดว่ามีการจัดการที่ไม่โปร่งใส ขณะเดียวกันแรงงานนอกระบบควรมีตัวแทนเข้ามาบริหารจัดการเงินกองทุนด้วย และเห็นว่าสิทธิประโยชน์ในส่วนของแรงงานนอกระบบมีสิทธิประโยชน์น้อยไม่มีแรง จูงใจ

"ที่ผ่านมาการเข้าถึงสวัสดิการประกันสังคมมีความยากลำบากมาก ส่งเงินประกันรายปี ปีละ3,600 บาท แต่มีสิทธิประโยชน์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือคลอดบุตร เสียชีวิต และทุพพลภาพเท่านั้น แรงงานนอกระบบยังไม่มีสิทธิประโยชน์เป็นที่น่าพอใจเมื่อเปรียบเทียบกับแรง งานในระบบ " น.ส.วิไลวรรณ กล่าว

ด้านนายโกวิทย์ กล่าวว่า สุดท้ายแล้วเราต้องตั้งคำถามว่าเราต้องการอะไรจากประกันสังคม ที่ผ่านมาสามารถตอบโจทย์คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ใช้แรงงานหรือไม่ กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนขนาดใหญ่มีงบประมาณกว่า 9 แสนล้านบาท แต่ที่ผ่านมามีสมาชิกเข้าไปมีส่วนในการบริหารหรือไม่ แม้จะปรับเปลี่ยนกองทุนประกันสังคมแบบดีที่สุดแต่เห็นว่าผู้ใช้แรงงานจะมี ชีวิตที่ดีขึ้นหรือไม่ จึงเห็นว่าอย่ามองเห็นแค่องค์ประกอบเดียว

"ทั้งนี้ควรมีการผลักดันนโยบายด้านประชาสังคมที่ยั่งยืน ที่ไม่ใช่เป็นรูปแบบประชานิยมเพื่อร่วมกับพ.ร.บ.ประกันสังคม ทุกวันนี้มีสวัสดิการต่างๆในประเทศ แต่ไม่เชื่อมั่นว่านักการเมืองจะเข้าใจคำว่าสวัสดิการสังคม ซึ่งต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ระบบสวัสดิการไม่ใช่เป็นเรื่องฝ่ายซ้ายหรือขวา แต่เป็นเรื่องการกระจายทรัพยากรเข้าถึงประชาชน"นายโกวิทย์ กล่าว

(เดลินิวส์, 26-8-2555)

อัตราว่างงานไตรมาส 2 พุ่งกว่า 3 แสนคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 55  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานความเคลื่อนไหวทางสังคมในช่วงไตรมาสสอง ปี 2555 โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า การจ้างงานและรายได้ช่วงไตรมาสสอง ปี 2555 พบ อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.85 โดยมีจำนวน 334,121 คน สูงกว่าอัตราการการว่างงาน ร้อยละ 0.6 ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งการว่างงานที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลมาจาก ปัจจัยด้านการผลิตกำลังคน เพราะแรงงานคนมีการเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้น โดยมีผู้จบการศึกษาใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานจำนวน 521,199 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 และกำลังแรงงานรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1

นายอาคม กล่าวว่า ความต้องการของตลาดการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 แต่ช้ากว่าการเพิ่มขึ้นของกำลังแรงงาน เพราะการลงทุนและการผลิตยังไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่ เป็นผลจากผลกระทบการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในเดือนเมษายนที่ผ่านมา และผลกระทบจากน้ำท่วม ทำให้บางกิจการต้องปิดตัวลงและบางกิจการยังไม่สามารถกลับมาผลิตได้ รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากภาวะวิกฤตหนี้ยูโร ซึ่งแรงงานที่มีการศึกษาในระดับประถมศึกษาและต่ำกว่ามีอัตราการว่างงานต่ำ เพียงร้อยละ 0.3 แต่กลุ่มแรงงานที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.2 จาก 0.7 ระดับอาชีวศึกษา 1.2 จาก 0.9 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 2.1 จาก 1.4 และระดับอุดมศึกษา 1.9 จาก 1.0 ในไตรมาสสองของปี 2554 โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่เคยทำงานมาก่อน

"ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในสาขาบริหารธุรกิจและพาณิชยศาสตร์ มีการว่างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา ร้อยละ 2.1 ระดับ ปวส.ร้อยละ 1.8 ซึ่งสาขาที่มีปัญหาการผลิตเกินความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2548-2554 คือ สาขาศิลปกรรมศาสตร์ ร้อยละ 4.4 และมนุษยศาสตร์ ร้อยละ 2.4 นอกจากนี้ยังมีการว่างงานในสาขาคอมพิวเตอร์ ระดับ ปวช.ร้อยละ 6.0 ระดับ ปวส.ร้อยละ 4.3 และระดับอุดมศึกษา ร้อยละ 4.8"

นายอาคม กล่าวต่อว่า รายได้แท้จริงของแรงงานเพิ่มขึ้น โดยค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์ ตอบแทนอื่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 ตามการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.5 ทำให้ค่าจ้างแท้จริงเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2

ด้าน นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การติดตามสถานการณ์การเฝ้าระวังด้านการว่างงานในระยะสั้นนั้น ชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยเริ่มส่งสัญญาณการเฝ้าระวังสถานการณ์ว่างงานที่อาจ เพิ่มขึ้น ซึ่งจำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยไตรมาสสองลดลงร้อยละ 1.2 และจำนวนผู้ทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงขึ้นไปลดลงร้อยละ 0.7 โดยผู้ทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.2 ซึ่งยังคงต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปต่อแรงงานกลุ่มต่างๆ ได้แก่ แรงงานผลิตเพื่อส่งออก แรงงานในภาคบริการท่องเที่ยว และแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในยุโรป

นางสุวรรณี กล่าวอีกว่า ในระยะยาวปัญหาเชิงโครงสร้างยังเป็นข้อจำกัดต่อศักยภาพการพัฒนาของประเทศและ คุณภาพชีวิตของแรงงาน ที่ต้องเร่งแก้ไข ได้แก่ กลุ่มวัยแรงงานที่มีอายุระหว่าง 15-39 ปี แต่มีการศึกษาต่ำ ซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดในการผลักดันการเพิ่มผลิตภาพแรงงานเพื่อทดแทนกำลังแรง งานที่จะน้อยลงในเชิงปริมาณภายใต้โครงสร้างประชากรสูงอายุ และปัญหาแรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้มีอายุมากแต่ระดับการศึกษาต่ำซึ่งส่วนมากทำ งานนอกระบบ จึงเป็นข้อจำกัดในการยกระดับขีดความสามารถและการยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นทักษะการทำงานที่สำคัญในอนาคต อาจส่งผลต่อการสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านรายได้และความสามารถในการเก็บ ออม

"สำหรับด้านการศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศไทยมีความเสียเปรียบในด้านภาษาอังกฤษและความหลากหลายของภาษาทีใช้ ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศประเทศที่มีทักษะภาษาอังกฤษระดับต่ำมาก การจัดอันดับของ English Proficiency Index (EPI) ใน 42 ประเทศ จึงต้องเร่งให้ความสำคัญอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้ประชาชนสามารถสื่อสารได้ นอกจากนี้การพัฒนาภาษามลายูกลาง ก็ต้องให้ความสำคัญเช่นกันเพราะใช้สื่อสารกับประชากรครึ่งหนึ่งของประชาคมอา เซียน"

ด้านพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคนในสังคมไทย พบเยาวชนกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าปีละ 250,000 คน จากข้อมูลศูนย์วิจัยสุราในปี 2554 พบว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มแอลกฮอล์มากถึง 17 ล้านคน ส่วนข้อมูลสำรวจการบริโภคยาสูบในผู้ใหญ่ระดับโลก ปี 2552-2554 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจาก 14.3 ล้านคน เป็น 14.6 ล้านคน ซึ่งช่วงอายุ 14-24 มีอัตราการสูบบุหรี่ ร้อยละ 14.8 นอกจากนี้ผลสำรวจการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ของกรมสุขภาพจิต พบว่า เด็กและเยาวชนมีความฉลาดทางอารมณ์ลดลง ในปี 2554 ค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ขาดความสามารถในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และใช้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

