Skip to main content
sharethis

 

ยิ่งลักษณ์ส่งผู้ตรวจราชการ ก.พลังงานรับเรื่องแทน ชาวบ้านริมน้ำโขงผิดหวัง ชี้เมื่อนายกฯ ไม่มารับยื่นหนังสือด้วยตนเอง ประชาชนจึงตกลงจะไม่พบนายกฯ เช่นกัน พร้อมยันค้านเขื่อนแม่น้ำโขงต่อไป แถมพ้อจะไม่หนุนนายกฯ อีก
 
 
วันนี้ (17 ก.ย.55) เวลาประมาณ 9.00 น. ชาวบ้านริมน้ำโขง 8 จังหวัด และเครือข่ายภาคประชาชนที่มีความห่วงใยในประเด็นเขื่อนไซยะบุรี เดินทางมารวมตัวที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อนำโปสการ์ดปลาบึกที่ประชาชนได้ร่วมกันลงชื่อและเขียนเหตุผลในการคัดค้านเขื่อนบนแม่น้ำโขง รวมทั้งหนังสือที่มีการเปิดลงชื่อทางระบบอีเล็คโทรนิคส์ รวมรายชื่อ 9,055 รายชื่อ เข้ายื่นให้กับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายไม่มีการยื่นเนื่องจากนางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ยอมมารับด้วยตนเอง
 
ข้อความในหนังสือที่เตรียมยื่นต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ระบุเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดการสนับสนุนเขื่อนบนแม่น้ำโขงทั้งหมด และระงับการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีในประเทศ สปป.ลาวที่กำลังเร่งผลักดันอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะจากกลุ่มบริษัทของไทย นำโดยบริษัท ช.การช่างผู้ก่อสร้าง สนับสนุนโดยธนาคารพาณิชย์ 4 แห่งของไทย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ผู้ดำเนินการในการเซ็นสัญญารับซื้อไฟฟ้าเกือบทั้งหมดจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรี
 
“พวกข้าพเจ้า ในนามตัวแทนประชาชนและภาคประชาชน ขอนำโปสการ์ดจำนวนดังกล่าวเพื่อเสนอต่อ ฯพณฯ ณ ทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ พร้อมด้วยกลุ่มประชาชนจากจังหวัดริมแม่น้ำโขง 7 จังหวัดและเครือข่ายอื่นๆ ที่มีความห่วงใยต่อปัญหาเขื่อนพลังไซยะบุรี รวมทั้งเครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ รวมทั้งตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนจากประเทศกัมพูชา และนานาชาติ ด้วยความหวังว่า ฯพณฯ และรัฐบาลของท่าน จะได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบของประเทศไทยและรัฐบาลไทย ที่มีต่อปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และยืนยันการปกป้องรักษาสิทธิและความเป็นอยู่ของประชาชน” หนังสือดังกล่าวระบุ
 
นอกจากนั้นยังมีการเรียกร้องให้รัฐบาลไทย เร่งตรวจสอบกระบวนการทำงานของหน่วยงาน และบริษัทเอกชนของไทย ที่มีบทบาทในการสร้างเขื่อน และวางแผนรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักอื่น ๆ และดำเนินการแก้ปัญหา ทั้งในระดับภูมิภาค และให้กับประชาชนไทยโดยเร็วที่สุด
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงานเป็นตัวแทนรับหนังสือ แต่ชาวบ้านยืนยันจะพบกับนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่าการได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ที่พวกเขาได้เลือกตั้งเข้ามาจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลตระหนักถึงความรับผิดชอบของประเทศไทยและรัฐบาลไทยที่มีต่อความเดือดร้อน และยืนยันปกป้องรักษาสิทธิของประชาชน 
 
อย่างไรก็ตาม ต่อมาชาวบ้านได้มีการปรับข้อเรียกร้อง โดยให้รัฐบาลส่ง ส.ส.จากจังหวัดลุ่มน้ำโขงที่ชาวบ้านเลือกตั้งเข้าไปให้มารับหนังสือแทน แต่สุดท้ายก็ไม่มีนักการเมืองเดินทางมาพบชาวบ้าน จึงไม่มีการยื่นหนังสือใดๆ
 
