คุยกับเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ "กฟผ.ต้องเยียวยาตามที่ศาลสั่งโดยเร็ว"

 

 

สัมภาษณ์ 'มะลิวรรณ นาควิโรจน์' เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ  บอกเล่าถึงสถานการณ์การต่อสู้ของชาวบ้าน ว่าได้ร่วมกันต่อสู้เรียกร้องสิทธิกันมาตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน แต่ปัญหาเหล่านี้ถูกเพิกเฉย 

 

‘มะลิวรรณ นาควิโรจน์’ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ได้บอกเล่าถึงสถานการณ์การต่อสู้ของชาวบ้านแม่เมาะ ว่าได้ร่วมกันต่อสู้เรียกร้องสิทธิกันมาตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ 20 ปีมาแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่าปัญหาเหล่านี้ถูกเพิกเฉย ยังไม่ได้รับการแก้ไขและเยียวยาแต่อย่างใด

อยากทราบถึงสถานการณ์การต่อสู้ของเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะในตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ?
เราก็ต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ 20 ปีมาแล้ว แต่สิ่งที่ชาวบ้านได้รับก็คือ กี่รัฐบาล กี่นายกรัฐมนตรี กี่ผู้บริหาร กี่ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กี่ผู้ว่าราชการจังหวัด กี่นายอำเภอ คนแล้วคนเล่าที่เข้ามา แต่ก็ไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาชาวบ้านแม่เมาะได้ ผลที่ได้ก็คือ ทุกๆครั้งที่มีการเจรจา ประชาชนล้วนถูกหลอกทั้งสิ้น หลอกให้ประชุมหลอกให้กลับบ้าน หลอกให้ทะเลาะกัน สรุปว่า ทั้งรัฐ ทั้ง กฟผ.ไม่จริงใจที่จะแก้ปัญหาและไม่ยอมรับผิดชดใช้เยียวยาในเรื่องความผิดพลาดที่ตนเองกำหนดนโยบายขึ้นมาเลย 

ผ่านมาถึงเวลานี้ สมาชิกเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะที่ล้มป่วยและเสียชีวิตไปจำนวนเท่าไหร่แล้ว?
ชาวบ้านที่ล้มป่วยเพราะสารพิษจากเหมืองถ่านหินลิกไนต์ และเสียชีวิตไปมากกว่า 20 คนแล้ว จากทั้งหมด 131 รายที่มีคำพิพากษาให้ กฟผ.ชดใช้ค่าเสียหายทางด้านสุขภาพ

กรณีเรื่องการอพยพชาวบ้านออกจากหมู่บ้านไปอยู่พื้นที่ใหม่รวมไปถึงเรื่องค่าชดเชย มีการเยียวยา แก้ไขได้จริงแท้แค่ไหน และ เจอปัญหา ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง?

กรณีเรื่องการอพยพชาวบ้าน ในตอนแรก ทาง กฟผ.ได้อพยพชาวบ้านจำนวน 493 ครอบครัวออกจากพื้นที่อาศัยดั้งเดิมตาม มติ คณะรัฐมนตรี 15 มกราคม 2551 แต่ทุกวันนี้พื้นที่ดังกล่าวยังไม่ได้ออกเอกสารสิทธิ์ให้ชุมชนแต่อย่างใด และยังจัดให้ชาวบ้านไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ของกรมป่าไม้ ซึ่งต่อเรื่องนี้ได้ทำให้ชาวบ้านทุกคนต่างรู้สึกวิตกกังวล เพราะต่างก็หวั่นกลัวเรื่องการถูกไล่ออกจากพื้นที่อีก

เป็นพื้นที่ป่า เป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ แล้วไปจัดสรรให้ชาวบ้านอยู่ได้อย่างไร?

คือพื้นที่ที่จัดสรรให้ชาวบ้านไปอยู่นั้น เป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ ที่ทาง กฟผ.ได้ทำการเช่าไว้เพื่อรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเมื่อเราดูตาม มติคณะรัฐมนตรี 15 มกราคม 2551 นั้นได้ระบุไว้ว่าจะออกเป็นเอกสารสิทธิให้ หลังจากอพยพชาวบ้านมาอยู่แล้ว แต่พอชาวบ้าน ลุกขึ้นมาทวงถามสิทธิในเรื่องนี้ ทาง กฟผ.บอกว่าส่งคืนกรมป่าไม้แล้ว พอชาวบ้านไปถามกรมป่าไม้ กรมป่าไม้กลับบอกว่ายังไม่ได้รับ สรุปว่าชาวบ้านเรากำลังโดนหลอกเรื่องเอกสารสิทธิ

สรุปก็คือ การอพยพชาวบ้านมาอยู่ที่แห่งใหม่นั้น พบปัญหาว่ารัฐบาลร่วมกับ กฟผ.ไม่จริงใจที่จะทำตามสัญญาว่าด้วยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ดีพอ เช่นท่อระบายน้ำทิ้งไม่มี น้ำประปาที่ขาดคุณภาพดื่มไม่ได้เป็นหิน การติดตามช่วยเหลือ การดำรงชีพ การออกเอกสารสิทธิ์ที่สัญญาว่าจะออกให้ตามมติคณะรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่าย้ายชาวบ้านจากพื้นที่เดิมมีเอกสารสิทธิ์ มาอยู่ในพื้นที่ของกรมป่าไม้ที่ กฟผ.เช่ามา จากพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เวลานี้ชาวบ้านต่างพากันกังวลว่า หากกรมป่าไม้จะเอาพื้นที่คืนชาวบ้านคงต้องอพยพอีก และก็ไม่ได้ใช้สิทธิในเอกสารที่ดินในการทำธุรกรรมอื่นๆ

กฟผ.และรัฐจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง?