นางสุวรรณี กล่าวอีกว่า การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมยังคงมีอัตราเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.6 เป็นผลมาจากภัยคุกคามเชื้อไวรัสเอนเทอโรไวรัส 71 ส่วนผลสำรวจพฤติกรรมเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ 7 ล้านคน ของสถาบันรามจิตติ ช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2555 พบว่า เด็ก 1 ล้านคน มีอาการซึมเศร้าและหงุดหงิดโดยไม่รู้สาเหตุ เด็กร้อยละ 50 มีความสุขในการไปเรียนลดลง ด้านคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นจากไตรมาสสอง ปี 2554 และไตรมาสหนึ่ง ปี 2555 ร้อยละ 30.9 และ 14.0 โดยในขณะนี้ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ต้องจับตาด้านการค้า มนุษย์เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน

(คมชัดลึก, 27-8-2555)

ประกันสังคมจ่อรณรงค์ผู้ประกันตนให้ครบเป้า

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินการส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบ มีสวัสดิการด้านการประกันสังคมเพื่อความมั่นคงของชีวิต จึงจัดหน่วยเคลื่อนที่ร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาชน ทำการประชาสัมพันธ์ชี้แจงทำความเข้าใจ

และรับสมัครแรงงานเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 ทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าหมายรับสมัครผู้ประกันตน จำนวน 1,200,000 คน ภายในเดือน ก.ย. 2555 ส่งผลให้มีจำนวนผู้ประกันตนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ นับจากวันที่ 1 พ.ค. 2554-21 ส.ค. 2555 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,006,859 คน

อย่างไรก็ตาม ทิศทางการดำเนินงานหลังจากนี้ สำนักงานประกันสังคมจะรณรงค์ให้ขึ้นทะเบียนเป็นไปตามเป้าหมาย เพิ่มช่องทางชำระเงินในพื้นที่ห่างไกล และขอให้รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนผู้ประกันตน รวมทั้ง ร่วมจ่ายเงินสมทบได้ตามกฎหมายด้วย

(ไอเอ็นเอ็น, 27-8-2555)

แรงงานอุตฯขาดอื้อ ศธ.เร่งผลิตคนสายอาชีพรองรับ

น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบให้กระทรวงแรงงาน (รง.) และ ศธ.ไปทำแผนกำลังคนรองรับการขยายการลงทุนในประเภทอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมี ความโดดเด่น พร้อมทำแผนกำลังคนรองรับการขยายการคมนาคมทางบก โดยเฉพาะการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อการเชื่อมต่อภายในประเทศและเชื่อม ต่อกับประเทศในประชาคมอาเซียนนั้น ในส่วน ศธ.ซึ่งรับผิดชอบการเตรียมกำลังคนในระบบสถานศึกษา กำลังเร่งมือสำรวจและจัดทำแผนกำลังคนตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปริญญาตรี ระยะ 10 ปี (2555-2565 ) ในสาขาหลัก 3 สาขาที่เกี่ยวกับการขยายการลงทุนและการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงโดยตรง ได้แก่ สาขายานยนต์และชิ้นส่วน, สาขาไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และสาขาช่างก่อสร้าง/ช่างสำรวจ
      
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรม พบว่า ในระยะ 5 ปี (2554-2558 ) อุตสาหกรรมหลักทั้ง 3 ประเภทนั้น ต้องการแรงงานสูงการกำลังคนที่ผลิต 3-4 เท่า ขณะที่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและยานยนต์ ต้องการแรงงานในระยะ 5 ปี ประมาณ 500,000 คน แต่สามารถผลิตกำลังคนได้แค่ประมาณ 150,000 คน ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ต้องการกำลังคนประมาณ 400,000 คน แต่ผลิตได้100,000 กว่าคน ส่วนช่องก่อสร้าง/ช่างสำรวจ ต้องการกำลังคน 300,000 คน ผลิตได้ประมาณเกือบ 100,000 รวมทั้งหมดแล้ว ต้องการแรงงานประมาณ 1.2 ล้านคน ผลิตได้เพียงเกือบ 400,000 คน
      
ตัวเลขนี้ยังไม่รวมความต้องการแรงงานเพื่อรองรับการก่อสร้างรถไฟความ เร็วสูง ซึ่งถ้ารวมด้วยก็จะขาดแคลนแรงงานเป็นล้านคน ขณะที่สภาอุตสาหกรรมและกระทรวงแรงงาน ก็มีการประมาณการณ์ว่า ภายในปี 2558 จะมีความต้องการแรงงานในภาพรวมตั้งแต่ระดับมัธยมต้นถึงปริญญาโทเพิ่มอีก 1.2 ล้านคน เพราะฉะนั้น ศธ. จะต้องนำข้อมูลดังกล่าวมาปรับการผลิตกำลังสายอาชีพ วิศวกร และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อตอบโจทย์เหล่านี้ให้ได้ เพื่อให้การเข้าสู่ประคมอาเซียนไม่เกิดปัญหาด้านกำลังคนปลัด ศธ.กล่าวและว่า นอกจาก ศธ.จะวางแผนเพิ่มการผลิตกำลังคนในสาขาที่ประเทศต้องการแล้ว จะมีการปรับการเรียนการสอนสายอาชีพด้วยเพื่อเพิ่มคุณภาพของกำลังคนที่จบออก ไป โดยตั้งเป้าเพิ่มทักษะที่ขาดแคลนให้กับผู้เรียนสายอาชีพ ได้แก่ ด้านภาษา เทคโนโลยีสารสนเทศ และคุณธรรม จริยธรรมในการปฏิบัติงาน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 27-8-2555)

ธปท.แพ้คดีพนักงานเกษียณฟ้อง จ่อสูญพันล้าน

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วงปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง ได้ตัดสินให้ ธปท. จ่ายค่าชดเชยให้กับอดีตพนักงานธปท.ที่ยื่นฟ้องธปท.กรณีให้ออกจากงานเนื่อง จากมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โดยศาลฯ ตัดสินให้ธปท.จ่ายค่าชดเชยเป็นเงินจำนวน 300 วัน(10เดือน) ของค่าจ้างอัตราสุดท้ายก่อนครบเกษียณอายุ ให้กับอดีตพนักงานธปท.ทุกคนที่ยื่นฟ้อง

นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งให้ ธปท. จ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ของจำนวนเงินที่ผู้ฟ้องคดีแต่ละคนจะได้รับ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 22พ.ย.2551 เป็นต้นไป ขณะที่ผู้ฟ้องคดีในครั้งนี้มีจำนวน 28 คน แต่ได้ถอนฟ้องออกไป 1 คน เหลือผู้ฟ้องจำนวน 27 คน ทั้งหมดเป็นผู้ที่เกษียณอายุงานในปี 2551 ซึ่งในจำนวนผู้ฟ้องทั้งหมดนี้ ศาลปกครองกลางตัดสินให้ ธปท.จ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินรวมประมาณ 21.77 ล้านบาท

สำหรับคดีฟ้องร้องนี้ สืบเนื่องจากอดีตพนักงานธปท.ได้ยื่นฟ้อง ธปท. รวมไปถึง คณะกรรมการธปท. และ ผู้ว่าการธปท. เพื่อให้จ่ายค่าชดเชยกรณีการเกษียณอายุงาน ตามมาตรา118 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่กำหนดไว้ว่าผู้ที่ทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไปต้องได้รับค่าชดเชยในการ เกษียณอายุงานไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ ธปท. ได้ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาธปท.ได้จ่ายค่าตอบแทนในรูปของเงินบำเหน็จบำนาญ และระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงานที่เกษียณอายุงานเหล่านี้อยู่แล้ว โดยมูลค่าการจ่ายชดเชยก็มีมูลค่าที่สูงกว่าค่าชดเชยที่อดีตพนักงานธปท.เหล่า นี้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง

รายงานข่าวระบุว่า ธปท.ได้จ่ายค่าชดเชยในระบบบำเหน็จ บำนาญ ให้กับพนักงานที่ได้รับการบรรจุก่อนวันที่ 1 ธ.ค.2539 ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธปท. โดยในส่วนบำเหน็จจ่ายเป็นเงินครั้งเดียวเมื่อออกจากงานซึ่งคำนวณจากเงิน เดือนสุดท้ายคูณเวลาทำงาน ขณะที่บำนาญเป็นเงินที่ธปท.จ่ายให้พนักงานเป็นรายเดือนหลังออกจากงาน ซึ่งคำนวณจากเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาทำงานหารด้วย 50 หรือ 55 แล้วแต่กรณี

ส่วนระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น สำหรับพนักงานที่บรรจุตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2539 เป็นต้นไป และพนักงานที่ได้รับการบรรจุก่อนวันดังกล่าว ซึ่งสมัครใจเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยธปท.ได้จ่ายเงินสมทบเป็นรายเดือนเข้ากองทุนให้แก่พนักงานที่เป็นสมาชิกใน อัตรา12%ของเงินเดือน ซึ่งสมาชิกมีสิทธิได้เงินสมทบรายเดือนที่พนักงานผู้นั้นพึงได้จาก ธปท.ในแต่ละเดือน โดยที่สมาชิกมีสิทธิได้รับเงินสมทบรายเดือนและผลประโยชน์ดังกล่าวทั้งจำนวน ตามหลักเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด

อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองกลาง มีความเห็นว่า การจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 5 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 บัญญัติเอาไว้ว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง เป็นเงินที่นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง  ดังนั้นผู้ถูกฟ้องจึงมีหน้าที่ต้องจัดให้มีระเบียบหรือข้อบังคับกำหนดให้ พนักงานและลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ตอบแทนกรณีพ้นจากตำแหน่งและออกจาก งานไม่น้อยกว่าที่กำหนดในพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ศาลปกครองได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องมีสิทธิได้รับประโยชน์ตอบแทนในลักษณะเดียวกันกับค่าชดเชยจำนวน 300 วันของค่าจ้างอัตราสุดท้ายก่อนครบเกษียณอายุ ตามมาตรา118 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ปี2541

แหล่งข่าวอดีตพนักงานธปท.รายหนึ่ง กล่าวว่า สาเหตุที่พนักงานเหล่านี้ตัดสินใจยื่นฟ้องร้องธปท.ต่อศาลปกครองเพราะเห็นว่า บริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ก็มีการจ่ายค่าชดเชยในลักษณะนี้ให้กับ พนักงานที่เกษียณอายุงาน ขณะที่หน่วยงานธปท.เองก็เป็นองค์กรในลักษณะเดียวกับรัฐวิสาหกิจดังนั้นจึง ควรต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับอดีตพนักงานเหล่านี้ด้วย

สำหรับคำตัดสินของศาลปกครองในครั้งนี้ น่าจะเป็นบรรทัดฐานให้อดีตพนักงานเกษียณอายุคนอื่นๆ ด้วย เพราะนอกจากมีชุดที่ยื่นฟ้องธปท.จำนวน 27 คนนี้แล้ว ยังมีชุดอื่นๆ ที่ยื่นฟ้องไปและอยู่ระหว่างรอคำตัดสินของศาลปกครองอีกจำนวนมาก และเชื่อว่าคำตัดสินของคดีความชุดที่เหลือน่าจะออกมาในลักษณะเดียวกันนี้

"คำตัดสินของศาลปกครองกลางที่ออกมา ก็คงทำให้พนักงานที่เกษียณอายุได้รับค่าชดเชยเหมือนกันหมด เพราะถ้าใครยื่นฟ้องก็ชนะอยู่ดี ดังนั้นธปท.น่าจะออกประกาศจ่ายชดเชยให้ไปเลย โดยชุดที่ศาลตัดสินมาแล้วเป็นเพียงชุดของอดีตพนักงานที่ยื่นเกษียณในปี 2551 แต่ยังมีชุดของปีอื่นๆ ทั้งปี 2552-2554 ยื่นฟ้องไปอีกจำนวนมาก และเชื่อว่าพนักงานที่จะเกษียณในปีนี้ก็คงมียื่นฟ้องด้วยเช่นกัน"แหล่ง ข่าวกล่าว

เขากล่าวว่า กรณีนี้น่าจะทำให้ ธปท. ต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นเงินจำนวนมาก คาดว่าไม่น่าต่ำกว่า 1 พันล้านบาท เพราะแต่ละปีมีพนักงานเกษียณราว 100-200 คน ยิ่งในระดับผู้บริหารแล้ว แต่ละคนมีเงินเดือนค่อนข้างสูง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินธปท. งวดปี 2554 พบว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค.2554 ในการดำเนินกิจการตามปกติ ธปท.ถูกฟ้องร้องเป็นทุนทรัพย์รวม 5,214.6 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบผลของคดี และจากการคาดการณ์เมื่อคดีถึงที่สุดความเสียหายซึ่งเป็นทุนทรัพย์ที่ถูกฟ้อง ร้องน่าจะไม่มีผลกระทบอย่างเป็นสาระสำคัญต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน ของธปท.

นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายช่วยงานบริหาร ธปท. กล่าวว่า คดีความในเรื่องนี้ถือว่ายังไม่สิ้นสุด เพราะธปท.ได้ยื่นอุธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว

(กรุงเทพธุรกิจ, 27-8-2555)

 

ครูอัตราจ้างโวยรัฐลอยแพครูทั่วประเทศกว่า 3 พัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมหอสมุด 33 ปี พนมไพรวิทยาคาร อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด แกนนำครูอัตราจ้างสายวิทยาศาสตร์และสายคณิตศาสตร์ จำนวน 30 คนจาก 20 จังหวัดภาคอีสาน จัดประชุมหาทางออก สรุปปัญหาความเดือดร้อนและสรุปข้อเรียกร้องเพื่อยื่นผ่านสำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษาร้อยเอ็ด และ นางเอมอร สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ดเขต 5 ร้อยเอ็ด อดีตข้าราชการครู เพื่อยื่นข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล เสนอไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ให้พิจารณาทบทวนคำสั่งหลังจากที่ก่อนหน้านั้น มีคำสั่งให้ยกเลิกการจ้างครูอัตราจ้างสายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ทั่ว ประเทศ 3,323 คน เพราะไม่จัดสรรงบประมาณให้ทุกพื้นที่จ้างต่อหลังจากที่มีการดำเนินการมาครบ 3 ปี ทำให้ทุกคนได้รับความเดือดร้อน จากการเลิกจ้างของรัฐบาล

นายอมรัตน์ ทองสาดี ประธานชมรมครูอัตราจ้าง สพฐ.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ครูตามโครงการดังกล่าวมีการทำสัญญาด้วยงบไทยเข้มแข็ง 2 โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2552 โดยมีการจ้างอยู่ 2 กลุ่มคือ ครูจ้างตามโครงการยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบ จำนวน 5,290 อัตรา ครูจ้างโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 3,323 อัตรา ซึ่งจะหมดสัญญาจ้างสิ้นเดือนกันยายน 2555 นี้

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ครูอัตราจ้างเหล่านี้ได้ปฏิบัติหน้าที่เสมือนครูประจำการทั่วไป มีภาระรับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนและงานอื่นๆที่ได้รับมอบหมายเพื่อให้ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนโรงเรียนและชุมชน จากแนวโน้มที่รัฐบาลจะหยุดจ้างในครั้งนี้ ทำให้ครูอัตราจ้างกลุ่มนี้ มีผลกระทบทางจิตใจ และครอบครัวเป็นอย่างมากเพราะอาศัยรายได้จากเงินเดือนครูอัตราจ้างเดือนละ 9,140 บาท เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว โดยไม่ได้ปรับเงินเดือนตามวุฒิปริญญาตรี เป็น 15,000 บาทแต่อย่างใด แต่ก็ยังต่อสู้ทำหน้าที่ด้วยดี

หลังจากหมดสัญญาจ้าง ตนได้ยื่นเรื่องราวผ่านสำนักงานเขตการศึกษาให้มีการจ้างต่อ แต่กลับไม่ให้คำตอบและโยนความรับผิดชอบไปยัง นายไกร เกษทัน ผอ.สำนัดพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติกร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวง ศึกษาธิการ แต่เมื่อตนไปยิ่นข้อเรียกร้อง กลับโยนเรื่องกลับมาที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในแต่ละจังหวัด และในที่สุดกลับมีมติเลิกจ้าง พวกตนจึงเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องออกมาให้คำตอบ และแสดงความรับผิดชอบ

หลังจากการประชุมในครั้งนี้ได้ข้อสรุปว่า ทางชมรมครูอัตราจ้างจึงสรุปข้อเรียกร้องไปยังกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐบาล ผ่านนายสมาน รัญระนา เลขานุการของ นางเอมอร สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ด เขต 5 พรรคเพื่อไทย ที่เป็นอดีตข้าราชการครู เพื่อเสนอให้กระทรวงศึกษาและรัฐบาล ทบทวนการเลิกจ้าง และพร้อมกันนั้น ยื่นเงื่อนไข ขอให้ปรับเงินเดือนขั้นต่ำเป็น 15,000 บาท และเมื่อครบกำหนดจ้างต่อ 3 ปีแล้วขอ ให้ปรับเป็นพนักงานราชการ และเมื่อเป็นพนักงานราชการครบ 5 ปีแล้ว ก็ขอให้ปรับเป็นครูผู้ช่วยต่อไป และหากยังยื่นผ่านสส.แล้วไม่มีความ ชัดเจน และไม่มีการทบทวนก็จะมีการขับเคลื่อนรวมตัวกันทั้งประเทศเดินทางเข้าพบ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อให้ช่วยเหลือต่อไป

(เนชั่นทันข่าว, 27-8-2555)

สปส.สั่งเปลี่ยนระบบการจ่ายเงินเบิกค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการหลังพบ จนท.ทุจริต

นายจิรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยความคืบหน้าการสอบสวนกรณีเจ้าหน้าที่กองคลัง ซึ่งเป็นลูกจ้างของ สปส.ทุจริตการเบิกค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการบำนาญ ว่ามีผู้ถูกปลอมแปลงเอกสารการเบิกค่ารักษาพยาบาล เช่น ค่าเอ็กซ์เรย์ จากสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนในปี 2554 จำนวน 24 ราย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 600,000 บาท ซึ่งพฤติกรรมการทุจริตพบเป็นการกระทำเพียงคนเดียวด้วยการนำเอกสารขอเบิกค่า รักษาพยาบาลของ ข้าราชการบำนาญที่เซ็นมอบอำนาจไว้ไปเพิ่มจำนวนเงิน แล้วค่อยนำเงินไปให้กับผู้ขอเบิกตามจำนวนที่ขอเบิกไว้

เบื้องต้นได้แจ้งข้อหาช่อโกงและยักยอกทรัพย์แล้ว ส่วนการดำเนินการทางวินัยจะต้องรอผลการสอบสวนเสร็จสิ้นซึ่งจะต้องใช้เวลา เพราะจะต้องสอบสวนย้อนไปถึงปี2553 ว่ามีการทุจริตด้วยหรือไม่ ขณะเดียวกันได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเปลี่ยนการจ่ายเงินเป็นทาง บัญชีให้กับผู้ขอเบิกโดยตรงเพื่อป้องกันการทุจริตในลักษณะนี้

อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ประกันตนวางใจได้เพราะเงินที่ถูกทุจริตเป็นเงินในส่วนของงบประมาณ ราชการไม่ใช่เงินในกองทุนประกันสังคมและที่สำคัญการใช้สิทธิ์ ในกองทุนประกันสังคมของเจ้าหน้าที่นั้นใช้ระบบเดียวกับผู้ประกันตนไม่สามารถ นำมาเบิกจ่ายได้

(เนชั่นทันข่าว, 27-8-2555)

ครม.แถลงปัญหา "คนตกงาน-เด็กติดยา" น่าห่วง

28 ส.ค. 55 - น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลประชุมครม.ว่า ในที่ประชุมนายกฯ ให้เลขาธิการสภาพัฒน์แจ้งครม.ทราบถึงรายงานภาวะสังคมไทยในไตรมาส 2 ของปี 2555 ซึ่งจำนวนการว่างงานเพิ่มขึ้นตามกำลังแรงงานที่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น และตามสาขาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เฉลี่ยรายได้แท้จริงของแรงงานเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจำแนกได้ดังนี้ อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.85 หรือเท่ากับ 334,121 คน ซึ่งสูงกว่าอัตราว่างงานที่ผ่านมาคือร้อยละ 0.6 ในช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว การว่างงานที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการผลิตกำลังคนเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น มาก มีผู้จบการศึกษาใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 คน กำลังแรงงานรวมทั้งหมดก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 แต่ความต้องการของตลาดการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ช้ากว่าการเพิ่มของกำลังแรงงาน เพราะการลงทุนและการผลิตยังไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่

น.ส.ศันสนีย์กล่าวอีกว่า แรงงานที่มีการศึกษาระดับประถมและต่ำกว่า มีอัตราว่างงานต่ำเพียงร้อยละ 0.3 กลุ่มที่อัตราว่างงานสูงเพิ่มขึ้นมากในไตรมาสที่ 2 ได้แก่ ม.ต้น อาชีวะ ปกศ. และอุดมศึกษา การว่างงานรายสาขาศึกษาสะท้อนปัญหาความต้องการในตลาดและปัญหาการผลิตกำลังคน เกินความต้องการในหลายสาขาที่เป็นปัญหาต่อเนื่อง การว่างงานสำหรับคนจบสาขาธุรกิจ บริหาร พาณิชย์เพิ่มมากขึ้น

โฆษกรัฐบาลกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องของการศึกษา มีข้อมูลว่าในกลุ่มประเทศอาเซียนไทยเสียเปรียบด้านภาษาอังกฤษ ถือว่าเป็นประเทศที่มีทักษะระดับต่ำมาก และต้องถือเป็นกรณีเร่งด่วนที่ต้องจริงจังต่อเนื่องในการพัฒนาทักษะภาษา อังกฤษให้ประชาชน ด้านสุขภาพก็น่าเป็นห่วง เพราะเด็กและเยาวชนไทย 1 ล้านคนมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งผลสำรวจพฤติกรรมเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ 7 ล้านคนตั้งแต่ม.ค.-ก.พ. 2555 พบเด็ก 1 ล้านคนมีอาการซึมเศร้าและหงุดหงิดโดยไม่รู้สาเหตุ และเด็กร้อยละ 50 มีอาการเครียด มีความสุขในการไปโรงเรียนลดลง

โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า เยาวชนกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นกว่าปีละ 2.5 แสนคน คนที่อายุ 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่เกือบ 15 ล้านคน เด็กและเยาวชนมีความฉลาดและวุฒิภาวะทางอารมณ์น้อยลง ส่งผลให้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมมากขึ้น ด้านความมั่นคงทางสังคมยาเสพติดยังคงรุนแรง เฝ้าระวังยากขึ้น และไทยยังถูกจัดอันดับเป็นประเทศต้องจับตามองเรื่องค้ามนุษย์เป็นปีที่ 3 ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศ

โฆษกรัฐบาลกล่าวด้วยว่า นายกฯ สั่งทุกกระทรวงรวบรวมปัญหาด้านสังคมที่พบส่งมาสภาพัฒน์เพื่อให้มีแนวทาง พัฒนาเยาวชนอย่างไร โดยฝากกระทรวงศึกษาฯ และร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ซึ่งดูแลตำรวจ ช่วยเฝ้าระวังและจัดการสิ่งมอมเมาทั้งหลาย

(ข่าวสด, 28-8-2555)

ทีดีอาร์ไอชี้ค่าจ้าง 300 กระทบธุรกิจต้องลดคน

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยถึงสถานการ์ณแรงงานในปัจจุบันที่ตัวเลขอัตราการว่างงานที่พุ่งสูง ขึ้นกว่า0.2%จนไปแตะระดับที่0.85%เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ว่า เป็นสิ่งที่เป็นไปตามที่ได้คาดหมายไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งสาเหตุหลักมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ กองทุนช่วยเหลือต่างๆของรัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาในช่วงหลังน้ำท่วมตั้งแต่ช่วง ต้นปี ที่เป็นโครงการช่วยเหลือทั้งนายจ้างและลูกจ้างได้สิ้นสุดโครงการหมดแล้ว ทำให้สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขณะนั้นบางส่วนตัดสินใจ ปิดกิจการ เพราะไม่สามารถกู้คืนธุรกิจกลับมาได้ หรือบางแห่งก็ลดขนาดกิจการลงมาให้พอดำเนินธุรกิจไปได้ จึงทำให้มีลูกจ้างส่วนหนึ่งต้องตกงานในช่วงนั้น ซึ่งแรงงานบางคนก็หันไปทำอาชีพอื่น และไม่ยอมกลับเข้าสู่ตลาดงาน ขณะที่บางคนก็อยู่ระหว่างรองานใหม่ หรือเรียกว่าเป็นช่วงการปรับตัวทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

ประเด็นต่อมาคือปัจจัยที่มาจากการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวัน ละ300บาท ที่ส่งผลให้่มีผู้ประกอบการบางส่วนจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้ โดยการปรับโครงสร้างภายใน เช่น ปรับปรุงในส่วนของผลิตภาพแรงงานให้ดีขึ้น หมายถึงแรงงานหนึ่งคนต้องสามารถผลิตชิ้นงานได้มากขึ้นเพื่อให้คุ้มกับค่า จ้างที่สูงขึ้น และลดต้นทุนด้านอื่นๆ ขณะที่บางส่วนที่มีเงินทุนสำรองเยอะก็ลงทุนซื้อเครื่องจักรเข้ามาทดเแทนแรง งาน เพื่อชดเชยค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นแต่ก็ต้องชะลอการจ้างงานใหม่ สุดท้ายคือกลุ่มผู้ประกอบการปรับตัวไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีลดคนงานลงโดยจ่ายเงินชดเชยแล้วให้ออกจากงานไปก่อน

นอกจากนี้ ปัจจัยจากยอดตกค้างของนักศึกษาจบใหม่ตั้งแต่ช่วงกลางปีอีกจำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถเข้าสู่ตลาดงานได้ จากปัญหาภาวะการจ้างงานชะลอตัว ไม่สามารถดูดซับแรงงานใหม่เหล่านี้ได้ บวกกับสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ที่ยังไม่ค่อยสดใสสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกที่มาจากปัญหาวิกฤติยูโรโซน ที่ส่งผลกระทบธุรกิจภาคการส่งออกให้ชะลอตัว จนกระทบไปถึงการจ้างแรงงานในกลุ่มนี้ แม้จะยังไม่มีการปลดคนงานออกชัดเจน แต่ก็มีบางแห่งมีการลดเวลาทำงานลง ลดค่าโอที และสวัสดิการ เป็นต้น ซึ่งทำให้แรงงานเริ่มเปลี่ยนงาน และบางส่วนอยู่ระหว่างรองานใหม่มากขึ้น

"เป็นผลกระทบในระยะสั้น คนที่เคยจ้างก็จะไม่จ้าง ฟรีซหมด ตำแหน่งใหม่เพิ่มเข้าไปแทนเท่าที่จำเป็น ทุกๆปีจะมีแรงงานใหม่เข้าสู่ตลาดประมาณ 2.5% ของปริมาณแรงงาน ปัญหาคือถ้ามีคนเก่าหายไปและไม่รับคนใหม่เข้ามาจะทำอย่างไร ถ้าดูผลกระทบก็ต้องดูระยะยาว เพราะตลาดแรงงานยังขาดคนงานหลายแสนคน"

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานขั้นวิกฤต แม้ตัวเลขว่างงานจะพุ่งขึ้นกว่า 3.3 แสนคน จากเดิม 2 .8แสนคน ทว่าความต้องการแรงงานยังมีถึงกว่า 2.5 แสนคน ซึ่งไม่น่าวิตกมากนัก แต่ปัญหาคือ 70% ของผู้ว่างงานไม่ยอมทำงานหรือหางานทำ เราจึงมีภาวะแรงงานตึงตัว ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มสิ่งทอ กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ และส่งออก ที่ยังคงใช้แรงงานเข้มข้นน่าเป็นห่วงมาก

และที่สำคัญในช่วงไตรมาสที่3-4 นี้เป็นช่วงที่แรงงานจะกลับเข้าสู่ตลาดงานจำนวนมากอีกครั้ง จึงมองว่าภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ต้องเร่งหาวิธีที่จะดึงหรือแมชชิ่งแรงงานกลุ่มนี้กลับมาสู่ระบบให้มากที่สุด การเกลี่ยแรงงานจากอุตสาหกรรมที่เลิกจ้างไปยังอุตสาหกรรมที่ยังต้องการแรง งานสูง  เช่น การจัดโครงการนัดพบแรงงาน การให้ข้อมูลเรื่องตำแหน่งงานค่าจ้างให้ชัดเจน และการทำประชาสัมพันธ์ให้ถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง  ตลอดจนการสร้างแรงงานจูงใจให้เห็นคุณค่าของการทำงาน ที่ต้องทำให้ครบวงจร

ด้านนางสาววิไลวรรณ   แซ่เตียว  คณะกรรมการแรงงานสมานฉันท์ (คสรส)  กล่าวว่า จากข้อมูลในพื้นที่ ไม่พบว่ามีสถานประกอบการเลิกจ้าง หลังจากที่ปรับค่าจ้าง 300 บาทเพิ่มขึ้นโดยจะพบก่อนหน้าเดือนเมษายนที่ปรับขึ้นค่าจ้างซึ่งมีย้านฐานการ ผลิตไปบ้าง แต่ภาวะช่วงนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวในเรื่องเลิกจ้างมีเพียงเรื่องของนาย จ้างที่ปรับค่าสวัสดิการไปเป็นค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้นแต่ข้อมูลการเลิกจ้าง จากเอสเอ็มอีอาจจะมีบ้างซึ่งในเรื่องนี้คสรส.ไม่มมีข้อมูลชัดเจน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายงานจากสภาพัฒน์ฯจะมีอัตราว่างงานไม่สู้งมากนัก แตนางวิไลวรรณ บอกว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่ต้องเขจ้ามาดูแลและตรวจสอบตัวเลขการว่างงานอย่างถูกต้อง แม้จะอัตราว่างงานไม่มากแต่ก็ถือว่าเริ่มส่งสัญญาณอันตราย ที่จะต้องเร่งเข้ามาดูแลเพื่อหามาตรการแก้ไขในอนาคตไม่ให้ตัวเลขตกงานมาก ขึ้น

(กรุงเทพธุรกิจ, 28-8-2555)

กระทรวงแรงงานเชิญสตรี 10 ประเทศอาเซียน หารือการพัฒนาสินค้าชุมชน

 

นางนฤมล ธารดำรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับบทบาทสตรี ในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และกระทรวงแรงงาน มีนโยบายเพิ่มทักษะฝีมือให้สตรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่ผลิตสินค้าพื้นบ้านหรือโอทอป ให้มีความรู้ด้านการขาย เพิ่มช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งนี้ ยอมรับว่า การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แรงงานกลุ่มสตรีต้องเร่งพัฒนาด้านภาษาโดยเฉพาะภาษาที่ 3 ในกลุ่มอาเซียน ในการติดต่อสื่อสารสู่ตลาดอาเซียน และพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า ล่าสุดกระทรวงแรงงาน ได้จัดสัมมนาโครงการพัฒนาฝีมือสตรีอาเซียน ซึ่งมีตัวแทนจากกลุ่มประเทศอาเซียนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกว่า 30 คน สำหรับสาระการสัมมนาจะครอบคลุมการพัฒนากลุ่มสตรีประเทศอาเซียนให้เป็นกลไกหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยจะนำผลสรุปการสัมมนา เสนอที่ประชุมคณะกรรมการอาเซียน ด้านสตรี นำไปประกอบการจัดทำแผนพัฒนาบทบาทสตรีในประเทศไทย เพื่อรองรับการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย

 

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 29-8-2555)

 

ก.แรงงานตีปี๊บสมัครทำงานเกาหลี

กระทรวงแรงงาน - นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า คณะอนุกรรมการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ เปิดรับสมัครคนหางานไม่จำกัดเพศและวุฒิการศึกษา (ยกเว้นงานก่อสร้างรับเฉพาะเพศชาย) อายุ 18-39 ปี เพื่อไปทำงานตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ ครั้งที่ 13 ใน 3 ประเภทงาน ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต 7,000 คน งานเกษตรและเลี้ยงสัตว์ 500 คน งานก่อสร้าง 200 คน รวมทั้งสิ้น 7,700 คน โดยผู้ผ่านการทดสอบภาษาและได้รับการคัดเลือก จะได้รับค่าจ้างมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายของประเทศเกาหลี

สำหรับการสอบเกือบทุกขั้นตอนดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เกาหลี ผู้สอบต้องชำระค่าธรรมเนียมการทดสอบให้กับหน่วยงานดังกล่าวเป็นเงิน 875 บาท เปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 10-14 ก.ย.นี้ ผู้สนใจสมัครได้ที่โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ ข้างกระทรวงแรงงาน เขตดินแดง กรุงเทพฯ สอบถามโทร.0-2245-9429 หรือสายด่วน กรมการจัดหางาน โทร.1694

(ข่าวสด, 29-8-2555)

 

ทปอ.ชงสูตรเพิ่มเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ทปอ. พิจารณากรณีที่รัฐบาลให้เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ซึ่งมีผลต่อพนักงานมหาวิทยาลัยที่เพิ่งบรรจุตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 55 ที่ผ่านมา ส่วนพนักงานมหาวิทยาลัยที่บรรจุก่อนหน้านั้น หรือผู้ที่ทำงานมาแล้ว 1 ปีขึ้นไป จะพบว่าบางส่วนได้รับเงินเดือนน้อยกว่าพนักงานใหม่  หรือมีช่องว่างห่างกันไม่มากนัก ส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจในการทำงาน ทปอ. จึงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตรคิดสูตรในการขึ้นเงินเดือนพนักงานที่บรรจุก่อนวันที่ 1 ม.ค. 55 ซึ่งสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางต้องการให้มหาวิทยาลัยมีสูตรกลางในการ คำนวณ  หากให้แต่ละมหาวิทยาลัยเสนอก็จะเกิดความแตกต่างกัน ดังนั้น ในการประชุม ทปอ. เมื่อวันที่  26  ส.ค.ที่ผ่านมา ทปอ. มีมติเห็นชอบตามสูตรที่ มศว เสนอ เป็นสูตรกลางเพื่อของบประมาณปี 2556 มาจัดสรรให้มหาวิทยาลัยต่างๆต่อไป

ด้าน ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดี มศว กล่าวว่า มศว คิดสูตรคำนวณการเพิ่มเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย โดยกลุ่มพนักงานที่ทำงานไม่เกิน 10 ปี ที่ยังได้เงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท ก็ให้ปรับให้ได้ 15,000 บาทก่อน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม จากนั้นจะเพิ่มเติมตามอายุงานและเบื้องต้นที่มีการคำนวณจำนวนเงินที่จะต้อง เพิ่มให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยในทุกแห่งประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่มาก แต่เป็นขวัญกำลังใจให้กับพนักงานที่จะทุ่มเททำงานเพื่อสังคม.

(ไทยรัฐ, 29-8-2555)

เผยยิ่งเรียนสูงยิ่งมีโอกาสตกงานในพะเยามาก

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 29 ส.ค. ที่ห้องประชุมศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดพะเยา นายกาบพล เอิบสุขศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดพะเยา กล่าวว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคประชาคมอาเซียนในปี 2558 แต่ทุกวันนี้การเตรียมการยังไม่เป็นรูปธรรม หรือรูปแบบที่ชัดเจน การประชุมของหลายหน่วยงานที่ผ่านมา ก็เป็นการนำเสนอแนวคิด และประสบการณ์ของกรรมการ แต่ไม่ได้บอกวิธีการที่จะไปสู่การปฏิบัติได้อย่างชัดเจน สถานการณ์ด้านแรงงานยังน่าเป็นห่วง ข้อมูลแรงงานหลายหน่วยงาน ไม่ตรงกัน ดังนั้น การที่จะทำงานให้ได้ผลจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคณะทำงานที่มาจากหน่วย งานที่เกี่ยวข้องมาวางแผนร่วมกัน โดยมีหน่วยงานหลักคือกระทรวงแรงงาน สำนักงานจังหวัดและสถิติจังหวัดเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

นายชำนาญศิลป์ สุขยิ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดพะเยา รายงานสถิติข้อมูลด้านแรงงานของจังหวัดพะเยา ว่า โอกาสมีงานทำในตลาดแรงงานจังหวัดพะเยายังผกผันกับระดับการศึกษา คือผู้ที่จบการศึกษาไม่เกินระดับประถมศึกษามีอัตราว่างงานร้อยละ 9.18 ของจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับ ปวช., ปวส.มีอัตราการว่างงานร้อยละ 17.8 ทั้งนี้ เพราะกลุ่มคนระดับนี้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมาก แต่ขณะที่การศึกษาระดับปริญญาตรีกลับมีอัตราการว่างงานสูงถึง 33.57 ของจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นเพราะมีจำนวนมาก แต่ความต้องการของตลาดมีน้อย จึงมีโอกาสตกงานมากกว่า.

(ไทยรัฐ, 30-8-2555)

อธิบดีจัดหางานสั่งประกาศประเทศที่ห้ามแรงงานทำงาน

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่กระทรวงแรงงาน นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมมอบนโยบายการดำเนินงานจัดหางานไปต่าง ประเทศ ว่า การประชุมวันนี้(29 ส.ค.)ได้เชิญหัวหน้าหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมา ประชุมเพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจในระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากคนหางาน พ.ศ.2547 การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ โดยได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ดูแลในเรื่องปัญหาการจัดเก็บค่าใช้จ่ายแรงงานใน การเดินทางไปทำงานต่างประเทศ และการป้องกันปัญหาการหลอกลวงแรงงานในพื้นที่จังหวัดต่างๆ รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้แรงงานในพื้นที่ทราบว่ามีประเทศใด บ้างที่เป็นประเทศต้องห้าม ที่ไม่อนุญาตให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงาน เช่น ลิเบีย, อเมริกา, แคนาดา และออสเตรเลีย เพื่อป้องกันการหลอกลวงแรงงาน โดยขณะนี้ กกจ.ได้ให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศเป็นหน่วยงานที่รับเรื่องในการ ขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศของแรงงานในพื้นที่ โดยไม่ต้องเดินทางมาแจ้งที่ส่วนกลาง เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีบางจังหวัดไม่รับแจ้งจึงทำให้เกิดการร้องเรียน ขึ้น

"ขณะนี้ยังคงใช้ระเบียบกระทรวงฉบับเดิมไปก่อน เพราะระเบียบกระทรวงฉบับใหม่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฎหมาย ของกระทรวงแรงงาน กกจ.จึงต้องจัดประชุมเพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ส่วนราชการ เกี่ยวกับการใช้ระเบียบกระทรวงฉบับเดิม โดยเฉพาะเรื่องการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ เพื่อป้องกันบริษัทจัดหางานใช้ช่องว่างทางกฎหมายเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกิน กว่าที่กฎหมายกำหนด สำหรับระเบียบกระทรวงฉบับใหม่ หากผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาให้มีการบังคับใช้แล้ว จะเชิญบริษัทจัดหางานที่ส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศมาประชุมอีกครั้ง " อธิบดี กกจ.กล่าว

นายประวิทย์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องความคืบหน้าในการดำเนินการเอาผิดกับบริษัทจัดหางานที่จัดส่งแรง งานไทยไปทำงานในประเทศอิสราเอลทั้ง 35 แห่ง ซึ่งเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินกว่ากฎหมายกำหนดนั้น ขณะนี้ กกจ.ได้พักใช้ใบอนุญาตกับบริษัทจัดหางานครบทั้ง 35 แห่งแล้ว โดยที่ผ่านมาได้แจ้งความดำเนินคดีกับ 7 บริษัทแรก ส่วนบริษัทจัดหางานอีก 22 บริษัทยังอยู่ในขั้นตอนการยื่นอุทธรณ์ต่อนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ภายในระยะเวลา 30 วัน สำหรับบริษัทจัดหางานอีก 6 บริษัทสุดท้าย ได้มีการพักใช้ใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการรอยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ ในขั้นตอนแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะพิจารณาและดำเนินการเอาผิดต่อไป

(เนชั่นทันข่าว, 30-8-2555)

โพลเผยอาชีพแรงงาน-เกษตรกร ใช้ยาบ้ามากสุดถึง 1.2 ล้านคน

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน เอแบคโพล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง สถานการณ์ปัญหายาเสพติด ผลวิจัยประมาณจำนวนผู้ใช้ยาบ้าในประเทศจำแนกตามกลุ่มอาชีพและผลวิจัยเชิง คุณภาพต่อนโยบายรัฐบาล ว่าด้วยการแก้ปัญหายาเสพติด กรณีศึกษาตัวอย่างเยาวชนและประชาชน อายุ 12–65 ปี ในพื้นที่ 17 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 48,354,601 คน ดำเนินโครงการระหว่างเดือน มี.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่าในกลุ่มประชากรกว่า 48 ล้านคนทั่วประเทศ มีผู้เคยใช้ยาบ้าตลอดประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา 3.7 ล้านคน และผู้เคยใช้ยาบ้าในช่วง 1 ปีก่อนการสำรวจมีอยู่ประมาณเกือบ 3 ล้านคน จึงอาจกล่าวว่าประมาณร้อยละ 80 ของผู้เคยใช้ยาบ้าครั้งหนึ่งในชีวิตยังคงใช้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

เมื่อจำแนกตามอาชีพในกลุ่มผู้เคยใช้ยาบ้าตลอดประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา พบว่าเป็นกลุ่มรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป กลุ่มเกษตรกร ก่อสร้าง ขับรถ และรักษาความปลอดภัย จำนวนทั้งสิ้นกว่า 1.2 ล้านคนเคยใช้ยาบ้าตลอดประสบการณ์ชีวิต รองลงมาคือ กลุ่มคนว่างงาน กำลังหางานมีประมาณ 7.9 แสนคน และอันดับสามคือ กลุ่มข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐและลูกจ้างหน่วยงานรัฐมีอยู่ประมาณ 4.8 แสนคน

อันดับสี่คือ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา มีอยู่ประมาณ 4.5 แสนคน กลุ่มอาชีพค้าขายและธุรกิจส่วนตัวมีอยู่ประมาณ 2.8 แสนคน กลุ่มรับจ้างที่ต้องใช้ความรู้นอกภาคการเกษตรมีประมาณ 2.1 แสนคน กลุ่มพนักงานบริษัทเอกชนระดับปฏิบัติงานมีอยู่ประมาณ 1.5 แสนคน และกลุ่มอาชีพอิสระมีอยู่ประมาณ 9 หมื่นกว่าคน เมื่อวิเคราะห์กลุ่มผู้ใช้ยาบ้าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ จำนวนของผู้ใช้ยาบ้ากลับลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กล่าวคือยังคงมีผู้ใช้ยาบ้าอยู่ประมาณร้อยละ 80 ของผู้ที่เคยใช้ตลอดประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา

(ไทยรัฐ, 30-8-2555)

นักวิชาการชี้อีก 5 ปีต้องการแรงงานฝีมือทั่วโลกพุ่ง 90 ล้านคน

ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการเปิดงานสัมนาระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนา แรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) โดยมีผผู้เข้าร่วมสัมนาจำนวน 120 คนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

นายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่าปัจจุบันการขาดแคลนแรงงานฝีมือกำลังเป็นปัญหาที่สำคัญที่ทั่วโลก กำลังเผชิญอยู่ โดยจากการวิจัยพบว่าในปี 2560 ทั่วโลกจะมีความต้องการแรงงานฝีมือกว่า 93 ล้านคน โดยเป็นการขาดแคลนในประเทศพัฒนาแล้ว 37 ล้านคน และในประเทศกำลังพัฒนาจะมีการจะขาดแคลนถึง 56 ล้านคน ซึ่งการแขดแคลนแรงงานฝีมือถือเป็นปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนากำลังมีบทบาทสำคัญในการขับ เคลื่อนเศรษฐกิจโลกแทนที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่จะยังคงมีปัญหาเศรษฐกิจใน ระยะยาว โดยหากประเทศไทยสามารถพัฒนาทักษะแรงงานให้มีฝีมือตรงความต้องการของตลาดได้ ก็จะเป็นโอกาสของแรงงานไทยในการเข้าสู่ตลาดแรงงานในระดับสากลได้ง่ายขึ้น

สำหรับในประเทศไทยการขาดแคลนแรงงานฝีมือเป็นปัญหาสำคัญ โดยปัจจุบันในอุตสาหกรรมต่างๆยังมีความต้องการมากกว่า 1 หมื่นตำแหน่ง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้แม้ในปัจจุบันประเทศไทยจะมีอัตราว่างงานต่ำเพียง 0.7%

แต่การขาดแคลนแรงงานในสาขาที่ผู้ประกอบการมีความต้องการยังมีสูง การแก้ปัญหาก็คือภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชนต้องมาทำงานร่วมกันเพื่อดูความต้องการแรงงานของตลาดในปัจจุบันและ อนาคต เอกชนต้องเป็นผู้เข้ามาร่วมออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับมัธยม ศึกษา และอุดมศึกษาเพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม ต่างๆ ซึ่งส่วนนี้เอกชนจะมีความได้เปรียบมากกว่าเนื่องจากมีข้อมูลมากกว่าฝ่ายวิชา สถาบันการศึกษาที่มักมีแต่ข้อมูลทางวิชการซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของเอกชน และอุตสาหกรรม

"การผลิตบุคลากรและแรงงานออกมาไม่ตรงกับความต้องการของตลาด เกิดจากภาคส่วนต่างๆทำงานไม่ประสานกัน ภาคเอกชนก็หันไปแก้ไขด้วยการจัดหลักสูตรอบรมให้กับพนักงานใหม่ ซึ่งเสียเวลาและงบประมาณและเสียโอกาสในการแข่งขันทางที่ดีควรเข้ามามีส่วน ร่วมในการจัดทำหลักสูตรกับสถาบันศึกษาตั้งแต่ต้นก็จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้"

นายเอนก กล่าว ด้านร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าสภาพแวดล้อมของโลกและภูมิภาคในปัจจุบันมีการเปลี่ยน แปลงอย่างรวดเร็ว และมีการแข่งขันสูง รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการ แข่งขันของประเทศ โดยในส่วนของการพัฒนาฝีมือแรงงานรัฐบาลมีการประสานงานกับภาคส่วนต่างๆโดย เฉพาะการทำงานกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถสร้างแรงงานได้ครงกับ ความต้องการของตลาด

ทั้งนี้หลังจากนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทมีผลแล้วจะเป็นแรงจูงใจในการพัฒนาฝีมือแรงงานในสาขาต่างๆให้มีคุณภาพมาก ขึ้น นอกจากนี้ตนมองว่าแรงงานไทยมีความสามารถสูงและมีความพร้อมในระดับหนึ่ง สำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เออีซี)

อย่างไรก็ตาม ทักษะที่ต้องเพิ่มเติมก็คือทักษะเรื่องภาษาและด้านเทคโนโลยีไอซีทีซึ่งจำได้ ประสานงานกับภาคส่วนต่างๆเพื่อจัดการฝึกอบรมต่อไป

ด้านนายสมนึก พิมลเสถียร รองประธาน กพร.ปช.กล่าวว่า คณะกรรมการฯอยู่ในระหว่างผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาแรงงานและประสานงานการ ฝึกอาชีพแห่งชาติ โดยทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน

โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันยุทธศาตร์ของรัฐบาลในการยกระดับและพัฒนาฝีมือ แรงงาน 5 ประการให้แล้วเสร็จก่อนปี 2558 ที่จะเปิดเออีซี ได้แก่ 1.ยุทธศาตร์ในการยกระดับรายได้แรงงานให้เพิ่มขึ้นตามทักษะฝีมือ ศักยภาพและผลผลิตของแรงงาน 2.เร่งจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคอาเซียนร่วม กับภาคเอกชน 3.ส่งเสริมการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานทุกระดับตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน 4.เตรียมพร้อมแรงงานไทยให้มีความพร้อมสำหรับผลประโยชน์และลดผลกระทบที่อาจ เกิดขึ้นจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และ5.สร้างโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถของคนไทยในการออกไปทำงานในต่างประเทศ โดยพัฒนาทั้งทักษะอาชีพและทักษะภาษา

(กรุงเทพธุรกิจ, 30-8-2555)

สปส.เพิ่มค่ารักษาผู้ประกันตน บาดเจ็บจาก "3แสน" เป็น "1ล้าน"

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ครั้งที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมมีมติให้เพิ่มค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนที่ได้รับบาดเจ็บเนื่อง จากการทำงานในกองทุนเงินทดแทนจาก 300,000 บาท เป็น 1 ล้านบาท โดยจากนี้ไปจะต้องมีการเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนเงิน ทดแทน เพื่อให้เห็นชอบอีกครั้ง

"หากผู้ประกันตนมีค่าน้ำหนักความรุนแรงของโรค (Relative Weight - RW) เกินกว่าระดับ 20 ขึ้นไป ให้โรงพยาบาลพิจารณาว่าโรคดังกล่าวมีความรุนแรงและให้ส่งเรื่องไปยัง สปส. หลังจากนั้น สปส.จะให้คณะกรรมการการแพทย์นำกรณีของผู้ประกันที่ได้รับบาดเจ็บเนื่องจาก การทำงานไปพิจารณาว่าจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ผู้ประกันตนเป็นจำนวนเงิน เท่าใด โดยมีข้อกำหนดว่าต้องไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งจะพิจารณาค่าใช้จ่ายจำนวน 500,000 บาทแรก โดยใช้เวลาไม่เกิน 15 วัน ส่วนค่าใช้จ่ายจำนวน 500,000 บาทหลัง โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน โดยหลังจากทำการรักษาผู้ประกันตนแล้ว โรงพยาบาลสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลของผู้ประกันตนกับ สปส.ได้ทันที" นพ.สมเกียรติกล่าว
 
ขณะนี้ สปส.กำลังเร่งจัดทำร่างแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลของกองทุน เงินทดแทน และร่างประกาศกระทรวงแรงงานเสนอคณะกรรมการการแพทย์พิจารณา หลังจากนั้นจะเสนอคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนให้ความเห็นชอบ และเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคมต่อไป คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน ร่างแก้ไขกฎกระทรวงจะประกาศใช้

(มติชนออนไลน์, 1-9-2555)

สาวท้องร้องขอความเป็นธรรมถูกโรงแรมที่เกาะสมุยให้ออก

นางเพชรฤดี เคนนาเมอร์ อายุ 42 ปี ผู้จัดการแผนกสปา ได้ออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมที่หน้าโรงแรมแห่งหนึ่ง ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี หลังจากถูกผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมบอกยกเลิกสัญญาจ้างอย่างไม่เป็นธรรม โดยให้เหตุผล 3 ข้อว่า หน่วงเหนียวหรืออิดเอือน เถลไถลในการปฎิบัติงาน ไม่เชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และประพฤติปฎิบัติตนในลักษณะหยาบโลน หรือผิดวัฒนธรรมประเพณีของการดูแลบริหารจัดการกับลูกค้า

โดยนางเพชรฤดี ชี้แจงกับผู้สื่อข่าวว่า ตนเองได้ตั้งครรภ์ได้ 7 เดือน และเตรียมลาคลอดในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ แต่ถูกผู้บริหารของโรงแรมบอกยกเลิกสัญญาก่อนที่จะถึงวันลาคลอด โดยให้เหตุผลที่ไม่เป็นธรรมและไม่เป็นความจริง โดยตนเองได้ตั้งข้อสังเกตว่าก่อนหน้านี้ก็มีพนักงานของโรงแรมที่ตั้งครรภ์ และถูกให้ออกลักษณะนี้มาแล้ว 2 คน และตนเป็นรายที่ 3 ที่ทางผู้บริหารของโรงแรมได้แจ้งความผิดที่ไม่เป็นธรรมและไม่ให้สิทธิ์ลา คลอด

และในขณะที่เรียกร้องขอความเป็นธรรมได้มีกลุ่มเพื่อนที่ทำงานด้วยกันออก มาให้กำลังใจ และขอความเป็นธรรมให้กับนางเพชรฤดี ส่วนผู้บริหารของโรงแรมไม่ได้ออกมาชี้แจงแต่อย่างใด โดยนางเพชรฤดีจะไปร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 1-9-2555)

ก.แรงงานติวเข้มแกนนำเครือข่ายประกันสังคม-เก็บข้อมูลแก้ปัญหาค่าหัวคนงาน

ที่ โรงแรมบ้านเชียง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการอบรมพัฒนาสมรรถนะแกนนำเครือข่ายประกันสังคม และเจ้าหน้าที่ประกันสังคมที่ทำหน้าที่ขยายการขึ้นเบียนประกันสังคมมาตรา 40 พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานประกันสังคมมาตรา 40
      
ดร.อมร เชาวลิต ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมมีภารกิจให้การคุ้มครองประกันสังคมแก่แรงงานทั้งใน และนอกระบบ เพื่อให้มีหลักประกันคุณภาพชีวิตที่ดี แรงงานนอกระบบได้เริ่มให้ความคุ้มครองตั้งแต่ปี 2537 โดยปี 2554 ได้มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ประกันสังคมตรมมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม 2533 เป็น 2 ทางเลือก คือ จ่ายเงินสมทบเดือนละ 100 บาท
      
ผู้ประกันตนจ่ายเองเดือนละ 70 และรับบาลอุดหนุนอีก 30 บาท ซึ่งผู้ประกันตนจะรับสิทธิประโยชน์ใน 3 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย ทุพลภาพ และเสียชีวิต และจ่ายเงินสมทบเดือนละ 150 บาท โดยผู้ประกันตนจ่ายเอง 100 บาท รัฐบาลอุดหนุน 50 บาท ในกรณีนี้ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์ คือ กรณีเจ็บป่วย ทุพลภาพ เสียชีวิต และมีเงินออมไว้ใช้ในยามชรา
      
กระทรวงแรงงานได้มีการตั้งเป้าการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เดือนกันยายน 2555 รวม 1.20 ล้านคน โดยมส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างหลักประกันแก่ตนเอง โดยส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ให้มีหลักประกันรายได้เมือประสบเหตุการณ์ต่างๆดังกล่าว ซึ่งผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 31 สิงหาคม 255 มีจำนวนแรงงานนอกระบบที่สมัครเข้าสู่มาตรา 40 จำนวน 1,052,897 คน
      
ด้านนายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นโยบายที่ได้มอบให้กับสำนักงานประกันสังคมในวันนี้ ได้เน้นให้ให้มีการออกหน่วยเคลื่อนที่ลงพื้นที่ เสนอและจูงใจให้แรงงานนอกระบบสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และแจ้งเตือนให้แรงงานนอกระบบที่สมัครเข้าระบบอยู่ให้ส่งเงินสมทบอย่างต่อ เนื่อง เป็นรักษาสิทธิประโยชน์ของตนเอง และประชาสัมพันธ์ผ่านนายจ้างลูกจ้าง ให้ช่วยบอกต่อคนที่รู้จักมาสมัครเป็นผู้ประกันตน
      
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การที่ทางกระทรวงแรงงานได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดส่งคนงานไทย โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตรกรรมไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลนั้น จะส่งผลดีต่อคนงานไทย เนื่องมาจากที่ทาง นายเดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกรนะทรวงแรงงาน ที่ได้มอบนโยบายให้กับกรมจัดหางานในการลดค่าใช้จ่าย สำหรับคนหางานที่ไปทำงานในต่างประเทศ
      
โดยเฉพาะในประเทศอิสราเอล ซึ่งแต่เดิมเป็นระบบจัดส่งโดยบริษัทจัดหางานเอกชน จะต้องเสียค่าใช้จ่ายคนละ เป็นแสนต่อคน ในปัจจุบันคนหางานส่ามารถเดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอลได้โดยเสียค่าใช้ จ่ายไม่เกินคนละ 70,000 บาท ซึ่งขณะนี้มีการจัดส่งในระบบรัฐต่อรัฐไปแล้ว 200 กว่าคน
      
ผู้สื่อข่าวได้ซักถามถึงสาเหตุที่บริษัทจัดหางานเอกชนรับสมัครคนงานเอา ไว้ เพื่อจัดส่งให้ประเทศอิสราเอลแล้วไม่สามารถจัดส่งไปได้ว่า เป็นเพราะเหตุใดและจะหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้นอย่างไร นายอนุสรณ์ ชี้แจงว่าในการทำข้อตกลงระหว่างทั้งสองฝ่ายตกลงว่าจะเป็นเพียงคนงานภาค เกษตรกรรมเท่านั้น ส่วนในตำแหน่งอื่นนอกเหนือจากข้อตกลงก็ไม่อยู่ในข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งบริษัทจัดหางานก็สามารถที่จะจัดส่งไปประเทศอื่นๆได้ ไม่ใช่เฉพาะประเทศอิสราเอลประเทศเดียว
      
สำหรับการแก้ไขปัญหาให้บริษัทจัดหางานสามารถจัดส่งคนงานไปได้นั้น นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางกระทรวงแรงงานให้ความเห็นใจและคนงานมากที่สุด เพราะที่ผ่านมานั้นคนหางานเคยที่จะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเป็นหลักแสน ขณะนี้จ่ายเป็นแค่หลักหมื่นเท่านั้น และกระทรวงแรงงานมีหน้าที่ในการดูแลพี่น้องคนหางานทุกคนให้เสียค่าใช้จ่าย ตามความจำเป็นเท่านั้น เพื่อให้โอกาสกับคนงานให้ได้ประโยชน์สูงสุดในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ
      
ในส่วนของบริษัทจัดหางานเอกชนที่ทำผิดกฎหมายนั้น ขณะนี้ กรมการจัดหางานได้สั่งพักใบอนุญาตการจัดหางานกับบริษัทเหล่านั้นไปแล้ว ทั้งชั่วคราวและถาวรแล้วหลายแห่ง ที่มีความผิดในหลายประเด็นทั้งการเรียกเก็บเงินค่าบริการเกินกว่ากฎหมายกไหน และอื่นๆ
      
สำหรับการเรียกเก็บเงินค้ำประกันใบอนุญาตเพิ่มจากเดิมที่เก็บอยู่ที่ 5 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ก็ยังเรียกเก็บเท่าเดิม ส่วนในอนาคตจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ จะต้องขอศึกษาดูก่อน เพราะบริษัทจัดหางานในปัจจุบันนี้ มีทั้งดี และที่ไม่ดี บริษัทฯที่ดีเงินค้ำประกัน 5 ล้านบาท เขาก็ไม่มีปัญหา เป็นห่วงแต่บริษัทฯที่ไม่ทำตามกฎหมาย หลอกลวงพี่น้องประชาชน
      
ทั้งนี้ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน(1 ก.ย.) คณะของนายอนุสรณ์ ได้เดินทางลงพื้นที่ บ้านโพนงาม ต.โพนงาม อ.หนองหาน เพื่อไปพบกับคนงานไทยที่เดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล เพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อนำกลับไปดำเนินการแก้ไขปัญหาการเก็บค่าบริการคนงาน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 1-9-2555)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท