Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การเสวนา “แก๊สกับน้ำมัน: ทำไมถึงแพง” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม การนำเสนอกลุ่มนี้ได้มีข้อเสนอที่แตกต่างไปจากเดิมที่มุ่งให้นำ ปตท.ออกจากตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงการเคลื่อนไหวที่เรียกร้องให้ตั้งราคาขายปลีกน้ำมันไว้ที่ 19 บาท มาสู่การปรับเชิงโครงสร้างมากขึ้น บางข้อเสนอ เช่น การปรับปรุงการจัดเก็บค่าภาคหลวงและส่วนต่างระหว่างราคาหน้าโรงกลั่นกับราคาตลาดสิงคโปร์ ตรงกับบทความ “น้ำมันไทยโชติช่วงชัชวาล” ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ประชาไท เมื่อ 24 พฤษภาคม

ข้อมูลนำเสนอครั้งนี้ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกันที่จะขอร่วมอภิปรายเพื่อนำไปสู่การแสวงหาสารสนเทศที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ควรเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันยุโรปด้วย
ข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างราคาน้ำมันของไทยกับสหรัฐ ของ มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นั้น อาจจะไม่เป็นการเปรียบเทียบที่ครบถ้วน สมควรเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันขายปลีกในยุโรปด้วย ข้อมูลจากเว็บไซต์ drive-alive.co.uk ที่เสนอราคาน้ำขายปลีกของยุโรปตามที่แสดงในตารางที่ 1 พบว่าราคาน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ระหว่างลิตรละ 60 – 80 บาท ยกเว้นรัสเซีย ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก มีราคาขายปลีกที่ 29.20 บาท ตามตารางที่ 1 ส่วนประเทศไทยราคาอยู่ที่ 42 บาท

ตารางที่ 1 ราคาน้ำมันในยุโรป

ประเทศ

เบนซิน 95

ดีเซล

เบลเยี่ยม

60.00

56.00

เดนมาร์ก

73.60

64.40

ฝรั่งเศส

64.00

56.00

เยอรมัน

68.00

61.60

ไอร์แลนด์

63.60

59.20

อิตาลี

75.20

70.80

เนเธอร์แลนด์

68.80

56.00

นอร์เวย์

82.00

74.80

อังกฤษ

66.40

68.40

รัสเซีย

29.20

30.80

ที่มา drive-alive.co.uk [1]
หมายเหตุ ราคา ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2555

ข้อพิจารณาประการหนึ่งของการกำหนดราคาน้ำมันสูงด้วยการจัดเก็บภาษีสูง ไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากรถยนต์ เป็นสินค้าที่ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง เมื่อมีรถยนต์ ก็ต้องสร้างถนนให้ใช้งาน ดังนั้น การจัดเก็บภาษีน้ำมันสูง จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ถึงแม้ว่าจะเป็นการกีดกันการใช้รถยนต์จากสาเหตุราคาน้ำมันแพง

ในกรณีของประเทศไทย มีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีกด้วยจัดเก็บภาษี (กองทุนน้ำมัน) เพื่อไปอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจี ซึ่งใช้ทั้งภาคครัวเรือน ขนส่ง และอุตสาหกรรม สิ่งที่ควรทำ คือการปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สะท้อนกลไกตลาด เพื่อมิให้ผู้ใช้น้ำมันเบนซินต้องไปอุดหนุนผู้ใช้ก๊าซแอลพีจี

การอุดหนุนราคาแอลพีจี
การอุดหนุนราคาแอลพีจีเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างราคาน้ำมันที่ทำให้มีการบิดเบือนกลไกตลาด จากการประกาศราคาก๊าซแอลพีจี เมื่อ 23 มกราคม 2555 ของ สำนักงานนโยบายพลังงานและแผน กระทรวงพลังงาน ตามตารางที่ 2 ควรจะสะท้อนราคาต้นทุน

ตารางที่ 2 ต้นทุนราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจี วันที่ 23 มกราคม 2555

ประเภทก๊าซ แอลพีจี

ราคาหน้าโรงกลั่น

ภาษีสรรพสามิต

ภาษีเทศบาล

กองทุนน้ำมัน(1)

กองทุนน้ำมัน(2)

ค่าการตลาด

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ราคาปลีก

หุงต้ม

10.3254

2.17

0.217

0.9739

 

3.2566

1.186003

18.1289

รถยนต์

10.3254

2.17

0.217

0.9739

0.7009

3.2566

1.382255

18.8789

อุตสาหกรรม

10.3254

2.17

0.217

0.9739

11.2150

3.2566

1.971053

27.1287

ที่มา สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน, Price Structure of Petroleum Products in Bangkok [2]

แต่ว่าราคาขายปลีกให้กับรถยนต์ยังอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 12 – 13 บาท ทำให้ข้อมูลการอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีที่ใช้กับภาคอุตสาหกรรมจึงน่าจะเป็นได้ ในเมื่อมีการประกาศราคาก๊าซของสำนักงานนโยบายพลังงานและแผน แล้ว กองทุนน้ำมันไม่ควรจะต้องจ่ายอุดหนุน ถ้าจะมีการอุดหนุนควรเป็นภาระของผู้จำหน่าย

โครงสร้างการกำกับพลังงาน
การกำกับและควบคุมพลังงานของรัฐอยู่ภายใต้แนวคิดว่า ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ดังนั้น การขุดเจาะและสำรวจทรัพยากรต่างๆ ในขณะเดียวกัน รัฐถือว่าความมั่นคงด้านพลังงานเป็นสิ่งสำคัญ วิสาหกิจด้านนี้จึงอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ

การกำกับรัฐวิสาหกิจของรัฐ ผ่านกระทรวงพลังงาน ทำให้ปลัดกระทรวงและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจึงต้องเป็นตัวแทนของคณะกรรมการ ทำให้การกำกับด้านพลังงานโดยรัฐ และรัฐวิสาหกิจผู้ขายพลังงานในเชิงพาณิชย์ ในการอภิปรายครั้งนี้ อิฐบูรณ์ อ้นวงษา มูลนิธิผู้บริโภค เห็นว่าเป็นปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ส่วนการอภิปรายถึงปัญหาการกำกับราคาพลัง ไม่ได้ให้ข้อมูลที่หนักแน่น เช่น ที่มาของราคาก๊าซ ราคาที่นำเสนอไม่สามารถหาที่มาของข้อมูลได้

ในการประเมินผลความสำเร็จหรือล้มเหลวของการกำกับ ควรอยู่ที่ราคาขายปลีกสินค้า ราคาน้ำมันปลีกเบนซินของไทยกับเพื่อนบ้านอาเซียนมีราคาไม่แตกต่างกันมากนัก ยกเว้น มาเลเซียที่เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน แพงกว่าสหรัฐ แต่ถูกกว่าราคาขายปลีกในยุโรป ในด้านราคาน้ำมันดีเซลมีราคาเชิงเปรียบเทียบต่ำเท่ากับประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน เช่น รัสเซีย

น้ำมันในประเทศไทยมีราคาค่อนข้างแพงเฉพาะน้ำมันเบนซิน เนื่องจากมีภาระภาษีและกองทุนน้ำมันสูงเพื่อนำไปอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจี แต่ราคาน้ำมันดีเซลไม่แพงไปจากตลาดโลกและเป็นแบบนี้มานานมาก มีผลทำให้โครงสร้างการใช้น้ำมันของไทยมีการบิดเบือน ดังนั้น ควรจะต้องแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาน้ำมันและพลังงานไม่ให้บิดเบือนต้นทุน

ระดับราคาและเหตุผลในการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมกับน้ำมันบางประเภทมาจากนโยบายด้านของรัฐ การผูกขาดในอุตสาหกรรมโรงกลั่นของ ปตท. ไม่ได้เป็นต้นเหตุทำให้น้ำมันบางประเภทนั้นมีราคาสูง เพียงแต่ราคาหน้าโรงกลั่นยังไม่ใช่ราคาประสิทธิภาพการกลั่น และแสวงผลกำไรเพิ่มเติมจากปกติ

ในด้านพลังงานไฟฟ้า ประเทศไทยใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้ารวมร้อยละ 75 ราคาก๊าซ ถ้าราคาก๊าซแพงมากยอมมีผลกับต้นทุนราคา เว็บไซต์ Wikipedia [3] ได้รวบรวมข้อเบื้องต้นราคาไฟฟ้า ตามที่ได้นำมาแสดงในตารางที่ 3

 

ตารางที่ 3 การเปรียบเทียบค่าไฟฟ้า

ประเทศ

บาท/กิโลวัตต์

ณ วันที่

แหล่งข้อมูล

เดนมาร์ค

12.114

1 พฤศจิกายน 2554

EEP [4]

เยอรมัน

8.343

1 พฤศจิกายน 2554

EEP [4]

มาเลเซีย

2.226

1 ธันวาคม 2550

st.gov [5]

ฟิลิปปินส์

9.138

1 มีนาคม 2553

abs-cbnnews [6]

รัสเซีย

2.874

1 มกราคม 2555

Mosenergosbyt [7]

สิงคโปร์

6.672

4 กรกฎาคม 2555

singaporepower.com.sg [8]

ไทย

1.338 - 2.937

5 มีนาคม 2555

BOI [9]

สหรัฐ

1.500 - 11.100

2555

EIA [10]

เวียดนาม

1.860 - 3.003

2555

Reuters [11]

ที่มา Wikipedia, Electricity Pricing


ตามตารางนี้พบว่า ราคาไฟฟ้าของไทยอยู่ในระดับต่ำและใกล้เคียงกับเพื่อนบ้าน ดังนั้น ราคาก๊าซในการกำกับไม่ได้สร้างภาระให้กับผู้บริโภค ขณะเดียวกันได้ตอบคำถามว่า เดนมาร์กหรือเยอรมันสามารถพัฒนาการใช้พลังงานทางเลือกได้อย่างไร ทั้งที่ต้นทุนพลังงานทางเลือก เช่น กังหันลมบนฝั่งแพงกว่าก๊าซ 1 เท่า ในทะเลแพงกว่า 3 เท่า เนื่องจากราคาไฟฟ้าของเดนมาร์กแพงกว่าไทย 4 เท่า และเยอรมันแพงกว่า 2.5 เท่าจึงเป็นไปได้ที่จะรองรับต้นทุนของพลังงานทางเลือกได้ ข้อเสนอของ ศุภกิจ นันทวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะในอภิปรายครั้งนี้ จึงควรทบทวนต้นทุนที่เป็นจริงประกอบด้วย

ทั้งราคาน้ำมันและไฟฟ้าที่ประมวลมาไม่พบว่าได้สร้างภาระให้กับผู้บริโภค ความจำเป็นในการปรับโครงสร้างการกำกับของ อิฐบูรณ์ อาจจะไม่มีความจำเป็น ด้านฐานะของปลัดกระทรวงและข้าราชการกระทรวง ในตำแหน่งกรรมการกำกับและกรรมการรัฐวิสาหกิจ ควรจะพิจารณาให้เหมาะสม

มิฉะนั้น กรรมการกำกับด้านพลังงานควรเลือกตัวแทนของมูลนิธิผู้บริโภคมาเป็นกรรมการ เพื่อปกป้องประโยชน์ของผู้บริโภค เหมือนกับ กสทช ที่มีตัวแทนของเอ็นจีโอด้านผู้บริโภคอยู่เดียว ทำให้ กสทช. ไม่มีข้อแย้งกับองค์กรด้านนี้ และยังได้การสนับสนุนในทางสาธารณะอีกด้วย

บัตรเครดิตพลังงาน
การนำเสนอของคุณสมลักษณ์ ที่ชี้ว่า การลงทุนพลังงานในประเทศไทยมีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดและทำกำไรได้สูงที่สุดในโลก การทำกำไรได้สูงที่สุดในโลกเป็นเรื่องจริง เพราะประเทศไทยจัดเก็บค่าภาคหลวงในอัตราที่อาจจะต่ำที่สุดในโลกที่ร้อยละ 12.50 ทั้งค่าภาคหลวงและภาษีเงินรายได้พิเศษ จะประมาณ 25 – 30% จึงทำให้มีกำไรสุทธิสูงมาก

แต่ต้นทุนต่ำที่สุดในโลกอาจจะไม่ใช่เรื่องจริง เมื่อช่วงปี 2540 เมื่อโรคต้นยำกุ้งได้แพร่ไปทั่วเอเชีย ราคาน้ำมันดิบตกลงเหลือประมาณ 10 - 12 เหรียญสหรัฐ สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือ ไทยเชลล์ พยายามสัมปทานการผลิตก๊าซและน้ำมัน ยูโนแคล หรือเชฟรอนในปัจจุบัน สนใจซื้อเฉพาะสัมปทานในทะเล แต่ไทยเชลล์ต้องการขายทั้งบนฝั่งคือแหล่งลานกระบือด้วย ทำให้การตกลงจึงไม่เกิดขึ้น ถ้าต้นทุนการผลิตน้ำมันของไทยต่ำจริง การเสนอขายสัมปทานของไทยเชลล์ไม่ควรเกิดขึ้น เช่น ถ้าต้นทุนต่ำเท่ากับตะวันออกกลาง คือ 2 เหรียญต่อบาร์เรล จากประมูลสัมปทานสำรวจและขุดเจาะในอิรักเมื่อปี 2551 แหล่งลานกระบือ ยังทำกำไรปีละหลายร้อยล้านบาทจากปริมาณการผลิตวันละ 25,000 บาร์เรลต่อวัน

ในประเด็นบัตรพลังงาน คุณสมลักษณ์ วิจารณ์บัตรเครดิตพลังงานไว้ว่า

“สิ่งที่คิดว่าเป็นความเลวร้ายของสังคมไทยในวันนี้คือบัตรเครดิตพลังงาน ซึ่งแทนที่จะให้ประชาชนไทยทุกคนได้รับความเป็นธรรมอย่างทั่วถึงในการเข้าถึง พลังงานทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน กลับกลายเป็นการใช้บัตรเครดิตพลังงาน แล้วสร้างบุญคุณระหว่างรัฐกับผู้รับบัตรเครดิตคือกลุ่มคนขับมอเตอร์ไซค์-แท็กซี่ คือใช้ระบบประชานิยมทั้งที่ๆ ทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นของประชาชนอยู่แล้ว”

ในด้านการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการกอบโกยผลประโยชน์ของบริษัทพลังงานต่างชาติ คงจะไม่จำกัดเฉพาะรัฐบาลชุดนี้ แต่ย้อนหลังไปถึง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้ให้สัมปทานการขุดเจาะเกิดขึ้น เป็นต้นมา แต่พอจะอนุโลมให้ พลเอกเปรมได้เพราะอาจจะเกรงว่า ถ้าจัดเก็บผลประโยชน์สูงจะไม่จูงใจให้มีการลงทุน รัฐบาลชุดอื่น อาทิ พลเอกสุรยุทธ์ จุฬานนท์ นายกรัฐมนตรีในยุคน้ำมันแพง และมีการลงทุนด้านพลังงานมากมาย รวมทั้งเป็นรัฐบาลเผด็จการที่ได้ออกกฎหมายหลายร้อยฉบับแต่ไม่แตะต้องเรื่องนี้

สิ่งที่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับบัตรพลังงาน ประการแรกคือ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และแท็กซี่ เป็นระบบขนส่งสาธารณะแบบหนึ่ง ดังนั้น การวิจารณ์ว่า บัตรเครดิตพลังงานเป็นเอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่ม และสร้างความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงพลังงาน จึงไม่ถูกต้อง

ประการต่อมา นโยบายนี้ของพรรคเพื่อไทยอยู่บนฐานเดียวกับบัตรเครดิตปัจจัยการผลิตของเกษตรกร เพียงแต่มอเตอร์ไซค์-แท็กซี่ ใช้ปัจจัยการผลิตเป็นพลังงาน

ในเรื่องนี้จึงเห็นได้ว่าเป็นการมองปัญหาเฉพาะจุด และมองว่าบัตรเครดิตการซื้อเสียง (เชิงนโยบาย) เพื่อปิดบังการแก้ไขกฎหมายด้านพลังงานให้เอื้อประโยชน์กับสาธารณะนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เพียงการสะท้อนว่าความคิดว่า ประชาชน (ฝ่ายเพื่อไทย) โง่ เลว และซื้อได้

ข้อกังวลกับความรู้ด้านพลังงานของหน่วยงานรัฐ
การนำเสนอของ ดร.สุภิชัย ในฐานะจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในด้านความรู้และสารสนเทศของการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ได้แสดงออกถึงความไม่รู้ ในประโยคที่บอกว่า

“ที่มีการพูดกันว่าประเทศไทยจะใช้ก๊าซธรรมชาติหมดภายในกี่ปี ตรงนี้เป็นเรื่องที่บอกได้ยากมาก เพราะข้อแรกคือก๊าซนั้นอยู่ใต้ผืนแผนดิน เจ้าของก๊าซไม่ใช่คนไทยแต่เป็นบริษัทเชฟรอน ตัวเลขเป็นข้อมูลของบริษัทเอกชน เมื่อเขาบอกมาอย่างไรเราไม่มีทางรู้มากกว่านั้น”

ทำให้เกิดความสงสัยว่า การผลิตก๊าซในอ่าวไทยเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2529 ผ่านมากว่า 20 ปี แต่ดูเหมือนว่าประเทศยังไม่มีฐานความรู้ด้านนี้อย่างเพียงพอ ทั้งที่รายงานการผลิตก๊าซธรรมชาติของเชฟรอนมีการส่งให้สม่ำเสมอ ตามรายงานประจำปีของกรมเชื้อเพลิงพลังงาน ควรจะเพียงพอในการสร้างแบบจำลองการวิเคราะห์ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติได้

แต่ไม่น่าแปลกใจมากนัก เมื่อ ดร.สุภิชัย ตั้งข้อสงสัยกับกรณีการ ปตท.สผ. ซื้อคืนหลุมก๊าซจากเอกชน ว่า "ถ้าหลุมมันดีแล้วเขาจะอยากขายไหม ตรงนี้ต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาว่าเราตามเขาทันไหม" ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ปตท.สผ. กำลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทำให้มีต้องการสถานะเจ้าของสัมปทานแหล่งบงกช จึงซื้อหุ้นมาจากโทเทล (Total) และยังคงให้โทเทลเป็น operator และ ปตท.สผ., โทเทล และยูโนแคล หรือเชฟรอนในปัจจุบัน ก็ได้จูงมือกันไปพัฒนาแหล่งยานาดาในพม่า เรื่องนี้ไม่มีความลึกลับแม้แต่น้อย

ในประเด็นก๊าซหมดเมื่อไร หลุมขุดเจาะที่เกิดขึ้นในอ่าวไทย ตามสัญญายูโนแคล 1, 2 และ 3 ผู้ผลิตได้พยายามขุดเจาะในแหล่งเดิมอย่างเต็มที่ ในปี 2542 เป็นต้นมา มีการขุดเจาะในแหล่งผลิตต่างๆ ลึกลงไปใต้ดินหลายพันฟุต จึงทำให้มีก๊าซส่งมอบให้กับ ปตท. ดังนั้น โอกาสก๊าซหมดไปจากแหล่งผลิตเกิดได้แน่นอน เพียงแต่ว่าเมื่อไร

จากการแสดงถึงการไม่มีสารสนเทศที่ดี และขาดความเข้าใจต่อพลวัตรในธุรกิจพลังงานของประเทศ จึงมีความสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน มีความสามารถเพียงพอต่อการกำกับหรือไม่

สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งคือ การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน
ในด้านราคาพลังงาน สิ่งสำคัญอยู่ที่การกำหนดโครงสร้างราคา ในช่วงสมัยรัฐบาลทักษิณ ได้ตรึงราคาดีเซล จนทำให้กองทุนน้ำมันติดลบประมาณแสนล้านบาท ในปัจจุบัน กองทุนน้ำมันต้องชดเชยให้ก๊าซแอลพีจี ดังนั้น เราควรยอมรับกลไกราคาน้ำมันและพลังงานในตลาดโลก

การอุดหนุนราคาพลังงานทำให้มีความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า เช่น การอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจี ทำให้ประเทศสูญเปล่ากับการลักลอบขายก๊าซแอลพีจีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เหมือนกับคนไทยตามชายแดนไทย-มาเลเซียมักจะข้ามแดนไปเติมน้ำมันในฝั่งมาเลเซีย

ในการอุดหนุนก๊าซแอลพีจีได้สร้างความไม่ธรรมกับผู้ใช้น้ำมันเบนซิน เนื่องจาก พวกเขาต้องรับภาระเงินกองทุนน้ำมันเพื่อนำไปชดเชยราคาให้ก๊าซแอลพีจีถูกลง

ในขณะที่ การกำกับราคาพลังงานของประเทศที่ผ่านมาไม่ได้สร้างภาระการครองชีพ และภาระต้นทุนการผลิตของภาคการผลิต ประเทศยังมีความสามารถในการแข่งขัน จึงไม่เรื่องเร่งด่วนในการแก้ไข แต่การจัดเก็บค่าภาคหลวงให้เหมาะสมกับราคาและต้นทุนเป็นสิ่งสำคัญและเร่งด่วน เหมือนกับปรับโรงสร้างราคาพลังงาน

ในขณะที่ราคาพลังงานค่อนข้างทรงตัวและลดลง เพราะภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้รายใหญ่คือ ยุโรปและสหรัฐไม่ดี จึงควรใช้โอกาสในปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้เหมาะสม

 

อ้างอิง
[1] drive-alive.co.uk, Fuel prices in Europe, [http://www.drive-alive.co.uk/fuel_prices_europe.html]

[2] สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน, Price Structure of Petroleum Products in Bangkok, [http://www.eppo.go.th/petro/price/index.html]

[3] Wikipedia, Electricity Pricing, [http://en.wikipedia.org/wiki/Electricity_pricing]

[4] energy.eu, [http://www.energy.eu/#domestic]

[5] Malaysia, Report Performance, [http://www.st.gov.my/images/stories/upload/st/st_files/public/Report_Performance.pdf]

[6] abs-cbnnews.com, Electricity price at spot market hits P12.96/kWh, [http://www.abs-cbnnews.com/business/04/19/10/electricity-price-spot-market-hits-p1296kwh]

[7] Russia, [http://www.mosenergosbyt.ru/portal/page/portal/site/personal/tarif/msk]

[8] Singapore Power Group, SP Services, [http://www.singaporepower.com.sg/irj/go/km/docs/wpccontent/Sites/SP%20Services/Site%20Content/Tariffs/documents/latest_press_release.pdf]

[9] BOI, UTILITY COSTS, [http://www.boi.go.th/index.php?page=utility_costs&language=en]

[10] US EIA, Electric Power Monthly, [http://www.eia.gov/electricity/monthly/]

[11] Vietnam, Reuters, [http://af.reuters.com/article/commoditiesNews/idAFL3E7NJ28I20111219]

 

ข่าวและบทความเกี่ยวข้อง
[1] ประชาไท, เสวนา: “ก๊าซกับน้ำมัน ทำไมถึงแพง?” ขุดปมธุรกิจพลังงานไทย, 29 สิงหาคม 2555 [http://prachatai.com/journal/2012/08/42348]

[2] น้ำมันไทยโชติช่วงชัชวาล, 24 พฤษภาคม 2555, [http://prachatai.com/node/40640]

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net