เสวนาอาณาบริเวณศึกษาภูมิภาคอาเซียน "ยุกติ" แนะจัดวางตัวตน "ผู้ศึกษา/ผู้ถูกศึกษา" ใหม่

"ยุกติ มุกดาวิจิตร" เสนอควรเรียกการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า "ประเทศเพื่อนบ้านศึกษา" เพื่อการจัดวางตัวตนของผู้ศึกษา/ผู้ถูกศึกษาใหม่ ต้องสำนึกอัตลักษณ์ตัวเองมากขึ้น แทนทิศทาง "เรา/เขา" แบบตะวันตก ด้าน "ทวีศักดิ์ เผือกสม" ชี้อุปสรรคใหญ่เป็นเรื่องความสนใจเพื่อนบ้านของสังคมไทย ไม่แน่ใจว่าประเทศมียุทธศาสตร์การศึกษาเรื่องอาเซียนอย่างจริงจังหรือไม่

วันนี้ที่ห้องปรีดี เกษมทรัพย์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่านพระจันทร์ มีการประชุมวิชาการอาณาบริเวณศึกษาด้านภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 2 ประจำปี 2555 โดยช่วงเช้ามีการเสวนาวิชาการหัวข้อ "การรับรู้เรื่องอาณาบริเวณศึกษาในสังคมไทย" โดยตอนหนึ่ง ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณสังคมวิทยาและมานุษยวิยา ม.ธรรมศาสตร์  เสนอว่า ควรจะเรียกการศึกษาเอเชียวันออกเฉียงใต้ว่า “ประเทศเพื่อนบ้านศึกษา” ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนการจัดวางตัวตนของผู้ศึกษาและผู้ถูกศึกษา ซึ่งเดิมนั้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษานั้นถูกศึกษาโดยนักวิชาการตะวันตก ขณะที่ปัจจุบันนี้ทิศทางการศึกษาด้านเอเชียะวันออกเฉียงใต้ในสังคมวิชาการตะวันตกนั้นลดลงแล้ว ในทางตรงกันข้ามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองเพิ่งเริ่มตื่นตัวดังนั้นแล้วก็ควรเริ่มวางกรอบการศึกษากันเสียใหม่จากมุมมองภายในของประเทศในภูมิกาคนี้เอง

ทั้งนี้ แนวโน้มการศึกษาในประเด็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขยับจากประเประวัติศาสตร์ หรือมานุษยวิทยา แต่ควรศึกษาในมิติอื่นๆ ด้วย โดยเขามองว่าในแง่ของการศึกษานั้นนักวิชาการไทยได้เปรียบนักวิชาการเพื่อนบ้านเพราะมีการศึกษาเรื่องประเทศเพื่อนบ้านมากที่สุด และคิดว่าภายใน 10 ปี ก็จะได้เห็นงานศึกษาอาเซียนโดนชาวอาเซียนเอง

"ชาวอเมริกันชาวยุโรปก็ลดความสนใจในประเด็นบริเวณนี้น้อยลงมาก แต่ที่เรายังสนใจทั้งๆ ที่โลกไม่สนใจเราแล้วก็เพราะมันเป็นบ้านและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็สร้างสิ่งที่เป็นชุมชนมากขึ้น คือ ‘อาเซียน’ ซึ่งต้องมองสองมิติคือองค์กรระหว่างประเทศ กับมิติผู้คน คืออาเซียนรากหญ้าและในอนาคตเราจะต้องสนใจสิ่งเหล่านี้มากขึ้น และหนีไม่พ้นที่จะต้องสร้างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในแบบของเราขึ้นมาเอง และเราไม่สามารถจะพึ่งการศึกษาโดยฝรั่งแล้วเพราะเขาสนใจลดลงน้อยมาก และอีกไม่นานสัก 10 ปีก็น่าจะได้เห็นงานศึกษาอาเซียนโดยชาวอาเซียนเอง

"เดิมการคิดแบ่งแยกระหว่างตัวเราและตัวเขาในการศึกษาอาณาบริเวณต่างๆ ทั่วโลก จะพบว่า ชาวตะวันตกเรียกตัวเขาว่าเรา แล้วเรียกพวกเราว่าเขา แต่เวลาเราอ่านหนังสือเราจะระบุว่าตัวเราเป็นตัวเขา หรือเป็นตัวเรา

"เรา-เขาอยู่ในหนังสือตลอดเวลา เวลาที่เราศึกษาตัวเองเราไมได้มองว่าเราเป็นเรา เขาเป็นเขาง่ายๆ ชัดเจนแตกต่างกันมากมายขนาดนั้น บางอย่างเราแชร์กันบางอย่างเราต่างกัน นี่คือความคิดหลังยุคของการแยกเรา-เขาอย่างชัดเจนแตกต่างมากมายอย่างที่ฝรั่งเคยทำนั้นเลิกทำกันไปแล้ว การค้นหาอัตลักษณ์ของวิชาการในสาขาต่างๆ ค้นหาว่าท้องถิ่นของวิชาการในพื้นที่ต่างๆ พัฒนาไปอย่างไร ก็เป็นประเด็นที่น่าศึกษาได้ เราก็ต้องสำนึกถึงอัตลักษณ์เกี่ยวกับตัวเราเองมากขึ้น การศึกษาตัวตนเพื่อพัฒนาอัตลักษณ์อาเซียจึงเป็นอีกสิ่งที่สำคัญ”

 

ด้าน ทวีศึกดิ์ เผือกสม จากคณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร แสดงความเห็นว่า การศึกษาเรื่องเพื่อนบ้านในแวดวงวิชาการไทยนั้นมีข้อที่ป็นอุปสรรคประการหนึ่งคือ เรืองเพื่อนบ้านไม่อยู่ในความสนใจของสังคมไทย เช่น นักวิชาการที่สนใจและศึกษาการปฏิวัติเวียดนาม หรือศึกษาเรื่องของโฮจิมินห์ เมื่อศึกษาแล้วไม่รู้จะกลับมาคุยกับใคร สุดท้ายก็เลยต้องไปทำงานในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ

ส่วนตัวเขาเองศึกษาเรื่องอินโดนีเซีย ก็สงสัยว่าจะทำเรื่องอะไรที่ทำออกมาแล้วพิมพ์ขายได้ในประเทศไทยให้คนไทยรู้สึกว่าเรื่องอินโดนีเซียอยู่ในขอบเขตความสนใจ เชื่อมต่อความรับรู้บางอย่างที่มี จึงทำเรื่องอิเหนาซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างแปลเป็นภาษาไทย

อีกประเด็นคือไม่แน่ใจว่าประเทศไทยมีการวางยุทธศาสตร์การศึกษาเรื่องอาเซียนอย่างจริงจัง แม้ว่าในระยะหลังมีความพยายามเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ก็ทำให้ดูมีความก้าวหน้าขึ้น แต่พบว่าส่วนใหญ่เน้นไปที่การศึกษาในประเด็นชายแดนสังคมไทย แต่ก็ต้องตั้งคำถามว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายอย่างไร และอีกกคำถามคือเราจะไม่สนใจคนอื่นในอาเซียนและหรือ โดยเขายกตัวอย่างว่าไม่มีนักวิจัยไทยที่ศึกษาเรื่องพุทธศาสนาในพม่า ทั้งๆ ที่เป็นหน่วยการเมืองที่สำคัญในพม่า การวิจัยเรื่องเวียดนามที่ทำให้เข้าใจเศรษฐกิจสังคมเวียดนามที่จะให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเวียดนามในระยะยาว แต่ที่ทำได้และได้รับงบประมาณในการทำวิจัยคือชาติพันธุ์ไทในเวียดนาม โดยเขาเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่หน่วยงานรัฐไทยจะให้ทุนสำหรับทำการวิจัยอย่างจริงจัง แม้แต่หลักสูตรที่เรียนรู้กันอยู่ก็ยังเป็นการเรียนรู้เพื่อนบ้านระดับพื้นฐานไม่ได้นำไปสู่การศึกษาเพื่อนบ้านอย่างจริงจัง

ในส่วนของ ม.นเรศวรนั้นเริ่มมีการศึกษาภาษาเพื่อนบ้านที่หลากหลาย และคิดว่าน่าจะทำให้เป็นศูนย์ที่ศึกษาเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท