เรื่องชวนขบคิดจากการประกวดนางงามวิทยาศาสตร์ในญี่ปุ่น

การประกวดนางงามวิทยาศาสตร์ในญี่ปุ่น และปรากฏการณ์เล็กๆ ในสื่อรายการวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ เจเรมี ซู จาก Livescience นำเสนอมุมมองเรื่องภาพเหมารวม และการนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ให้วงการวิทยาศาสตร์

เจเรมี ซู นักเขียนอาวุโส เว็บไซต์ Livescience กล่าวถึง ดร. เอริก้า เอบเบิ้ล แองเกิล ที่ปรากฏตัวในรายการของตัวเองคือ 'ดร.เอริก้า โชว์' พร้อมสวมมงกุฏมิสแมสซาชูเซตส์ ทำให้เด็กๆ ในรายการของเธอร้องอุทาน "โอ้!" ขึ้นมาพร้อมกัน เอริก้า เรียนจบปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาชีวเคมีจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) เป็นผู้ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไร Science from Scientists และเป็นพิธีกรรายการวิทยาศาสตร์ 10 นาที ที่เผยแพร่ในช่องเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น อีกทั้งกำลังวางแผนเป็นผู้ประกอบการจากความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพของเธอเองด้วย

"คุณค่าของความงามและสติปัญญาถูกเน้นย้ำน้อยมากในที่อื่นที่ไม่ใช่วงการบันเทิงฮอลลืวูด" เจเรมีกล่าวในรายงาน "แต่ผลสะท้อนล่าสุดจากรายการ 'ดร.เอริก้า โชว์' แสดงให้เห็นว่าวัยรุ่นผู้หญิงจำนวนมากกำลังตอบรับสิ่งที่แองเกิลพยายามสื่อ เมื่อเธอเลือกสวมมงกุฏนางงามพร้อมเสื้อโค้ทห้องแล็บออกรายการเธอเอง พวกเด็กผู้หญิงพากันบอกว่า พวกเธออยากจะเป็น 'เจ้าหญิงนักวิทยาศาสตร์' "

"วิทยาศาสตร์กลายเป็นภาพตีตราในสังคมว่า หากคุณเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้หญิง คุณก็ไม่มีความสนใจในเรื่องอื่น และคุณจะเป็นพวกสวมกางเกงขายาวที่ไม่สนใจเรื่องรูปร่างหน้าตาหรือเรื่องความสวยความงาม" เอบเบิ้ล แองเกิล กล่าว

ในญี่ปุ่นมีความพยายามฉีกภาพลักษณ์กี๊คๆ (Geeky*) ของนักวิทยาศาสตร์ด้วยการจัดประกวด 'Miss Rikei Contest' โดยกลุ่มองค์กรนักศึกษาของญี่ปุ่น โดยมีผู้ที่เข้ารอบสุดท้าย 6 คน คัดจากนักศึกษาและนักวิจัยชาวญี่ปุ่น ที่จะชิงชัยกันทางการลงคะแนนเสียงด้านความสวยงาม, สติปัญญา และการเป็นตัวแทนภาพลักษณ์ของวิทยาศาสตร์ (Rikei ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า 'วิทยาศาสตร์')

ขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์ทั้งสองเพศต่างก็มีรูปร่างหน้าตาแตกต่างหลากหลายเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ และนักวิจัยหลายคนที่ให้สัมภาษณ์กับ Livescience ก็บอกว่าเรื่องสไตล์ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีสาระพอจะนำมาหารือกันเรื่องงานของพวกเขาเลย

ซูกล่าวในรายงานว่า ความพยายามเสริมความงามแบบสตรีลงไปในตัวแทนภาพลักษณ์ของนักวิทยาศาสตร์ยังเป็นการแตะประเด็นที่อ่อนไหว เนื่องจากผู้หญิงในประวัติศาสตร์ต่อสู้มานานมากเพื่อให้ไปไกลกว่าภาพเหมารวมของผู้หญิงในสนามงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมที่มีชายเป็นใหญ่ ขณะที่รายการของ ดร.เอริก้า เน้นการช่วยนักเรียนในการหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์หรือโครงการทางวิทยาศาสตร์ของพวกเขา การประกวดความงามของ Miss Rikei ได้รับการตอบรับในหลายๆ แง่

ความสวยและความกี๊ค
มีความไม่พอใจเล็กน้อยในหมู่นักวิทยาศาสตร์ นักข่าว และนักการศึกษาของสหรัฐฯ ต่อกรณีของการประกวด Miss Rikei โจแอนน์ มานัสเตอร์ อาจารย์และนักพัฒนาหลักสูตรการสอนวิชาวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยอิลินอยส์ กล่าวในทวิตเตอร์ว่า เมื่อเธอเข้าไปดูในเว็บไซต์ที่แสดงความเห็นต่อการประกวดนี้ มันเต็มไปด้วยความเห็นจากผู้ชายที่มีปฏิกิริยาต่อผู้หญิงสวยๆ ซึ่งมานาสเตอร์บอกว่า "ฉันคิดว่าเรื่องนี้ทำให้คนที่อยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์เป็นกังวล โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยากให้คนมองพวกเธอจริงจังกว่านี้"

ทาง Livescience ได้ถามความเห็นจากนักวิทยาศาสตร์หญิงของญี่ปุ่น 3 คน ที่จบปริญญาตรีจากสาขาวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์

ผู้ใช้ชื่อ 'ยูคาริ' นักวิจัยด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยในนิวยอร์คซิตี้ ให้ความเห็นว่า การประกวด Miss Rikei เป็นแค่เรื่องผิวเผิน และไม่เห็นด้วยกับการพยายามทำให้วิทยาศาสตร์ดูมีความเป็นหญิงมากเกินไปในเชิงภาพเหมารวม

'ยูคาริ' บอกว่าเธอชอบมากกว่าที่จะปล่อยให้คนคิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นแหล่งอุดมสำหรับหมู่กี๊คที่ไม่ค่อยสนใจโลกภายนอก "มีอะไรบางอย่างในวิทยาศาสตร์สำหรับฉันที่สามารถมองข้ามภาพลักษณ์ของชายเป็นใหญ่หรือความเป็นกี๊คได้ ดังนั้นหากคุณสนุกหรือมองเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ มันก็ไม่เกี่ยวเลยว่ามันจะเป็นเรื่องกี๊คๆ เรื่องชายเป็นใหญ่ หรือได้เงินไม่มากเท่าคนทำการเงิน"

'ริน' นักวิจัยด้านประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยในนิวยอร์กซิตี้ คาดการณ์ว่าการประกวด Miss Rikei จะไม่ได้ผลในแง่การพยายามส่งเสริมให้ผู้หญิงญี่ปุ่นหันมาสนใจอาชีพวิทยาศาสตร์มากขึ้นได้

"นักวิทยาศาสตร์ผู้หญิงคนใดก็ตามที่ทำงานได้ดีในสายวิชาชีพของตนเอง ควรจะเป็นต้นแบบตัวอย่างสำหรับนักศึกษาใหม่" รินกล่าว "นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเหมือนซูเปอร์โมเดล หรือ นักแสดงหญิง"

คานาเอะ โคบายาชิ ผู้ที่ทำงานในบริษัทรักษาความปลอดภัยของญี่ปุ่นหลังจบจากสาขาวิศวกรรมอุตสาหกรรม บอกว่าการประกวดนางงามวิทยาศาสตร์ดูน่าสนุก และไม่เป็นพิษเป็นภัย แต่ก็คิดว่ามันไม่ได้ช่วยให้ผู้หญิงอยากทำอาชีพวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นมากนัก

เป็นคุณหรือเป็นโทษ
การที่ไม่ได้ช่วยอะไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ขณะเดียวกัน Livescience ก็ตั้งคำถามว่ามันอาจจะทำให้เกิดผลในทางข้าม คือทำให้ผู้หญิงที่เป็นเยาวชนไม่อยากเข้ามาเรียนวิทยาศาสตร์หรือไม่

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ตีพิมพ์ในวารสารเมื่อเดือน มี.ค. เปิดเผยว่า การใช้ผู้หญิงเป็นแบบอย่างทำให้เด็กผู้หญิงมีความสนใจและความสามารถด้านคณิตศาสตร์ลดลง และทำให้พวกเขาลดความคาดหวังความสำเร็จในระยะสั้น และการมีต้นแบบที่เน้นความสวยงามยังเป็นการลดแรงจูงใจของเด็กผู้หญิงที่ไม่ได้สนใจเรียนวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์มาก่อนด้วย

ไดอานา เบทซ์ และ เดนนิส เซกากัวเทวา นักจิตวิทยาผู้อยู่เบื้องหลังงานวิจัยของม.มิชิแกน เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ก็มีงานวิจัยของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ที่บอกว่าแบบอย่างที่ดูกี๊คๆ ทำให้ผู้หญิงสนใจสายวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์น้อยลงเช่นกัน

แล้วแบบอย่างผู้หญิงในสายงานนี้ควรเป็นเช่นไร?
เบทซ์ และเซกากัวเทวา กล่าวว่าแบบอย่างควรจะมาจากตัวอย่างกว้างๆ ของคนที่ประสบความสำเร็จในสายงานต่างๆ โดยไม่ต้องจำกัดเขาอยู่ในภาพเหมารวมอย่างใดอย่างหนึ่ง

นักวิจัยเสนอว่าเด็กผู้หญิงและเด็กสาวควรมองเห็นความหลากหลายในหมู่สตรีผู้เป็นแบบอย่าง พวกเขาไม่ควรมองว่าวิทยาศาสตร์ต้องโยงกับคนประเภทเดียวคือกี๊ค หรือ ผู้หญิงสาวสวย

"บางที วิธีการที่ดีที่สุดในการส่งเสริมให้ผู้หญิงหันมาสนใจคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์คือการให้พวกเขาได้เจอนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิทยาศาสตร์หญิงตัวจริง" เบทซ์ และเซกากัวเทวากล่าว "เด็กหญิงควรรู้ว่านักวิยาศาสตร์คือคนจริงๆ ที่มีความซับซ้อน เช่นเดียวกับตัวพวกเขาเอง แล้วพวกเธอก็มีความหลากหลายทางสายงาน และมีเป้าหมายชีวิตต่างกันไป"

นักวิจัยชี้ให้เห็นด้วยว่าสิ่งที่ลดแรงจูงใจเด้กผู้หญิงคือความรู้สึกว่าพวกเขาไม่สามารถอาจเอื้อมเป็นได้แบบเดียวกับภาพลักษณ์ของต้นแบบ แต่แนวคิดเรื่องการไม่สามารถอาจเอื้อมถึงก็เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงวัย นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเด็กผู้หญิงถึงยกย่องให้ ดร.เอริก้า เป็นไอดอล แม้ว่าเด็กสาวที่โตกว่านี้จะเมินเธอในฐานะซูเปอร์โมเดลแห่งวงการวิทยาศาสตร์

ปรับโฉมให้วิทยาศาสตร์
ในประวัติศาสตร์ ภาพเหมารวมของผู้หญิงเคยหลอกหลอนนักวิทยาศาสตร์หญิงมาก่อน อย่าง โรซาลินด์ แฟรงคลิน ผู้ร่วมค้นพบ DNA เคยถูก เจมส์ วัตสัน ที่เอางานวิจัยของเธอมาใช้กล่าวถึงเธออย่างตรงไปตรงมาว่าแฟรงคลินไม่ชอบทาลิปสติกและไม่พยายามแต่งตัวให้ดูเป็นผู้หญิงมากกว่านี้

แต่ Livescience ก็บอกว่าแนวคิดเรื่อง "สวยแบบมีสมอง" อาจจะเป็นแนวคิดที่ก้าวหน้าได้ เมื่อสองทศวรรษที่แล้วมีตุ๊กตาทีนส์ทอล์กบาร์บี้พูดกับเด็กสาวอเมริกันว่า "วิชาคณิตฯ ยากจัง" แต่การประกวด Miss Rikei เป็นการยืนอยู่คนละข้างกับคำพูดของบาร์บี้โดยสิ้นเชิง เช่นเดียวกับที่ ดร.เอริก้า เอาใจช่วยเด็กผู้หญิงที่อยากโตขึ้นเป็นเจ้าหญิงนักวิทยาศาสตร์

เอริก้า เอบเบิ้ล แองเกิ้ล ก็ปกป้องแนวคิดเรื่องการประกวดนางงามวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่นเช่นกัน แต่ต้องแยกแยะให้ดีระหว่างการประกวดความงาม (มิสยูนิเวิร์ส) กับการประกวดชิงทุนการศึกษา (มิสอเมริกา) เธอบอกว่าเธอชอบที่ได้สร้างความสามารถทางสังคมและความมั่นใจในตัวเองจากการประกวดหลายปีจนได้เป็นมิสแมสซาชูเซตส์ หลังจากที่เพื่อนเธอที่ MIT ส่งชื่อเธอประกวดโดยที่เธอไม่รู้

"จากสิ่งที่ฉันอ่านเกี่ยวกับเรื่องการประกวดนางงามวิทยาศาสตร์ ฉันคิดว่ามันให้โอกาสพวกเขาได้พิสูจน์ว่าเขาสวยแบบมีสมอง" เอริก้ากล่าว "ฉันไม่เห็นว่ามันมีอะไรผิด พวกเขาเป็นผู้หญิงที่โตแล้ว บางคนเรียนจบแล้วหรือยังเรียนอยู่ พวกเขาตัดสินใจว่าอยากให้ภาพลักษณ์ของตัวเองเป็นอย่างไรได้"

เอริก้าบอกว่าเธอเห็นมงกูฏประกวดในฐานะสัญลักษณ์แห่งความเป็นไปได้ เด็กหญิงและผู้หญิงวัยรุ่นสามารถรักในวิทยาศาสตร์ ไปพร้อมๆ กับการเป็นนักเต้น, นักดนตรี, นักฟุตบอล หรืออะไรก็ตามที่พวกเธอต้องการได้ "มันเป็นข้อความมากกว่าจะเป็นแค่มงกุฏ"

มานาสเตอร์ ผู้ที่เตือนคนจำนวนมากผ่านทวิตเตอร์เรื่องเกี่ยวกับการประกวด Miss Rikei ยอมรับว่ารูปลักษณ์ภายนอกของเธอเองมีส่วนในการสร้างความต่างเมื่อเธอทำรายการวิทยาศาสตร์ทางโทรทัศน์หรือในค่ายวิศวกรรมเด็กผู้หญิง ในอดีตมานาสเตอร์เคยเป็นนางแบบแฟชั่นมาก่อน แต่เธอก็เน้นย้ำว่าความรักในงานวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญจริงๆ

"บางทีเรายังไม่ได้แสดงให้เห็นมากพอ ว่ามีนักวิทยาศาสตร์ผู้หญิงที่หลงใหลในงานของตัวเอง" มานาสเตอร์กล่าว "ทำงานวิทยาศาสตร์ถ้าคุณรักมัน และถ้าคุณเป็นผู้หญิงมันเยี่ยมยอด และถ้าคุณไม่ใช่ผู้หญิง มันก็เยี่ยมยอดเช่นกัน"

 

ที่มา
'Princess Scientists' Stir Controversy, Livescience, 06-09-2012
http://www.livescience.com/22992-princess-scientists-take-stage.html

เชิงอรรถ
*Geek ผู้ที่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและหลงใหลในความรู้เฉพาะด้านของตนอย่างมาก พวกเขามักจะมีภาพลักษณ์เป็นหนอนหนังสือหรือคนที่ดูไม่ใส่ใจกับรูปลักษณ์ภายนอกของตัวเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท