สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 2 - 8 ก.ย. 2555

สวรส.สรุปมหาอุกทกภัยปี 54 พบตนคนงาน 6.5 แสน

(3 ก.ย.) ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานเชิญร่วมงานแถลงข่าว มหาอุทกภัย ปี 2554 : บทเรียนจากประสบการณ์ว่า สถานการณ์ภัยธรรมชาติไม่ใช่สิ่งที่ไกลและมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมาก ขึ้น หากไม่มีการเตรียมความพร้อม ขาดการทบทวนประสบการณ์ ขาดการค้นคว้าหาข้อมูลและศึกษาวิจัยเพื่อรับมือกับสถานการณ์ครั้งใหม่ที่อาจ เกิดขึ้น อาจทำให้ต้องสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น รวมทั้งเสียงบประมาณในการฟื้นฟูเยียวยาหลังภัยพิบัติมากขึ้นด้วย ทำให้ไม่สามารถนำเงินไปใช้พัฒนาประเทศได้อย่างเต็มที่
      
นพ.สุรวิทย์ กล่าวอีกว่า สธ.ได้ปรับบทบาทและวิธีดำเนินงานให้เป็นเชิงรุก เพื่อเข้าถึงประชาชนและสเข้ากับสถานการณ์ปัญหามากขึ้น อาทิ การจัดทีมดูแลสุขภาพประชาชนในชุมชน การเปิดสายด่วนคลายเครียดช่วงน้ำท่วม 1667 การป้องกันปฐมพยาบาลจากไฟดูด เป็นต้น ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมในปีที่ผ่านมาทำให้หน่วยงานด้านสุขภาพต่างๆ ได้เรียนรู้การทำงานในสถานการณ์จริง ส่งผลดีต่อการปรับแนวทางการทำงาน เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำอีก หากต้องเผชิญภัยพิบัติในอนาคต
      
น.ส.รัจนา เนตรแสงทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า ผลการสำรวจครัวเรือนที่ประสบภัยน้ำท่วมในช่วง ก.ค.-ธ.ค. 2554 พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 61 จังหวัด ครัวเรือนถูกน้ำท่วม 3.9 ล้านครัวเรือน ประชากร 12.9 ล้านคน ระยะเวลาน้ำท่วมในบ้านเฉลี่ย 27 วัน นอกบ้าน 25 วัน ความสูงของน้ำในบ้านเฉลี่ย 88.83 ซม. นอกบ้าน 87.35 ซม. มีการเตรียมตัวรับมือน้ำท่วมร้อยละ 57.1 ส่วนมากนิยมยกของขึ้นที่สูง และสำรองของกินของใช้ ซึ่งการเตรียมตัวมีความสัมพันธ์กับรายได้ของครัวเรือน ขณะที่การย้ายสวิทซ์/ปลั๊กไฟขึ้นที่สูงเพียง 5.5 % ทั้งที่เป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิต นอกจากนี้ ยังพบว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมร้อยละ 51.1 ว่ายน้ำไม่เป็น และว่ายน้ำได้ 25 เมตรขึ้นไปร้อยละ 18.6 ส่วนในภาคแรงงานมีการตกงานเพิ่มขึ้น รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนลดลงจากช่วงก่อนน้ำท่วมร้อยละ 10 ขณะที่การเข้าถึงบริการสุขภาพ พบว่า ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมมีสมาชิกได้รับบาดเจ็บ ป่วย หรือเสียชีวิตจากน้ำท่วมร้อยละ 8.1 ในจำนวนนี้ผู้เสียชีวิตร้อยละ 0.3 มีสาเหตุมาจากไฟฟ้าดูด/ช็อต
      
ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีในฐานะนักวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) กล่าวว่า ความเสียหายจากมหาอุทกภัยปี 2554 ส่งผลให้แผ่นดินกว่า 36 ล้านไร่จมน้ำ ครอบคลุมตั้งแต่จ.เชียงใหม่ ถึงกรุงเทพฯ สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน 12 ล้านคน เสียชีวิต 815 คน 5,388,204 กลายเป็นผู้อพยพ คนงานเกือบ 650,000 คนตกงานหรือได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจพินาศ 1.425 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับ 7 เท่าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2554 และธนาคารโลกจัดอันดับความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 4 ของโลก ถัดจากสึนามิในญี่ปุ่น แผ่นดินไหวในโกเบ และเฮอริเคนแคทรีน่า
      
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประชาชนควรมีความรู้เบื้องต้นด้านการดูแลสุขภาพยามที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ น้ำท่วม เช่น เรื่องการป้องกันและปฐมพยาบาลจากไฟช็อต การช่วยเหลือตนเองกรณีว่ายน้ำไม่เป็น การเตรียมถุงยังชีพ การเตรียมยาสามัญประจำบ้าน อนามัยส่วนบุคคลและสิ่งแวดล้อมเป็นต้น สามารถดาวน์โหลด คู่มือสำหรับป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วมได้ที่เว็บไซต์กรม www.ddc.moph.go.th โดยควรยึดหลัก รู้เตรียม รู้ระวัง รู้สะอาด
      
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผอ.สวรส. กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบาย มี 5 เรื่องหลัก คือ 1.สธ.ควรพัฒนาบทบาทการเป็นเจ้าภาพหลักในการรับมือกับผลกระทบด้านสุขภาพให้ มากขึ้น 2.ควรให้ความสำคัญกับการเตรียมแผน ซ้อมแผน ทบทวนแผนเป็นระยะ 3.ควรพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศทางการแพทย์และสาธารณสุขยามภัยพิบัติ โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกภาคส่วนทั้งในและนอกสธ. 4.ควรหาและกำหนดทำเลจัดตั้งศูนย์อพยพกรณีภัยพิบัติครอบคลุมทั่วประเทศและ เตรียมความพร้อมด้านต่างๆ และ5.ควรเสริมสร้างทักษะการเตรียมความพร้อมแก่ประชาชน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-9-2555)

ป.ตรี หมื่นห้า-ค่าแรง 300 ทำเรื่อง อปท.ขาดงบ-นัดบุกกรุงพรุ่งนี้-จี้ รบ.ปูช่วย

วันนี้ (3 ก.ย.55) ที่ ณ ห้องประชุมจุฬามณี 1 เทศบาลนครพิษณุโลก ได้มีการประชุมสันนิบาตเทศบาลจังหวัดพิษณุโลก ครั้งที่ 1/2555 โดยมีตัวแทนเทศบาลฯ ทั้ง 24 แห่งทั่วทั้งจังหวัดเข้าร่วม อาทิ ทน.พิษณุโลก ,ทต.นครไทย,ทต.พรหมพิราม,ทต.วัดโบสถ์,ทต.บางระกำ,ทต.ชาติ ตระการ,ทต.บางกระทุ่ม,ทต.วังทอง,ทต.เนินกุ่ม ฯลฯ เป็นต้น

ที่ประชุมได้ลงมติให้นายบุญทรง แทนธานี นายกเล็กนครพิษณุโลก ดำรงตำแหน่งประธานสันนิบาตเทศบาลจังหวัดพิษณุโลก แทนตำแหน่งที่ว่าง(นางเปรมฤดี ชามพูนท)

นายบุญทรง กล่าวว่า การประชุมสันนิบาตเทศบาลจังหวัดพิษณุโลก เป็นการหารือข้อกฎหมายท้องถิ่นต่าง การกระจายอำนาจแก่อปท. ทั้งปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะของเทศบาลต่างๆ ประเด็นสำคัญในที่ประชุมก็คือ ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลืองบประมาณ ในส่วนที่ท้องถิ่นต้องจ่ายให้พนักงาน และพนักงานจ้าง ตามนโยบายเพิ่มเงินเดือนให้กับผู้ที่มีวุฒิปริญญาตรี 15,000 บาท และต่ำกว่าปริญญาตรีได้รับเงินเดือน ไม่ต่ำกว่า 9,000 บาท

ล่าสุดได้นัดรวมตัวของพนักงานในแต่ละเทศบาล เดินทางเข้าไปแสดงพลังต่อรัฐบาล เพื่อให้ทราบถึงความเดือดร้อนของท้องถิ่น เนื่องจากท้องถิ่น ต้องเอาเงินงบประมาณที่ควรนำไปพัฒนา มาจ่ายเป็นเงินเดือนพนักงานเพิ่มขึ้นเป็นเงินจำนวนมาก ส่งผลให้งบการเงินสะดุด

สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย มีการร้องเรียนไปยังรัฐบาลแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเสนองบประมาณกรณีสนับสนุนและชดเชยเงินเดือน ป.ตรี และแก้ปัญหาระระยาวด้วยการ จ่ายเงินอุดหนุน อปท.ตามสัดส่วนที่เคยได้รับปากในอดีต คือ อบจ.30 %, เทศบาล 35 % อบต. 35%

กรณีเงินชดเชย ป.ตรี เฉพาะ จ.พิษณุโลก ปี 55 ในที่ประชุมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ระบุว่า เสนอให้สนับสนุนหรือชดเชยเหมาทั้งจังหวัด 23 ล้านบาท

ทั้งนี้พนักงานเทศบาลนครพิษณุโลก ได้จ่ายเงินเดือนแก่พนักงานที่จบปริญญาตรี ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 55 เป็นต้นมาแล้วจำนวน 12 ล้านบาทเศษ ขณะที่เทศบาลต่างๆในพิษณุโลก บางแห่งไม่มีเงินจ่ายให้กับพนักงาน จนทำให้เกิดความเดือดร้อนตามมา

จึงเป็นที่มาของตัวแทนพนักงานเทศบาล เตรียมนัดระดมพลในคืนนี้ (3 ก.ย.55) ขึ้นรถตู้จำนวน 1 คัน เดินทางเข้าสมทบกับเครือข่ายพนักงานเทศบาล, อบต. จังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศที่ลานพระบรมรูปทรงม้า กรุงเทพฯในเช้าวันพรุ่งนี้(4 ก.ย.55) ก่อนเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลต่อ

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-9-2555)

ข่าวดี ! ขยายดูแล "ผู้ป่วยเอดส์-ไต" 3 กองทุนดีเดย์ 1 ต.ค.

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลมีนโยบายสร้างความเป็นเอกภาพและบูรณาการสิทธิประโยชน์ในการให้ บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินไปแล้วนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาขยายสิทธิสร้างความเสมอภาคในการดูแลผู้ติดเชื้อ เอชไอวี /ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เพื่อให้ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มใน 3 กองทุน ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม โดยในส่วนของผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง

ระยะสุดท้ายจะเน้นในเรื่องของการดูแลรักษาอย่างมีคุณภาพต่อเนื่อง แม้มีการเปลี่ยนสิทธิ อาทิ ผู้ป่วยไตวายอยู่สิทธิประกันสังคม และลาออกต้องอยู่ในสิทธิ 30 บาทโดยอัตโนมัติ ก็จะได้รับการรักษาต่อเนื่องในสถานพยาบาลเดิมทันที ทั้งนี้ สำหรับการขยายสิทธิสร้างความเสมอภาคในผู้ป่วยดังกล่าวจะเริ่มประกาศใช้จริง ในวันที่ 1 ตุลาคม 2555

นพ.วินัยกล่าวอีกว่า ส่วนผู้ป่วยเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์นั้น ขณะนี้มีการหารือว่าจะต้องปรับในเรื่องเกณฑ์ข้อกำหนดการรับยาต้านไวรัสเอชไอ วีให้เท่าเทียมทั้ง 3 กองทุน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ได้ตามข้อกำหนดที่องค์การอนามัยโลกระบุไว้ คือ ผู้ป่วยต้องได้รับยาต้านไวรัสที่ค่าซีดีโฟว์ (CD4) หรือ ค่าภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย ที่ระดับ 350 เนื่องจากหากได้รับยาต้านไวรัสเร็วก็จะส่งผลดีต่อผู้ป่วยในการป้องกันโรค แทรกซ้อนต่างๆ ไม่ให้ร่างกายทรุดโทรมเร็ว แต่ปัจจุบันการให้ยาต้านไวรัสจะให้เมื่อค่าซีดีโฟว์อยู่ที่ระดับ 200 ตรงนี้ก็จะมีการหารือและนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่ง ชาติ (บอร์ด สปสช.) ในวันที่ 3 กันยายน ว่า จะปรับเปลี่ยนตามองค์การอนามัยโลกแนะนำได้หรือไม่ เบื้องต้นอาจปรับในส่วนของสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรคก่อน ส่วนอีก 2 สิทธิจะมีการหารือกันให้ได้ข้อสรุปก่อนจะมีการประกาศขยายสิทธิสร้างความเสมอ ภาค 3 กองทุนต่อไป

"การปรับค่าซีดีโฟว์ หลายคนอาจวิตกว่าหากได้รับยาเร็วขึ้นจะมีปัญหาการทานยาไม่สม่ำเสมอและไม่ต่อ เนื่องหรือไม่ เพราะโดยปกติคนที่ร่างกายยังแข็งแรงมักไม่ค่อยทานยาเท่าไรนัก ตรงนี้ก็ต้องมาคุยว่าจะมีแนวทางอย่างไรด้วย" เลขาธิการ สปสช.กล่าว

อนึ่ง ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ รับยาต้านไวรัส 225,272 คน ใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค 148,357 คน หรือร้อยละ 65.9 สิทธิประกันสังคม 46,114 คน หรือร้อยละ 20.5 สิทธิข้าราชการ 12,059 คนหรือร้อยละ 5.4 และสิทธิอื่นๆ 18,742 คนหรือร้อยละ 8.3 ส่วนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 38,780 คน ใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค 20,077 คน สิทธิประกันสังคม 9,193 คน และสิทธิข้าราชการ 8,810 คน

(มติชนออนไลน์, 3-9-2555)

เหมืองแร่ใหญ่แพร่-เบี้ยวค่าจ้างคนงาน แรงงาน จว.บังคับจ่ายยังเฉย

(3 ก.ย.55) ผู้ใช้แรงงานในเหมืองแร่วูลแฟลม เลขที่ 98/1 หมู่ 3 ต.บ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่ จำนวน 160 คน ได้รวมตัวกันที่หน้าเหมือง เพื่อเรียกร้องค่าแรงที่บริษัททำเหมือง เอสซีไมนิ่ง จำกัด ของนายเทพศิริ กิจบำรุง ไม่จ่ายค่าแรง เข้าสู่เดือนที่ 3 แล้ว ซึ่งขณะที่เรียกร้องทางกิจการทำเหมืองไม่ได้เดินเครื่องจักร เนื่องจากมีฝนตกหนัก และดินสไลด์ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ แต่คนงานก็ยังไม่ยอมหยุดงานยังคงมาที่เหมืองครบทั้ง 160 คน ส่วนหนึ่งมารอนายจ้างที่จะเข้ามาในเหมือง แต่พวกเขาก็ต้องผิดหวัง
      
โดยก่อนหน้านี้กลุ่มลูกจ้างได้เข้าร้องเรียนต่อสวัสดิการและคุ้มครองแรง งาน จังหวัดแพร่ม าแล้ว ทางสำนักงานสวัสดิการได้มีหนังสือบังคับให้นายจ้างได้ทำการจ่ายเงินค่าแรง ให้กับลูกจ้างภายใน 15 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 8 ก.ย.55 นี้
      
หลังคนงานชุมนุมกันอยู่ที่ทางเข้าเหมืองนายอรรถพล นาควิจิตร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดแพร่ ได้เดินทางเข้าไปพบกับผู้ใช้แรงงานทำเหมือง บริษัท เอสซีไมนิ่งฯในบริเวณเหมือง และได้เข้าพบกับนายณรงค์ฤทธิ์ วะชุม อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 47/1 หมู่ 2 ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม ซึ่งเป็นผู้แทนเจ้าของกิจการที่ควบคุมการทำงานอยู่ในเหมือง และนายจรินทร์ เดชธิดา ผู้จัดการฝ่ายบุคคลภายในเหมืองดังกล่าว เพื่อสอบถามความคืบหน้าการจ่ายเงินค่าแรงงานให้กับลูกจ้างแต่ก็ได้รับคำตอบ เพียงว่า ไม่สามารถติดต่อนายจ้างได้ น่าจะไปต่างประเทศ ซึ่งทั้งสองคนยอมรับว่าไม่สามารถให้ข้อมูลใดๆ ได้ ต้องรอให้นายเทพศิริ ติดต่อมาเอง
      
นายอรรถพล จึงได้แจ้งว่า การกระทำดังกล่าวผิดกฎหมายแรงงานและสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้แรงงาน ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ซึ่งในที่สุดได้มีคำสั่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 ประกาศให้คนงานที่มีปัญหาหยุดงาน เพื่อจะได้หาทางออกในการไปรับจ้างที่อื่น และยังคงมีสิทธิ์ในการเป็นลูกจ้างของเหมืองดังกล่าวตามปกติ ไม่ถือว่าผิดระเบียบถ้าหยุดงานเกินกว่า 4 วันไม่ต้องถูกไล่ออก จนกว่าจะมีการนำเงินมาจ่ายให้กับลูกจ้าง โดยถ้ายังไม่ติดต่อและปล่อยลอยแพคนงานต่อไป เมื่อครบกำหนดถึงวันที่ 8 ก.ย.55 สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะนำตัวแทนผู้ใช้แรงงานเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของกิจการต่อไป
      
นางวันดา พิมเสน อายุ 56 ปี คนงานคัดเลือกแร่ในเหมือง กล่าวว่า หลังจากไม่ได้เงิน ทำให้ครอบครัวไม่มีเงินไปส่งดอกธนาคารและปัญหาอื่นๆก็ตามมาอีกมาก
      
นายจิ่น ยะจ่อ อายุ 45 ปี พนักงานขับรถบรรทุกในเหมือง กล่าวว่า ทำงานในเหมืองแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2548 ปัจจุบันได้ค่าแรงวันละ 267 บาท ขณะนี้ไม่ได้เงินค่าจ้างมานาน ผู้บริหารคนก่อนคือนายสมชาย ยอดธง ไม่เคยมีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินค่าแรง ทำให้ชาวบ้านทำงานกันตลอดมา แต่ 2 ปีที่ผ่านมานายเทพศิริ กิจบำรุง ได้เข้ามาทำหน้าที่แทน ปัญหาการบริหารงานก็เกิดขึ้น ที่ผ่านมามีการสั่งซื้อน้ำมันมาใช้ในเหมืองครั้งละ 10,000 ลิตร แต่ปัจจุบันมีน้ำมันใช้บ้างไม่มีบ้าง นอกจากนั้นที่เคยให้ค่าแรงล่วงเวลา หรือ โอที แต่ปัจจุบันไม่มีโอที ซึ่งคนงานพอจะประเมินได้ว่าสถานะทางการเงินของบริษัทน่าจะมีปัญหา
      
นายณรงค์ฤทธิ์ วะชุม ผู้แทนนายจ้างที่อยู่ในเหมือง กล่าวว่า เหมืองแห่งนี้ทำมานาน ผลิตแร่วูลแฟลมเป็นหลัก และยังมีแร่อื่นๆบ้าง แร่วูลแฟลมที่เหมืองนี้เป็นแร่ที่นำไปทำชิ้นส่วนของหัวกระสุน และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งในประเทศไทยมีแหล่งเดียวคือที่นี่ กิจการที่ทำมาไม่เคยมีปัญหา มีคนงานอยู่ทั้งหมด 160 คน หลายคนมีรายได้สูงถึงคนละ 15,000 บาท บางราย 7-8,000 บาท ปัญหาที่เกิดนั้นในส่วนที่บริหารอยู่ในโรงงานไม่ทราบข้อเท็จจริง แต่พอเข้าใจว่าผู้บริหารมีการเดินทางไปลงทุนในต่างประเทศ ทำให้เงินหมุนไม่ทันจนเกิดปัญหา ขณะนี้ยังไม่สามารถติดต่อกับผู้รับผิดชอบโดยตรงได้
      
นายจรินทร์ เดชธิดา ผู้จัดการฝ่ายบุคคลเหมืองแห่งนี้ กล่าวว่า ตนเองอยู่ในสถานะเดียวกับลูกจ้างคือ ไม่ได้เงินเดือนเหมือนกัน และก็ไม่สามารถติดต่อกับเจ้าของโดยตรงได้ ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลก็จริงอยู่
      
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ใช้แรงงานยังคงต้องการทำงานในเหมืองต่อไป แต่ถ้าเหมืองไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ ควรนำข้อมูลให้กับพนักงานได้รับทราบ เพื่อจะได้หาทางหาที่ทำงานใหม่ โดยในวันที่ 8 ก.ย. 55 ถ้านายจ้างยังไม่มาจ่ายค่าแรงที่ค้างอยู่ 2 เดือนและกำลังเข้าสู่เดือนที่ 3 รุ่งขึ้น (9 ก.ย.55)จะเดินทางไปที่ สภ.ลอง จ.แพร่ เพื่อแจ้งความดำเนินคดีต่อเข้าของกิจการทันที

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 5-9-2555)

บอร์ดค่าจ้างกลางยัน 1 ม.ค.56 ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทใน 70 จังหวัด

5 ก.ย. 55 - นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมค่าจ้างกลางมีมติเห็นชอบตามมติเดิมเมื่อวันที่ 17 ต.ค.54 ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ในพื้นที่ 70 จังหวัดทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ม.ค.56 และให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่วันละ 300 บาท เป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ปี 57-58

สาเหตุที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางยืนยันตามมติเดิมหลังได้ติดตามสถานการณ์ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และแรงงาน นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.55 ที่ได้มีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใน 7 จังหวัดเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.5 หรือมีอัตราค่าจ้างวันละ 300 บาท ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และภูเก็ต แล้วไม่ส่งผลกระทบใดๆ สำหรับอัตราการว่างงานในรอบ 6 เดือนของปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 0.8 เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 0.1 และการเลิกจ้างที่เกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างมีเพียง 2 แห่ง รวมลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 144 คน

ปลัดกระทรวงแรงงาน คาดว่า จะเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้

(อินโฟร์เควสท์, 5-9-2555)

อุดมศึกษาเตะฝุ่นเพิ่ม 8.33%

สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยรายงานสถานการณ์และการเตือนภัยด้านแรงงานประจำไตรมาส 2 ว่า อัตราการว่างงานในไตรมาสนี้อยู่ที่ 0.92% หรือ 3.6 แสนคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก ซึ่งมีอัตราการว่างงานที่ 0.66% หรือ 2.6 แสนคน โดยระดับอุดมศึกษามีการว่างงานสูงสุดในสัดส่วน 42.2% ของผู้ว่างงานทั้งหมด หรือเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้วถึง 8.33%

ขณะที่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมีสัดส่วนว่างงานรองลงมา 23.38% มัธยมศึกษาตอนปลาย 13.68% ประถมศึกษา 13.44% ต่ำกว่าประถมศึกษา 6.26% ไม่มีการศึกษา ไม่ทราบ และอื่นๆ รวมกัน 1.04% โดยในกลุ่มการศึกษาระดับต่ำกว่าประถมลงไป มีอัตราการว่างงานลดลงจากไตรมาสก่อน 0.86%

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จบการศึกษาระดับ ปวช. ปวส. และอนุปริญญา ยังเป็นกลุ่มที่มีโอกาสได้งานทำที่ตรงกับการศึกษา|มากที่สุด เนื่องจากมีจำนวนผู้สมัครงานน้อยกว่าตำแหน่งงานว่าง แบ่งเป็น 1.ระดับ ปวช. มีอัตราการสมัครงานต่อตำแหน่งงานว่าง 52.47% อัตราการบรรจุงานต่อ|ผู้สมัครงานอยู่ที่ 89.39%

2.ระดับ ปวส. มีอัตราการสมัครงานต่อตำแหน่งงานว่าง 75.98% อัตราการบรรจุงานต่อผู้สมัครงานอยู่ที่ 93.21% และ 3.ระดับอนุปริญญา มีอัตราการสมัครงานต่อตำแหน่งงานว่าง 5.89% อัตราการบรรจุงานต่อผู้สมัคร 73.55% นอกจากนี้ อัตราการบรรจุงานต่อตำแหน่งงานว่างระดับ ปวช. ปวส. และอนุปริญญา ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ คือ 46.9% 70.82% และ 4.33% ตามลำดับ แสดงว่าคุณสมบัติของผู้สมัครงานยังไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานนัก

ขณะที่การมีงานทำ ผู้จบระดับอุดมศึกษามีผู้สมัครงานมากกว่าตำแหน่งงานว่างประมาณ 2-4 เท่าตัว แบ่งเป็นผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีอัตราการสมัครงานต่อตำแหน่งงานว่าง 207.35% สูงกว่าไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 197.78% และในส่วนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป มีอัตราการสมัครงานต่อตำแหน่งงานว่าง 229.58% ลดลงจากไตรมาสแรก ซึ่งอยู่ที่ 380.9% นายจ้างมีโอกาสเลือกมากขึ้น และกำลังแรงงานเหล่านี้ได้รับการบรรจุงานเพียง 36-81%

(โพสต์ทูเดย์, 5-9-2555)

อนุมัติปรับค่าครองชีพลูกจ้าง อปท.15,000 ขั้นต่ำ 300

น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติมีการปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการหรือพนักงาน ส่วนท้องถิ่นและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือบุคลากรภาครัฐ โดยให้ปรับเพิ่มเงินเดือนปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท และค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยให้กระทรวงมหาดไทยจัดสรรเงินจากงบกลาง 6,202 ล้านบาท มาอุดหนุน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2555

แหล่งเงินที่ อปท.จะนำมาจัดสรร ได้แก่ 1.เงินรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งนั้นๆ หากท้องถิ่นมีรายได้ไม่เพียงพอให้คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นพิจารณาทบทวนเกณฑ์จัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไป เพื่อนำเงินมาอุดหนุนการเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว

กรณี อปท.มีค่าใช้จ่ายเงินเดือนค่าจ้าง ประโยชน์ตอบแทนเกิน 40% ของงบรายจ่ายประจำปี ให้ทบทวนหลักเกณฑ์การจัดสรรภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์และค่าธรรมเนียมล้อ เลื่อนที่จัดสรรให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)100% โดยให้ลดสัดส่วนรายได้ที่จัดสรรในส่วน อบจ.ลง และนำไปจัดสรรให้ อบต. เทศบาล เพื่ออุดหนุนค่าครองชีพแทน

ส่วน อปท. ใดมีงบฯ ไม่พอจ่ายในกรณีรับโอน เลื่อนระดับ เลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานส่วนท้องถิ่น การเบิกเงินให้พนักงานส่วนท้องถิ่นตามสิทธิ ตลอดจนลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินอื่นตามกฎหมาย ให้ อปท.จ่ายขาดเงินสะสมได้

(RYT9.com, 5-9-2555)

ก.แรงงานโต้เอกชน ค่าแรง 300 บ.ไม่กระทบ SMEs

น.พ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางมีมติเห็นชอบตามมติเดิมเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 54 ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทในพื้นที่ 70 จังหวัดทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค. 56 และให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่วันละ 300 บาทเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ปี 57-58
      
ทั้งนี้ สาเหตุที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางยืนยันตามมติเดิมหลังได้ติดตามสถานการณ์ด้าน เศรษฐกิจ สังคม และแรงงาน นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 55 ที่ได้มีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใน 7 จังหวัดเพิ่มขึ้น 39.5% หรือมีอัตราค่าจ้างวันละ 300 บาท ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และภูเก็ต แล้วไม่ส่งผลกระทบใดๆ สำหรับอัตราการว่างงานในรอบ 6 เดือนของปีนี้อยู่ที่ 0.8% เพิ่มขึ้นจากเดิม 0.1% และการเลิกจ้างที่เกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างมีเพียง 2 แห่ง รวมลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 144 คน ปลัดกระทรวงแรงงานคาดว่าจะเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบเพื่อ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้
      
ด้านนายสมมาต ขุนเศรษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางนั้น ในส่วนของ ส.อ.ท.อยากวิงวอนขอให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางพิจารณาเลื่อนการปรับขึ้นค่า จ้างในปี 2556 ออกไปก่อน โดยอยากให้การปรับขึ้นค่าจ้างทยอยปรับในปี 2557-2559 แทน เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มีเวลาปรับตัวมากขึ้น
      
ขณะนี้เอสเอ็มอีใน 7 จังหวัดที่เพิ่งปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 39.5% ค่าจ้างเพิ่มเป็น 300 บาทต่อวันเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และภูเก็ต ได้รับความเดือดร้อนอยู่แล้ว และการปรับค่าจ้างยังทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการ ที่ราคาสินค้าต่างๆ ปรับเพิ่มสูงขึ้น จนกลายเป็นปัญหาที่รัฐบาลยังแก้ไม่ตกจนถึงขณะนี้ หากต้องปรับขึ้นค่าแรงในส่วนจังหวัดที่เหลืออีกย่อมจะทำให้เอสเอ็มอีเดือด ร้อนมากยิ่งขึ้น และทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นไปด้วยความยากลำบากนายสมมาตกล่าว
      
ด้าน ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงการสำรวจ สถานภาพธุรกิจไทยในปัจจุบันพบว่า หลังจากปรับขึ้นค่าแรงผู้ประกอบการ 47.2% ปรับตัวโดยการเพิ่มราคาสินค้า 34.2% ลดสวัสดิการ 32.1% ลดจำนวนแรงงาน 8.5% ใช้เครื่องจักร และ 7.6% จ้างแรงงานต่างด้าว ขณะเดียวกัน การเยียวยาจากภาครัฐ ผู้ประกอบการ 94.5% ยังไม่ได้รับ มีเพียง 5.5% ที่ได้รับการเยียวยา ส่วนมาตรการปรับลดภาษีนิติบุคคล ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 6-9-2555)

เร่งล่า 3 นายหน้าเถื่อนแก๊งหลอกลวงแรงงานไปอังกฤษ

นายอิทธิ คงวีระวัฒน์ จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ รวบรวมหมายจับของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ เร่งออกติดตามจับกุมตัวนายสมบุญ ดวงเกตุ อายุ 48 ปี , นางบุญ ดวงเกตุ อายุ 42 ภรรยา และ น.ส.วรสา สอนวงศ์ อายุ 27 ปี 3 ผู้ต้องหาที่กำลังหลบหนีหมายจับในข้อหา ร่วมกันหลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัด หางานกลาง โดยพฤติการณ์ของกลุ่มบุคคลดังกล่าว จะทำตัวเป็นสาย หรือนายหน้าเถื่อน เข้าไปใช้กลอุบายหลอกลวงแรงงานที่ว่างงานตามหมู่บ้าน ในเขตพื้นที่อำเภอลำปลายมาศ

โดยอ้างว่าจะสามารถจัดส่งไปทำงานเป็นผู้ช่วยกุ๊กที่ประเทศอังกฤษได้ พร้อมหลอกล่อว่าจะได้รับเงินค่าตอบแทนในอัตราที่สูงเพื่อเป็นการจูงใจ ทำให้แรงงานหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อถูกหลอกจำนวน 3 ราย สูญเงินไปรวมทั้งสิ้น 220,000 บาท แต่กลับไม่ได้ไปทำงานจริงตามที่กล่าวอ้าง แรงงานผู้เสียหายจึงได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ลำปลายมาศ ก่อนจะขออำนาจศาลออกหมายจับแก๊งดังกล่าวซึ่งร่วมกันทั้งหมด 4 คน แต่ก่อนหน้านี้นางองค์เยา สอนวงศ์ อายุ 50 ปี ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายศาลเข้าจับกุมตัวแล้ว และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินคดี

นายอิทธิ คงวีระวัฒน์ จัดหางานจังหวัด ยังระบุด้วยว่า ส่วนกรณีการหลอกลวงแรงงานไปทำงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเขตพื้นที่อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ ที่มีผู้ตกเป็นเหยื่อถึง 13 ราย สูญเงินไปกว่า 450,000 บาทนั้น ล่าสุดเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ผู้ต้องหาทั้ง 3 คน ซึ่งประกอบไปด้วยอาจารย์ชื่อดังโรงเรียนแห่งหนึ่ง และสมาชิกสภา อบต. ที่ถูกออกหมายจับในข้อหาเดียวกัน ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่แล้ว และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินคดี พร้อมกันนี้ยังได้แจ้งเตือนแรงงานให้ระมัดระวังแก๊งมิจฉาชีพที่จะเข้าไปหลอก ลวงแรงงานตามหมู่บ้าน ตำบลต่างๆ ด้วย หากพบบุคคลต้องสงสัยก็ให้แจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบและจับกุมตัวทันที

(เนชั่นทันข่าว, 6-9-2555)

แฉคน จิราธิวัฒน์เชื่อแต่ฝรั่งไสหัวผู้บริหารหญิงไทยท้องแก่แล้ว 3 ราย

จากกรณีโรงแรมศาลาสมุย รีสอร์ท แอนด์ สปา ในเครือศาลากรุ๊ปของตระกูลจิราธิวัตฒน์ มีหนังสือลงนามโดย Mr.Dick Simarro ผู้จัดการทั่วไปในฐานะผู้รับมอบอำนาจนายจ้าง และมีนายธีรพงษ์ บ่อแก้ว ผู้จัดการแผนกทรัพยากรบุคคล ส่วนภูมิภาค ร่วมลงนามด้วยในฐานะพยาน และผู้ประสานงาน ลงวันที่ 22 ส.ค.2555 บอกเลิกจ้างนางเพชรฤดี เคนนาเมอร์ อดีตผู้จัดการแผนกสปาของโรงแรมที่ตั้งท้องได้ประมาณ 7 เดือน และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.2555 ที่ผ่านมา โดยตั้งข้อกล่าวหาร้ายแรง ขณะนางเพชรฤดีเห็นว่า เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จึงได้ลุกขึ้นต่อสู้ปกป้องเกียรติ และศักดิ์ศรีตนเอง และกลายเป็นข่าวครึกโครมตามที่ “ASTVผู้จัดการภาคใต้ได้รายงานมาต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า ภายหลังโรงแรมศาลาสมุย รีสอร์ท แอนด์ สปา บอกเลิกจากนางเพชรฤดีอย่างไม่เป็นธรรม ปรากฏว่า ได้มีพนักงานของโรงแรมทยอยลาออกตามไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะพนักงานในแผนกสปาที่เคยร่วมงานกับนางเพชรฤดี ขณะเดียวกัน ทางโรงแรมก็ได้เปิดรับสมัครพนักงานใหม่เพื่อทดแทน ซึ่งก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างสนุกปากของคนบนเกาะสมุย และในแวดวงธุรกิจการท่องเที่ยว
       
อีกทั้งมีข้อมูลระบุด้วยว่า นางเพชรฤดีไม่ใช่พนักงานตั้งท้องแก่คนแรกที่ถูกบีบให้ออกจากงาน ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีพนักงานตั้งครรภ์ถูกเลิกจ้างแล้วหลายราย โดยในส่วนของผู้บริหารระดับกลางขึ้นไป มีการยืนยันว่า มีอย่างน้อย 3 ราย กล่าวคือ เคยบอกเลิกจ้างระดับผู้บริหารแบบไม่ให้รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อนคนแรกมีตำแหน่ง เป็นถึงโฮเทลเมเนเจอร์ หรือระดับเบอร์ 2 ของโรงแรม หลังจากที่ลาคลอดไปแล้วก็มีหนังสือเลิกจ้างส่งตามไปถึงบ้าน ทั้งที่ถือเป็นคนเก่าคนแก่ที่ร่วมงานกันมาตั้งแต่ยุคบุกเบิก และผู้บริหารคนที่สองก็มีตำแหน่งเป็นถึงระดับผู้จัดการแผนกห้องอาหาร ส่วนผู้จัดการแผนกสปาในครั้งนี้ ถือเป็นคนที่ 3

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าสนุกปากในหมู่คนวงใน และใกล้ชิดด้วยว่า ต้นตอของปัญหาการเลิกจ้างพนักงานที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นผลจากเจ้าของ และผู้บริหารระดับสูง โดยเฉพาะนางศุกตา-นายทศ จิราธิวัฒน์ สองสามีภรรยาที่รับหน้าที่กำกับดูแลโดยตรง ให้ความเชื่อมั่นชาวต่างชาติที่จ้างมานั่งบริหารมากกว่าคนไทย แม้ฝรั่งบางคนจะนิยมเผด็จอำนาจ แต่ขอให้ทำตามนโยบาย และสร้างกำไรให้ได้เท่านั้น จึงมีระดับผู้จัดการทั่วไป (GM) ที่มานั่งบริหารในยุคหนึ่งเล่นพรรคเล่นพวก ทำให้เกิดการหมุนเวียนเปลี่ยนหน้าพนักงานจำนวนมาก โดยเฉพาะในแผนกอาหาร และเครื่องดื่มถึงขั้นบีบคนเก่าออก เพื่อเอากิ๊กหนุ่มของตัวเองมาแทน
       
สำหรับการลุกขึ้นต่อสู้ปกป้องเกียรติ และศักดิ์ศรีของนางเพชรฤดีนั้น หลังได้รับหนังสือเลิกจ้างก็ได้เดินทางไปร้องเรียนยังหน่วยงาน และองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต่างๆ เช่น สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี อ.เกาะสมุย สำงานงานอัยการจังหวัดเกาะสมุย และทำหนังสือร้องเรียนลงวันที่ 25 ส.ค.2555 ส่งถึงประธานสมาพันธ์สปาไทย, นายกสมาคมสปาสมุย, ประธานชมรมผู้บริหารงานบุคคลเกาะสมุย, นายกสมาคมท่องเที่ยวเกาะสมุย และนายกสมาคมโรงแรมไทย ซึ่งทุกหน่วยงานมีการเซ็นทราบไว้แล้วด้วย