“เมื่อนายกไม่มารับยื่นหนังสือจากชาวบ้านด้วยตนเอง ประชาชนจึงตกลงจะไม่พบนายกเช่นกัน และจะร่วมกันรณรงค์ในพื้นที่ ร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ ดำเนินการไม่สนับสนุนโครงการเขื่อนแม่น้ำโขงอย่างไม่หยุดต่อไป และไม่อาจสนับสนุนท่านนายกฯ ได้อีก”  ข้อความจากเพจ เกาะติดไฟฟ้า ในสังคมออนไลน์ facebook โดยเครือข่ายภาคประชาชนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวครั้งนี้
 
 
สำหรับหนังสือข้อเรียกร้อง “ร่วมกันลงนามถึงนายกรัฐมนตรีไทย เพื่อหยุดเขื่อนไซยะบุรี ปกป้องวิถีแม่น้ำโขง!” ซึ่งเปิดลงชื่อทางระบบอีเล็คโทรนิคส์ ให้ข้อมูลว่าขณะนี้รัฐบาลลาว กำลังผลักดันการสร้าง “เขื่อนไซยะบุรี”1,285 เมกะวัตต์ซึ่งจะปิดกั้นแม่น้ำโขงสายหลัก ในแขวงไซยะบุรี ประเทศลาว ตรงข้ามกับจังหวัดน่านของไทย และจะเป็นเขื่อนแรกที่ถูกสร้างบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง 
 
ตัวเขื่อนไซยะบุรีจะอยู่เหนือจาก อ.เชียงคาน จ.เลยภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยขึ้นไปตามลำน้ำโขงประมาณ 200 กิโลเมตรอันเป็นระยะทางที่นับว่าใกล้มากในแง่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดนต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของชุมชนริมน้ำโขงตลอดพรมแดนไทย-ลาว ทั้งในเขต จ.เชียงราย ทางภาคเหนือ และในเขต 7 จังหวัดของภาคอีสาน อันได้แก่ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหารอำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่งอาศัยแม่น้ำโขงหาเลี้ยงชีพทั้งการทำเกษตรริมโขง และประมง ฯลฯการทำมาหาเลี้ยงชีพเหล่านี้จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเก็บกักน้ำและปล่อยน้ำจากเขื่อนไซยะบุรี
 
แม้เขื่อนไซยะบุรีจะสร้างอยู่ในลาวแต่ไฟฟ้าที่ผลิตได้ถึงร้อยละ 95 จะส่งมาขายยังประเทศไทย ซึ่งในเดือนตุลาคม 2554 รัฐบาลไทยโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด [ซึ่งผู้ถือหุ้นทั้งหมดคือ บริษัทไทย อันประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท นที ชินเนอร์ยี่ จำกัด (บริษัทลูกของปตท.), บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (บริษัทลูกของกฟผ.) และบริษัท พี.ที.คอนสตรัคชั่นแอนด์อิริเกชั่น จำกัด] และแหล่งเงินกู้ของโครงการมูลค่า 115,000 ล้านบาทจะมาจากธนาคารสัญชาติไทย คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ 
 
ฉะนั้นประเทศไทยจึงมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อการเดินหน้าของโครงการเขื่อนไซยะบุรีแทนที่ประเทศไทยจะสนับสนุนโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มูลค่านับแสนล้านบาทซึ่งจะสร้างผลกระทบมหาศาล และทำลายหลายล้านชีวิตในลุ่มแม่น้ำโขงเพียงเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่ไม่สิ้นสุด ประเทศไทยควรต้องมุ่งเน้นพัฒนา ‘พลังงานทางเลือก’ ที่มีประสิทธิภาพยั่งยืน และเป็นธรรม
 
 
 
ทั้งนี้ หนังสือที่เตรียมมอบต่อนายกรัฐมนตรีมีเนื้อหา ดังนี้
 

 

 
17 กันยายน 2555
 
เรื่อง      ขอยื่นโปสการ์ดรูปปลาบึก ที่ประชาชน 9,055 รายนาม ลงนามไม่สนับสนุนเขื่อนไซยะบุรีในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
 
กราบเรียน         ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
 
แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายสำคัญของโลก และเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงภาคอีสานและภาคเหนือของไทย ซึ่งชาวบ้านริมน้ำโขง 8 จังหวัด รวมถึงประเทศแม่น้ำโขง 6 ประเทศคือจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชาและเวียดนามได้พึ่งพา เป็นทั้งแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ที่สำคัญ อีกทั้งยังได้สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามกันมาหลายชั่วอายุคน
 
บัดนี้ ประชาชนจำนวน 9,055 คน ได้ร่วมลงนามไม่สนับสนุนการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ 12 เขื่อนบนลำน้ำโขง อันจะทำให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีชีวิต การประมง ระบบนิเวศ และการไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำโขง โดยการลงนามในโปสการ์ดรูปปลาบึกและลงนามในทางระบบการลงนามอีเลคโทรนิคส์และขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดการสนับสนุนเขื่อนบนแม่น้ำโขงทั้งหมด และระงับการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่กำลังเร่งผลักดันอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะจากกลุ่มบริษัทของไทย นำโดยบริษัท ช.การช่างผู้ก่อสร้าง สนับสนุนโดยธนาคารพาณิชย์ 4 แห่งของไทย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ผู้ดำเนินการในการเซ็นสัญญารับซื้อไฟฟ้าเกือบทั้งหมดจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรี
 
รัฐบาลควรต้องพิจารณาถึงพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืน เหมาะสม และเคารพสิทธิประชาชนผู้พึ่งพิงแม่น้ำโขง ให้ดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีตลอดไป ทั้งนี้ ดังตัวอย่างโปสการ์ดรูปปลาบึก และเนื้อหาที่ประชาชนจากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ และผู้สนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ได้เขียนไว้ในโปสการ์ดที่ได้แนบมาพร้อมกันนี้
 
ทั้งนี้ โปสการ์ดรูปปลาบึกทั้งหมด ได้ถูกนำมาแสดงต่อสาธารณชนเป็นเวลา 1 อาทิตย์ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยมีประชาชนในกรุงเทพมหานครและประชาชนร่วมลงนามเป็นจำนวนมาก อีกทั้งประชาชนจาก 7 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ทำการเดินเท้าไปรอบ ๆ บริเวณในกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอ และเรียกร้องให้ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร รับทราบเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลัก
 
พวกข้าพเจ้า ในนามตัวแทนประชาชนและภาคประชาชน ขอนำโปสการ์ดจำนวนดังกล่าวเพื่อเสนอต่อฯพณฯ ณ ทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ พร้อมด้วยกลุ่มประชาชนจากจังหวัดริมแม่น้ำโขง 7 จังหวัดและเครือข่ายอื่นๆ ที่มีความห่วงใยต่อปัญหาเขื่อนพลังไซยะบุรี รวมทั้งเครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ รวมทั้งตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนจากประเทศกัมพูชา และนานาชาติ ด้วยความหวังว่า ฯพณฯ และรัฐบาลของท่าน จะได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบของประเทศไทยและรัฐบาลไทย ที่มีต่อปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และยืนยันการปกป้องรักษาสิทธิและความเป็นอยู่ของประชาชน และขอเรียกร้องอีกครั้งหนึ่ง ให้รัฐบาลไทย เร่งตรวจสอบกระบวนการทำงานของหน่วยงาน และบริษัทเอกชนของไทย ที่มีบทบาทในการสร้างเขื่อน และวางแผนรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักอื่น ๆ และดำเนินการแก้ปัญหา ทั้งในระดับภูมิภาค และให้กับประชาชนไทยโดยเร็วที่สุด
 
จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
 
 
(นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง)
เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน
 
 
                        (นายอิทธิพล คำสุข)                                              (นางสาวเปรมฤดี ดาวเรือง)
  เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด                          มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net