‘รักเอย’ บันทึกความทรงจำ ‘คนธรรมดา’ กับชะตากรรมแห่งยุคสมัย

 

“รักเอย

จริงหรือที่ว่าหวาน

หรือทรมานใจคน

ความรักร้อยเล่ห์กล

รักเอยลวงล่อใจคน

หลอกจนตายใจ”

 

เนื้อเพลงนี้ถูกนำมาขึ้นต้นเรื่องในหนังสือบันทึกความทรงจำของ ป้าอุ๊ รสมาลิน  ซึ่งเรียบเรียงโดย เพียงคำ ประดับความ กวี/นักเขียนอิสระ และ ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน

และชื่อเพลงก็กลายมาเป็นชื่อหนังสือ “รักเอย” 

ในหนังสือบอกว่านี่เป็นเพลงที่ป้าอุ๊มอบให้อากงในวันแต่งงาน

แต่หากอ่านมันในบริบทของ ‘อากง’ สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างยากจะหลีกเลี่ยงคืออาการขนลุกต่อความประจวบเหมาะของคำว่า "รัก"

มิใช่เพียงเพราะซาบซึ้งต่อความรักของคนคู่นี้ แต่ขนลุกต่อ “ความรัก” ที่สังคมไทยถักทอ และขณะเดียวกันมันก็ถักทอสังคมไทย

จนกระทั่งได้ผลลัพธ์อันน่าสะเทือนใจ....

 

หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรก 3,000 เล่มเพื่อแจกเป็นที่ระลึกภายในงานฌาปนกิจศพอากง เมื่อวันที่ 26  สิงหาคม 2555

มันเป็นสีขาวทั้งเล่ม โดยมีภาพพิมพ์นูนเป็นรูปอากงเพียงบางเบา และมีชื่อหนังสือเป็นตัวอักษรสีเงินตรงมุมล่างของปก เป็นการสื่อสารกับผู้อ่านอย่างตรงไปตรงมาผ่านการออกแบบอันเรียบง่าย

อันที่จริง การจัดพิมพ์หนังสือชีวประวัติผู้ตายนั้น โดยปกติเรามักเห็นในงานศพของบุคคลชั้นสูง หรือบุคคลสำคัญของสังคม  เนื้อหาอาจบรรยายถึงความเป็นมาของสายตระกูล คุณงามความดีหรือเกียรติยศต่างๆ  แต่หนังสือเล่มนี้บรรจุเรื่องราวชีวิตของคนชั้นล่างแสนธรรมดา บอกเล่าถึงชีวิตที่ยากลำบากตั้งแต่เกิดจนตาย และชะตากรรมที่จนถึงทุกวันนี้พวกเขาที่เหลืออยู่ก็ยังไม่อาจเข้าใจ

เมื่อฉันได้มากลับมาอยู่คนเดียว

ก็มาถึงเวลาที่ฉันต้องหยุดคิดว่าทำไมทุกเรื่องทุกราวมันถึงได้เกิดขึ้นกับเรา

จนถึงขั้นที่เรียกว่าบัดซบขนาดนี้

อาปอ(ชื่อเล่นของอากง-ประชาไท) ตายสนิท แต่ฉันก็เกือบตายสนิทเหมือนกัน

บางทีเวลามันไม่ได้ช่วยให้บาดแผลหายเร็ว บางครั้งอาการมันร้าวอยู่แล้ว มันยิ่งร้าวลึกเข้าไปใหญ่

น่าแปลกเหมือนกัน เขาบอกว่าเวลามันจะช่วยได้ ยิ่งนานจะยิ่งทำให้เราเข้าใจ

แต่ยิ่งนานฉันยิ่งหดหู่ แทนที่วันเวลามันจะช่วยเราให้หาย มันกลับทำให้มีเวลากลับมาคิด

 

หน้า 79-80

 

ผู้เล่าเรื่องหลักคือ ป้าอุ๊ ผู้หญิงที่การศึกษาไม่สูง เป็นแม่บ้าน เลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน ดูแลครอบครัวมาตลอดชีวิต หากได้สัมผัสมือหยาบกร้านของเธอก็จะรู้ว่าชีวิตเธอต้องดิ้นรนมากเพียงไร

เพียงแต่เธอเป็นคนชอบอ่านหนังสือ และลึกๆ ก็ชอบเขียนหนังสือ แม้ชีวิตหาเช้ากินค่ำจะไม่อนุญาตให้เธอมีโอกาสเขียนอะไรมากนัก แต่พรสวรรค์ก็ซุ่มซ่อนอยู่เงียบๆ   

เรื่องราวถูกเล่าอย่างละเอียด ซื่อๆ  และเป็นธรรมชาติ จนเราสามารถสัมผัสแง่มุมความงดงามของชีวิต แม้จะเป็นชีวิตที่เล็กน้อยเพียงใดก็ตาม แง่มุมเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนภายนอกไม่อาจเห็นได้ง่ายๆ  และมันยังผ่านการเรียบเรียงอย่างพิถีพิถัน โดยคงสุ้มเสียง บุคลิกของผู้เล่าไว้ครบครัน  ชนิดผู้ที่เคยใกล้ชิดป้าอุ๊ ย่อมเห็นภาพอากัปกริยาของเธอประกอบด้วยขณะกวาดตาอ่านตัวหนังสือ

ฉันกับอาปอ เราเป็นครอบครัวที่ธรรมดามากๆ มีทั้งเรื่องดีและไม่ดี บางทีก็มีเรื่องทะเลาะกัน

อาปอเขาเป็นคนที่ถ้าหากไม่พอใจอะไร เขาจะเขียนใส่กระจกไว้

ตอนแต่งงานกันใหม่ๆ ฉันทำไข่ลวกกับโอวัลตินให้เขากินทุกเช้า

เวลาโกรธเขาจะเขียนใส่กระจกไว้ทำนองว่า “ไม่แดกนะครับ”

คือเขาโกรธอย่างอื่นแล้วพาลไม่กินของที่เราทำให้

ฉันก็โกรธบ้างแล้วล่ะ  ก็เขียนใส่กระจกไว้รอให้เขามาอ่านเหมือนกันว่า “ก็ไม่แดกสิคะ”

หน้า 25

 

มันก็ลำบาก แต่เราก็อยู่กันได้ ไม่เคยมีหรอกที่ว่าจะเหลือกินเหลือเก็บ ไม่เคยรู้สึก

มีแต่รู้สึกว่าพอดี หรือว่าขาดนิดหน่อย หรือขาดอย่างมาก แค่นั้น

แต่ไม่เป็นไร แค่มีให้หลานกินเราไม่ทุกข์แล้ว

ข้าวต้มใส่ซีอี๊วขาวก็กินได้ อาปอเขาชอบกินอย่างนั้นด้วย

ในครัวต้องมีซีอิ๊วขาวสูตรหนึ่งอยู่ประจำ ไม่มีน้ำปลา ไม่เป็นไร

แล้วก็มีเต้าหู้ยี้อีกกระปุกนี่ยอดเลย แค่นั้นอยู่ได้

แต่เด็กๆ นี่สำคัญ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ

หน้า 31


อาปอเขารักหลานมาก ...

เขาดีกับหลานๆ มาก และหลานๆ ก็เรียกได้ว่ารักเขายิ่งกว่าพ่อแม่

พวกเขาเคยเรียงลำดับได้ว่า “รักอากงที่หนึ่ง รักย่าที่สอง พ่อแม่ที่สาม”

 หน้า 32

 
 

เนื้อหานอกจากจะประกอบด้วยชีวิตของอากง ซึ่งสะท้อนผ่านเรื่องราวของชีวิตคู่ ความเป็นอยู่ในครอบครัวแล้ว ยังมีส่วนของชะตากรรมที่ทุกคนในครอบครัวต้องเผชิญ 

จากแม่บ้านธรรมดาที่หวาดผวาต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจนแทบไม่กล้าคุยกับใคร ไม่กล้าปรากฏตัว ไม่กล้าให้สัมภาษณ์ และในช่วงแรกๆ ที่ยังเคว้งคว้าง เธอเคยเล่าว่าถึงกับต้องการเปลี่ยนนามสกุลของหลานๆ ทุกคนเสียใหม่ เพราะเกรงว่าอันตรายอาจเกิดขึ้นกับหลานๆ ของเธอ เด็กๆ หลายคนที่เธอคอยโอบอุ้มเลี้ยงดู และคอยปกป้องยิ่งกว่าชีวิตของตัวเองและสามี

ภาพประทับครั้งแรกหลอกหลอนเธอและครอบครัวอยู่นานมาก
 

พอค้นบ้านเสร็จ พวกตำรวจก็เรียกฉันออกไปยืนคุยที่หน้าบ้าน นายตำรวจคนหนึ่งบอกฉันว่า

“รู้มั้ย แฟนป้าไปทำอะไรผู้ใหญ่ในบ้านเมือง

ถ้าทำจริงครอบครัวป้าเดือดร้อนแน่ ลูกหลานป้าลำบากแน่”

ความรู้สึกฉันตอนนั้นจับต้นชนปลายไม่ถูก พอเหลียวมองหน้าอาปอ ฉันก็เชื่อแต่ว่าเขาไม่ได้ทำ”

“จำได้ว่าถึงตอนเขาเข้าไปอยู่ในเรือนจำแล้ว ฉันยังถามเขาอีก “ลื้อได้ให้ใครยืมโทรศัพท์ไปมั้ย”

คือเราสอบถามกันส่วนตัว แต่เขาก็บอกเหมือนเดิมว่า เขาไม่ได้ทำ เขาไม่รู้เรื่อง

หน้า 61

 

ชะตากรรมกระหน่ำโบยตีเธอถึง 3 ครั้ง คือ ในการโดนจับครั้งแรก จากนั้นอากงถูกส่งตัวเข้าเรือนจำหลายเดือนแล้วจึงได้ประกัน,  การเข้าคุกครั้งที่สอง หลังไปรายงานตัวที่ศาลเมื่อคดีถูกส่งฟ้อง โดยไม่ได้ประกันอีกเลย, และครั้งที่สาหัสที่สุด ไม่มีโอกาสได้พบกันอีก


วันที่ไปดูศพ ฉันแค้นจนอยากจะระเบิด อยากจะพูดอะไร แต่ว่ามันก็มีอีกใจหนึ่ง - -

ฉันอาจไม่ใช่คนกล้าขนาดนั้นก็ได้ เพราะฉันยังมีห่วงอีกเยอะ

แต่ฉันก็พูดกับทนายหรือใครนี่แหละว่า

“หมาซักตัวหนึ่งมันยังเลือกที่ตายได้ สมมติอยู่ตรงกองทรายร้อนๆ

มันยังกระเสือกกระสนไปหาที่ร่มได้

แต่อาปออยู่ในกรงขังตรงนั้น มันไม่มีที่จะไป

นอกจากเลือกที่นอนตายไม่ได้แล้ว ยังทำอะไรไม่ได้แม้แต่เวลาหิว”

หน้า 73

 

ในช่วงหลังๆ ก่อนอากงเสียชีวิตไม่นาน สถานการณ์เลวร้ายต่างๆ ผลักดันเธอให้ออกสู่ที่สว่าง ประกอบกับกำลังใจจากบรรดา “ผู้หญิง” ของผู้ต้องโทษทางความคิดที่ต่างมีชะตากรรมร่วมกัน คอยดูแลสามี พ่อ ลูก พร้อมๆ กับดูแลกันเอง รวมไปถึงความผูกพันกับนักโทษทางความคิดรายอื่นๆ ที่ช่วยดูแลอากง โดยเฉพาะ “หนุ่ม” ธันย์ฐวุฒิ  ที่ดูแลใกล้ชิดราวกับเป็นคนในครอบครัว และยังเป็นที่พึ่งของผู้ต้องขังอื่นๆ  

สิ่งเหล่านี้กระมังที่ช่วยหลอมให้หญิงชาวบ้านผู้ตื่นตระหนกและหวาดกลัว กล้าออกมาเผชิญกับโลกภายนอก กล้าให้สัมภาษณ์ กล้าบอกกล่าวกับสังคม ด้วยหวังเต็มเปี่ยมในการกระตุ้นให้ผู้ต้องโทษทางความคิดได้รับสิทธิพื้นฐาน

ที่น่าประทับใจคือ ความพยายามในการเขียนของเธอ เธอเขียนบทกวีหลายชิ้น ด้วยลายมือไม่เป็นระเบียบโย้เย้ แต่กลับให้ความรู้สึกลึกซึ้ง


ไอ้คำว่า “อากงปลงไม่ตก” ทำให้ฉันต้องเริ่มเขียน

หน้า 65

ชะตากรรมทั้งผลักทั้งดันเธอ กระทั่งหลังจากสามีจากไป เธอก็ยังคงออกมาเรียกร้องสิทธิให้นักโทษทางความคิดเท่าที่พลกำลังของเธอจะทำได้ เพื่อไม่ให้มีอากงที่สอง ที่สาม รวมถึงการเรียกร้องสิทธิของนักโทษคดีอาญาทั่วไปด้วย โดยตระหนักดีว่า อากง ไม่ใช่เพียงสามีของเธอ ไม่ใช่เพียงพ่อของลูกๆ ไม่ใช่เพียงอากงของหลานๆ แต่เป็น ‘อากง’ ของประชาชนคนอื่นๆ ด้วย และคงไม่ผิดหากจะบอกว่า “รักเอย” เป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของสังคมการเมืองไทย สังคมที่เราได้แต่หวังว่าจะเรียนรู้รักจากความรักครั้งนี้บ้าง

 

...เขาชอบเพลง “แสงเทียน” ...ส่วนฉันชอบเพลง “ชะตาชีวิต”

ที่ว่า “นกน้อยคล้อยบินมาเดียวดาย” นั่นล่ะ

ร้องอยู่บ่อย ถ้าเศร้ายามไหน ร้องเพลงนี้น้ำตาจะร่วง มันเหมือนกับว่าชีวิตถูกทอดทิ้งจริงๆ

ยิ่งตอนเย็นๆ ถ้าเรามีความรู้สึกที่เศร้า เหมือนอย่างกับช่วงนี้

บางทีตอนเย็นๆ ตะวันโพล้เพล้ พอนึกถึงว่าไม่มีเขาแล้ว น้ำตาฉันก็ร่วงลงมาอย่างนั้น

หน้า 52

 

 

หมายเหตุ

หนังสือ “รักเอย” กำลังจะวางแผงตามร้านหนังสือทั่วไปราวกลางเดือนกันยายน 2555 นี้ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน รายได้จากการขายมอบให้เครือข่ายผู้ประสบภัยจากมาตรา 112 โดยลิขสิทธิ์เป็นของภรรยาอากง ผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าเรื่องการวางขายได้ทางเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์อ่าน www.readjournal.org  หรือทางเฟซบุ๊ค “สำนักพิมพ์อ่าน” หรืออีเมลสั่งซื้อได้ที่ readjournal@gmail.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท