Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข้อสังเกตเบื้องต้น สำหรับการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมในระดับท้องถิ่น

ชื่อบทความเดิม: มรดกและความฝันแห่งอัมพวา-เยาวราช : ข้อสังเกตเบื้องต้น สำหรับการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมในระดับท้องถิ่น

 

ในระยะหลังการตื่นตัวด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเมืองเก่า (มรดกทางวัฒนธรรมเมืองและชุมชน) เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง องค์กรส่วนท้องถิ่นเริ่มเข้ามามีบทบาทในความพยายามจะจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมของตนเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาจารย์-นักวิชาการ นักอนุรักษ์ นักรณรงค์ พ่อค้า นักลงทุน นักการเมือง ชาวบ้านร้านตลาด รวมทั้งรัฐบาลท้องถิ่นเองก็ดี ทั้งหมดนั้นล้วนมีกระบวนทัศน์และมุมมองต่อสภาพปัญหาและศักยภาพในพื้นที่ที่ต่างกัน แต่ทุกคนล้วนแล้วแต่มีความต้องการใช้ทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีอยู่อย่างจำกัดและไม่อาจทดแทนได้ด้วยกันทั้งนั้น

ในวันที่เมืองเก่ามีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เนื้อของเมืองและอาคารที่เกิดขึ้นมาใหม่โตอย่างไร้ทิศทาง รวมทั้งการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพเพื่อรองรับการท่องเที่ยว โดยเป็นการเพิ่มประโยชน์ใช้สอยอาคาร (Adaptive reuse) เพื่อให้ตอบสนองสภาพทางเศรษฐกิจและวิถีชิวิตของสังคมร่วมสมัยมากขึ้น ในบางกรณีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่มากเกินพอดี รวมทั้งที่อาจจะไม่เหมาะสมกับสภาพบริบทของพื้นที่ยังเป็นการลดทอนและทำลายคุณค่าของทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ และอย่างที่เลวร้ายที่สุดคือ มันจะไปเปลี่ยนแปลงวิถีชิวิตของผู้คน ซ้ำยังเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว รวมทั้งยังอาจจะขยายวงกว้างไปสู่ผู้คนในชุมชนด้วย คนหนุ่มสาวแทนที่จะเป็นผู้ประกอบการที่คอยเก็บเกี่ยวทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้-มาขาย กลับต้องไปเป็นลูกจ้างหางานดีๆทำในเมืองเหลือทิ้งไว้แต่คนแก่กับเด็กน้อยคอยดูแลบ้านเก่าๆที่ไม่มีปัญญาซ่อมแซม ทำให้การใช้ชิวิตอยู่กับเมืองเก่าและสิงแวดล้อมสรรค์สร้างที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมไม่ง่ายอีกต่อไป

การอนุรักษ์เมืองเก่านั้นไม่ใช่การเก็บรักษาอาคารเก่าๆ ที่มีความงามทางประวัติศาสตร์หรือการรักษาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไว้ แต่เป็นกระบวนการบริหารจัดการและจัดสรรทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีอยู่เอาไว้ให้คนในพื้นที่-ในชุมชนได้กินได้ใช้ต่อไปไม่มีวันหมด มีสุขภาวะที่ดี มีเมืองที่น่าอยู่ แน่นอนที่สุดว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราไม่สามารถปฏิเศษความต้องการปัจจัยทางด้านเศรฐกิจในสังคมร่วมสมัยได้ แต่การที่จะรักษาความสมดุลขององค์ประกอบดังกล่าวก็ยังเป็นหัวใจสำคัญในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมอีกด้วย

มีการพูดถึงระบบกฎหมายที่เข้ามาช่วยในการจัดสรรทรัพยากรทางวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นกฎหมายผังเมืองที่มีการระบุและความคุมภาพรวมของเมืองอย่างกว้างๆ หรือแม้กระทั่งกฎหมายที่เป็นการควบคุมเพิ่มเติม (overlay control)ระดับรายละเอียดทางกายภาพขอเมืองไม่ว่าจะเป็นเทศบัญญัติหรือประกาศเขตพื้นที่ควบคุมสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมที่สามารถออกได้โดยท้องถิ่นเองก็ตาม แต่ในหลายๆพื้นที่มีปัญหาในการจัดการโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านกายภาพและภูมิทัศน์ของเมืองแม้ว่าจะมีการออกกฎหมายดังกล่าวไว้ด้วย เช่น การก่อสร้างอาคารใหม่ที่ไม่สอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรม องค์ประกอบที่มีคุณค่าไม่ได้รับความสำคัญจนถูกรื้อถอนทำลายรวมไปถึงความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยของป้ายสายไฟ สตรีทเฟอร์นิเจอร์ และการตกแต่งอาคาร สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการทำลายคุณค่าของเมืองเก่าแทบทั้งสิ้นและที่สำคัญที่สุดคือกฎหมายต่างๆเหล่านั้นไม่สามารถรักษาวิถีชิวิตของผู้คนเอาไว้ได้เลย ซึ่งจะเห็นได้ว่าเพียงแค่เครื่องมือทางกฎหมายนั้นยังไม่เพียงพอและบางทีอาจจะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดในเวลานี้ก็เป็นได้

กรณีตลาดน้ำอัมพวา

การขาดการบริหารจัดการกับปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้น กรณีตัวอย่างการพัฒนาที่ไม่เหมาะสมที่ตลาดน้ำอัมพวาซึ่งเป็นตัวอย่างของการตั้งถิ่นฐานริมน้ำที่มีการอยู่อาศัยที่เกื้อกูลกันระหว่างวิถีชิวิตการค้าขายริมน้ำและขนัดสวนที่อยู่ด้านหลังอาคารบ้านเรือนริมน้ำรวมทั้งสภาพทางกายภาพเกี่ยวเนื่องอื่นๆ จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้รองรับประโยชน์ดังกล่าว แม้ว่าในยุคที่ตลาดน้ำซบเซาลง ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของการคมนาคมขนส่ง ผู้คนอาศัยการสัญจรทางบกเสียเป็นส่วนใหญ่ อาคารเรือนแถวริมน้ำดังกล่าวถูกเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยไปเป็นที่พักอาศัยแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้ทำการค้าขายเป็นอันมาก สภาพเรือนแถวริมน้ำก็กลายเป็นห้องเช่าราคาถูกแต่ก็ยังพอรองรับความเป็นอยู่ของผู้คนได้ในระดับหนึ่ง จนกระทั่งวันหนึ่งอัมพวากลับมาเป็นตลาดน้ำที่มีชื่อเสียงอีกครั้ง แต่เรือนแถวริมน้ำดังกล่าวกลับกลายเป็นแค่ฉากในการท่องเที่ยว คุณค่าและความสำคัญไม่ได้ถูกขับเน้นออกมาให้สมกับศักยภาพที่มีอยู่ เนื้อหาสาระของการมีอยู่ของมันถูกรื้อถอดออกมา เหลือไว้แต่เพียงหน้ากากของอาคารที่ถูกแต่งแต้มกันตามสะดวก รวมทั้งประโยชน์ใช้สอยของอาคารก็ยังถูกแทนที่เข้าไปด้วยการใช้งานใหม่ๆ ที่ไม่ได้สะท้อนหรือเกื้อกูลกับทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่เลยแม้แต่น้อย

แม้ว่ากระแสการอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนได้ถูกปลุกขึ้นมาในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 10 ปี จากหลากหลายหน่วยงาน หนึ่งในนั้นคือการจัดทำแผนที่มรดกทางวัฒนธรรม ที่มีการระบุอาคารที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมที่เป็นตัวแทนของสิ่งแวดล้อมทางศิลปกรรมในพื้นที่ กลุ่มของอาคารเรือนแถวริมน้ำเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่มีคุณค่ามากพอที่จะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตสำหรับผู้คนในพื้นที่ รวมทั้งยังเป็นแหล่งทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่ชาวบ้านชาวชุมชนจะสามารถเก็บเกี่ยวไว้ใช้ในอนาคตต่อไป แต่ก็ยังมีประเด็นการไล่รื้อ รวมทั้งดัดแปลงอาคารบ้านเรือนริมน้ำแบบดั้งเดิมที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์-อัตลักษณ์ของพื้นที่ รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมทางน้ำให้มารองรับกับการคมนาคมทางบก

ไม่ใช่แค่อาคารขนาดใหญ่มหึมาหน้าตาไม่คุ้นที่ปรากฎแก่สายตาผู้คนที่มาเยือนอาคารขนาดเล็กหรือขนาดกลางที่สร้างขึ้นมาใหม่ ล้วนแล้วแต่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวิถีชิวิตของคนในชุมชนแห่งนี้ เส้นขอบฟ้าที่เคยประกอบด้วยสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอันสมบูรณ์อย่างยอดมะพร้าว ยอดส้มโอ ถูกแทนที่ด้วยอาคารคอนกรีตสูงข่มคุณค่าและความน่ารื่นรมณ์ของสภาพภูมิทัศน์ จนแทบจะไม่เหลือภาพเมืองน่าอยู่เหมือนแต่ก่อนแทนที่ชาวบ้านร้านตลาดจะได้ร่วมไม้ร่วมมือกันบริหารจัดการกับภัยที่กำลังจะคุกคามวิถีชิวิตที่เป็นอยู่ กลับมีผลประโยชน์ทับซ้อน จนเกิดอาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ทำให้ประเด็นที่จะรักษาคุณค่าของทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่นี่มีความหมากหลายและซับซ้อนมากขึ้นอย่างน้อยที่สุดในการจัดการพื้นที่ก็น่าจะประกอบด้วยความเป็นมาตรฐานและการจัดสรรผลประโยชน์ของชุมชนเป็นหลัก