 สำหรับเนื้อหาในหนังสือร้องเรียนมีใจความสำคัญระบุว่า ดิฉัน นางเพชรฤดี เคนนาเมอร์ ผู้จัดการสปาของศาลาสปา โรงแรมศาลาสมุย รีสอร์ท แอนด์ สปา ตั้งอยู่เลขที่ 10/9 หมู่ 5 ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 84320 มีความประสงค์ขอยื่นหนังสือฉบับนี้ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมในการเลิกจ้างดิฉันอย่างไม่เป็นธรรม จากหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ และผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมศาลาสมุย รีสอร์ท แอนด์ สปา ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัท ศาลาสมุย จำกัด โดยยัดเยียดข้อกล่าวหาด้วยความอคติ ซึ่งไม่เป็นความจริง และปราศจากการไต่สวนตามกระบวนการที่ถูกต้อง กล่าวเลิกจ้างดิฉันในขณะที่ดิฉันกำลังตั้งครรภ์ ซึ่งอายุครรภ์เข้าสู่สัปดาห์ที่ 26 (6 เดือนกว่า) และจะมีอายุการทำงานครบสามปีในอีก 90 วัน (3 เดือน)
       
การบอกกล่าวเลิกจ้างไม่เป็นธรรมในครั้งนี้ ทำให้ดิฉันมีความเสื่อมเสียในเรื่องชื่อเสียง ทำให้ประวัติการทำงานของดิฉันเสียหาย ซึ่งเป็นผลให้ดิฉันมีโอกาสน้อยลงในการหางานอื่นทำได้ เกิดภาวะกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจในการเลี้ยงดูบุตรที่จะคลอด ส่งผลให้จิตใจของดิฉันมีความตึงเครียด มีผลเสียต่อสุขภาพและชีวิตโดยรวมของดิฉัน และทารกในครรภ์ ดิฉันจึงของร้องเรียนให้สมาพันธ์สปาไทย และองค์กรอื่นที่กล่าวถึง

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 6-9-2555)

"แคลิฟอร์เนีย ว้าวฯ"เคลียร์ครูสอนฟิตเนส หลังค้างจ่ายเงินเดือน-ค่าคอมฯขีดเส้นตาย 30 ก.ย. ไม่ชัดเจนเลิกจ้างหรือไม่

เมื่อวันที่ 7 กันยายน  ที่กระทรวงแรงงาน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่กลุ่มครูสอนฟิตเนสของบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) เข้าร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงาน กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างตามกฎหมาย และให้พนักงานลาหยุดแบบไม่มีกำหนด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้วันนี้ (7 กันยายน)  กลุ่มครูสอนฟิตเนสบริษัทดังกล่าว จำนวน 27 ราย เดินทางมาเจรจาไกล่เกลี่ยกับตัวแทนนายจ้าง คือนายไซมอน ดักกลาส โฮวาร์ด และนายสุรศักดิ์ กองปัญญา กรรมการบริษัทแคลิฟอร์เนียฯ โดยฝ่ายลูกจ้างต้องการให้นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างและค่าคอมมิชชั่นที่นายจ้าง ค้างจ่ายพนักงาน และเรื่องความชัดเจนในการจ้างงานว่าบริษัทจะจ้างงานพนักงานต่อหรือไม่  โดยใช้เวลาในการเจรจานาน 2 ชั่วโมง

นายชยังกร ทับทิมทอง หนึ่งในครูสอนฟิตเนสบริษัทแคลิฟอร์เนียฯ  กล่าวหลังจากการเจรจาว่า ตัวแทนนายจ้างรับปากว่าจะให้เงินเดือนที่ค้างจ่ายและค่าคอมมิชชั่นแก่ พนักงานทุกคน รวมถึงคนที่เซ็นใบลาออกไปแล้วก่อนหน้านี้ด้วย โดยจะจ่ายเงินผ่านบัญชีธนาคาร ภายในวันที่ 30 กันยายนนี้  อย่างไรก็ตาม นายจ้างยังไม่ได้มีความชัดเจนว่าจะเลิกจ้างหรือไม่ แต่ตนอยากให้มีความชัดเจนในเรื่องนี้ เนื่องจากลูกจ้างแต่ละคนมีภาระเรื่องค่าครองชีพ ซึ่งหากบริษัทมีการให้ออกจากงาน ลูกจ้างก็จะได้ยื่นขอใช้สิทธิประกันการว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้
          
นายชยังกร กล่าวต่อว่า บริษัทแคลิฟอร์เนียฯมีสาขาตั้งอยู่ในประเทศจำนวน 10 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้แก่ พัทยา จ.ชลบุรี และจ.เชียงใหม่ โดยมีพนักงานจำนวนกว่า 1,000 คน  ซึ่งพนักงานบางส่วนได้ลาออกไปหลังจากบริษัทไม่ยอมจ่ายเงินค่าจ้าง
           
ขณะที่นายอุดมศิลป์  ลบล้ำเลิศ ผู้อำนวยการกลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 3 กรมสัวสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.)  กล่าวว่า  หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างและค่าคอมมิชชั่นที่ค้างจ่ายให้แก่พนักงานก่อนวัน ที่ 25 กันยายนนี้ ทางกระทรวงแรงงานจะออกหนังสือคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินตามที่ลูกจ้างร้อง เรียนโดยกำหนดระยะเวลาภายใน 30 วันหลังจากออกหนังสือคำสั่ง หากครบกำหนดแล้วนายจ้างไม่ยื่นขอเพิกถอนคำสั่งและไม่ปฏิบัติตามคำสั่ทง โดยไม่จ่ายเงินให้พนักงานอีก กระทรวงแรงงานจะให้พนักงานตรวจแรงงานไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนให้ดำเนิน คดีกับนายจ้างฐานไม่จ่ายค่าจ้าง ซึ่งจะมีความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา

"หลังจากวันที่ 25 กันยายนเป็นต้นไป หากลูกจ้างยังไม่ได้รับค่าจ้างและค่าคอมมิชชั่นจากนายจ้าง ให้ลูกจ้างที่ยังไม่ได้เขียนคำร้องมาเขียนคำร้องได้ที่กลุ่มงานสวัสดิการและ คุ้มครองแรงงานพื้นที่ 3 จากนั้นทางสำนักงานจะส่งเรื่องไปให้กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พื้นที่ 4 ซึ่งเป็นเขตพื้นที่เจ้าของเรื่องดำเนินการต่อ" นายอุดมศิลป์ กล่าว
               
ด้านน.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ใช้บริการฟิตเนสของบริษัทแคลิฟอร์เนียฯร้องเรียนมาที่มูลนิธิ เพื่อผู้บริโภคจำนวนกว่า 400 ราย โดยในวันพรุ่งนี้(8 ก.ย.)จะนัดหารือกับตัวแทนผู้ร้องเรียนบางส่วนเกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินการ กับบริษัทแคลิฟอร์เนียฯ และจะจัดเวทีสาธารณะเสวนาเรื่องฟิตเนสแคลิฟอร์เนียฯที่จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ในวันที่ 23 กันยายนนี้
(มติชน, 7-9-2555)