อันดับแรก กฟผ.ต้องชดเชยเยียวยาชาวบ้านตามที่ศาลสั่งจ่ายโดยเร็วที่สุด กฟผ.ต้องดูแลคุณภาพชีวิตผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้เป็นกรณีพิเศษ โดยไม่อ้างกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่ ชาวบ้านเหล่านี้มีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงอยู่แล้ว

ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ดิฉันได้ไปยื่นหนังสือให้กับกรรมาธิการ(กมธ.)พลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้มีมติ จะลงพื้นที่แม่เมาะ ในวันที่ 7กันยายนนี้ เขาบอกว่าจะเชิญทุกหน่วยงานมาเคลียร์เรื่องการคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้า โดยจะนัดทุกส่วน เช่น สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้ว่า กฟผ. และเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ซึ่งทาง กมธ.เอาให้จบเรื่องการเยียวยาจากเงินกองทุนรอบโรงไฟฟ้า

อยากจะสื่ออะไรให้กับสังคมไทยว่า พลังงานถ่านหินนั้นส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต วิถีชุมชนอย่างไรบ้าง?
ในฐานะที่เป็นตัวแทนของเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ อยากจะบอกกับสังคมไทยว่า ผลกระทบที่เกิดจากการผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหิน อันดับแรก นั้นคือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ ป่า ฝุ่น กลิ่น เสียงแรงสั่นสะเทือน สุขภาพจนถึงวิถีชีวิต วิถีชุมชนที่ต้องล่มสลาย ต้องเปลี่ยนไป 

นอกจากนั้น ป่าไม้จำนวนมาก ต้องถูกตัดทิ้งเป็นบริเวณกว้างเป็นหมื่นกว่าไร่ เพื่อเปิดหน้าดินขุดขนถ่านหินลิกไนต์ขึ้นเป็นเชื้อเพลิงการผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้วิถีชาวบ้านที่เคยเข้าป่าหากินการใช้ป่าเป็นแหล่งอาหารหายไปหมดเลย

และการขุดขนถ่านหินทำให้มลภาวะทางด้านสิ่งแวดล้อมในกระบวนการขุดขนตามมาจากการทำงานของเครื่องจักรขนาดใหญ่ เช่นฝุ่นที่มาจากการเปิดหน้าดิน/กลิ่นที่มาจากการลุกไหม้ของถ่านหิน/เสียงที่ดังมาจากเครื่องจักรลำเลียงดินหินถ่าน ทั้งวันทั้งคืน/แรงสั่นสะเทือนที่มาจากการระเบิดหน้าดินเพื่อนำถ่านหินลิกไนต์ขึ้นมา 

ผลกระทบที่น่ากลัวที่สุด ก็คือ น้ำใต้ดินและน้ำผิวดินปนเปื้อนสารพิษเช่น ซัลเฟส แมงกานิส แคตเมียม ตะกั่วทองแดง และสารหนูที่เกิดจากการสูบน้ำในขุมเหมืองออกทิ้งสู่เส้นทางน้ำสาธารณะ

และผลกระทบสุดท้ายที่ชาวบ้านได้รับ นั่นคือ จำเป็นต้องมีการอพยพชุมชนที่อยู่อาศัยดั้งเดิมในพื้นที่ออกไป เพราะต้องการใช้พื้นที่ในการทำเหมืองทำให้ชุมชนที่คุ้นเคยต้องไปอยู่บนพื้นที่ใหม่ เพื่อนบ้านใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และตามมาซึ่งปัญหาด้านการปกครองที่ยุ่งยาก อีกทั้งยังพบว่าพืชผลไม้ยืนต้นต้องเริ่มปลูกใหม่ เช่น ขนุนมะม่วงซึ่งของเก่าออกผลผลิตเก็บกินตามฤดูกาล ต้องมาเริ่มนับต้นกล้าปลูกใหม่ทั้งหมด

ในฐานะที่คุณคัดค้านพลังงานถ่านหินมาโดยตลอด คุณคิดว่าพลังงานทางเลือกอย่างไหนจะดีและเหมาะสมกับประเทศไทยในอนาคต ?
พลังงานไทยในอนาคต ดิฉันคิดว่า มีเพียงสิ่งเดียวที่เหมาะสม คือ แสงแดด ที่เป็นพลังงานที่ทุกบ้านมีใช้อย่างเหลือเฟือและไม่ต้องซื้อตลอดชีวิต อีกทั้งยังไม่ต้องไปรบกวนสิ่งแวดล้อม เช่นดิน น้ำ ป่า อากาศ อันเป็นสาเหตุหลักเชื่อมโยงไปถึงสุขภาพของประชาชนไทยที่ดีตามมาด้วย

 

Calibri;mso-hansi-font-family:Calibri">

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท