Skip to main content
sharethis

‘ชุมชนดอนฮังเกลือ’ ก้าวสู่รูปแบบการจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำ จัดตั้งโรงเรียนอนุบาลพันธุ์ปลา เพื่อการอนุรักษ์ และขยายพันธุ์ปลาไม่ให้สูญหาย หวังสร้างความมั่นคงทางอาหาร ต่อจากการเดินหน้าจัดทำโฉนดชุมชน

 
 
เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงอาหารของคนดอนฮังเกลือ ด้วยวิถีชีวิตชาวประมงจากการจับปลาในแหล่งน้ำ กระทั่งก้าวไปสู่การคิดค้นร่วมกันในการที่จะอนุรักษ์ฟื้นฟูชีวิตพันธุ์ปลา ไม่ให้สูญสลาย จึงได้เกิดรูปแบบจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลพันธุ์ปลา บนเนื้อที่กว่า 1 ไร่ ที่ชาวบ้านต่างมีมติร่วมกัน ‘ห้ามจับ’ รวมทั้งมีการกำหนดกติกาขึ้นมาร่วมกันถึงผู้ที่จับปลาในบริเวณนี้
 
ท่ามกลางปัญหา และความยากลำบากในการดำเนินชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ ต.บึงเกลือ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ในการต่อสู้ให้รัฐร่วมแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินซึ่งมีมาอย่างยาวนาน จนถึงการจัดทำโฉนดชุมชนเพื่อสิทธิในการทำอยู่ทำกิน
 
ปัจจุบัน ‘ชุมชนดอนฮังเกลือ’ ได้ก้าวสู่รูปแบบในการจัดการทรัพยากรอนุรักษ์แหล่งน้ำ ด้วยการจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลพันธุ์ปลาขึ้นมา เพื่อเป็นการอนุรักษ์ และขยายพันธุ์ปลาไม่ให้สูญหาย อีกทั้งทำให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืน และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้สังคม ให้มีการสืบทอดตลอดไปจนถึงลูกหลาน
 
 
นายมะลิวรรณ ธรรมโชติ รองประธานโฉนดชุมชนดอนฮังเกลือ เผยถึงการจัดสร้างโรงเรียนอนุบาลพันธุ์ปลา ว่า นอกจากการผลิตโดยการเพาะปลูกพืชผัก เช่น พริก ถั่วฝักยาว และการทำนาข้าว หมุนเวียนกันไปตลอดทั้งปีแล้ว ในชุมชนกว่า 19 ครอบครัว ได้มีความคิดร่วมกันที่จะรักษาพันธ์ปลาไม่ให้สูญพันธุ์ จึงมีการจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลพันธุ์ปลา จากการที่ชุมชนหลายครอบครัวยึดอาชีพการจับปลา จึงได้เกิดการที่จะร่วมกันรักษาพันธุ์ปลาไว้ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ ปลาได้มีการขยายพันธุ์สืบทอดต่อไป
 
นายมะลิวรรณ กล่าวด้วยว่า แหล่งพักอาศัยของปลานี้ ใช้เนื้อที่กลางน้ำบึงเกลือประมาณ 1  ไร่ เพื่อให้ปลาหลายชนิดได้เข้ามาอาศัย และเป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาต่อไป
 
“ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ดี ในการที่ชุมชนดอนฮังเกลือ มีรูปแบบการจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลพันธุ์ปลา ด้วยวัตถุประสงค์ในการพลิกฟื้น และร่วมกันอนุรักษ์ เป็นที่อยู่อาศัย ขยาย และเพื่อเป็นการเพาะพันธุ์ปลา ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง โดยประสงค์หลักเพื่อให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน” รองประธานโฉนดชุมชน กล่าว
 
นายมะลิวรรณ กล่าวด้วยว่า ชุมชนได้ตั้งกฎระเบียบตั้งร่วมกันไว้ โดยไม่ให้มีการจับปลาในบริเวณโรงเรียน ในทุกๆฤดูกาล หากมีการฝ่าฝืน จะมีการปรับเงินไม่เกิน 10,000 บาท โดยเงินค่าปรับ ทางกลุ่มจะนำมาบำรุงโรงเรียน หรือนำไปซื้อพันธุ์ปลา เพื่อนำมาขยายต่อไป
 
 
ด้านนายทองสา ไกรยนุช กรรมการโฉนดชุมชนดอนฮังเกลือ กล่าวว่า ชุมชนดอนฮังเกลือได้มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาอย่างเข้มแข็ง โดยมีการจดแจ้งการจัดตั้งเป็นนิติบุคคล ในนามกลุ่มเกษตรกรทำนาบึงเกลือ อีกทั้งยังมีการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ กองทุนสวัสดิการ รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนที่ดิน เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้กับสมาชิกใช้กู้ยืมในยามฉุกเฉิน หรือนำไปจัดซื้อปัจจัยการผลิตในพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้มีการรวมกลุ่มกันจับปลาบริเวณบึงเกลือ เพื่อนำไปขายแล้วนำเงินมาไว้เป็นกองทุนในการเคลื่อนไหว สำหรับการเรียกร้องความชอบธรรม ต่อการจัดการทรัพยากรของในชุมชนต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ
 
กรรมการโฉนดชุมชนดอนฮังเกลือ เล่าต่อไปว่า แม้การเรียกร้องสิทธิในที่ทำดินของชาวบ้าน จะมีตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ยันไปถึงระดับนโยบาย กระบวนการแก้ไขปัญหาก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ด้วยทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการโฉนดชุมชน เพราะต้องการนำพื้นที่พิพาทมาทำประโยชน์ในการสร้างสนามกีฬา และปัจจุบันมีโครงการที่จะนำพื้นนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทั้งมีแผนการที่จะอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ โดยไม่มีใส่ใจในการที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหา หรือคำนึงถึงเลยว่าเป็นที่ดินทำกินของชาวบ้านที่ได้อาศัยอยู่กินกันมาแต่ครั้นบรรพบุรุษ
 
“แม้การบริหารจัดการที่ทำกิน รวมทั้งการจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำโดยชุมชนมีส่วนร่วมนี้ จะประสบปัญหา ท่ามกลางอุปสรรค ทั้งในด้านกฎหมาย ที่หน่วยงานภาครัฐมักอาศัยกระบวนการยุติธรรม มาทำลายชาวบ้าน เพื่อที่จะให้ออกจากพื้นที่นั้น แต่ชุมชนที่นี่ ก็ยังยืนหยัดในการต่อสู้ เพื่อให้ผืนที่ทำกินมีความมั่นคง สืบต่อไปถึงลูกหลาน จนปัจจุบันได้มีการจัดตั้งโรงเรียนพันธุ์ปลาเป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อให้คนในชุมชน รวมทั้งชุมชนอื่นๆ ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน อย่างยั่นยืนต่อไป” นายทองสา กล่าว
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ชุมชนดอนฮังเกลือ ต.บึงเกลือ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ประกอบด้วยชาวบ้านหัวคูใต้ บ้านบ่อแก บ้านนาเลา และบ้านน้ำจั้น กว่า 31 ครอบครัวที่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่มาก่อนปี 2472 ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ต่อมาปี 2542 องค์การบริหารส่วนตำบลบึงเกลือ ได้นำแผ่นป้ายมาติดประกาศ ให้ผู้ที่ครอบครองทำประโยชน์ในบริเวณดอนฮังเกลือออกจากที่ดินทำกินทุกคน โดยหน่วยงานดังกล่าวจะนำพื้นที่มาก่อสร้างสนามกีฬา สถานที่ราชการ กระทั่งปัจจุบันมีโครงการจัดทำแหล่งท่องเที่ยว ด้วยว่าพื้นที่เป็นแหล่งน้ำบริเวณกว้าง
 
ช่วงปี 2542 – 2545 ชาวบ้านในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ได้เกิดการรวมกลุ่มกันขึ้นมายื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อร่วมกันติดตามแก้ไขปัญหากับรัฐบาล กระทั่งได้มีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีนายมนตรี บุพผาวัลย์ นายอำเภอเสลภูมิเป็นประธาน โดยคณะทำงานมีมติร่วมกันว่า การประกาศเขตที่สาธารณะประโยชน์ดอนฮังเกลือไม่ถูกต้อง สมควรเพิกถอน ยุติการดำเนินการ และเอกสารสิทธิ์ให้แก่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบต่อไป
 
 
ต่อมาปี 2552 ชาวบ้านดอนฮังเกลือ สมาชิกในเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ได้ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้ยื่นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน เพื่อขอจัดทำโฉนดชุมชนเนื้อที่ 31 ไร่ 2 งาน 73 ตารางวา ในจำนวนชาวบ้านที่เรียกร้องสิทธิในการครอบครองที่ดินจำนวน 31 ครอบครัว ต่อรัฐบาล กระทั่งคณะอนุกรรมการตรวจสอบพื้นที่มีการลงมาตรวจสอบพื้นที่ แล้วมีมติจากคณะกรรมการว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net