เปิดตัวสารคดีจากชายแดนใต้ “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” ที่รามคำแหง

ฉายเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ทีมผู้ผลิตสารคดีหวังให้ความเป็นธรรมได้ทะลุเพดาน สังคมได้ยินเสียงจากเจ้าของปัญหา เผยปัญหาใหญ่ที่ผ่านมาที่ชาวบ้านไม่ใจสื่อ เพราะมีสื่อหลักไม่เชื่อความเห็นจากชาวบ้านและเน้นคุยกับเจ้าหน้าที่ จนทำให้ข้อมูลข่าวสารเกิดอาการ “เท” ไปทางใดทางหนึ่ง

โปสเตอร์งานสัมมนา "ผู้หญิงกับสื่อและการแก้ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้"

บรรยากาศเสวนา "การทำสื่อในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้: พูดคุยกับทีมงานผู้ผลิตสารคดี"

ตัวอย่างสารคดี "สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง"

เมื่อวานนี้ (4 ก.ย.) ห้องประชุมพวงแสด คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีการสัมมนาหัวข้อ “ผู้หญิงกับสื่อและการแก้ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยช่วงหนึ่งมีการเปิดตัวสารคดีจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เรื่อง “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” ผลิตโดยกลุ่ม Fine Tune Production and Friends หรือ เอฟทีมีเดียและเพื่อน

โดยช่วงท้ายการสัมมนา มีการเสวนา “การทำสื่อในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้: พูดคุยกับทีมงานผู้ผลิตสารคดี” ดำเนินรายการโดย จเลิศ เจษฎาวัลย์ และชุติมา ผิวเรืองนนท์ ภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยเป็นการพูดคุยกับทีมผู้ผลิตสารคดี “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง”

 

หวังให้ความเป็นธรรมได้ทะลุเพดาน

นวลน้อย ธรรมเสถียร จากเอฟทีมีเดีย กล่าวถึงสาเหตุที่ผู้ผลิตเลือกผลิตสารคดีเรื่องดังกล่าว เพราะสนใจเรื่องสิทธิ ความเป็นธรรม การมีสิทธิมีเสียงของชาวบ้านในพื้นที่ สนใจเรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และวิธีการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เพื่อให้นำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง และสามารถแก้ปัญหาได้ยั่งยืน ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาไม่ใช่ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ไปปราบปราม การปราบปรามเป็นเพียงเรื่องเฉพาะหน้า แต่ที่จริงภาคใต้มีประเด็นมากกว่านั้นเยอะ

นอกจากนี้ปัญหาภาคใต้ที่พูดกันมากนั้น มักมาจากความเข้าใจของคนส่วนกลาง โดยที่คนในพืนที่ไม่มีโอกาสได้พูด ดังนั้นผู้ผลิตสารคดีจึงพยายามทำให้เสียงนี้ได้ยินออกมา โดยนวลน้อยกล่าวด้วยว่าถึงที่สุดแม้แต่ตัวเขาเองที่อาจจะลงพื้นที่ค่อนข้างเยอะ แต่ในที่สุดก็เป็นแค่ความเข้าใจของเขาว่า “ปัญหาที่เราเห็นนั้นเป็นอย่างไร” แต่จริงๆ อยากให้ได้ยินเสียงจากเจ้าของปัญหา ว่าเขารู้สึกว่าปัญหาของเขาเป็นอย่างไร อยากให้เขาสามารถพูดถึงปัญหาของตัวเองได้ ทั้งนี้ชาวบ้านบอกว่ากลัวเจ้าหน้าที่ กลัวทหาร ทำให้ไม่กล้าพูด ทำให้ไม่ได้เล่าว่าปัญหาของตัวเองคืออะไร จึงอยากเห็นเพดานนี้ทะลุ เพื่อให้ความเป็นธรรมได้ทะลุออก

ทั้งนี้ในสารคดีได้ถ่ายทอดเรื่องราวของ “กะแยนะ” หรือ “แยนะ สะแลแม” แกนนำสตรีซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบด้วย โดยในช่วงการถ่ายทำทีมผลิตสารคดีได้สัมภาษณ์ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภาคใต้ไว้หลายคนมาก แต่ในสารคดีได้เพ่งไปที่ “กะแยนะ” เป็นหนึ่งในตัวเด่นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้เพราะความเด่นที่เป็นผู้เป็นหญิงสูงวัย จบชั้นประถม 4 และเริ่มแรก “กะแยนะ” พูดภาษาไทยน้อยมากๆ แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เธอก้าวจากชาวบ้านธรรมดาขายโรตีคนหนึ่ง ขึ้นมาเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ

 

เจ้าหน้าที่ยังระแวง เมื่อเห็นคนมลายูทำสื่อ

ด้านมาหามะสาบรี เจ๊ะเลาะห์ จากกลุ่มสื่อสันติภาพชายแดนใต้ (Southern Peace Media) ซึ่งทำหน้าที่ช่างภาพ และงานตัดต่อในสารคดี ตอบคำถามผู้ดำเนินรายการในเรื่องข้อจำกัดของสื่อมวลชนกระแสหลักในการทำหน้าที่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ว่า ด้วยระยะเวลาการทำงานของสื่อมวลชนหลัก ซึ่งลงพื้นที่แล้วต้องรีบทำงานเพื่อให้ทันเวลาออกอากาศ จึงทำให้ข้อมูลการนำเสนอตรงบ้าง คาดเคลื่อนบ้าง แต่ก็มีข้อดีอยู่บ้างคือ เมื่อก่อนตอนที่ไม่มีเหตุการณ์อะไรในภาคใต้ ผู้ชมก็ไม่ได้เห็นภาพ วิถีชีวิตของคนในพื้นที่ แต่พอมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ก็เริ่มมีพื้นที่การนำเสนอเรื่องนี้อยู่บ้าง ทำให้ผู้ชมเห็นว่าอัตลักษณ์ของชาวบ้านยังมีอยู่

มาหามะสาบรี เล่าถึงข้อจำกัดในการทำหน้าที่สื่อในพื้นที่ด้วยว่า ปกติเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนจะระแวงคนมลายูมุสลิม เมื่อไหร่ที่คนมลายูลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เช่น ทำงานเอ็นจีโอ หรือนักสิทธิมนุษยชนก็จะถูกเพ็งเล็งว่าเป็นปีกการเมืองของฝ่ายขบวนการหรือเปล่า โดยก่อนหน้านี้มีกรณีที่เพื่อนของเขาซึ่งเคยร่วมงานกัน ถูกเจ้าหน้าที่เรียกตัวไปสอบถามว่าเกี่ยวข้องกับเหตุความไม่สงบหรือเปล่า ข่าวนี้ใครเป็นคนรายงาน มีใครบงการการทำงานของคุณหรือเปล่า และตัวเขาเป็นหัวหน้าทีมสื่อใช่ไหม อย่างไรก็ตาม ทีมของพวกเขาก็ยังคงทำหน้าที่สื่อต่อไป

ด้านนวลน้อย กล่าวว่า ในพื้นที่ห่างไกล จะมีคนในชุมชนไม่เข้าใจ หากมีผู้สื่อข่าวลงพื้นที่แล้วไปคุยกับฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านพุทธ ชาวบ้านมุสลิม และอาจถูกตีความว่ามาลงพื้นที่แล้ว จะทำร้ายเขาหรือไม่ ทั้งนี้ชื่อเสียงของนักข่าวไม่ได้หอมหวนนักในพื้นที่ ทุกฝ่ายก็ต้องการให้นักข่าวเลือกข้าง ขณะเดียวกันเมื่อเป็นแบบนี้ นักข่าวก็ไม่กล้าลงพื้นที่ อาศัยข้อมูลจากเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหลัก ก็ย่อมทำให้ข่าวที่เกิดขึ้นคาดเคลื่อน

นอกจากนี้ ยังมีวิธีคิดของสื่อมวลชนบางส่วนที่จะไม่เชื่อความเห็นจากชาวบ้าน จะคุยกับเจ้าหน้าที่เท่านั้น คำพูดชาวบ้าน อาจไม่มีน้ำหนักเท่าคำพูดของเจ้าหน้าที่ ก็ย่อมทำให้ข้อมูลเกิดการเทไปทางใดทางหนึ่ง อย่างบางเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตเกิดจากการล้อมยิงของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่พอเป็นข่าวกลับกลายเป็นว่าเสียชีวิตเพราะไปปะทะกับเจ้าหน้าที่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความน่าเชื่อถือของนักข่าวก็ลดลงไปเรื่อยๆ ทีละน้อยๆ จนตอนนี้ก็ถูกกัดกร่อนไปเยอะมาก นอกจากนี้ ก็มีกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐจำนวนหนึ่งลงพื้นที่เพื่อหาข่าว แต่เวลาเจอชาวบ้านก็บอกว่าเป็นนักข่าว ก็ทำให้เกิดความรู้สึกไม่น่าเชื่อถือขึ้นในหมู่ชาวบ้าน

ทั้งนี้ในการผลิตสารคดี ทีมผู้ผลิตสารคดีได้พยายามขจัดข้อจำกัดต่างๆ อย่างเช่นทำการสัมภาษณ์เป็นภาษามลายูแล้วใช่ล่ามแปลแทน เพราะหากสัมภาษณ์เป็นภาษาไทยก็คือการบีบให้ชาวบ้านพูดในภาษาที่ไม่ถนัด อย่างไรก็ตามการแปลกันไปแปลกันมา ก็ทำให้บางทีไม่สามารถเก็บความได้อย่างต้องการ และปฏิกิริยาตอบโต้สนทนากันไปมาก็ไม่เกิดเพราะต้องแปลหลายทอด เป็นต้น

ขณะที่ในบางพื้นที่ ต้องเข้าออกพื้นที่หลายครั้ง กว่าที่ชาวบ้านจะให้สัมภาษณ์ เพราะในพื้นที่เมื่อเกิดเหตุขึ้น ความหวาดระแวงจะเข้าไปในหมู่บ้านทันที ดังนั้นโอกาสที่จะทำให้ชาวบ้าานให้สัมภาษณ์ ต้องมีคนที่ชาวบ้านไว้ใจพาทีมผลิตสารคดีไปรู้จักกับชาวบ้าน

 

พอใจผลตอบรับ แนะสถานการณ์ภาคใต้เหมือนซีรีย์ยาว ดูภาคเดียวด่วนตัดสินไม่ได้

ด้านมาหามะซาบรี กล่าวถึง วิธีเพื่อสร้างความไว้วางใจกับชาวบ้านก็คือ ในเวลาที่เขาทำข่าว เมื่อเขาสัมภาษณ์ชาวบ้านแล้วนำไปเผยแพร่ใน Youtube เขาก็จะส่งให้เพื่อนๆ ในพื้นที่ ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตนำไปเปิดให้ชาวบ้านแหล่งข่าวดู ให้เขาเห็นว่า เขามีพื้นทีที่จะพูด

ส่วนผลตอบรับจาการฉายสารคดี “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” นี้นั้นเขากล่าวว่า หลังการฉายสารคดี แล้วมีนักศึกษาที่รับชมตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่ ทำให้เขาคิดว่าคำถามได้ถูกตั้งขึ้นมาแล้ว ถือว่าบรรลุเป้าหมายในการผลิตสารคดีแล้ว อย่างไรก็ตาม เรื่องในภาคใต้เหมือนดูหนังยาว ตั้งดูเป็นซีรีย์ ไม่ใช่ดูแค่ภาคเดียวแล้วตัดสินว่าสิ่งนี้เลว สิ่งนี้ไม่ถูกต้อง แต่ถ้ามี 20 ตอน ก็ต้องดูทั้ง 20 ตอน

ทั้งนี้จะมีการฉายสารคดี “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” อีกครั้งในวันที่ 10 ก.ย. ที่สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน เชิงสะพานหัวช้าง กรุงเทพฯ และในวันที่ 14 ก.ย. ที่ร้าน Book Re:public จ.เชียงใหม่ โดยผู้ผลิตสารคดีจะประชาสัมพันธ์รายละเอียดของการฉายสารคดีอีกครั้ง  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท