กะเหรี่ยงแก่งกระจานรำลึกครบ 1 ปีการจากไปของ 'ทัศน์กมล โอบอ้อม'

 

ชาวกะเหรี่ยงนำโดยปู่โคอี้ มีมิ วัย 101 ปี จัดพิธีรำลึกถึงการจากไปของนักสิทธิมนุษยชน อาจารย์ป๊อด ทัศน์กมล โอบอ้อม ที่อนุสรณ์สถานเขตตะนาวศรี

 

 
ทัศน์กมล โอบอ้อม 


ปู่โคอี้  วางดอกไม้

 

วันที่ 10 กันยายน 2555 ที่อนุสรณ์สถานเขตตะนาวศรี  บ้านห้วยเกษม อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี  ชาวกะเหรี่ยงจากบ้านโป่งลึกบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน นำโดยปู่โคอี้  มีมิ  กะเหรี่ยงวัย 101 ปี และกะเหรี่ยงจากอำเภอหนองหญ้าปล้อง ร่วมพิธีรำลึกถึงนายทัศน์กมล  โอบอ้อม ซึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงที่ถูกเผาบ้านและยุ้งฉาง ผลักดันออกจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ถูกยิงเสียชีวิตครบรอบ 1 ปี

เวลา 18.00 น. ของ วันที่ 10 ก.ย. 54 พ.ต.ท.บุญช่วย สมใจ สวส.สภ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี รับแจ้งเหตุมีผู้ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณริมถนนเพชรเกษมขาล่อง หมู่ 6 ต.ถ้ำลงค์ อ.บ้านลาด จึงนำกำลังรุดตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบรถยนต์ยี่ห้อ จิ๊ปเชอโรกี สีบรอนซ์-ทอง ทะเบียน ภย 4754 กทม. พุ่งชนต้นไม้ข้างทาง ตัวรถบริเวณด้านขวาพบรอยกระสุนปืนไม่ทราบขนาดยิงพรุนทั้งคันกว่า 10 แห่ง กระจกประตูหน้าข้างคนขับแตกละเอียด ภายในรถพบศพนายทัศน์กมล โอบอ้อม ( อ.ป๊อด ) อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 362 หมู่ 1 ต.ท่ายาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคเพื่อไทย จ.เพชรบุรี และเป็นหนึ่งในแกนนำการเรียกร้องให้ตรวจสอบกรณีอุทยานฯแก่งกระจานเผาไล่ที่ชาวกะเหรี่ยง

นายทัศน์กมล เคยดำรงตำแหน่งนายกเทศบาลตำบลหนองจอก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี และเคยสมัครลงสมัครรับเลือกตั้งชิงเก้าอี้ ส.ส.เพชรบุรี เขต 3 พรรคเพื่อไทยเมื่อครั้งที่ผ่านมา แต่สอบตก นอกจากนั้น ยังมีบทบาทในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายชาวกะเหรี่ยงตามแนวไทย-พม่า โดยภายหลังจากมีกระแสข่าวว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปฏิบัติการเผาบ้านขับไล่กะเหรี่ยงแก่งกระจานออกจากพื้นที่บ้านบางกลอยบน เป็นเหตุให้มีตัวแทนกะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวเข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ นายทัศน์กมลจึงได้มีบทบาทพยายามเข้าไปสำรวจพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อมูลช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยง เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าภาคตะวันตก บริเวณชายแดนไทย - พม่า และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการประสานงานระหว่างชาวกะเหรี่ยงป่าแก่งกระจานกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ โดยเฉพาะเป็นผู้ประสานงานให้มีการปล่อยตัวตำรวจตระเวนชายแดน 4 นายที่ถูกจับกุมตัวในฝั่งพม่าในปี 2535 เมื่อคราวยุทธการบางกลอย จึงเป็นที่พึ่งของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยและโป่งลึกมากว่า 20 ปี

นายทัศน์กมล เริ่มออกมาเคลื่อนไหวในการช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงที่ถูกผลักดันลงมาเมื่อประมาณวันที่ 30 กรกฎาคม 2554 หลังจากถูกพาดพิงจากนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2554 ซึ่งได้ลงบทสัมภาษณ์ของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในบทความที่เห็นและเป็นอยู่ ของนายนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ ในหัวข้อ ถอดบทเรียนแก่งกระจาน มีใจความตอนหนึ่งว่า “ อีกอย่างคือ ที่มีคนมาพูดตามทีวี ผมบอกเลยก็ได้ว่า ทีวีไทย มีคนมาให้สัมภาษณ์ว่า เหตุการณ์นี้เกิดจากการปะทะกัน ผมบอกเลยว่า บุคคลคนนี้เสียประโยชน์จากการค้ายาเสพติด เขาเคยเป็นคนที่มาควบคุมกะหร่างในผืนป่าให้ช่วยขนยาเสพติดให้เขาออกจากผืนป่านี้ คนคนนี้แหล่ะที่เป็นภัยคุกคามของประเทศ คนคนนี้แหล่ะที่ผมหมายตาไว้ว่า ผมจะไม่ให้เขาเข้ามาเหยียบผืนป่าแก่งกระจานอีก คนคนนี้ทำลายประเทศชาติ และผมขอฝากไว้ตรงนี้เลยว่า เขาคงเจอกับผม”

นับแต่วันนั้นเป็นต้นมานายทัศน์กมล เริ่มออกมาเคลื่อนไหวและมีบทบาทในการช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจานอย่างเต็มที่ โดยเริ่มตั้งแต่พยายามให้ข้อมูลว่า กะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มคนท้องถิ่นดั้งเดิม มีแบบสำรวจชาวเขา เมื่อปี 2531 อีกทั้งยังมีเหรียญที่ระลึกชาวเขาที่ทางราชการแจกให้เมื่อปี 2512 -2513 จนกระทั่งมีการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จนทำให้มีการตั้งคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง

อีกทั้งยังเป็นคนที่ได้ประสานงานกับนายดุลสิทธิ์ สนิทวงศ์ ณ.อยุธยา ซึ่งเป็นหลานของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล ซึ่งยืนยันได้ว่าปู่โคอิ หนึ่งในผู้ที่ถูกผลักดันลงมา นั้นเป็นพระสหายกับคุณตา และยังเป็นคนที่พบช้างเผือกเพศผู้ จนนำไปสู่การทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งนายดุลย์สิทธิ์ ยังได้กล่าวว่า คุณตาสอนเสมอว่ากะเหรี่ยงไม่เคยทำลายป่า

กระทั่งก่อนเสียชีวิตเพียงไม่กี่วัน นายทัศน์กมล ยังได้ดำเนินการทำเรื่องเตรียมถวายฎีกาเพื่อขอความเป็นธรรมให้กับกลุ่มชาวกะเหรี่ยงท้องถิ่นดั้งเดิมที่ถูกผลักดันลงมา ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าจะยื่นเรื่องถวายฎีกากับผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ในวันที่ 12 กันยายนนี้

อีกทั้งนายทัศน์กมล ยังเตรียมที่จะตีแผ่เร่องราวในอุทยานฯแก่งกระจาน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการที่มีกลุ่มบุคคลเข้าไปบุกรุกพื้นที่เขตอุทยานฯปลูกยางพารา ปลูกมะนาว จำนวนกว่า 100 ไร่ ซึ่งทางอุทยานไม่ได้มีการห้ามปรามแต่อย่างใด หรือแม้กระทั่งเรื่องที่เคยมีชาวกะเหรี่ยงถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯยิงเสียชีวิต โดยกล่าวหาว่ามายิงช้างในพื้นที่อุทยานฯ แม้กระทั่งเรื่องของรีสอร์ท ที่มีกระแสข่าวว่า มีการนำไม้จากอุทยานออกมาใช้ รีสอร์ท ดังกล่าวยังอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอีกด้วย และเรื่องการตัดเถาวัลย์ ในป่าแก่งกระจาน ที่มีกลุ่มบุคคลอีกหลายกลุ่มพยายามออกมาคัดค้าน การกระทำในโครงการนี้ และอีกหลายๆเรื่อง

ก่อนหน้าจะถูกลอบยิงเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ปีที่ผ่านมา อุทยานฯแก่งกระจาน ได้ออกประกาศห้ามนายทัศน์กมล ซึ่งอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติและระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้ามาในเขตอุทยานฯแก่งกระจานฐานสร้างความปั่นป่วนและอุปสรรคในการพัฒนาชนกลุ่มน้อย ซึ่งได้มีการประชุมหัวหน้าส่วนราชการใน จังหวัดเพชรบุรี และแจ้งต่อนายชาย พานิชพรพันธ์ ผวจ.เพชรบุรี ที่เป็นประธาน ที่ศาลากลาง จ.เพชรบุรีว่า ห้ามบุคคลดังกล่าวเข้าในพื้นที่อุทยานฯโดยเด็ดขาด โดยแสดงเป็นประกาศ มีใจความว่า "ห้ามบุคคลภายนอก นายทัศน์กมล โอบอ้อม เข้าพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เนื่องจาก มีพฤติกรรมยุยง ปลุกปั่นราษฎรในพื้นที่ สร้างความวุ่นวาย ความแตกแยก ความขัดแย้ง และมีผลประโยชน์แอบแฝง สร้างความเสื่อมเสียให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และหน่วยงานของราชการอื่นๆ โดยอาศัยอำนาจอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พ.ศ.2504 มาตรา 16(9)(13) มาตรา 18 และมาตรา 21 และระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชว่าด้วยการเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ จึงห้าม นายทัศน์กมล โอบอ้อม เข้าไปในเขตอุทยาน" โดยนายชัยวัฒน์ ได้แสดงภาพต่อที่ประชุม และกล่าวเพิ่มว่า "ที่ผ่านมานายทัศน์กมลพยายามให้นักการเมืองเข้ามาบีบตน ให้นายทัศน์กมลเข้าพื้นที่ห้าม โดยอ้างจะขอเข้าไปจัดการปัญหาชนกลุ่มน้อย ทั้งที่ความจริงแล้ว แต่เดิมปัญหาของชนกลุ่มน้อย มีปัญหายาเสพติด เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กรณี ฮ.ตก นายทัศน์กมล ก็ให้ข่าวบิดเบือนสร้างความเสียหายให้เจ้าหน้าที่ ตนได้ออกคำสั่งห้ามเข้าพื้นที่อุทยานฯ หากฝ่าฝืน จะจับกุมส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที ตนมีอำนาจโดยชอบที่จะกระทำเช่นนั้นด้วย " อีกทั้งในวันที่ 31 สิงหาคม นายชัยวัฒน์ ได้นำประกาศข้อความห้ามเข้าพื้นที่ พร้อมรูป นายทัศน์กมล ขนาดประมาณ 10 X 15 นิ้ว ปิดไว้ ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ด่านตรวจสามยอด และด่านมะเร็ว เพื่อให้ทราบทั่วกัน

ทั้งหลายนี้จึงกลายเป็นข้อสงสัยว่า อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งของการสั่งตาย แกนนำกะเหรี่ยง อ.ป๊อด เพื่อเป็นการตัดไม้ข่มนาม ให้กับผู้ที่ยังอยู่ว่าควรจะทำตัวอย่างไรต่อไป

จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในที่สุดพนักงานสอบสวนได้ส่งฟ้องนายชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นผู้จ้างวานฆ่า อ.ป๊อด  ซึ่งพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนส่งต่อพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรีในวันที่ 22 ธ.ค. 2554 และอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี จนวันที่ 29 ธ.ค. 2554 ศาลจังหวัดเพชรบุรีได้ประทับรับฟ้องคดีหัวหน้าอุทยาน ในข้อหาจ้างวานฆ่า ร่วมกับพวกอีก 4 คน ประกอบด้วย นายศักดิ์ พลับงาม มือปืน, นายชูชัย สุขประเสริฐ อดีตสมาชิก อบต.บางเก่า อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี, นายธวัชชัย ทองสุข หรือ ส.ท.ต่อ สมาชิกสภาเทศบาล ต.หนองจอก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี และนายดวง สังข์ทอง ลูกจ้างอุทยาน ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นคดีอาญา คดีดำ 4653/2554  ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท