Skip to main content
sharethis

 

14 ก.ย. 55 - เครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดออกแถลงการณ์ข้อสังเกตของเครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดต่อผลการดำเนินงานด้านการบำบัดรักษาผู้ใช้ยาเสพติดของรัฐบาล โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์
ข้อสังเกตของเครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด
ต่อผลการดำเนินงานด้านการบำบัดรักษาผู้ใช้ยาเสพติดของรัฐบาล
 
ตามที่ ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศพส.) และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว เลขาธิการ ปปส. ร่วมกันแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานด้านการบำบัดรักษาในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาว่า สามารถดำเนินงานได้เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้คือ มีจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดทั้งหมด 508,850 ราย เป็นผู้สมัครใจบำบัด 351,766 ราย บังคับบำบัด 139,885 ราย และระบบต้องโทษ 17,199 ราย เครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (เครือข่าย 12D) ดังมีรายนามท้ายหนังสือฉบับนี้ สนับสนุนการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาลโดยใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจังกับผู้ผลิต ผู้ค้ารายใหญ่ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการดังกล่าว แต่เครือข่ายมีข้อสังเกตต่อแถลงการณ์ ดังต่อไปนี้
 
1. แถลงการณ์ชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จในเชิงปริมาณ แต่ไม่เห็นความสำเร็จในเชิงคุณภาพที่มีเป้าหมายในการคืนคนดีสู่สังคม
 
2. เป็นที่น่าสงสัยว่า รัฐบาลใช้มาตรการอะไรในการทำให้ผู้ใช้ยาจำนวนกว่า 350,000 คนตัดสินใจเข้ารับการบำบัดโดยสมัครใจอย่างพร้อมเพรียงกัน 
 
3. พบว่า ยังคงมีระบบการบังคับบำบัดและระบบต้องโทษ ทั้งที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์จากองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศที่ระบุว่า วิธีการดังกล่าวส่งผลเชิงลบและสิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล มากกว่าการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้ยา  
 
4. การที่ ศพส. จะมอบหมายให้สำนักงานกฤษฎีกาปรับปรุงพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ใช้ยาเสพติด พ.ศ. 2545 โดยให้นำผู้เสพเข้าบังคับบำบัดนั้น ขัดแย้งกับคำประกาศของนายกรัฐมนตรีว่า ผู้เสพคือผู้ป่วย และข้อมูลในแถลงการณ์ที่บอกว่า ผู้รับการบำบัดส่วนใหญ่สมัครใจ 
 
เครือข่าย 12D มีข้อเสนอแนะต่อ การพัฒนาแนวทางการบำบัดรักษาในอนาคต ดังต่อไปนี้
 
1. รัฐบาลควรแถลงต่อสาธารณะถึงความสำเร็จในเชิงคุณภาพที่ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า ได้คืนคนดีสู่สังคมแล้วอย่างยั่งยืน ตลอดจนเปิดเผยกระบวนการและมาตรการที่สนับสนุนให้ผู้ใช้สารเสพติดเข้ารับการบำบัดโดยสมัครใจ
 
2. รัฐบาลควรให้เหตุผลและข้อมูลเชิงวิชาการที่สนับสนุนการคงไว้ซึ่งระบบการบังคับบำบัดและระบบต้องโทษ 
 
3. เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ รัฐบาลควรเปิดเผยรายละเอียดการใช้งบประมาณและหน่วยงานที่มีส่วนในการใช้จ่ายงบประมาณ
 
4. กรณีที่จะมีการมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้แก้ไขทบทวน พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ใช้ยา พ.ศ. 2545 นั้น ควรจะต้องทำให้เจตนารมย์เรื่อง “ผู้เสพคือผู้ป่วย” ถูกระบุในกฎหมายอย่างชัดเจน มากกว่าการแก้ไขกฎหมายเพื่อตอบสนองการบังคับบำบัด และรัฐบาลควรประกาศยกเลิกการบังคับบำบัดและระบบต้องโทษอย่างสิ้นเชิง 
 
5. รัฐบาลควรประกาศใช้นโยบายลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลัก โดยเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ยาและภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน และติดตามผล
 
ทั้งนี้ เครือข่าย 12D และภาคีพันธมิตร ในฐานะที่เราเป็นผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ใช้ยาและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ยินดีแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน 
 
รายชื่อองค์กรที่สนับสนุนแถลงการณ์ฉบับนี้
เครือข่ายผู้ใช้ยา ประเทศไทย
มูลนิธิเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย
คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์
ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย
มูลนิธิพีเอสไอ ประเทศไทย
มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
บ้านออเด้นท์
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์
มูลนิธิรักษ์ไทย
ศูนย์ลดอันตรายบ้านโอโซน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net