ไทยพาณิชย์มองขึ้นค่าจ้าง 300 ลดความตึงตัวตลาดแรงงาน

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) รายงานถึงผลกระทบการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ที่เหลืออีก 70 จังหวัด ในวันที่ 1 มกราคม 2556 ว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่จะทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจาก ปัจจุบัน โดยคาดว่าอัตราการว่างงานเฉลี่ยในปี 2556 จะอยู่ในระดับ 1.1-1.3% ซึ่งถือได้ว่ายังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เนื่องจากภาวะการขาดแคลนแรงงานในประเทศไทยจะยังคงมีอยู่ และผู้ประกอบการได้ทยอยปรับการผลิตบ้างแล้วภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่และ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบแรก

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตในอัตราที่สูงในรอบทศวรรษที่ผ่านมา แต่ผลิตภาพแรงงาน (Labour productivity) มีการเติบโตในอัตราเพียงครึ่งหนึ่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการปรับโครงสร้างการผลิตที่ไม่ทันท่วงที และไม่สมดุลกับระดับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ

อีกทั้งค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริง (Real minimum wage) แทบไม่มีการปรับขึ้นเลยในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลต่อการขาดแรงจูงใจในการเพิ่มทักษะแรงงาน รวมถึงการเลือกไม่เข้าสู่ตลาดแรงงานที่เป็นทางการของแรงงานไทย ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั้งในด้านทักษะและปริมาณ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวเพื่อชดเชยการขาด แคลนแรงงาน ซึ่งด้วยค่าจ้างที่อยู่ในระดับต่ำอาจประหยัดกว่าการเพิ่มผลิตภาพแรงงานด้วย การเพิ่มทักษะแรงงานหรือการลงทุนด้านเครื่องจักรและเทคโนโลยี

ในระยะยาวการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงมีผลต่อโครงสร้างต้นทุนซึ่งนำไป สู่การปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และช่วยผ่อนปรนความตึงตัวของตลาดแรงงาน ซึ่งนับวันจะมีเพิ่มมากขึ้นจากแนวโน้มการไหลกลับของแรงงานต่างด้าว และการลดลงของประชากรวัยทำงานจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing society) ของไทย

(กรุงเทพธุรกิจ, 7-9-2555)

กระทรวงแรงงานสั่งทูตเจรจาเพิ่มค่าจ้าง-สวัสดิการ

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) เปิดเผยว่า หลังการแก้ปัญหาระบบการจัดส่งแรงงานไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลให้มีความโปร่ง ใสและมีค่าใช้จ่ายถูกลงผ่านระบบรัฐต่อรัฐแล้ว จากนี้ไปกระทรวงแรงงานต้องทำงานเชิงรุก เร่งขยายตลาดแรงงานในอาชีพต่างๆที่คนไทยมีศักยภาพในต่างประเทศ โดยได้ให้นโยบายกับอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงานใน 13 ประเทศ เร่งเจรจาต่อรองเพิ่มค่าจ้าง และเพิ่มการดูแลคุ้มครองด้านสวัสดิการแก่แรงงานไทยในต่างประเทศ พร้อมทั้งเปิดตลาดแรงงานใหม่ในประเทศนั้นๆ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยให้บริการจัดหางานต่างประเทศไปแล้ว 106,705 คน ปี55โดยล่าสุดได้รับรายงานจากนายบัญญัติ ศิริปรีชา อัครราชทูตที่ปรึกษา(ฝ่ายแรงงาน) ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)ว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานอยู่ในยูเออี 10,094 คน และ ขณะนี้ยูเออีมีความต้องการแรงงานจำนวนมาก และถือเป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากในเดือนตุลาคมบริษัท ZUBLIN ของเยอรมันจะเริ่มโครงการขุดเจาะอุโมงค์ระยะทางกว่า 50 กิโลเมตร ในรัฐอาบูดาบี และยังหาคนงานไม่ได้ พร้อมแจ้งความต้องการแรงงานไทยกว่า 700 คน ไปทำงานช่างเชื่อม มีเงินเดือนสูงกว่า 50,000 บาท แต่ระยะนี้อากาศยังร้อนจัด บางบริษัทจึงยังไม่กล้านำเข้าแรงงานไทย เพราะคนงานจะปรับตัวยาก

รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า งานครัวไทยในยูเออีก็กำลังเป็นที่นิยม เพราะรายได้ดี แต่จำนวนที่ต้องการแต่ละร้านยังไม่มากนัก ซึ่งในอีกไม่กี่เดือนหน้านักธุรกิจออสเตรเลียมีโครงการเปิดร้านอาหารไทย 15 แห่งในยูเออีและจะทยอยเปิดในปีต่อๆไป โดยได้มีการเจรจานำนักศึกษาไทยไปฝึกงานแบบมีค่าจ้างและจะจ้างต่อหากสามารถทำ งานได้ โดยร้านแรกจะเปิดเดือนธันวาคมนี้

นายเผดิมชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับแรงงานไทยที่ไปสนใจไปทำงานในประเทศตะวันออกกลาง ต้องมีความอดทนสูง ตั้งใจสูง และมีวินัย ไม่ดื่มสุรา หรือเที่ยวเตร่ เพราะสังคมที่นั่นมีความเคร่งครัดทางศาสนาและประเพณี จะสร้างความทุกข์ใจให้กับคนที่ขาดความอดทน จึงอยากแนะนำให้คนหางานไทยสำรวจตัวเองว่ามีความพร้อมหรือไม่ ก่อนแจ้งความประสงเดินทางไปทำงาน ขณะเดียวกันอยากกำชับให้บริษัทหางาน ต้องมีส่วนร่วมในการดูแลคนงานที่จัดส่งไปไม่ใช่แค่จัดส่งแล้วหมดหน้าที่ รวมไปถึงการประทับรับรองเอกสารการจ้างงานต้องระมัดระวังให้มากและควรเสนอให้ เพิ่มค่าจ้าง โดยได้สั่งการให้สำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศ (สนร.) ออกพบปะนายจ้าง และกำชับให้ดูแลแรงงานไทยให้ดี การตามสัญญาจ้างงาน หากไม่ปฏิบัติตามให้ใช้วิธีคาดโทษว่าจะไม่อนุญาตให้นำเข้าแรงงานไทยอีก

(เนชั่นทันข่าว, 7-9-2555)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท