Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพยนตร์เรื่อง Yes Or No 2 รักไม่รัก อย่ากั๊กเลย เป็นภาพยนต์รักวัยรุ่นหญิงรักหญิง (ทอม-ดี้) ภาคต่อจากความสำเร็จ Yes Or No: อยากรัก ก็รักเลย สร้างกระแสคลั่งไคล้ทั่วเอเชีย มีแฟนคลับมากมายคอยติดตามผลงาน ส่งผลให้สามารถทำคลอดภาคสองออกมาให้ชมกันได้ หนังรักวัยรุ่นหญิงรักหญิงเรื่องนี้มีคุณค่าที่กล้านำเสนอตัวละครนำเป็น ผู้หญิงที่รักผู้หญิง ทำให้เห็นถึงชีวิตรักที่เป็นไปตามความสุข ความเศร้า ในห้วงอารมณ์แห่งความรัก ให้สังคมเห็นความรักของหญิงรักหญิงก็ไม่ได้แตกต่างจากรักสมหวัง ผิดหวังและรักสามเศร้าของคู่รักชายหญิง

ภาพความรักวัยรุ่นของคิม สาวบุคลิกเท่ อบอุ่น กับออมสาวหวาน น่ารัก ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคความรักแบบใสๆ วัยรุ่น ทว่าเนื้อหาในหนังความรักของคนสองคนนั้น ไม่ได้เป็นแค่ความรักของคู่รักที่ต้องฝ่าฝันอุปสรรคความไม่เข้าใจกัน ง้องอน และมือที่สาม แม้จะพยายามต้องการสะท้อนปัญหาความรักหญิงรักหญิง ทอม ดี้ แต่เนื้อหาของหนังก็สะท้อนแนวความคิด ทัศนคติ เรื่องเพศแบบรักต่างเพศ ไว้อย่างเนียบเนียน และในท้ายที่สุดก็ขัดแย้งกันเอง

ความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (Homophobia)

ความเกลียดกลัวการรักเพศเดียวกันของตัวเอง (Internalized Homophobia) เป็นเรื่องแรกที่สังเกตุได้เมื่อ พาย ไม่ยอมเปิดเผยความสัมพันธ์ที่มีต่อคิมให้คนอื่นรับรู้ หวาดกลัวที่จะถูกมองว่ามีใจรักทอมคนหนึ่ง จึงคะยั้นคะยอให้คิมไว้ผมยาว หรือกระทั่งบังคับให้ใส่วิก เพื่อปกปิดความบุคลิกทอม ผมสั้นแต่งตัวเท่ของคิม ไม่ให้คนอื่นรับรู้ความสัมพันธ์แบบใกล้ของผู้หญิงสองคน เพราะการถูกมองจากคนภายนอกว่า การที่ผู้หญิงคบ ทอม นั้นเป็นเรื่องที่ “ไม่ปกติ” หรือเป็น “ผิด” อย่างน้อยก็ในใจของตัวละคร พาย เองก็รู้สึกอึดอัดขัดเขินกับความเป็นจริงข้อนี้ว่า ตัวเองเป็นผู้หญิงที่รักทอม

บทซ้ำๆ ย้ำภาพทอม ดี้ และกะเทย

บทบาทของตัวละครคิมและพาย บุคลิกที่ย้ำภาพความเป็นทอม ดี้ คิม อยู่ฝ่ายเหตุผล การทุ่มเท่เอาใจใส่ ส่วนพายในฐานะแฟนสาว เอาแต่ใจ ต้องการการดูแลง้องอน ย้ำภาพความรักแบบทอมดี้ ทอมเป็นฝ่ายเอาใจ ทุ่มเท ความรักให้หญิงสาว

ตัวละครที่สร้างความสนุกสนาน ตลกขบขัน หรือตัวตลก ของกะเทยแบบเป้ย (ชื่อเล่นจริงว่า บอย) ก็ตอกย้ำภาพลักษณ์ตายตัว (Stereotype) ของกะเทยที่ต้องเป็นตัวตลก สนุกสนาน สร้างความหัวเราะ

หนังเรื่องนี้รับเอาภาพลักษณ์ที่สังคมมองบทบาททอม ดี้ กะเทยมาอย่างโดยดี ผลิตซ้ำความเชื่อแบบเดิม บทบาทเดิมที่สังคมเชื่อว่าให้คนกลุ่มนี้เป็น ไม่ว่าสื่อจอแก้วหรือจอเงิน ก็ย้ำภาพนี้จนกลายเป็นความคิดกระแสหลักไป ทั้งที่ความเป็นจริงทอม ดี้ หญิงรักหญิง หรือกะเทยก็มีหลายบุคลิก ไม่ได้แสดงหรือมีตัวตนแบบเดียว

กรอบของสังคม กับ การใช้ชีวิตคู่

ระหว่างการง้องอนของตัวละครคิมและพายตลอดทั้งเรื่อง ฉากสะท้อนความคิดเรื่องเพศ มากที่สุดอยู่ในสองฉากสุดท้าย

ฉากแรก ฝนตกหนักคิมมารอพายหน้าบ้าน พายได้พูดว่า แม่ของตนบอกว่า ความรักในแบบของเธอนั้น มันไม่ยั่งยืน จะดูแลกันยังไง ไม่สามารถแต่งงานจดทะเบียน เป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ มีลูกได้ สะท้อนให้เห็น ความคิดบรรทัดฐานรักต่างเพศ ชาย-หญิง และคำนิยามแข็งทื่อตายตัวของคำว่า “ครอบครัว” ที่สมบูรณ์ คือ ชาย หญิง แต่งงานจดทะเบียนสมรส เพื่อเป็นการยืนยันความรัก และครอบครัว ถูกสร้างขึ้นด้วยพ่อ(ชาย)แม่(หญิง) และมีลูกเป็นพยานยืนยันของความสัมพันธ์อันสมบูรณ์

ฉากสอง ใกล้ตอนจบของเรื่อง คิมได้พบพาย และคิมได้บอกความรู้สึกในใจกับพายด้วยการ ขอแต่งงาน และกล่าวว่า

ทำไมความรักในแบบของเรา ต้องเป็นการแต่งงานจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ทำไมต้องมีลูกเป็นสิ่งยืนยันความสัมพันธ์ ทั้งที่คนที่เขาแต่งงานจดทะเบียนสมรสกันนั้น เลิกรากันไปโครมๆ เพราะความรักสำหรับคิมและพาย ก็คือ การรักกันเองในโลกของคนสองคน จากข้อความนี้สามารถสะท้อนความคิดอันยอกย้อนว่า คิมขอพายแต่งงาน ตามกรอบความคิดความสัมพันธ์แบบชายหญิง ที่การแต่งงานคือ คำมั่นสัญญาความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน คำขอแต่งงานของคิม จึงเป็นการขอมีคำมั่นสัญญาในความสัมพันธ์ แต่คิมไม่ได้มองว่ามีจำเป็นต้องจดทะเบียนสมรส เพราะคนรักต่างเพศที่แต่งงานจดทะเบียนสมรสก็เลิกร้างลากันไปมาก

แสดงให้เห็นว่า คิมไม่สามารถก้าวไปถึงความคิดว่า การแต่งงานจดทะเบียนสมรส(ชีวิตคู่) ของคู่ตัวเองนั้นเป็น สิทธิ ที่ควรจะมี กลับมองเห็นว่า การแต่งงานตามแบบพิธีนั้นเพศใดๆ ก็สามารถทำได้แต่การจดทะเบียนสมรส หรือจดทะเบียนชีวิตคู่นั้น ทำได้เฉพาะคู่ชายหญิงเท่านั้น จึงต้องยอมรับความไม่เสมอภาคกันด้วยการอ้างการหย่าร้าง แทนที่จะมองว่าการจดทะเบียนสมรส(ชีวิตคู่) หรือการหย่า เป็นสิทธิของบุคคล การแต่งงานโดยจดทะเบียนสมรส(ชีวิตคู่) ของหญิงกับหญิง ชายกับชาย ก็ต้องสามารถทำได้เป็นเรื่อง “ปกติ” ซึ่งจะเป็นการขยายขอบเขตของคำว่า “ครอบครัว” ของหญิงรักหญิง ชายรักชาย ให้มีความยั่งยืน เข้าถึงสิทธิและหน้าที่จากการสมรส เช่น สิทธิการกู้ร่วม สิทธิสวัสดิการคู่สมรส สิทธิการให้คำยินยอมการรักษาพยาบาล สิทธิการรับบุตรบุญธรรม สิทธิในการฟ้องร้างค่าเลี้ยงดู ฯลฯ เป็นต้น

ด้วยเนื้อหาของหนังที่แตะประเด็นเพียงแค่เรื่องความรัก สยบยอมต่อกรอบความคิดของสังคมที่ว่า การรักเดียวกันนั้นไม่ใช่สามารถเป็น “ความปกติ” ไม่เชื่อมโยงกับโลกความเป็นจริง ที่คู่สมรส คู่ชีวิตต้องสามารถมีสิทธิในกฎหมาย ได้รับสิทธิและหน้าที่จากการจดทะเบียน เพราะฉะนั้นความรักคิมและพาย ใน Yes Or No 2 จึงเป็นความรักที่กั๊กไว้ แค่ในโลกของคนสองคน 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net