สภาพกายภาพของภูมิทัศน์เมืองอัมพวาที่เปลี่ยนไป อาคารน้อยใหญ่หน้าตาประหลาด รวมทั้งการเลือกใช้สีสันและวัสดุอาคารที่ไม่ช่วยส่งเสริมภูมิทัศน์ที่มีคุณค่าของเมืองโดยรวม เส้นขอบฟ้าที่เคยเต็มไปด้วยทิวไม้ในอดีตแทบจะไม่เหลือให้เห็น

 

 

กรณีเยาวราช

แม้แต่ใจกลางกรุงเทพมหานครเองอย่างย่านเยาวราช ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกทั้งยังเป็นตัวอย่างของการอยู่อาศัยและเป็นตัวแทนของการใช้ชีวิตของหลากหลายวัฒนธรรม พื้นที่แห่งนี้ก็กำลังเผชิญหน้ากับการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว หลายๆหย่อมย่านย่อยๆของเยาวราชที่มีความสำคัญในแง่ของการเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์กำลังมีประเด็นไล่รื้อเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับการเข้ามาของการคมนาคมขนส่งในรูปแบบใหม่รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินที่กำลังจะพลิกโฉมทั้งเยาวราชและเจริญกรุงให้สภาพเศรษฐกิจของย่านกลับเติบโตอย่างก้าวกระโดดอีกครั้งโดยมีสถานีวัดมังกรซึ่งอยู่แทบจะกึ่งกลางของพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นจุดกระจายและขนถ่ายผู้คนจากหลายๆพื้นที่ที่ต่อไปจะต้องเชื่อมต่อกับโครงข่ายการคมนาคมขนส่งระดับชาติอย่างรถไปความเร็วสูงในอนาคต ความท้าทายใหม่ๆเหล่านี้นำพาโอกาสอันดีมาให้ผู้คนที่มีส่วนได้เสียในพื้นที่ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการนำพาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสมัยใหม่เข้าไปปะทะกับเศรษฐกิจชุมชนร่วมสมัยที่อาศัยความเป็นหย่อมย่านในการค้าโดยตรง

เยาวราชในวันนี้กำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยมีความเป็นอยู่ของหย่อมย่านเป็นเดิมพัน

 

แม้ว่าสภาพทางกายภาพในพื้นที่เองแล้วไม่ได้มีศักยภาพมากพอในการที่จะถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานก็ตาม แต่ใน

แง่ของการอยู่อาศัยรวมทั้งวิถีชีวิตรุ่นต่อรุ่นที่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงและสร้างสรรค์ทรัพยากรทางวัฒนธรรมทำให้เกิดเป็นหย่อมย่านที่มีความมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว (Sense of Place)ซึ่งเป็นตัวแทนของสภาพเศรษฐกิจร่วมสมัย สิ่งต่างๆเหล่านี้เองที่ทำให้เยาวราชเป็นเยาวราช การเจรจาต่อรองถูกเริ่มต้นและจบลงไม่รู้กี่ครั้ง คุณค่าและเนื้อหาเมืองกลับกลายเป็นว่าต้องตั้งอยู่บนฐานของความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว แล้วประเด็นเรื่องการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม วิถีชิวิต ผู้คน และความเป็นหย่อมย่านเป็นชุมชน ใครเล่าเขาจะดูแล

ก้าวต่อไปของการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมในระดับท้องถิ่น

ในบางพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของทรัพยากรทางวัฒนธรรมสูงแต่ก็ยังสามารถบริหารจัดการสภาพทางกายภาพ วิถีชีวิตและเศรษฐกิจชุมชนได้อยู่ไม่ว่าจะเป็นในกรณีของจังหวัดลำปางหรือที่อำเภอเชียงคานเอง ซึ่งจะมีองค์กรหรือกลุ่มบุคคลที่เข้ามาประสานประโยชน์ระหว่างกลุ่มต่างๆ เพื่อการบริหารจัดการและจัดสรรทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ แต่นั่นก็เป็นการเกิดขึ้นโดยความพยายามของปัจเจกบุคคลไม่ได้เกิดขึ้นมาจากระบบของการบริหารจัดการแต่ประการใด

ในความเป็นจริงจะพบว่าไม่ง่ายเลยสำหรับการที่จะอธิบายถึงกระบวนทัศน์หลายเรื่องหลากแง่มุมที่ต้องให้คิดคำนึงถึงพร้อมๆกัน ไม่ใช่เพียงแค่เอาประเด็นที่สะเทือนอารมณ์หรือความโรแมนติกนำข้อเท็จจริงที่ต้องเผชิญการทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรพวกนี้ต้องมีมาตรฐานของการจัดการที่อ้างอิงได้ซึ่งเป็นงานที่เน้นกระบวนการมากกว่าผลผลิตต้องถกเถียงบนหลักวิชาการ ความถูกต้อง และความชอบธรรมบนสิทธิ์ที่พึงมีพึงได้ ไม่ใช่การต่อต้านการเปลี่ยนแปลงแต่ต้องตั้งคำถามถึงว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ไม่อย่างนั้นแล้วสุดท้ายก็เข้าอีหรอบ คราวนี้กูแพ้มึงชนะอะไรอย่างนั้นสุดท้ายชาวบ้านร้านตลาดก็ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องพูดถึงเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรประเภทนี้อย่างเต็มรูปแบบเสียที การจัดการทรัพยากรที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าสามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและรักษาสิทธิ์ของทั้งผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด มีข้อสังเกตประการหนึ่งในอุปสรรคและปัญหาในการจัดการทรัพยากรดังกล่าวในบ้านเราคือ มีองค์ประกอบบางประการในการบริหารจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่ขาดหายไปไม่เหมือนอย่างในหลายๆแหล่งที่มีคุณค่าในระดับสากลนั่นคือการมีอยู่ของผู้จัดการทางวัฒนธรรม(Heritage Manager) ซึ่งเป็นคือผู้ที่คอยประสานประโยชน์ระหว่างกลุ่มต่างๆที่ต้องการใช้ทรัพยากรไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม รวมทั้งจัดสมดุลระหว่างการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจกับทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่ยังมีอยู่ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของชาวบ้านร้านตลาดบนรากฐานของทรัพยากรดังกล่าว

กรณีตัวอย่างในต่างประเทศเมืองมรดกโลกภัคตรปูรณ์ ประเทศเนปาลซึ่งเป็นเมืองเล็กๆในประเทศกำลังพัฒนาภาพของเมืองเก่าจากคริสตศตวรรษที่ 15 ถูกฉายซ้ำในปัจจุบัน สภาพทางกายภาพของอาคารและองค์ประกอบต่างๆของเมืองถูกประกอบขึ้นมาด้วยอิฐดินเผาสีแดงที่เป็นวัสดุที่สามารถหาได้ในท้องที่ ตรอกเล็กซอกน้อยตามมุมต่างๆของเมืองถูกรักษาสภาพและสามารถสะท้อนถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ผ่านกายภาพที่หลงเหลืออยู่ได้เป็นอย่างดี เมืองเก่าแห่งนี้ถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกในฐานะของการเป็นตัวแทนของหลักฐานที่ยังหลงเหลืออยู่ของซากอารยธรรมในอดีต เป็นแหล่งรวบรวมอาคารและงานสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในยุคสมัยหนึ่ง รวมทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของความหลากหลายทางศาสนาทั้งของชาวพุทธและชาวฮินดู เหล่านี้เองทำให้เมืองเก่าแห่งนี้มีสภาพไม่ต่างกับการเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ยังมีชิวิตเป็นเมืองที่มีชีวิต


สภาพผู้คนในเมืองมรดกโลกภัคตรปูรณ์ที่อยู่อาศัยร่วมกับทรัพยากรทางวัฒนธรรม โดยมีการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของเมือง โดยรายได้ดังกล่าวถูกนำไปใช้พัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คน

 

ในแง่ของการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม เมืองเก่าแห่งนี้มีตัวกลางที่ทำหน้าที่ประสานประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมคือ Heritage Section ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นกับรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งมีสิทธิ์อันชอบธรรมในการจัดการทรัพยากรของตนเองผ่านกระบวนการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญของเนปาล หน่วยงานนี้เองทำหน้าที่ในการบริหารและจัดการกับทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ให้สมดุลกับการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและวิถีชิวิตของเมืองอันเป็นผลมาจากการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของที่นี่ ดอกผลของการบริหารจัดการดังกล่าวได้ถูกทำให้กลายเป็นถนนหนทาง รวมทั้งพัฒนาระบบสาธรณูปโภค-สาธารณูปการให้ผู้คนในเมืองพอจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นบนพื้นฐานของทรัพยากรที่มีอยู่

สำหรับในเมืองไทยผู้จัดการทางวัฒนธรรมจะอยู่ตรงไหนของอำนาจเช่นผ่านการเมืองระดับชาติ-ท้องถิ่น, มาในนามองค์กรสาธารณะ, มาในนามของใครได้รับอำนาจอย่างชอบธรรมจากอะไรอยู่ยังไงกับกรมศิลปากร เรื่องนี้คงต้องคุยกันอีกยาว

 

อ้างอิง:

  1. อาจารย์ประจำ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net