Skip to main content
sharethis

คปก.ชงความเห็นร่าง พ.ร.บ.กรรมการสิทธิฯ เปิดเผยข้อมูล เสนอแนวทางแก้ปัญหาตีความอำนาจตรวจสอบฯ

(18 ก.ย.55) นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ กรรมการปฏิรูปกฎหมายและประธานกรรมการเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เปิดเผยว่า คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้ทำหนังสือ ความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่องร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ซึ่งขณะนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุไว้ในระเบียบวาระของสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไปแล้ว

“คปก.มีความเห็นและข้อเสนอแนะใน 7 ประเด็นคือ1.องค์ประกอบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2.การกำหนดค่าตอบแทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 3.อำนาจการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน 4.การรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อรัฐสภา 5.กองทุนสิทธิมนุษยชน 6.อำนาจการเปิดเผยข้อมูลหรือข้อเท็จจริง 7.สถานะของบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ”

นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า  ประเด็นสำคัญคือ ในร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ....  มาตรา 43 บัญญัติห้ามมิให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อนุกรรมการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ เปิดเผยข้อเท็จจริงที่รู้หรือได้มาเนื่องจากการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่นั้น ประเด็นนี้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่หลักในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน หากกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อนุกรรมการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยข้อเท็จจริงที่ได้มานั้น อาจส่งผลกระทบต่อโอกาสในการเข้าถึงของภาคประชาชน ดังนั้น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายขอเสนอให้ตัด มาตรา 43 ออกจากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยเห็นว่าในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการนั้น มีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานของรัฐไว้อยู่แล้ว จึงไม่ควรบัญญัติห้ามเรื่องการเปิดเผยข้อเท็จจริงไว้ในร่างพระราชบัญญัติ

นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า อำนาจการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เดิมเคยมีปัญหาเกี่ยวกับการตีความอำนาจในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิฯว่าไม่สามารถดำเนินการได้หากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล กรณีนี้ คปก. เห็นว่า อำนาจตรวจสอบฯดังกล่าวปรากฏในมาตรา 31 ของร่างพ.ร.บ.ฯ ระบุว่า หากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะดำเนินการตรวจสอบเรื่องนั้นในประเด็นเดียวกับที่มีการฟ้องร้องอีกไม่ได้ เว้นแต่เป็นการตรวจสอบเพื่อเสนอแนะนโยบายและการปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนรวม  ดังนั้น แม้จะมีการฟ้องเป็นคดีต่อศาลแล้ว แต่หากประเด็นที่จะดำเนินการตรวจสอบเป็นคนละประเด็นที่มีการฟ้องคดี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังคงมีอำนาจตรวจสอบได้

“ในแง่องค์ประกอบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คปก.เสนอให้การสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้องคำนึงถึงโอกาส สัดส่วนที่เหมาะสม และความเท่าเทียมระหว่างหญิงและชายไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีการคัดเลือกซึ่งควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งในส่วนขององค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาและในกระบวนการสรรหา

“ส่วนการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประเด็นนี้ คปก.เสนอให้การกำหนดเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ประโยชน์ตอบแทนอื่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงาน ตลอดจนบำเหน็จตอบแทนเมื่อพ้นจากตำแหน่งของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยตราเป็นพระราชบัญญัติ แทนการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

นายสุขุมพงศ์ กล่าวด้วยว่า สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ควรเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง และบุคลากรในหน่วยงานก็ควรมีสถานะที่เป็นอิสระด้วยเช่นกัน ไม่ควรมีสถานภาพเป็นข้าราชการ อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้รับฟังความคิดเห็นของข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและอาจได้รับผลกระทบจากการตราพระราชบัญญัติดังกล่าว คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจึงมีข้อเสนอในระยะยาวว่า ในเรื่องการกำหนดสถานภาพบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ข้าราชการและพนักงาน โดยให้บุคลากรที่มีสถานภาพเป็นข้าราชการอยู่ในปัจจุบันยังคงสถานภาพดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะพ้นจากตำแหน่ง  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net