Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เอาเข้าจริงแล้ว ปัญหาการ “อวดอุตตริมนุสสธรรม” ของพระสงฆ์นิการเถรวาทไทยตามที่เป็นข่าวหรือไม่เป็นข่าวก็ตาม ไม่ใช่เรื่องที่จะสรุปได้ว่าเป็น “เสรีภาพการแสดงออก” ของพระสงฆ์เท่านั้น (เพราะวินัยสงฆ์ห้ามไว้) ไม่ใช่เรื่องที่จะสรุปได้ว่า “อยู่นอกขอบเขตกฎหมาย”โดยสิ้นเชิง (เพราะอาจมีประเด็นทางกฎหมายอยู่ด้วย) ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ขึ้นกับ “เสรีภาพที่จะศรัทธาหรือไม่” ของประชาชนเท่านั้น (เพราะมีประเด็นศรัทธาบนพื้นฐานของความ “แฟร์” และ/หรือ “ความรับผิดชอบทางศีลธรรม” ที่พระสงฆ์ต้องเคารพ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของประชาชนอยู่ด้วย)

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้คือประเด็นปัญหาทางหลักการ “ความรับผิดชอบในทางศีลธรรมและกฎหมาย” ความรับผิดชอบทางศีลธรรมมีสองส่วนหลักๆ คือ ความรับผิดชอบที่อ้างอิง “หลักพระธรรมวินัย” กับความรับผิดชอบที่อ้างอิงหลักการ “เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของประชาชน ส่วนความรับผิดชอบทางกฎหมายก็เป็นความรับผิดชอบในสองสถานะอีกเช่นกัน คือในฐานะที่องค์กรสงฆ์เป็นองค์กรของรัฐ และในฐานที่พระสงฆ์เป็นพลเมืองที่อยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐ (ที่เมื่อละเมิดกฎหมายก็ต้องรับผิดทางกฎหมายเป็นต้น)

คำถามคือ โดยหลักการ “ความรับผิดชอบทางศีลธรรมและกฎหมาย” ดังกล่าวนั้น เราจะตอบปัญหา (อย่างน้อย) ต่อไปนี้อย่างไร

1.ถ้าพระอวดอุตตริโดยอ้างว่า ตนบรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้ หรือมีคุณวิเศษรู้ชีวิตหลังความตายของบุคคลนั้นบุคคลนี้ จนชาวบ้านหลงศรัทธาแล้วบริจาคเงินเป็นจำนวนมาก (เช่น อาจเป็นหลักล้าน) แล้วต่อมาเขารู้ว่าถูกหลอก โดยอาจจะรู้ว่าตนถูกหลอกได้หลายวิธี เช่น พอเข้าวัดได้ศึกษาหลักพระธรรมวินัยมากขึ้นจึงรู้ว่า พระที่บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปต้องมี “ศีลสมบูรณ์” คือไม่ละเมิดวินัยสงฆ์ แต่เขาพบว่า พระที่อ้างว่าตนบรรลุธรรมมีญาณวิเศษอวดอุตตริอยู่เป็นประจำ เท่ากับละเมิดวินัยสงฆ์เป็นประจำ จึงไม่น่าเชื่อว่า “คุณวิเศษ” ที่อวดนั้นจะเป็นจริง หรือบังเอิญไปเห็นพฤติกรรมบางอย่างของพระที่อ้างว่าเป็นอริยะนั้นมีพฤติกรรมเชิงชู้สาวกับสีกา หรือพบว่าต่อมาพระที่เคยอวดอุตตริว่าตนเป็นพระอริยะมีญาณวิเศษสึกไปพร้อมบัญชีเงินฝากส่วนตัว 100 ล้านบาท เป็นต้น (เรื่องทำนองนี้เป็นไปได้ทั้งนั้น)

คำถามคือ ชาวบ้านที่หลงศรัทธาบริจาคเงินทำบุญไปแล้วเป็นจำนวนมาก แต่มารู้ทีหลังว่าตน “ถูกหลอก” หรือตกเป็น “เหยื่อ” จะสามารถทวงเงินบริจาคคืนได้หรือไม่ เหยื่อจะเรียกร้องความยุติธรรมได้จากใคร องค์กรสงฆ์และรัฐจะตอบปัญหานี้อย่างไร จะตอบเพียงว่า “เป็นเสรีภาพของพระที่จะอวดอุตตริ และเป็นเสรีภาพของชาวบ้านที่จะเชื่อและบริจาคเงิน” เท่านั้นได้หรือไม่

2.เป็นไปได้ว่าการพาดพิงคนในศาสนาอื่นว่าตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นนั้นชั้นนี้ ถ้าญาติๆ ของเขาไม่พอใจ หรือเห็นว่าถูกละเมิด องค์กรสงฆ์และรัฐจะตอบปัญหานี้อย่างไร

ประเด็นนี้ต่างจาก “เรื่องเล่าปรัมปรา” เพราะเรื่องเล่าปรัมปราหมายถึง “เรื่องเล่าต่อๆ กันมา” ที่สังคมรับรู้ร่วมกันว่า “นั่นเป็นเรื่องเล่าต่อๆ กันมา” ในรูปนิทาน หรือตำนานต่างๆ เช่นตำนานพญานาค ตำนานพญาแถน ฯลฯ หรือแม้แต่นิทานชาดก ชาวพุทธก็รับรู้ร่วมกันว่าพุทธะกำลังเล่า “นิทาน” แต่กรณีชีวิตหลังความตายของสตีฟ จ็อบส์ หรือบุคคลอื่นๆ ที่มีชีวิตร่วมสมัยกับเรา ผู้เล่าเรื่องคือ “ต้นเรื่อง” (ไม่ใช่ผู้ถาม) เพราะผู้เล่าเรื่องไม่ได้ฟังต่อจากใครมา หรือเอาเรื่องที่เล่าต่อๆ กันมามาเล่าต่อ จึงมีปัญหาว่าผู้เล่าเรื่องไปรู้ชีวิตหลังความตายของบุคคลต่างๆ ได้อย่างไร และเมื่อไม่มีวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่จะไปรู้เรื่องทำนองนั้นได้ ก็เหลือแต่วิธีรู้ด้วย “ญาณวิเศษ” เท่านั้น ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมาว่า “ผู้เล่าเรื่องกำลังอวดอุตตริผิดวินัยสงฆ์หรือไม่?”

และการอ้างว่ารู้ด้วย “ญาณวิเศษ” นั้น สามารถเป็นข้อแก้ตัวจากการตั้งคำถามเรื่องการ “ละเมิด” ของญาติๆ ของคนต่างศาสนา (เป็นต้น) ได้หรือไม่

3.สังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ยึดหลักการที่ "แฟร์" (fairness) บนฐานของ “ความเท่าเทียม” (equality) เป็นหัวใจสำคัญ (เช่น เป็นหัวใจของหลักนิติรัฐ) แต่การที่พระพูดถึงเรื่องที่สามารถตั้งคำถามได้ทั้งในเชิงว่ามันเป็น "ความจริง" หรือไม่ หรือมัน "ผิดศีลธรรม" หรือไม่ บนฐานของการอ้างอิง "สถานะผู้มีญาณวิเศษเหนือคนธรรมดา" อย่างนี้ถือว่าขัดกับหลักการ "แฟร์" บนพื้นฐานของ "ความเท่าเทียม" หรือไม่ องค์กรสงฆ์หรือสังคมจะมีคำตอบอย่างไร

ผมขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับกรณีที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ชี้ให้เห็นปัญหาของการอ้าง “free speech” เช่นที่บรรดา “คนรักเจ้า” มักอ้างว่าพวกเขามีเสรีภาพที่จะรัก มีเสรีภาพที่จะพูดสรรเสริญบุญคุณ และประโยชน์ต่างๆ ของสถาบันกษัตริย์ แต่ background ของการอ้าง free speech นี้คือ “การที่ฝ่ายเห็นต่างไม่มีเสรีภาพเสนอข้อมูลด้านตรงข้ามได้” ฉะนั้น การอ้างเสรีภาพดังกล่าวจึงไม่ได้อยู่บนหลักของความแฟร์แต่อย่างใด

กรณีของพระที่เล่าเรื่องชีวิตหลังความตายของคนอื่นๆ เป็นฉากๆ แม้จะเล่าโดยอ้างหลัก “เสรีภาพทางความเชื่อ” แต่มันไม่แฟร์ในความหมายว่า เมื่อพระกำลังเล่าชีวิตหลังความตายของนาย ก.เป็นฉากๆ เท่ากับพระกำลังยืนยันว่าตนเองกำลังพูด “ความจริง” (หากยืนยันว่าไม่ใช่ความจริง ก็เท่ากับท่านกำลัง “โกหก”) แต่ความจริงนั้นสามารถรู้ได้จาก “ญาณวิเศษ” ของผู้เล่าคนเดียวเท่านั้น คนอื่นรู้ด้วยไม่ได้ ฉะนั้น มันจึงไม่แฟร์สำหรับคนที่สงสัย ตั้งคำถาม และไม่แฟร์แม้ต่อคนที่เชื่อและบริจาคเงินทำบุญ เพราะผู้ศรัทธาคืออู้แบกรับ “ความเสี่ยง” ต่อการถูกหลอกเต็มๆ (เช่นเมื่อภายหลังรู้ว่าตน “ถูกหลอก” หรือตกเป็น “เหยื่อ” ก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจาก “เสียความรู้สึก”)

ฉะนั้น ความไม่แฟร์ที่อ้างอิง “สถานะผู้มีญาณวิเศษเหนือคนธรรมดา” จึงทำให้พระที่อ้างอิงสถานะเช่นนั้น “ได้เปรียบ” ทั้งขึ้นทั้งล่อง คือคนที่ไม่เชื่อก็พิสูจน์หักล้างไม่ได้ คนที่เชื่อก็เสี่ยงที่จะถูกหลอก พระคือผู้ได้ผลประโยชน์จากการที่ไม่มีใครตรวจสอบญาณวิเศษของตนเองได้ และได้ประโยชน์จากความศรัทธาเลื่อมใส และเงินบริจาคทำบุญของประชาชน

และถึงที่สุดแล้ว การอวดอุตตริที่อ้าง “สถานะผู้มีญาณวิเศษเหนือคนธรรมดา” ก็คือสถานะที่ “ลอยนวล” เหนือ “ความรับผิดชอบทั้งทางศีลธรรมและกฎหมาย” และเป็นสถานะที่ถูกใช้สร้างการโฆษณาชวนเชื่อปั่นศรัทธาและผลประโยชน์แบบกินเปล่า เอาเปรียบได้สบายๆ แน่นอน ถ้าสังคมยังยอมรับ “สถานะพิเศษเหนือมนุษย์” ของคนอย่างเราๆ เช่นนี้อยู่ต่อไป สภาพปัญหาดังข้อความข้างล่างนี้ก็จะยังคงอยู่ หรือหนักยิ่งขึ้นต่อไป

quote by Nazario http://www.facebook.com/quotequotequote/posts/479142955442823

คำถามคือ พุทธศาสนาจะตอบปัญหาของสถานะพิเศษดังกล่าวอย่างไร?

มีคำตอบตรงไปตรงมาจากหลักการพุทธศาสนาว่า พุทธศาสนาบัญญัติวินัยสงฆ์ “ห้ามอวดอุตตริมนุสธรรม”เอาไว้ชัดเจนแล้ว ถ้าพระสงฆ์ยึดถือปฏิบัติตามนั้น ปัญหาในข้อ 1-3 (เป็นต้น) ก็ย่อมไม่เกิดขึ้น

ความน่าสนใจคือ พุทธะประเมิน “ค่าทางศีลธรรม” (moral value) ของการละเมิดวินัยสงฆ์ข้อที่ “ห้ามอวดอุตตริมนุสสธรรม” ไว้อย่างไร โปรดดูพุทธพจน์ข้างล่างนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง นี้จัดเป็นยอดมหาโจร ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้น ฉันก้อนข้าวของชาว แว่นแคว้น ด้วยอาการแห่งคนขโมย

(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ บรรทัดที่ ๘๕๒๐ - ๘๖๖๖. หน้าที่ ๓๒๙ - ๓๓๔.
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=8520&Z=8666&pagebreak=0)

จะเห็นว่า การประเมินค่าทางศีลธรรมของการ “อวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน” ว่าเป็นการกระทำของ “ยอดมหาโจร” เพราะเหตุผลที่ว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการ “ขโมย” หรือ “คอรํรัป” อาหารการกิน ปัจจัยสี่หรือเงินทองที่ชาวบ้านมอบให้ด้วยศรัทธา และเมื่อพิจารณาที่มาของการบัญญัติวินัยห้ามพระอวดอุตริที่เกิดจากการที่ภิกษุกลุ่มหนึ่งอวดอุตตริเพื่อให้ชาวบ้านเลื่อมใสถวายอาหารและลาภสักการะ ยิ่งเห็นได้ชัดว่า “เหตุผลทางศีลธรรม” ของวินัยสงฆ์ข้อนี้ คือการปฏิเสธ “การอ้างอิงสถานะพิเศษเพื่อเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์”

ฉะนั้น การที่พระสงฆ์ละเมิดพระธรรมวินัยด้วยการ “อ้างอิงสถานะพิเศษเพื่อเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์” ก็คือ “การใช้ศาสนาหมิ่นศักดิ์ศรีของมนุษย์” เป็นการอ้างสถานะของ “คนดี” หรือ “ผู้บริสุทธิ์” ทางศาสนาในการทำความชั่วโดยการเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์อย่างน่าเศร้าใจ เข้าทำนองคำกล่าวข้างล่างนี้

http://thinkexist.com/quotes/like/religion-is-an-insult-to-human-dignity-with-or/410565/2.html และhttp://www.youtube.com/watch?v=Xq1hbqummvA

คำถามต่อองค์กรสงฆ์ อาจแยกเป็นสองคำถาม คือ

1.ในฐานะที่เป็นองค์กรสงฆ์ภายใต้พระธรรมวินัย องค์กรสงฆ์ควรจะดำเนินการอย่างไรในการใช้ “หลักพระธรรมวินัย” ตรวจสอบกันและกัน เพื่อป้องกันแก้ไขไม่ให้พระสงฆ์ละเมิดพระธรรมวินัยด้วยการ “อวดอุตตริมนุสสธรรม” ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อความน่าเชื่อถือของพุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์เอง

2.ในฐานะที่องค์กรสงฆ์เป็นองค์กรที่ขึ้นต่อรัฐ (ตั้งแต่เจ้าอาวาสจนถึงพระสังฆราชถือว่าเป็น “เจ้าพนักงานของรัฐ” ตามกฎหมายปกครองสงฆ์) จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไรต่อการปล่อยให้มีพระอ้างอิง “สถานะพิเศษ” เพื่อเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์อย่างแพร่หลาย

ประเด็นนี้อาจารย์สมศักดิ์เปรียบกับสถาบันทหาร (ประมาณ) ว่า ในฐานะที่ทหารเป็นองค์กรของรัฐและเป็นองค์กรที่มีวินัย มีกฎหมายห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ถ้าทหารออกมาพูดเรื่องการเมืองในระดับเดียวกับนักการเมืองอยู่เรื่อยๆ สังคมควรเรียกร้องให้ตรวจสอบโดยอ้างอิงวินัยทหารและกฎหมายได้ โดยข้อเปรียบเทียบกับองค์กรทหารที่ต้องอยู่ในกรอบวินัยและกฎหมายดังกล่าว ผมจึงชวนให้ตั้งคำถามว่า ในฐานะที่องค์กรสงฆ์เป็นองค์กรของรัฐ ได้งบประมาณจากรัฐ และองค์กรนี้ก็มีวินัยสงฆ์และกฎหมายบังคับอยู่ แต่ปรากฏว่ามีพระสงฆ์มาพูดอวดอุตตริที่ตั้งคำถามได้ว่า ละเมิดวินัยสงฆ์หรือไม่อยู่เป็นประจำ (เหมือนทหารพูดเรื่องการเมืองเป็นประจำ) องค์กรสงฆ์ในฐานะองค์กรของรัฐควรรับผิดชอบอย่างไร

คำถามสุดท้าย เป็นคำถามที่ฝากถึงนักเสรีนิยมในบ้านเราว่า แทนที่จะอ้าง “หลักเสรีนิยม” ว่า “พระที่อวดอุตตริก็มีเสรีภาพในการแสดงออก” และ “ชาวบ้านก็มีเสรีภาพที่จะเชื่อ” เพื่อคัดค้านการใช้ “หลักธรรมวินัย” ตรวจสอบกันเองของคณะสงฆ์นิกายเดียวกัน อยู่ภายใต้หลักธรรมวินัยและกฎหมายฉบับเดียวกัน เป็นองค์กรสงฆ์ที่ขึ้นต่อรัฐเหมือนกัน ซึ่งการอ้างหลักเสรีนิยมเพื่อคัดค้านการที่ชุมชนทางศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือนิกายใดนิกายหนึ่งเขาจะใช้หลักความเชื่อของเขาตรวจสอบกันเอง ย่อมถูกตั้งคำถามได้ว่า เป็นการอ้างหลักเสรีนิยมที่ขัดแย้งกับหลักเสรีนิยมนั้นเองที่ต้อง “เคารพความแตกต่างทางความเชื่อ” ของศาสนาและนิกายศาสนาต่างๆ หรือไม่

ฉะนั้น โดยการอ้างอิงหลักเสรีนิยม นักเสรีนิยมควรตั้งคำถามต่อองค์กรสงฆ์ในประเด็น “ความรับผิดชอบทางศีลธรรมและกฎหมาย” ตามข้อ 1- 3 ดังกล่าวข้างต้น หรือไม่?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net